สงครามใต้-ยุทธศาสตร์ใต้! คิดใหม่แล้ว ต้องทำใหม่ด้วย | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“สงครามก่อความไม่สงบมีความหมายเหมือนกับคำอื่นๆ ที่ใช้ในการจำแนกสงครามที่ไม่มีการรบ หรือไม่มีแนวรบ… สงครามชนิดนี้เกี่ยวข้องกับตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ ซึ่งเผชิญหน้ากับอำนาจที่เหนือกว่าของรัฐบาลในเงื่อนไขของสงครามภายในรัฐ”

M. L. R. Smith and David M. Jones (2558)

 

ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือวันนี้อาจต้องเรียกอย่างตรงไปตรงมาว่า “สงครามภาคใต้ไทย” ได้เดินทางมาถึงปีที่ 20 อย่างไม่น่าเชื่อ

ซึ่งแต่เดิมหลายฝ่ายคิดว่าความขัดแย้งด้วยความรุนแรงชุดนี้น่าจะใช้เวลาสักหนึ่งทศวรรษ แล้วจะค่อยๆ ลดความรุนแรงลง และนำไปสู่การสิ้นสุดของปัญหา

ความคาดหวังเช่นนี้เป็นผลจากการประมาณการในเชิงมหภาคว่า ถ้าขบวนการเมืองที่เคลื่อนไหวด้วยกำลังอาวุธ และไม่สามารถประสบความสำเร็จอย่างจริงจังในระยะเวลาสัก 1 ทศวรรษแล้ว ขบวนจะค่อยๆ อ่อนแรงลง และอาจนำไปสู่การลดระดับของการก่อเหตุรุนแรง

หรือหากความรุนแรงยังเกิดขึ้น ก็อาจอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ไม่ได้เป็นภัยคุกคาม จนกลายเป็น “ปัญหาระดับชาติ” เช่น ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน

ในความเป็นจริงของความรุนแรงในภาคใต้ที่เดินทางมาถึงทศวรรษที่ 2 นั้น ไม่จบ และยังไม่มีแนวโน้มที่จะจบแต่อย่างใด แต่กลับเห็นสถานการณ์ถูกยกระดับขึ้นจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ

แม้จะมีข้อดีที่สถานการณ์การก่อเหตุในเวทีสากลจากการเคลื่อนไหวของ “กลุ่มก่อการร้าย” ไม่มีแนวโน้มของความรุนแรงมากเช่นในอดีต

 

ไฟสงครามที่ด้ามขวาน

หลังจากการปล้นปืนที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดจากค่ายทหารในจังหวัดนราธิวาสในค่ำคืนวันที่ 4 มกราคม 2547 แล้ว สถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ที่ทำท่าจะสงบตามไปกับการสิ้นสุดของสงครามคอมมิวนิสต์ในภาคใต้ ก็กลับปะทุขึ้นมาเป็นประเด็นร้อนอย่างคาดไม่ถึง

และเป็นการปะทุของ “ไฟสงคราม” ที่ก่อตัวขึ้นในปลายด้ามขวานของไทยอีกครั้ง

ผลจากสภาวะเช่นนี้ ส่งผลให้ปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้เป็น “โจทย์ความมั่นคงชุดใหม่” เพราะเป็นปัญหาความรุนแรงใน “ยุคหลังคอมมิวนิสต์” แต่ก็ยืนอยู่บนฐานคิดเดิมของขบวนติดอาวุธอีกชุดหนึ่งที่เป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐ

ขบวนชุดนี้ไม่ใช่กองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในแบบเดิม หากเป็นสิ่งที่เรียกจากวัตถุประสงค์ขององค์กรว่า “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน” ที่มีเป้าหมายในจังหวัดชายแดนภาคใต้

หรือกล่าวได้ว่าเป็นการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธที่มีวัตถุประสงค์ในการก่อตั้ง “รัฐเอกราชใหม่” เพื่อแยกตัวออกจากรัฐไทย ที่พวกเขามองว่าเป็นศัตรูทั้งทางการเมืองและประวัติศาสตร์

แม้ผู้คนบางส่วนอาจจะตั้งข้อสงสัยอย่างมากว่า ขบวนการแบ่งแยกดินแดนมีตัวตนจริงเพียงใด หรือเป็นเพียงการอุปโลกน์เพื่อใช้ในการแสวงหาผลประโยชน์จากสถานการณ์ความมั่นคงที่ถูกสร้างขึ้น

กล่าวคือ เกิดข้อสงสัยทั้งในส่วนของ “องค์กรติดอาวุธ” และของการก่อเหตุ เนื่องจากสังคมบางส่วนไม่เชื่อมั่นกับคำแถลงของฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะฝ่ายทหาร

 

แต่หากพิจารณาจากสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราอาจจะต้องยอมรับว่ามีการก่อเหตุด้วยกำลังอาวุธจริง และการก่อเหตุที่เกิดขึ้นน่าจะมีลักษณะของ “องค์กรจัดตั้ง” ด้วย มิใช่เป็นเคลื่อนไหวของมวลชนอย่างไร้ทิศทาง หรือเป็นในแบบ “มวลชนติดอาวุธ” ที่เคลื่อนโดยไม่มีการชี้นำ

ซึ่งปรากฏการณ์ของความรุนแรงที่เกิดขึ้นเช่นนี้ ทำให้ต้องอนุมานว่ามี “ขบวนติดอาวุธ” ในลักษณะของการจัดตั้งดำรงอยู่ในพื้นที่ และขบวนชุดนี้ไม่ได้ยุติบทบาทไปพร้อมกับการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์ หากแต่ยังดำรงความมุ่งหมายที่ต้องการสร้างรัฐเอกราช

ดังได้กล่าวแล้วว่าขบวนนี้ไม่ได้สิ้นสุดไปพร้อมกับ “สงครามก่อความไม่สงบ” ของพรรคคอมมิวนิสต์ และไม่ได้จบตามไปกับการยุติของสงครามเย็นแต่อย่างใด

การที่รัฐไทยชนะสงครามคอมมิวนิสต์ จึงมิได้มีนัยอะไรที่จะบอกว่าฝ่ายรัฐชนะ “สงครามแบ่งแยกดินแดง” ตามไปด้วย เนื่องจากเป็นเงื่อนไขสงครามคนละชุด และวัตถุประสงค์สงครามก็คนละชุด แต่ก็ดำรงความเป็นธรรมชาติของสงครามชุดเดียวกันในฐานะของการเป็น “สงครามก่อความไม่สงบ” ที่เป็นการต่อสู้กับอำนาจรัฐเดิมด้วยกำลังอาวุธ

เป็นแต่เพียงพื้นที่ของการโค่นล้มอำนาจรัฐเดิมนั้น ไม่ใช่เป็นระดับประเทศในแบบที่สงครามของพรรคคอมมิวนิสต์ หากเป็นการดำเนินการอย่างจำกัด ที่มีพื้นที่ทางภูมิรัฐศาสตร์เฉพาะส่วนเป็นเป้าหมายหลัก

 

สงครามใหม่

สภาวะของยุคหลังสงครามคอมมิวนิสต์ในไทยยังสอดรับกับสภาวะของ “ยุคหลังสงครามเย็น” ของเวทีโลกในเวลาต่อมา จนทำให้หลายฝ่ายเชื่อในแบบ “ฝันๆ” ว่า สงครามจบลงแล้วในเวทีโลก และสงครามภายในรัฐก็จบตามมาในหลายประเทศ

เพราะสงครามหมดแรงขับเคลื่อนในตัวเอง อันเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงของระเบียบระหว่างประเทศ ที่เกิดจากการสิ้นสุดของสงครามเย็น อันกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าอุดมการณ์ในแบบเดิมที่เคยเป็น “พลังสงคราม” นั้น ได้หมดศักยภาพลงไปหมด

แต่ระเบียบโลกยุคหลังสงครามเย็นเผชิญกับความท้าทายขนาดใหญ่จากเหตุการณ์การก่อการร้ายในวันที่ 11 กันยายน 2544…

สงครามอุดมการณ์แบบสงครามเย็นอาจจะจบ แต่สงครามชุดใหม่กลับเป็นเรื่องของ “อัตลักษณ์-ชาตินิยม-ชาติพันธุ์” และถูกนำไปผูกโยงเข้ากับเรื่องของ “ศาสนา-ประวัติศาสตร์” อันทำให้เกิดความเป็น “มหาศรัทธา” ที่พร้อมจะเป็นแรงขับเคลื่อนสงครามชุดใหม่

หรืออาจกล่าวได้ว่า “ศาสนา” ได้เข้ามาทดแทนต่อปัจจัยด้าน “อุดมการณ์” ในฐานะของการเป็นแรงขับเคลื่อนของสงครามชุดเก่า อย่างน้อยเราได้เห็น “มหาศรัทธา” ชุดนี้จาก “นักรบ” ในสงครามอัฟกานิสถานมาแล้ว

ดังชื่อของพวกเขาที่เรียกตัวเองว่า “มูจาฮีดีน” ที่หมายถึง “นักรบของพระเจ้า”

การเรียกชื่อในลักษณะเช่นนี้เท่ากับเป็นภาพสะท้อนของศาสนาในฐานะของการเป็นแรงขับเคลื่อนของสงคราม

ขณะเดียวกันสำหรับนักรบอาสาสมัครเหล่านี้แล้ว หากพวกเขาต้องเสียชีวิตในสนามรบ ก็หมายถึงพวกเขาตายภายใต้ “ภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์” ที่พวกเขาดำเนินการภายใต้พระองค์…

แน่นอนว่ามิติทางศาสนาที่เป็นแรงดันของสงครามไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันต้องถือเป็นเรื่องใหม่ เพราะการเคลื่อนไหวในทิศทางนี้ถูกผนวกเข้ากับการเมืองโลกยุคปัจจุบัน จนประเด็นเช่นนี้กลายเป็น “ชุดความคิดใหม่” ในการสงครามยุคปัจจุบัน

 

สภาวะเช่นนี้จึงเห็นความขัดแย้งภายในรัฐที่กลายเป็นเงื่อนไขของ “สงครามชุดใหม่” หรือที่เรียกในทางยุทธศาสตร์ว่า “สงครามในยุคหลังสงครามเย็น”

แม้ด้านหนึ่งสงครามเช่นนี้อาจมีนัยถึงตัวอย่างของสงครามอ่าวเปอร์เซีย ที่เป็นสงครามแบบใหม่ในยุคนั้น แต่อีกด้านหนึ่งเราเห็นสงครามชุดใหม่ในยูโกสลาเวียเดิม อันเป็นสงครามที่มีทำให้นักรัฐศาสตร์ และนักยุทธศาสตร์ต้องพิจารณาเรื่องสงครามใหม่

สงครามชุดนี้สะท้อนให้เห็นถึงแรงขับเคลื่อนที่เป็นเรื่องของ “อัตลักษณ์-ชาตินิยม-ชาติพันธุ์” อย่างชัดเจน พร้อมกันนี้สงครามหลังเหตุการณ์เวิลด์เทรด (9/11) ล้วนสะท้อนถึงปัญหาระหว่าง “ความต่างทางอารยธรรม” โดยมีสถานการณ์ “สงครามต่อต้านการการร้าย” เป็นตัวเดินเรื่อง และมีวัตถุประสงค์ของสงครามในการต่อสู้กับ “ตัวแสดงติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐ” (armed non-state actors) คือ กลุ่มอัลกอร์อิดะห์ ที่เป็นขบวนการทางการเมืองของชาวมุสลิม

และมีปฏิบัติการทางทหารในรูปแบบของการก่อการร้าย อีกทั้งได้ขยายอิทธิพลเข้าไปในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คำถามทางยุทธศาสตร์ที่ไม่เคยถูกนำมาถกแถลงอย่างจริงจังในสังคมไทยในยุคหลังเวิลด์เทรด คือ ความรุนแรงในรูปแบบเช่นนี้จะขยายตัวเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไหม และจะส่งผลอย่างไรกับสงครามอีกชุดหนึ่งที่ไม่จบในสังคมไทย?…

ถ้าเช่นนั้นแล้ว “สงครามชุดใหม่” จะเกิดในภาคใต้ของไทยหรือไม่?

หากย้อนกลับไปหลังเหตุการณ์เวิลด์เทรดในปี 2544 แล้ว สังคมไทยกำลังมี “ความสุข-ความหรรษา” อยู่กับกระแสโลกาภิวัตน์ที่ไหล่บ่าเข้าสู่ประเทศไทย

พร้อมกับมีความหวังกับการเมืองไทยหลังรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ถูกเรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ที่จะนำไปสู่การปฏิรูปทางการเมือง…

แน่นอนว่าไม่มีใครอยากได้ยินเสียงเตือนภัยจาก “นักความมั่นคง” ที่กำลังกังวลกับกระแสความรุนแรงในยุคหลัง 9/11 ที่ขยับเข้าสู่ภูมิภาคนี้ จนทำให้ต้องเปิดการศึกษาวิจัยถึงบทบาทของ “ตัวแสดงติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐ” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากภูมิภาคนี้เป็นจุดหนึ่งที่สำคัญของการขยายอิทธิพลของกลุ่มต่างๆ

 

ความท้าทายชุดใหม่

ในที่สุดสถานการณ์ชุดใหม่ก็เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อคืนวันที่ 4 มกราคม 2547… หลังจากนี้จวบจนปัจจุบัน ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้กลายเป็น “ประเด็นความมั่นคงหลัก” ของประเทศไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และเกิดสภาวะ “สงครามยืดเยื้อ” ตามทฤษฎีของประธานเหมาเจ๋อตุงในภาคใต้ไทย ดังจะเห็นได้ว่าสังคมไทยอยู่กับสงครามชุดนี้เป็นเวลา 20 ปีแล้ว

นอกจากนี้ ในช่วงระยะเวลาจาก 2547-2566 เห็นได้ชัดเจนว่า การทำ “สงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบ” ของรัฐไทยนั้น ไม่อาจเรียกได้ว่าประสบ “ความสำเร็จทางยุทธศาสตร์” อย่างจริงจัง

และอาจจะต้องยอมรับความจริงว่า รัฐไทยมีอาการ “เพลี่ยงพล้ำ” ในหลายเรื่อง และหลายวาระ จนกลายเป็น “ความอ่อนแอทางยุทธศาสตร์” ในตัวเองอย่างที่ปฏิเสธไม่ได้

อีกทั้งรัฐไทยในแต่ละช่วงเวลายังต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ในพื้นที่ ขณะเดียวกันก็มีปัญหาแบบองค์ที่ใหญ่ที่คือ ความต้องการในการมี “ยุทธศาสตร์ใหม่” เพื่อรองรับต่อกระบวนการ “คิดใหม่” และถ้าคิดใหม่ได้แล้ว ยังจะต้องกำชับให้เกิดการ “ทำใหม่” อีกด้วย

ในปีที่ 20 ของปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ จึงเสมือนหนึ่ง “รัฐนาวาสยาม” ในภาคใต้เผชิญคลื่นลมแรงลูกแล้ว… ลูกเล่าอย่างไม่ขาดสาย แม้จะเปลี่ยน “กัปตันเรือ” มาแล้วหลายคนก็ตาม

แต่ความรุนแรงในพื้นที่กลับยังคงเป็นความท้าทายกับทุกรัฐบาลไม่แตกต่างกัน

ดังนั้น ในปีที่ 20 เช่นนี้ ถ้าจะขอ “คิดบวก” แล้ว เราอาจต้องถือว่าปัญหาและสัญญาณจากพื้นที่ขณะนี้เป็นดัง “เสียงนาฬิกาปลุก” ที่แจ้งเตือนให้ตื่นจากภวังค์เดิมเพื่อ “คิด (ยุทธศาสตร์) ใหม่”… แน่นอนว่าข้อเสนอนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็เป็นประเด็นที่ไม่เคยทำได้จริง ฉะนั้น จึงอยากเสนอซ้ำอีกครั้งว่า ถึงเวลาที่ต้องคิด “ยุทธศาสตร์ภาคใต้ใหม่” ทั้งระบบจริงๆ แล้ว!