เบื้องหลังฝังแค้น 2 ขั้ว “ไม่เอา 2 ลุง-ไม่เอาทักษิณ” หัวหน้าปชป.คนใหม่ ในเกมแชร์อำนาจ

เบื้องหลังฝังแค้น 2 ขั้ว ไม่เอา 2 ลุง-ไม่เอาทักษิณ หัวหน้าประชาธิปัตย์คนใหม่ ในเกมแชร์อำนาจฝ่ายอนุรักษนิยม

 

 

ความระอุคับแค้นของคนประชาธิปัตย์ทั้ง 2 ขั้ว ถูกระบายในที่ประชุมใหญ่วิสามัญ เมื่อวันที่ 9 เดือน 7 หลังฤดูเลือกตั้งใหญ่ 2566

แม้เป็นการ “ประชุมลับ” แต่เสียงที่ลอดออกจากห้องประชุมสัมผัสได้ถึงความร้อนแรง-แหลมคม ของการงัดข้อ 2 ขั้วอำนาจในพรรคเก่าแก่ 77 ปี

พรรคที่ผ่านมาแล้วทุกสนาม ทั้งเป็นพรรคต่ำ 50 ในยุคเลือกตั้งปี 2535 สู่พรรคต่ำสุด 25 เสียง ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด นับนิ้วความพ่ายแพ้การเลือกตั้งติดต่อกันถึง 8 ครั้ง ในรอบ 3 ทศวรรษ ส่งชัยชนะให้กับฝ่ายทักษิณ ชินวัตร คะแนนตามหลังพรรคที่สืบทอดอำนาจรัฐประหาร

เป็นพรรคที่สูญพันธุ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครติดต่อกันถึง 2 สมัยเลือกตั้ง-ส.ส.ของพรรคลิ้มรสชัยชนะครั้งสุดท้าย ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเมื่อ 31 ปีที่แล้ว

การเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคครั้งใหม่ จึงเป็นการชิงชัยที่มีเดิมพันแห่งอนาคต ระหว่าง 2 ขั้วอำนาจ ทั้งใน-นอกพรรคประชาธิปัตย์

 

ฝ่ายหนึ่งเป็นกลุ่มอำนาจเก่า-เปิดหน้า นำโดยนายชวน หลีกภัย เป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้กับการหวนคืนตำแหน่งของฝ่ายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีฝ่ายสนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ อาทิ 2 รองหัวหน้าพรรค นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ นายสาธิต ปิตุเตชะ และนายทุนเก่า-ใหม่ แฟนคลับชาวไฮโซไซตี้

อีกฝ่ายสนับสนุนขั้วนายเดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรคจากปักษ์ใต้ ที่ได้คะแนนเป็นกอบเป็นกำนำ ส.ส. 18 ที่นั่ง เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร สมทบด้วยอดีตเลขาธิการพรรคผู้ที่ประกาศว่า เขาไม่ใช่เจ้าพ่อ แต่เป็นผู้มีบารมี คือ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน

การวัดกำลังของ 2 ขั้วผ่านสงครามตัวแทน ที่เป็นโหวตเตอร์หรือผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกหัวหน้าพรรค จากทุกสารทิศ ที่มาร่วมสังฆกรรม 367 คน จาก 19 กลุ่ม

มีทั้ง ส.ส. 25 คน ซึ่งมีสัดส่วนในการโหวต 70%

นักการเมืองจากกลุ่มอื่นๆ อีก 349 คน สัดส่วนน้ำหนักในการโหวต 30%

มีตั้งแต่ กรรมการบริหารพรรค ชุดรักษาการ, อดีตหัวหน้าพรรค, อดีตเลขาธิการพรรค, อดีตรัฐมนตรี, รัฐมนตรีปัจจุบัน, อดีต ส.ส., นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.), สมาชิก อบจ. (ส.อบจ.), สมาชิกพรรคจากต่างจังหวัดที่มีสาขาพรรค, ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด ซึ่งถูกล็อกตัว-ล็อบบี้อย่างหนัก

เมื่อถึงหน้างาน โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ หลักสี่ กรุงเทพฯ นักการเมืองที่เข้าร่วมลงมติครั้งประวัติศาสตร์ปรากฏตัว 299 คน

ซึ่งถือว่าครบองค์ประชุมตามข้อบังคับพรรค ที่ต้องการอย่างต่ำ 250 มือ

 

เกมยกแรก ความเข้มข้นสุดระทึก เมื่อเข้าสู่วาระการเลือกกรรมการบริหารชุดใหม่ ฝ่ายที่สนับสนุนนายอภิสิทธิ์ นายสาธิต ปิตุเตชะ และทีมประเมินแล้วว่า ถ้าใช้การโหวตตามธรรมเนียมพรรค ฝ่ายนายอภิสิทธิ์ปิดเกมไม่ได้ ต้องตกเป็นฝ่ายแพ้แน่นอน เพราะ 18 ส.ส.อยู่ในมือของอีกขั้วอำนาจ

นายสาธิตจึงต้องงัดหลักการ “ของดใช้ข้อบังคับพรรค” ข้อสำคัญ คือให้เปลี่ยนสัดส่วนการออกเสียงของโหวตเตอร์ จากเดิมให้ ส.ส. 25 คน มีสัดส่วน 70% กับองค์ประชุมอื่นสัดส่วน 30% อาทิ อดีต ส.ส., อดีตรัฐมนตรี, อดีตผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง, และอดีตหัวหน้าพรรค เปลี่ยนเป็นคะแนน 1 สิทธิ 1 เสียง แต่ญัตตินี้ก็ตกไป

การประชุมเดินหน้าต่อ แต่มีสมาชิกกลุ่มอำนาจฝ่ายนายอภิสิทธิ์ คือ นายธนา ชีรวินิจ อดีต ส.ส.กรุงเทพฯ เสนอว่าต้องเป็นการประชุมลับ เพื่อไม่ให้ความแตกแยกแพร่งพรายออกไปสู่นอกพรรค ที่ประชุมเห็นชอบ ถือว่าชนะโหวต

จากนั้นฝ่ายหนุนอภิสิทธิ์ อดีตหัวหน้าคนที่ 7 รุกต่อเพื่อชิงหัวหน้าคนที่ 9 ให้ได้ เมื่อนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ เสนอญัตติ ขอให้ 299 คน พิจารณา “เลื่อนประชุม” ไม่จำเป็นต้องทำตามข้อบังคับพรรค ที่ต้องเลือกตั้งกรรมการบริหารชุดใหม่ หลังชุดเก่าลาออกภายใน 60 วัน โดยให้เหตุผลว่า หากต่างฝ่ายต่างงัดข้อกัน สุดท้ายจะทำให้เกิดผู้แพ้-ผู้ชนะ ตอกย้ำความแตกแยกในพรรค

ญัตติของนายองอาจ ต้องการล็อกประตูให้เลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ หลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ผ่านไปเสียก่อน เพื่อตัดเงื่อนไขการดึงนายอภิสิทธิ์กลับเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคในฐานะฝ่ายค้าน และสกัดเกมการนำเสียงโหวตของพรรคเข้าสมทบกับฝ่ายรัฐบาล กรณีเกิดการพลิกขั้ว

ทว่า เสียงของโหวตเตอร์ส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบ ญัตตินายองอาจจึงตกไป

การเอาเถิดเอาล่อ-ผลัดกันโหวต ผ่านไป 3 ชั่วโมง ที่ประชุมยังคว้าน้ำเหลว จึงต้องสั่งพักการประชุม 1 ชั่วโมง แกนนำระดับรัฐมนตรี จัดกระบวนทัพใหม่ ด้วยการ “อุ้มโหวตเตอร์” หายออกจากห้องประชุมหลายสิบคน

ส่งผลสะเทือนต่อองค์ประชุมในช่วงถัดมา

 

เกมต่อเกม หมัดต่อหมัด เมื่อการประชุมรอบใหม่เปิดขึ้นอีกครั้งในช่วงบ่าย กรรมการการเลือกตั้งประจำพรรคประชาธิปัตย์ 3 ราย ประกอบด้วย คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รักษาการรองหัวหน้าพรรค นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รักษาการกรรมการบริหารพรรค และนายราเมศ รัตนะเชวง รักษาการโฆษกพรรค ได้สั่งเดินหน้าวาระเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดใหม่

แต่เมื่อตรวจสอบองค์ประชุม ปรากฏว่ามีนักการเมืองระดับประเทศ-ท้องถิ่น ที่มีสิทธิโหวตเหลือเพียง 211 คน จากองค์ประชุมที่ต้องมีขั้นต่ำ 250 คน การประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค จึงต้องยุติกลางคัน

แต่ฝ่ายกลุ่มอำนาจใหม่ ที่กุมเสียงส่วนใหญ่ใน 25 ส.ส. อย่างนายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช ในฐานะรองเลขาธิการพรรค ไม่ยอมแพ้แม้แต่วินาทีเดียว จึงขอให้โหวตเตอร์อยู่ในความสงบ เพื่อรอองค์ประชุมที่เหลือเข้ามาสมทบ แต่สุดท้ายเมื่อนับจำนวนมือ กลับน้อยลงไปอีก 10 เสียง เหลือองค์ประชุมเพียง 201 เสียง

ปิดฉากการเลือกหัวหน้าพรรค ในการประชุมใหญ่สมัยวิสามัญ ครั้งที่ 1 โดยฝ่ายกำชัยชนะในการล่ม-ล้มองค์ประชุม เพื่อกลับมาชิงชัยอีกครั้ง

ตามข้อบังคับของพรรคประชาธิปัตย์ การประชุมใหญ่วิสามัญครั้งต่อไปต้องมีภายใน 30 วัน ถ้ามีผู้มาประชุมไม่ครบองค์ประชุมก็ให้ดำเนินการประชุมไปได้โดยไม่ต้องนัดประชุมใหญ่อีก

 

การชุมนุมมังกรการเมืองประชาธิปัตย์ครั้งหน้า ในองค์ประชุมใหญ่วิสามัญเลือกหัวหน้าพรรค จึงเป็นครั้งชี้ขาด ว่าฝ่ายหนุนอภิสิทธิ์และคณะ ที่ต้องปะทะกับ “ขั้ว 2 เดช-สายปักษ์ใต้” คือ เดชอิศม์ กับเดชเดโช ที่หนุนให้ผู้มีบุญทางภาคเหนือ นายนราพัฒน์ แก้วทอง รองหัวหน้าพรรคภาคเหนือ เข้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

เสียงของฝ่ายหนุน “ขั้ว 2 เดช” ดังก้องจากบ้านชายขอบกรุงเทพฯ ถึงห้องประชุมตึกพระแม่ธรณีบีบมวยผมข้างขวา คือ ต้องการเปลี่ยนแปลงพรรคแบบพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ปรับใหม่ทั้งหัวหน้าและเลขาธิการพรรค ถึงกับยอมตายทางการเมือง เป็นปุ๋ยให้ประชาธิปัตย์ได้ฟื้นชีวิต

อดีตนักการเมืองระดับหัวแถวประชาธิปัตย์ ถูกขุดขึ้นมาระบายแค้นว่า “จุดเปลี่ยนที่นำพรรคมาสู่จุดที่แพ้-สูญพันธุ์หลายพื้นที่ เพราะเกมที่พลิกผันในช่วงก่อนเลือกตั้ง 2562 ที่มีคลิปคำประกาศ ไม่เอา 2 ลุง-ไม่เอาทักษิณ”

ขณะที่พรรคใหม่ที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร กระดานการเมืองขาลงของพรรคเจ้าตลาดฝ่ายอนุรักษนิยม ถูกแชร์คะแนนถึง 3 พรรค ทั้งพลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ และประชาธิปัตย์ ส่งผลต่อการพ่ายแพ้ในพื้นที่ภาคใต้

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกทุกตำแหน่งในพรรครวมไทยสร้างชาติ ขณะที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ก็ลาออกจากหัวหน้าพรรค ส่วนพรรคพลังประชารัฐ อยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างอำนาจ เกมการเมืองกำลังจะเปลี่ยนอีกครั้ง

โลกพลิกไปหมุนรอบพรรคที่ชนะเลือกตั้ง และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ไม่เพียงงัดข้อ 2 ขั้วในพรรค แต่ต้องต่อสู้กับทุกพรรคการเมืองรอบทิศ