เปิดทำเลทองพื้นที่รอบ ‘เขื่อน’ โรงแรม-โรงพยาบาล ขานรับ ลุยทำ Wellness Tourism

การประกาศนโยบายนำ “พื้นที่เขื่อน” ทั่วประเทศไทยของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่รายล้อมด้วยผืนป่าในพื้นที่ของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมธนารักษ์ มาพัฒนาสู่ “ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” หรือ Wellness Tourism เพื่อพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมรอบชุมชน และเพิ่มมูลค่าให้กับสินทรัพย์ที่ กฟผ.มีอยู่ โดยการเตรียมประกาศเป็น “เขตนวัตกรรมการท่องเที่ยวมูลค่าสูง”

ได้สร้างความตื่นเต้น ฮือฮาให้กับนักธุรกิจในแวดวงธุรกิจ โรงแรมที่พัก และโรงพยาบาล ต่างรีบวิ่งติดต่อ กฟผ. ขอจับจองกันฝุ่นตลบ

เนื่องจากที่ตั้งของแต่ละเขื่อนถือเป็น “ทำเลทอง” ที่ผู้ประกอบการธุรกิจต่างหมายปอง โดยไม่ต้องบุกรุกพื้นที่ป่าอย่างผิดกฎหมายเหมือนอย่างที่เคยเห็นเป็นข่าวที่ผ่านมา

 

ล่าสุด กฟผ.ระบุชัดเจนว่า จะนำพื้นที่ 7 เขื่อนหลัก และ 2 โรงไฟฟ้ามานำร่องก่อน ในภาคเหนือมี 2 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ และเขื่อนภูมิพล จ.ตาก

ภาคใต้ 2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้ากระบี่ จ.กระบี่ และเขื่อนรัชชประภา (ชื่อเดิมเขื่อนเชี่ยวหลาน) จ.สุราษฎร์ธานี

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น, โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา และเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ

รวมถึงเขื่อนในภาคตะวันตกอีก 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี

การแตกไลน์สู่ธุรกิจเวลเนสของ กฟผ.อาจจะยังไม่สามารถเดินสู่เป้าหมายได้ทันที เนื่องจากที่ผ่านมา กฟผ.ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ได้ทำข้อตกลงกับหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ กรมป่าไม้ กรมธนารักษ์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในลักษณะ “การเช่าพื้นที่” เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าให้กับประเทศ

หากขยายวัตถุประสงค์ไปสู่การทำ “ธุรกิจเวลเนส” เพิ่มเติมต้องไปเจรจากับเจ้าของพื้นที่ใหม่ รวมถึงการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ

 

นายจรัล คำเงิน รองผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.ได้ไปหารือกับกรมธนารักษ์ มีเงื่อนไขเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมตามหลักเกณฑ์ของกรมธนารักษ์อยู่แล้ว ส่วนกรมอุทยานฯ เองที่ผ่านมาก็มีการทำธุรกิจบ้านพักเก็บค่าเช่า ค่าดำเนินการอยู่ หากร่วมบูรณาการด้วยกันกับหน่วยงานอื่น เพื่อจะตอบโจทย์หรือเอื้อประโยชน์ในทุกภาคส่วนได้ โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนรอบเขื่อนได้จะเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย

“ที่ผ่านมา กฟผ.ทำ CSR พื้นที่โดยรอบ แต่ประชาชนที่อยู่รอบชุมชนได้รับประโยชน์กันเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้ายกระดับโครงการเวลเนสตรงนี้ขึ้นมาได้ จะเป็นอิมแพกต์ระดับประเทศ โดยเฉพาะมีนักท่องเที่ยวระดับพรีเมียมจะบินมาพัก 1-2 เดือน จะมีผลดีต่อเศรษฐกิจไทย หากทุกฝ่าย ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการ เพื่อพัฒนาไปสู่เวลเนสที่มีศักยภาพสูง ตรงนี้จะเป็น Soft Power ของไทยอย่างหนึ่ง ก่อให้เกิดเศรษฐกิจนอกจากธุรกิจหลักของการผลิตไฟฟ้าและพลังงานสีเขียว”

นอกจากนี้ รองผู้ว่าการ กฟผ.ระบุชัดเจนว่า โครงการนี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานบอร์ด กฟผ. มีนโยบายชัดเจนในการพัฒนาพื้นที่เหนือเขื่อนและชุมชนโดยรอบเขื่อนเข้าสู่ “ธุรกิจเวลเนส” โดยสั่งการมาที่คณะกรรมการบริหาร ซึ่ง กฟผ.เตรียมจัดตั้งเป็นโครงการขึ้นมา

นายกุลิศ ในฐานะประธานบอร์ด กฟผ.ได้สั่งการให้ทีมกฎหมายมาช่วยดูว่า พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมถึงระเบียบต่างๆ ที่มีอยู่ จะปรับแก้ไขอย่างไรให้เอื้อต่อการบูรณาการสินทรัพย์เหล่านี้ให้เพิ่มมูลค่าและคุณค่า ก่อให้เกิดผลทางด้านเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับรูปแบบการลงทุนร่วมกับภาคเอกชน ปัจจุบัน กฟผ.มีบริษัทลูก 5-6 บริษัทที่ทำธุรกรรมเชิงพาณิชย์อยู่แล้ว ดังนั้น จะดึงบริษัทเหล่านี้เข้ามาดำเนินการ โดยส่วนหนึ่ง กฟผ.อาจจะลงทุนเองหรือลงทุนร่วม หรือจะนำสินทรัพย์ที่มีอยู่ไปดำเนินการได้ 2-3 แนวทาง ซึ่งเงื่อนไขการลงทุนในแต่ละเขื่อนอาจจะแตกต่างกันไป

 

ภายหลังจาก กฟผ.ประกาศนโยบายออกไป ทำให้เจ้าของโรงแรมที่พัก และโรงพยาบาลชื่อดังหลายแห่งทั่วไป ต่างเร่งติดต่อไปยัง กฟผ. ทีมงานกฎบัตรไทย และเครือข่าย 10 มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจการแพทย์ การส่งเสริมสุขภาพ พลังงานสะอาด และการส่งเสริมการลงทุนในเขตนวัตกรรมและพื้นที่ของ กฟผ. เพื่อพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยพายัพ และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจการแพทย์ การส่งเสริมสุขภาพ พลังงานสะอาด และการส่งเสริมการลงทุนในเขตนวัตกรรมและพื้นที่ของ กฟผ. เพื่อพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

โดยนายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย กรรมการและเลขานุการกฎบัตรไทย บอกว่า ขณะนี้มีโรงแรมและโรงพยาบาลหลายแห่งแสดงความประสงค์จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่เหนือเขื่อนของ กฟผ.ทั่วประเทศ ที่จะนำมาทำ “เขตนวัตกรรมการแพทย์” และ “เขตนวัตกรรมการท่องเที่ยวมูลค่าสูง”

ยกตัวอย่าง เขื่อนเชี่ยวหลาน จ.สุราษฎร์ธานี ตอนนี้มีผู้แจ้งความประสงค์และเข้าไปหารือกับ กฟผ.ใน 3 ธุรกิจ ได้แก่

1) ต้องการทำหน่วยฟื้นฟูสุขภาพขนาดใหญ่ เป็นทุนของคนไทยเอง

2) บริษัท สยาม ซีเพลน จำกัด ผู้ให้บริการเครื่องบินน้ำ มีความประสงค์เชื่อมโยงการท่องเที่ยวพื้นที่ต่างๆ กับการท่องเที่ยวเหนือเขื่อน แสดงความต้องการที่จะบินมาลงในพื้นที่เขื่อน โดยไม่ทำให้เกิดมลภาวะในพื้นที่

และ 3) ทางเครือโรงแรมลา ฟลอร่า เขาหลัก และโรงแรมลาเวล่า ประสงค์จะเชื่อมโยงกิจการโรงแรมที่พักเข้ามายังพื้นที่เขื่อนเชี่ยวหลาน จ.สุราษฎร์ธานี

ส่วนเขื่อนลำตะคอง มีที่พิเศษกว่าเขื่อนอื่นๆ ของ กฟผ. เพราะมีพื้นที่อยู่ริมถนนใหญ่ ที่ดินอยู่ปากทางเข้า อ.ปากช่อง และตรงที่ตั้งเขื่อนอยู่ห่างจากสถานีรถไฟความเร็วสูงที่ปากช่องเพียง 2 ก.ม. มีจุดชมวิวที่มีความเหมาะสม

ดังนั้น เขื่อนลำตะคอง ได้มีผู้แจ้งประสงค์ลงทุนประกอบไปด้วย

1) “เดอะเปียโน” รีสอร์ตเขาใหญ่ อ.ปากช่อง จะขอร่วมลงทุนกับ กฟผ.จัดทำพื้นที่ประชุมและพื้นที่พาณิชยกรรม ซึ่งทั้งหมดเป็นข้อเสนอ ยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของ กฟผ. รายละเอียดยังต้องพิจารณาตามขั้นตอนกันต่อไป

2) การลงทุนด้านเฮลท์แคร์ของเครือโรงแรมลา ฟลอร่า เขาหลัก ขณะที่โรงแรมสวิสโฮเทล สนใจลงทุนที่เขื่อนลำตะคอง กับเขื่อนอีก 2 แห่งที่ จ.กาญจนบุรี และโรงแรมแมริออท สนใจลงทุนในเขื่อน 2 แห่งที่ จ.กาญจนบุรี เช่นกัน “ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ก็จองไว้ 2 เขื่อนคือ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น กับเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ โดยต้องการพื้นที่ในเขื่อนอุบลรัตน์เป็นหน่วยฟื้นฟูสุขภาพ เมื่อผ่าตัดที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จะนำผู้ป่วยไปฟื้นฟูที่เขื่อน

ส่วนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) สนใจลงทุนแหล่งฟื้นฟูสุขภาพที่เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนลำตะคอง เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายโรงพยาบาลกรุงเทพ สนใจขยายในพื้นที่ จ.ขอนแก่น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ สนใจขยายลงทุนใน จ.เชียงราย

 

ปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Wellness Tourism เติบโตขึ้นอย่างมาก ตามอัตราการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวกลับมาหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ” (Medical Hub) ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต แทนที่นักท่องเที่ยวจะมาพักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติ ยังมาเข้าคอร์สป้องกัน และฟื้นฟูสุขภาพ ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงาน และดึงเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศอย่างมหาศาล

ดังนั้น การก้าวย่างอีกบทบาทหนึ่งของ กฟผ.จึงน่าจับตายิ่ง โดยเฉพาะการเปิดพื้นที่ทำเลทองในผืนป่า

แต่คงต้องตั้งเงื่อนไขในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้รัดกุม เพื่อผลประโยชน์ของชาติโดยรวม