ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 กรกฎาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | เงาตะวันออก |
เผยแพร่ |
เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล
อุษาวิถี (37)
บทวิเคราะห์อุษาวิถีกรณีอินเดียและจีน (ต่อ)
ก. 3 สภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม
“กลียุค” ที่เกิดในอินเดียและจีนนั้น เป็นไปหลังจากที่สังคมทั้งสองได้สั่งสมอารยธรรมของตนมาเป็นเวลานับพันปี และอารยธรรมนั้นก็ได้แสดงตนผ่านรูปการณ์จิตสำนึกที่มีรายละเอียดอันมากมาย
ซึ่งก็คือ วัฒนธรรม
หากไม่นับวัฒนธรรมที่อยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน ซึ่งมักจะค่อนข้างอิสระในทางปฏิบัติ (เช่น การกิน การนอน การแต่งกาย เป็นต้น) แล้ว วัฒนธรรมที่มีรูปแบบเฉพาะบุคคลหรือกลุ่มบุคคลและมีวิถีปฏิบัติที่เคร่งครัดเข้มงวดด้วยกาลเทศะก็คือ ขนบจารีต
ขนบจารีตถือเป็นแบบแผนปฏิบัติที่มีพัฒนาการและรูปแบบที่สลับซับซ้อน ในระยะเริ่มแรกนั้นอาจเป็นเพียงพิธีกรรมที่มนุษย์เชื่อว่า เป็นวิธีการหนึ่งที่ตนสามารถสื่อไปยังสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติได้
และเมื่อเวลาผ่านไปพร้อมกับที่สังคมมีความสลับซับซ้อนขึ้นมาอย่างช้าๆ พิธีกรรมที่ว่าก็มีตัวแทนในการทำพิธีกรรมนั้นขึ้นมา
ตัวแทนหรืออีกนัยหนึ่งคือ ผู้เป็นตัวกลางระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ หรือพระเจ้า สวรรค์ ตลอดจนเทพยดาฟ้าดินนี้ มักจะมีฐานะสำคัญและสูงในทางสังคม
กล่าวเฉพาะในกรณีอินเดียแล้วก็คือ พราหมณ์ ส่วนจีนคือ กษัตริย์
และจากที่เป็นเพียงพิธีกรรม ขนบจารีตได้ถูกขยายไปเป็นระเบียบแบบแผนสำหรับถือปฏิบัติ ซึ่งมีตั้งแต่การวางตัวให้เหมาะสมระหว่างบุคคลต่อบุคคล อากัปกิริยาตั้งแต่การเดินเหิน, การพูดจา, การเป็นผู้มีมารยาท, การวางสีหน้า, ท่าทางของร่างกาย ตลอดจนภาษาที่ใช้
ต่างล้วนเป็นสิ่งที่บุคคลพึ่งยึดถืออย่างจริงจังและระมัดระวัง
การแสดงความเคารพนบนอบหรือการหมอบกราน การแสดงความจงรักภักดีผ่านเครื่องบรรณาการ การเซ่นไหว้เพื่อรำลึกถึงผู้มีพระคุณ พิธีกรรมต่างๆ ตามวาระที่มีตลอดปี ฯลฯ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนรวมเป็น “ขนบจารีต” ทั้งสิ้น
ขนบจารีตตามนัยที่กล่าวมานี้ ถือกันว่าเป็นระเบียบแบบแผนที่สะท้อนถึงการตระหนักในคุณค่าทางจริยธรรมที่มนุษย์พึงมีต่อกันและกัน และต่อสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ (ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือธรรมชาติ)
ที่เกี่ยวพันกับคุณค่าทางจริยธรรมนี้หมายความว่า บนฐานะที่แตกต่างกันของบุคคลในแต่ละวรรณะหรือแต่ละชนชั้น บุคคลแต่ละคนย่อมมีจริยธรรมที่ตนพึงยึดถืออยู่แล้ว และบนฐานจริยธรรมที่ว่านี้ บุคคลจึงพึงได้รับการปฏิบัติตอบอย่างเหมาะสม
เช่น กษัตริย์ที่ปกครองแผ่นดินโดยธรรมพึงได้รับการบังคมคารวะจากราษฎร ข้างฝ่ายราษฎรผู้ตั้งตนอยู่ในจริยธรรมนั้น ก็พึงได้รับการบำบัดทุกข์บำรุงสุขจากการปกครองของกษัตริย์เช่นกัน
หรือบุคคลผู้ทรงไว้ซึ่งคุณูปการแก่สังคมอย่างใหญ่หลวงก็พึงที่จะได้รับการระลึกถึง แม้เมื่อตายจากไปจากสมาชิกของสังคมอย่างสม่ำเสมอ หาไม่แล้วสมาชิกนั้นเองจะเป็นผู้ปราศจากจริยธรรม เนื่องเพราะถือเป็นบุคคลที่ไม่ยกย่องจริยธรรม เป็นต้น
ก่อนที่จะเกิดกลียุคทั้งในอินเดียและจีน ขนบจารีตได้ถูกกำหนดขึ้นมาให้แต่ละวรรณะแต่ละชนชั้นไว้ถือปฏิบัติมาช้านานแล้ว และเมื่อเกิดกลียุคขึ้นมา สาเหตุที่มาของปัญหาระหว่างจีนกับอินเดียก็ไม่ต่างกัน
กล่าวคือ ในกรณีอินเดียทั้งวรรณะพราหมณ์และกษัตริย์ต่างก็ไม่ยึดขนบจารีตดังเช่นแต่ก่อน หลักจริยธรรมที่แฝงอยู่ในขนบจารีตไม่เพียงถูกทอดทิ้งเท่านั้น หากแต่ยังถูกบิดเบือนเพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองอีกด้วย
โดยเฉพาะบรรดาพราหมณ์จำนวนมาก ได้ใช้ฐานะที่ตนเป็นตัวกลางของขนบจารีตเข้าแสวงหาผลประโยชน์กับวรรณะแพศย์และศูทรด้วยวิธีการต่างๆ นานา โดยเฉพาะขนบจารีตที่เกี่ยวกับพิธีบูชายัญ
ในขณะที่ชนในวรรณะทั้งสองเองก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะไม่ปฏิบัติไปได้ เพราะนั่นจะทำให้ตนต้องสูญเสียความเป็นศาสนิกชนที่ดี อันจะกระทบต่อการดำรงชีวิตและผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจจากอาชีพไปได้
กรณีของจีนก็คล้ายๆ กัน นั่นคือ ชนชั้นกษัตริย์และผู้ดีหรือขุนนางต่างก็ละทิ้งขนบจารีตไปไม่ต่างกัน ชนชั้นกษัตริย์ไม่สามารถดำรงตนในฐานะโอรสแห่งสวรรค์หรืออีกนัยหนึ่งคือ การเป็นตัวกลางระหว่างสวรรค์กับประชาชนหรือ “ฟ้า” กับ “ดิน” ได้อย่างที่ควรจะเป็น
การใช้ชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย และปราศจากจริยธรรมอย่างที่ชนชั้นกษัตริย์พึงยึดถือได้นำมาซึ่งความอ่อนแอ ไม่ต่างกับที่บรรดาชนชั้นผู้ดีหรือขุนนางสยบยอมต่อชนชั้นพ่อค้า ด้วยการยอมรับอามิสสินจ้างของพ่อค้าโดยแลกกับตำแหน่งทางการเมือง
จนทำให้พ่อค้าก้าวเข้ามามีบทบาทในฐานะชนชั้นปกครองอีกโสตหนึ่ง
แม้สาเหตุที่มาดังกล่าวจะคล้ายกันในกรณีของอินเดียและจีนก็ตาม แต่ผลที่แสดงออกมากลับไม่เหมือนกัน
เพราะในอินเดียนั้นปฏิกิริยาต่อต้านถูกแสดงผ่านศาสนาพุทธ ซึ่งปฏิเสธการแบ่งชั้นวรรณะและขนบจารีตของการบูชายัญที่บิดเบือน ปฏิกิริยานี้ส่งผลสะเทือนไปทั่วอินเดียในเวลานั้นอย่างกว้างขวางและยาวนาน
โดยเฉพาะเมื่อสามารถดึงเอาชนในวรรณะแพศย์และศูทรเข้ามาร่วมในขบวนขนบจารีตใหม่ ที่มีสิทธัตถะพุทธเจ้าเป็นแกนนำอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ไม่ว่าจะการประพฤติตนตาม “ธรรม” ก็ดี การไม่ถือวรรณะเป็นเรื่องสำคัญมากไปกว่าอาชีพก็ดี การอยู่ร่วมกันอย่างเสมอกันก็ดี การปล่อยวางในเรื่องทางโลกย์ก็ดี ตลอดจนการมุ่งสู่นิพพานก็ดี ล้วนเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับขนบจารีตเดิมของศาสนาพราหมณ์ทั้งสิ้น
ส่วนในกรณีจีนนั้นกลับไม่เหมือนกับอินเดีย เพราะสิ่งที่ขงจื่อนำเสนอกลับกลายเป็นการรื้อฟื้นให้ขนบจารีตเดิมกลับมาอีกครั้งหนึ่ง กล่าวอีกอย่างคือ ขงจื่อเห็นว่าขนบจารีตเดิมที่เคยมีมาในสมัยราชวงศ์โจวเมื่อก่อนหน้านี้นั้นดีอยู่แล้ว แต่ที่เสียก็เพราะบรรดาชนชั้นปกครองละทิ้งไม่ยึดถือ
ฉะนั้น หากชนชั้นปกครองหันกลับมายึดถืออย่างเคร่งครัดอีกครั้งหนึ่ง ก็จะแก้ปัญหากลียุคที่เกิดขึ้นได้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022