เมื่อ”มหาเศรษฐีพันล้านไทย” ไม่ถึง1% ของประเทศ แต่มีมูลค่าความมั่ง 19% ของจีดีพี

ในยุคสมัยที่คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะในประเทศไทยเราตะโกนดังขึ้นเรื่อยๆ เพื่อถามถึงความหวังในอนาคตที่สดใส ไม่ใช่ความร่ำรวยอู้ฟู่อะไรนักหนา พวกเขาขอแค่โอกาสที่จะตั้งเนื้อตั้งตัว พอมีฐานะที่พึ่งพาตัวเอง และดูแลครอบครัวให้มั่นคงได้บ้างเท่านั้น

แต่ไม่เคยมีคำตอบจากโครงสร้างอำนาจที่ควบคุมความเป็นไปของประเทศอยู่

นิตยาสาร “ฟอร์บส์” (FORBES) ได้รายงานถึงฐานะที่รุ่งเรืองขึ้นของมหาเศรษฐีไทยในปีที่ผ่านมา

สัดส่วน “มหาเศรษฐีพันล้านไทย” มีไม่ถึง 1% ของประเทศ แต่กลับมีมูลค่าความมั่งคั่งรวมกัน 94.8 พันล้านดอลลาร์ (2.9 ล้านล้านบาท) คิดเป็น 19% ของจีดีพี

50 เศรษฐีไทย ที่มี 1% ของประเทศ มีมูลค่าความมั่งคั่งคิดเป็น 32% ของจีดีพี รวมกันแล้วกว่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 4.9 ล้านล้านบาท มีมูลค่ามากกว่า “งบประมาณปี 2563” ถึง 1 ล้านล้านบาท

รวยขึ้นกว่าเดิมกันมหาศาลทั่วหน้า

 

ในจังหวะเดียวกันนั้น ธนาคารแถลงถึง “หนี้ครัวเรือนของคนไทย” ว่าในไตรมาส 1 ปี 2566 อยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท ติดเป็นร้อยละ 90.6 ต่อ GDP

ธปท.ยังมองว่า ระยะต่อไป NPL หรือหนี้เสียอาจทยอยปรับขึ้นบ้างจากกลุ่มเปราะบาง ผู้ที่มีรายได้น้อยแต่มีภาระหนี้สูง และกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ ซึ่งเคยเข้ารับมาตรการช่วยเหลือในช่วง COVID-19 แต่บางส่วนอาจไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ

เมื่อแยกตามประเภทสินเชื่อ 34% เป็นสินเชื่อซื้อบ้าน, 11 % เป็นสินเชื่อซื้อรถยนต์ ซึ่งส่วนหนึ่งเพื่อใช้ประกอบอาชีพ, 27% เป็นสินเชื่อบัตรเครดิตและส่วนบุคคล, 28% เป็นสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพ กองทุนเพื่อการศึกษา (กยศ.) และอื่นๆ

เป็นสองข้อมูลที่จะสะท้อนความแตกต่างกันดังฟ้ากับเหว

 

ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไปโป่งพองอยู่ที่บรรดามหาเศรษฐี ขณะที่คนทั่วไปซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของประเทศมีชีวิตที่ต้องดิ้นรนอยู่กับหนี้สินท่วมหัวท่วมหู

ในความเป็นจริงแล้วในข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยมีรายละเอียดมากกว่านั้น

ความแตกต่างของรายได้ที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำมากมายเช่นนี้ เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเรียกร้องให้แก้ไขโครงสร้างอำนาจการบริหารจัดการประเทศ ไม่ให้เอื้อทุนที่ได้เปรียบ ปิดช่องทางทำมาหากินของคนทั่วไปมากเกินไป และเป็นต้นทางของความต้องการ “เปลี่ยน” ทางการเมือง

ซึ่งว่าไปแล้วน่าจะเป็นเรื่องปกติของการอยู่ร่วมกันในสังคม

เมื่อคนกลุ่มเดียวดูดส่วนแบ่งผลประโยชน์ หรือทรัพย์สินไปเสียเกือบหมด ปล่อยให้คนส่วนใหญ่อยู่อย่างมองไม่เห็นความหวังในอนาคตที่ดีงาม

และข้อมูลที่ไม่ชัดเจนว่าไม่เป็นธรรมเหล่านี้ถูกเปิดเผยออกมา โดยมีการชี้ให้เห็นว่าผู้ครอบครองอำนาจรัฐ ไม่เพียงไม่ใส่ใจหาทางสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น กับแสดงให้เห็นถึงความเป็นฝ่ายเดียวกัน กระทั่งถูกคอนโทรลให้มีมาตรการเกื้อหนุนทุนผูกขาด

 

ผลการเลือกตั้งจึงสะท้อนความต้องการของประชาชนที่ต้องการ “เปลี่ยน” ด้วยการอาศัยการเข้าไปมีบทบาทใน “ระบบรัฐสภา” เป็นทางออก

ทว่า บ้านนี้เมืองนี้มีกลไกต่อต้านเจตนารมณ์ของประชาชน อย่างมีพลังอำนาจที่จะเขี่ยทิ้ง “การตัดสินใจของประชาชน” ให้พ้นจาก “รัฐสภา”

กดดันให้ประชาชนต้องแสดงออกในฐานะ “ม็อบ” ในท้องถนน

เพื่อรอรับข้อกล่าวหา “ก่อความวุ่นวาย” ให้ประเทศเท่านั้น

“รัฐสภา” ถูกผูกขาดอำนาจไว้ด้วย “ผู้ไม่ได้มาจากการยึดโยงกับประชาชน” ด้วยกติกาที่ยากจะแก้ไข