คณะทหารหนุ่ม (49) | จุดเริ่มความสัมพันธ์ “เปรม-อาทิตย์”

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

จุดเริ่มความสัมพันธ์ “เปรม-อาทิตย์”

เดือนสิงหาคม พ.ศ.2515 พ.อ.อาทิตย์ กำลังเอก นำกรมผสมที่ 23 ย้ายจากที่ตั้งชั่วคราวกองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน กทม. ไปยังที่ตั้งถาวรค่ายสุรธรรมพิทักษ์ จ.นครราชสีมา หรือที่เรียกกันในขณะนั้นว่า “ค่ายเฟรนด์ชิพ” ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของหน่วยทหารสหรัฐระหว่างสงครามเวียดนาม

ขณะนั้นสถานการณ์สงครามภายในกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยโดยเฉพาะในภาคอีสานซึ่งมีชายแดนติดกับทั้งลาวและกัมพูชากำลังอยู่ในช่วงของความรุนแรง

พล.ท.โพยม พหุลรัตน์ แม่ทัพภาคที่ 2 ได้เปิดปฏิบัติการทางทหารขนาดใหญ่เข้ากวาดล้างผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในเทือกเขาภูพาน พ.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ได้รับมอบหมายให้บังคับบัญชาหน่วยรบเฉพาะกิจ กรมผสมที่ 23 โดยมี พ.ท.ศัลย์ ศรีเพ็ญ จปร.5 อีกท่านหนึ่งเป็นเสนาธิการ

“กองทัพบกในรอบสี่สิบปี” ได้บันทึกผลการปฏิบัติของหน่วยรบเฉพาะกิจ กรมผสมที่ 23 ภายใต้การบังคับบัญชาของ พ.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ไว้ว่า…

“การกวาดล้างประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง สามารถยึดคลังยุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่ของฝ่ายผู้ก่อการร้าย มีทั้งโรงพยาบาลสนาม เครื่องมือแพทย์ ตำราฝังเข็ม จักรเย็บผ้า เอกสารปลุกระดมมวลชน กระสุนปืนหลายหมื่นนัด และเสบียงอาหารที่ช่วยให้ดำรงชีวิตอยู่ได้เป็นแรมเดือน”

“การยุทธครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกของการเปิดประตูสู่เทือกเขาภูพาน การปฏิบัติงานของหน่วยรบเฉพาะกิจ กรมผสมที่ 23 ได้รับคำชมว่าเป็นหน่วยที่ปฏิบัติภารกิจด้วยจิตสำนึกในหน้าที่รับผิดชอบสูง มีความกล้าหาญเสียสละอย่างยอดเยี่ยม”

เมื่อทำการกวาดล้างจนกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์ล่าถอยออกจากพื้นที่ที่หมายแล้ว พ.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ได้สั่งการปฏิบัติให้หน่วยพยายามทำให้ประชาชนมาเป็นฝ่ายรัฐบาล ด้วยวิธีเอาชนะทางด้านจิตใจ โดยช่วยขจัดความทุกข์ยาก และส่งเสริมให้ได้รับการศึกษา

ยุทธวิธีที่ พ.อ.อาทิตย์ กำลังเอก กำหนดให้ใช้เพื่อขยายผลความสำเร็จคือ “บ้านล้อมป่า” โดยเริ่มจากการผูกมิตรกับบ้านภูไทนำไปล้อมบ้านโซ่ในเขต อ.นาแก

การดำเนินงานประสบผลสำเร็จด้วยดีเพราะราษฎรเริ่มวางใจทหารและยอมรับฟังเหตุผล หน่วยรบเฉพาะกิจ กรมผสมที่ 23 จึงเริ่มทำการสำรวจความต้องการของราษฎรในหมู่บ้านต่อไป และเมื่อรู้ความต้องการแท้จริงของประชาชน ก็เร่งจัดทำโครงการสนองตอบอย่างรีบด่วน

โครงการแรกคือการจัดสร้างโรงเรียนเพื่อติดอาวุธทางปัญญาให้กับเด็กซึ่งเป็นหัวใจของครอบครัว จากนั้นจึงสร้างถังเก็บน้ำขึ้นตามหมู่บ้านเพื่อขจัดความเดือดร้อนในเรื่องน้ำกินน้ำใช้โดยเฉพาะในฤดูแล้ง

เสด็จเยี่ยม…

 

ขณะที่โครงการต่างๆ กำลังดำเนินอยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมฐานปฏิบัติการภูน้อยซึ่ง พ.อ.อาทิตย์ กำลังเอก รับผิดชอบอยู่ เมื่อ 7 เมษายน พ.ศ.2516

พ.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ได้ถวายคำบรรยายสรุปเกี่ยวกับแผนและโครงการแยกประชาชนออกจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ตลอดจนการมอบภารกิจด้านการช่วยเหลือตามโครงการต่างๆ ให้หน่วยทหารในบังคับบัญชาไปปฏิบัติ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ทรงให้ความสนพระทัยการปฏิบัติงานที่ได้ผลของหน่วยรบเฉพาะกิจ กรมผสมที่ 23 เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการสร้างโรงเรียนและได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ 100,000 บาท และพระราชทานนามโรงเรียนแห่งนี้ว่า “โรงเรียนร่มเกล้า”

โรงเรียนนี้จึงได้รับการจัดสร้างขึ้นหลังแรกที่บ้านหนองแคน อ.ดงหลวง อันเป็นหน้าด่านที่จะเปิดทางไปสู่เทือกเขาภูพาน

นี่จึงนับเป็นโอกาสแรกที่ พ.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ได้มีโอกาสถวายงานอย่างใกล้ชิด และอยู่ในความสนพระทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา…

หนังสือ “รัฐบุรุษชื่อเปรม” บันทึกการเดินทางเข้าปฏิบัติหน้าที่ในภาคอีสานของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ไว้ดังนี้…

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เข้าดำรงตำแหน่งรองแม่ทัพภาคที่ 2 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2516 หลังการเข้าปฏิบัติงานภาคอีสานของ พ.อ.อาทิตย์ กำลังเอก 1 ปี ขณะที่ 16 จังหวัดภาคอีสานขณะนั้น “คละคลุ้งไปด้วยคาวเลือด ชีวิตและความตาย เลือดไทยด้วยกันไหลนองแผ่นดินจากสงครามปลดแอกของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย”

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เข้ารับตำแหน่งสำคัญและตรงเข้าสู่สนามรบโดยยอมรับว่า ไม่เคยมีความรู้ในพื้นที่มาก่อน

“ผมได้รับคำสั่งเป็นรองแม่ทัพ ผมก็ไปอยู่ส่วนหน้าที่สกลนครเลย”

 

กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 2 ตั้งอยู่ที่ จ.นครราชสีมา ส่วนที่สกลนครเป็นกองบัญชาการส่วนหน้าของกองทัพภาคที่ 2 รวมทั้งเป็นที่ตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 ด้วย ซึ่ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จะต้องรับผิดชอบโดยตรงในฐานะรองแม่ทัพ โดยมีหน่วยปฏิบัติหลักคือ หน่วยรบเฉพาะกิจ กรมผสมที่ 23 ที่มี พ.อ.อาทิตย์ กำลังเอก เป็นผู้บังคับการ

จ.สกลนครสมัยนั้น เหมือนอยู่กลางสมรภูมิทีเดียว แต่เป็นการสู้รบแบบกองโจรหรือจรยุทธ์ ไม่มีแนวหน้าและแนวหลัง ไม่รู้ว่าศัตรูเป็นใคร พร้อมที่จะถูกโจมตีได้ทุกเวลา

“ตอนนั้นเขาจัดรองแม่ทัพอยู่ส่วนหลังหรือที่โคราชไว้คนเดียว ส่วนรองอีก 2 คนอยู่ส่วนหน้า ส่วนแม่ทัพท่านก็ไปๆ มาๆ ผมอยู่ส่วนหน้าตลอดและเป็นความตั้งใจของผมด้วยว่าผมจะไม่กลับกรุงเทพฯ”

“ผมไม่ค่อยมีความรู้อะไรเมื่อไปตอนแรก ก็รู้แต่ว่ามันมีการปฏิบัติการรุนแรงมากในภาคอีสานตอนนั้นแรงมาก” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ทบทวนความหลังสมัยได้รับแต่งตั้งเป็นรองแม่ทัพภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

“ตอนที่ผมไปเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 ใหม่ๆ ผมก็มองผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ผกค.เหมือนกับเป็นศัตรูของชาติที่ต้องฆ่ากัน แต่ก็โชคดีที่ผมมองลึกไปอีกว่าทำไมเวลาเราไปเยี่ยมชาวบ้านนี่ เขาถึงวิ่งหนีเรา เราเดินเข้าไปในหมู่บ้าน เขาไม่สนใจเรา ผมเข้าใจว่าเขาเกลียดพวกเรา เขาไม่อยากมาพูดจากับพวกเรา เราก็ท้อใจ เราก็เสียใจ ทำไมถึงไม่มาต้อนรับ”

“เราใช้ความพยายามอยู่นาน ในที่สุดเขาก็เริ่มพูดคุยกับเราบ้าง เราก็ถามเขา พูดคุยกับเขาว่าเขาเกลียดอะไร บางคนก็เล่าให้ฟังว่า เขาถูกรังแก ถูกข่มเหง ถูกรีดไถอะไรต่างๆ นานาร้อยแปดพันประการ

 

สาเหตุสำคัญ 3 ประการที่ทำให้คนไทยไปเข้ากับพรรคคอมมิวนิสต์ ได้แก่

1. ความลำบากยากจน

2. ความคับแค้นใจที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม

3. การถูกกดขี่ข่มเหง

ผมบอกว่านี่คือสาเหตุ ถ้าเราไม่สามารถจะกำจัดให้ได้ เราก็ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ ไม่สามารถรบมีชัยชนะเหนือพวก ผกค.ได้”

แนวความคิดของ พล.ต.เปรม ติณสูลานนท์ รองแม่ทัพภาคที่ 2 เป็นหนึ่งเดียวกับแนวความคิดและการปฏิบัติของ พ.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจ กรมผสมที่ 23 สกลนคร

ความสัมพันธ์ที่ดีจึงเริ่มขึ้นในสมรภูมิสู้รบตั้งแต่บัดนั้น ระหว่างผู้สั่งการ พล.ต.เปรม ติณสูลานนท์ กับผู้ปฏิบัติ พ.อ.อาทิตย์ กำลังเอก