ทางที่ต้องเลือก? ‘ทิม’ พิงผนังทองแดง กำแพงประชาชน

ฝุ่นควันชุลมุน ศึกเลือกประธานสภายังไม่ทันจางหาย ทิ้งร่องรอยเจ็บช้ำไว้กับพรรคก้าวไกลในฐานะพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งอันดับ 1 ด้วยคะแนน 14.4 ล้านเสียง ยอม “งอ” ให้กับเกมต่อรองหวังก้าวสู่เกมโหวตเลือกนายกฯ ราบรื่น

พลันที่การนัดประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีถูกประกาศออกมา สารพัดเรื่องราวก็ถาโถม เกิดขึ้นรวดเร็ว ราวกับถูกวางเค้าโครงเรื่องไว้แล้วเสร็จ

เกิดการไล่เช็กเสียง ส.ว.จ้าละหวั่น เพราะ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกล ซึ่งฝ่ามาได้หลายด่าน สามารถรวบรวมเสียงได้ 312 เสียง จาก 500 เสียง ต้องการอีกเพียง 64 เสียง จาก 250 ส.ว. และ 181 ของ ส.ส.ฝ่ายพรรคเสียงข้างน้อย ก็จะถึงเส้นชัยทำเนียบรัฐบาล

ตามมาด้วยอาการขยับของฝ่ายอำนาจเก่าอนุรักษนิยมไทย กลุ่มทุนจารีตเดิม ที่เคลื่อนไหวอย่างรุนแรงในทุกองคาพยพทั้งหน้าฉากและหลังฉาก หวังรองรับแรงกระเพื่อมศึกโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

 

เริ่มจากการปล่อยข่าวของฝ่ายความมั่นคง จะมีม็อบนัดชุมนุม 14 ม็อบ ในวันเลือกนายกฯ ไล่เรียงรายชื่อแกนนำมาเสร็จสรรพ ผิดปกติวิสัยการจัดชุมนุม กระทั่งหลายกลุ่มต้องออกมาตอบโต้ ทั้งกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มทะลุฟ้า และไอลอว์ ยืนยันว่า ณ ขณะนั้นยังไม่มีการนัดหมายใดๆ สะท้อนสัญญาณแรกการดักทางเชิงข่มขู่จากฝ่ายความมั่นคง ต่อเนื่องจากการปล่อยข่าวเตรียมพร้อมห้องขังและการฝึกซ้อมคุมฝูงชนอย่างหนักก่อนหน้านี้

ตามมาด้วยการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการนายกฯ ผู้ดำรงตำแหน่งมานานกว่า 9 ปี จู่ๆ ก็ประกาศวางมือการเมือง จนเกิดคำถามเพื่อลดความแรงของกระแสการเมืองที่จะเกิดขึ้นตามมาใช่หรือไม่?

คืนวันเดียวกันนั้น เกิดข่าวใหญ่ในแวดวงสภาสูง หลัง 1 ใน ส.ว.ผู้หญิงทนไม่ไหวกับการถูกด้อยค่า การข่มขู่กดดัน ออกมาเปิดเผยแชตข้อความในกลุ่มไลน์ ส.ว. ฟ้องว่ามีการใช้ “กล้วย” ซื้อ ส.ว.ไม่ให้โหวต “พิธา” เป็นนายกฯ สื่อมวลชนยกหูถาม ส.ว.สายตรงข้ามพิธา ก็ยอมรับเป็นกลุ่มไลน์ ส.ว.จริง

นี่คือมูฟเมนต์สะท้อนความไม่เป็นปึกแผ่นของสภาสูง ที่อาจเกิดการเสียงแตก-คุมเสียงไม่อยู่ ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองไม่ได้ดังเช่นที่เกิดขึ้นในปี 2562

 

ยังไม่ทันครบ 24 ชั่วโมงของการวางมือการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ ช่วงสายวันที่ 12 กรกฎาคม กกต.ก็มีมติส่งคำร้องเรื่องถือหุ้นสื่อในนามผู้จัดการมรดกของพิธาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติ เกิดขึ้นเพียง 1 วันก่อนนัดโหวตเลือกนายกฯ

สร้างอาการ “ช็อก” ให้กับพรรคก้าวไกลและผู้สนับสนุนทั่วประเทศ จนออกมานัดแฟลชม็อบชุมนุมทั่วประเทศ

แฟนคลับก้าวไกลว่ามึนแล้ว นักวิชาการรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์มึนยิ่งกว่า เพราะพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็น ส.ส. ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาแล้ว 4 ปี เลือกตั้งครั้งนี้ก็ยื่นสมัครรับเลือกตั้งเดือนเมษายน ผ่านการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม จนถึงวันนี้ก็เกือบ 2 เดือน แต่ กกต.กลับมีมติรับเรื่องการร้องเรียนเรื่องคุณสมบัติผู้สมัคร 1 วัน ก่อนจะโหวตนายกฯ

ไม่มีใครที่ไหนมองว่ามันปกติได้ หรือเป็นการตรวจสอบอย่างเป็นไปตามกระบวนการไปได้

ยังไม่นับการเอาผิดมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งที่ยังไม่ชัดเจนว่า ไอทีวีเป็นสื่อหรือไม่ แถมยื่นทั้งๆ ที่ไม่มีใครร้อง ซ้ำยังไม่เคยเรียกผู้ถูกร้องมาให้ถ้อยคำใดๆ (ปี 2562 ยังเรียกนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่มาชี้แจง)

เรียกได้ว่ารับเรื่องมาได้ 32 วัน แต่เร่งรีบพิจารณาแค่ 3 วันก่อนวันโหวตนายกฯ (ผิดจากกรณีคดี ดอน ปรมัตถ์วินัย ที่ กกต.ใช้เวลา 386 วันก่อนส่งศาล) ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญก็แถลงรับคำร้องทางธุรการในไม่ถึง 1 ช.ม.ที่ยื่นคำร้อง เตรียมนำเข้าสู่การพิจารณาตามคำร้อง

ตามมาด้วยอีกข่าวช็อกของพรรคก้าวไกล ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับพิจารณาคำร้องของอดีตทนายความพุทธะอิสระ ที่ร้องเรียน “พิธา” และพรรคก้าวไกล เสนอแก้ ม.112 ในการหาเสียงเลือกตั้งเป็นการล้มล้างการปกครอง

นี่คือสิ่งที่พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกลกำลังเจอ หลังชนะเลือกตั้ง

 

หากถอยไปมองภาพรวม นับตั้งแต่ผลการเลือกตั้งออกมา จะพบว่าพิธาและพรรคก้าวไกลเจอการทำสงครามจากขั้วอำนาจเก่าที่รวมกับพลังของกลุ่มทุนจารีต และฝ่ายอนุรักษนิยมไทย รุมถล่มเล่นงานอย่างหนัก

1. คือสนามรบในเกมการเมืองในระบบ ก้าวไกลแม้จะชนะเลือกตั้ง แต่ก็แพ้เกมในสภา สะท้อนจากกระบวนการรุกฆาต หักคอทางการเมือง ไม่ยอมให้ก้าวไกลนั่งเก้าอี้ประธานสภา แม้จะอยู่ในสถานการณ์สงครามที่สุ่มเสี่ยงไม่ได้เก้าอี้นายกฯ ต้องให้ใครก็ได้ที่ไม่ใช่ก้าวไกลนั่งเก้าอี้นี้ และเกมนี้ประสบความสำเร็จ และก้าวไกลยังต้องเจอลักษณะเกมเช่นนี้ต่อไปอีก

2. สนามรบสมรภูมิกฎหมาย ซึ่งปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า เรียกกระบวนการนี้ว่า “นิติสงคราม” ไม่ว่าจะเป็นการพยายามเล่นงานพิธา ด้วยมาตรา 82, 151 และอื่นๆ ผ่านปัญหาประมวลกฎหมายอาญา 112 และเรื่องหุ้นสื่อ โดยเขี่ยลูกบอลผ่านนักร้องขาประจำ และปฏิบัติการ “เชือด” ด้วยองค์กรอิสระ ที่ออกแบบไว้ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. 2560

3. สงครามข้อมูลข่าวสาร เพื่อปูทางไปสู่การจัดการพรรคก้าวไกลอย่างชอบธรรม เริ่มจากการสาดวาทกรรมล้มล้างสถาบันเข้าใส่จากฝ่ายอนุรักษนิยมหลากหลายวงการ ทั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง กระทั่งหลังเลือกตั้ง ทั้งการต่อสู้เรื่องมาตรา 112 แม้แต่เรื่องวัฒนธรรมอย่างการรณรงค์ยืนในโรงหนังของดาราเซเลบชื่อดังที่มีจุดยืนตรงข้ามพรรคก้าวไกล ตามมาด้วยวาทกรรมแบ่งแยกดินแดน การขายชาติให้สหรัฐมาตั้งกองทัพ จุดยืนของพิธาต่อเรื่องพม่าคือการชักศึกเข้าบ้าน เปรียบพิธาเป็นเซเลนสกีเมืองไทย

แม้แต่สื่อกระแสหลักที่รายงานข่าวพิธาและพรรคก้าวไกลตามปกติ ก็ยังไม่วายถูกหางเลขไปด้วย

 

นั่นคือความเชี่ยวกรากของกระแสน้ำในทางการเมือง ที่ไหลเข้าซัดพรรคก้าวไกลรอบ 1-2 เดือนที่ผ่านมา

แต่ต้องยอมรับว่า เพราะจุดกำเนิดด้านความชอบธรรมทางการเมืองของพรรคก้าวไกลไม่เหมือนใคร ไม่เหมือนการเมืองไทยแบบที่เคยเป็นมา

การต่อสู้ของพรรคก้าวไกลดำเนินมาแบบชนิด “พิงผนังทองแดง กำแพงประชาชน” เป็นการเมืองที่อิงหรืออยู่บนฐานมวลชนมาแต่แรก การเมืองฐานมวลชน สะท้อนออกมาชัดเจนผ่านตัวเลข 14.4 ล้านเสียง ชนะคะแนนบัญชีรายชื่อระดับจังหวัดกวาดทั่วประเทศ

การต่อสู้ของก้าวไกลในสมรภูมการเมืองต่างๆ จึงไม่ใช่การต่อรองทางการเมืองแบบเดิม แต่เป็นการต่อสู้ต่อรองโดยพยายามแสดงให้เห็นว่า มีความเห็นและกระแสความต้องการของประชาชนเข้าไปอยู่ในนั้นเสมอ

ในสนามการเมืองในระบบ ไล่มาตั้งแต่การสร้างเงื่อนไขการจัดตั้งรัฐบาล ทำเอ็มโอยู การกำหนดเงื่อนไขปฏิรูปกฎหมาย 4 ข้อวันเลือกประธานสภา

ในสนามการต่อสู้นิติสงครามยึดพิงหลักทางกฎหมาย ใช้หลักการและหลักฐานสู้ แม้รู้เป็นรองในกระบวนการนี้ แต่ยึดหลักความชอบธรรมการเมือง

ในสนามสงครามข้อมูลข่าวสาร ไม่ว่าจะเรื่อง 112 แบ่งแยกดินแดน หุ้นไอทีวี แม้การโจมตีศิริกัญญา ตันสกุล ในประเด็นเศรษฐกิจ ก้าวไกลก็ไม่ได้ตอบโต้อย่างโดดเดี่ยว แต่มีประชาชนเข้าไปร่วมต่อสู้ในสนามข้อมูลข่าวสารด้วย

วันนี้เห็นชัดแล้วว่าขั้วอำนาจเก่า พลังอนุรักษนิยมและทุนจารีต สู้สุดฤทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นในเกมการเมือง สนามรบกฎหมาย สนามรบทางสังคม และเศรษฐกิจ ทั้งยังมีกลไกอำนาจรัฐที่ประกาศพร้อมใช้กำลัง โดยดูจากการเตรียมพร้อมรับม็อบ พร้อมใช้กำลังปราบ

จนเราได้เห็นก้าวไกลต้องถอยในเกมการเมืองบางห้วงจังหวะ และถึงวันนี้ก็มีสัญญาณอาจจะต้องแพ้ในสมรภูนิติสงครามอีกครั้ง

แต่จังหวะการต่อสู้ของพรรคก้าวไกล ที่ “พิงผนังทองแดง กำแพงประชาชน” จะยังคงทำให้พรรคก้าวไกลชนะในเกมความชอบธรรมทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่/หลักใหญ่ของสังคมการเมืองสมัยใหม่

 

ถ้ามองการเมืองด้วยกรอบคิดเก่า จะเห็นก้าวไกลเล่นเกมการเมืองมวลชน เดินสายปลุกกระแสความนิยม แต่ถ้ามองความเคลื่อนไหวด้วยกรอบคิดใหม่ เราจะเห็นการตื่นตัวทางการเมืองของฝ่ายก้าวหน้า ในระดับ “สูงยิ่ง”

สะท้อนว่าจากนี้ การต่อสู้ของประชาชนในสนามการเมืองจะยิ่งดุเดือดมีพลวัตมากขึ้นในสมรภูมิความคิด จากนี้ไปจะเป็นสงครามความชอบธรรมทางการเมืองที่มีประชาชนเป็นผู้เล่นหลักโดยมีพรรคการเมืองเป็นตัวแสดงแทน

แม้ที่สุดพลังอนุรักษ์-จารีตนิยมทางการเมือง ที่ผสานทุนผูกขาดจะชนะในทางการเมือง แต่ก็เป็นชัยชนะที่อาจไม่ยั่งยืน เพราะจะไม่สามารถปกครองประเทศได้ด้วยความชอบธรรม ยิ่งมีความพยายามกดผิวน้ำให้สงบ คลื่นใต้น้ำยิ่งปั่นป่วน ผู้มีอำนาจจะไม่มีความสุขในการปกครอง ไม่ว่าใครจะมาเป็นนายกฯ จะเต็มไปด้วยการต่อต้านทางความคิด-วัฒนธรรม เต็มรูปแบบ

จนถึงวันนี้ฝ่ายอำนาจเก่าก็ยังเดินหน้าทุบทำลายความหวังของบ้านเมืองต่อเนื่อง โดยไม่รู้ว่านั่นคือการทำให้ประเทศสูญเสียต้นทุนที่สูงที่สุด ประเมินค่ามิได้

หนังม้วนเดิมที่เคยฉายซ้ำๆ มาตลอดเกือบ 2 ทษวรรษ นำกลับมาฉายซ้ำ จึงต้องระวัง หนังม้วนเดิมอาจจะไม่เหมือนเดิม

เพราะรอบนี้ 1.พรรคการเมืองไม่ได้มาตัวเปล่า เพราะเขามาแบบ “พิงผนังทองแดง กำแพงประชาชน” และ 2.ประชาชนเป็นผู้เล่นโดยใช้พรรคการเมืองเป็นเครื่องมือ และเขารู้เท่าทัน

ยิ่งเครื่องมือการเมืองใช้ไม่ได้ เขาจะยิ่งมาต่อสู้เอง