ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 กรกฎาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | เศรษฐกิจ |
เผยแพร่ |
บทความเศรษฐกิจ
ส่งออกส่อแววอ่อนแรง
ลุ้น รบ.ใหม่โชว์ฝีมือกู้ชีพ
ปั้มหัวใจดัน ศก.ไทย ปี ’66 ฟื้น
อีกไม่กี่วันเราก็จะได้เห็นโฉมหน้านายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทยแล้ว หลังจากที่เลือกตั้งแล้วเสร็จไปตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 จนถึงปัจจุบันประชาชนรวมถึงภาคเอกชน ยังลุ้นอยู่ว่าหน้าตาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่จะออกมาเป็นแบบไหน จะตรงใจหรือไม่
แต่ไม่ว่าอย่างไร ไม่ว่าใครจะได้เป็นทีมรัฐบาล ก็ต้องเร่งแก้ไขปัญหาที่กองพะเนิน รอให้เข้ามาแสดงฝีมืออย่างเร่งด่วน
โดยเฉพาะในเรื่องของภาคการส่งออก ที่เคยเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (จีดีพี) ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19
แต่ในปัจจุบันภาคการส่งออกส่ออาการอ่อนแรง จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ที่ระบุว่า ภาพรวมการส่งออกช่วง 5 เดือนแรก (มกราคม-พฤษภาคม) ของปี 2566 มีมูลค่า 116,344.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.1%
สินค้าเกษตรหดตัวอยู่ที่ 2.1% มีมูลค่า 11,308.8 ล้านเหรียญสหรัฐ การนำเข้ามีมูลค่า 122,709.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.5% เป็นมาจากสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม ติดลบ 0.4% มีมูลค่า 9,791.3 ล้านเหรียญสหรัฐ และสินค้าอุตสาหกรรม ติดลบ 5.4% มูลค่า 90,872.7 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่งผลให้ 5 เดือนแรก ไทยขาดดุลการค้า 6,356.3 ล้านเหรียญสหรัฐ
จากข้อมูลดังกล่าวส่งผลให้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับประมาณการตัวเลขการส่งออก ทั้งปี 2566 ลดลงมาอยู่ที่ติดลบ 2 ถึง 0% จากเดิมอยู่ที่ ติดลบ 1 ถึง 0%
เนื่องจากภาคการส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
โดยเฉพาะฝั่งตะวันตก ซึ่งภาครัฐควรเร่งสนับสนุนการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ หรือประเทศที่ยังขยายตัวได้ อาทิ จีน อินเดีย และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เพื่อทดแทนการส่งออกในประเทศหลัก โดยเฉพาะสหรัฐ และสหภาพยุโรป ที่อ่อนแอลง
ส่วนหลังจากนี้จะมีการปรับประมาณการเป้าส่งออก ปี 2566 ใหม่ หรือไม่นั้น การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังของไทยจะต้องมีมูลค่าเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน จึงจะสามารถปรับประมาณการใหม่ได้ต่อไป
ขณะที่ เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยว่า ปัจจุบันเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นแล้ว เอกชนหวังว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นไปตามไทม์ไลน์เดิม หรือเร็วกว่านั้น หากเรียบร้อยภายในเดือนกรกฎาคม 2566 ยิ่งดีมาก เพราะเวลานี้เศรษฐกิจกำลังแย่จากสถานการณ์การส่งออกที่ติดลบ จนส่งผลให้ผู้ผลิตที่เน้นส่งออกได้รับผลกระทบผลิตสินค้าออกมาแต่ขายได้น้อยลง หรือบางรายขายไม่ได้ แต่ยังจำเป็นต้องผลิตต่อเพื่อรักษาการจ้างงานจนบางรายเริ่มลดการจ้างงานล่วงเวลา (โอที) ลง และคาดหวังว่าในช่วงไตรมาสที่ 4/2566 คำสั่งซื้อจะกลับมาดีขึ้น แต่ยอมรับว่าภาพรวมส่งออกยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง
โดยจากการสำรวจสถานการณ์การผลิตล่าสุดพบว่า มีถึง 23 อุตสาหกรรมที่เผชิญสถานการณ์ดังกล่าว อาทิ เฟอร์นิเจอร์ วัสดุก่อสร้าง เหล็ก สิ่งทอ แต่ยังไม่ถึงกับเลิกจ้าง แต่หากส่งออกยังแย่และปลายปีไม่ฟื้น อาจเห็นการเลิกจ้างเกิดขึ้น ตามสายป่านของแต่ละอุตสาหกรรมที่แข็งแรงไม่เหมือนกัน
ดังนั้น เอกชนจึงคาดหวังให้ตั้งรัฐบาลโดยเร็ว เพื่อให้รัฐบาลใหม่เข้ามาผลักดันภาคการส่งออก โดยเข้ามาขับเคลื่อนการขยายตลาดส่งออกใหม่ๆ และเร่งเดินหน้าทำเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศต่างๆ สิ่งเรื่องนี้เป็นหนึ่งเห็นผลที่ต้องการให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว
อีกกรณี จากปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยสูงถึง 90.6% บวกกับค่าครองชีพที่สูงของคนไทย ทั้งค่าไฟ ดอกเบี้ย ยังเป็นแรงกดดันให้กำลังซื้อชะลอตัว จึงเฝ้ารอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต ซึ่งมาตรการรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศน่าเห็นผลเร็ว เพราะปัจจัยต่างๆ ควบคุมได้ ต่างกับการแก้ปัญหาส่งออก เพราะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยนอกประเทศ
ซึ่งปัจจัยเหล่านั้นยังส่งผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติในการเข้ามาเที่ยวประเทศไทยด้วย
อย่างไรก็ดี ในมุมมองของ ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) ระบุว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาคการส่งออกชะลอตัว เกิดจากกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าลดลง ดังนั้น การที่จะทำให้กำลังการผลิตกลับมาเทียบเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ต้องรอให้สถานการณ์การส่งออกคลี่คลาย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตร ที่เกี่ยวข้องกับเกษตรแปรรูป และภาคปศุสัตว์ ซึ่งพึ่งพิงอุตสาหกรรมนำเข้า อาทิ กล่อง ฉลาก แพ็กเกจจิ้ง ซึ่งเมื่อธุรกิจเหล่านี้ได้รับผลกระทบ สินค้าที่เกี่ยวข้องก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
ทั้งนี้ เมื่อธุรกิจได้รับผลกระทบ ยอดคำสั่งซื้อลดลง ก็กระทบชิ่งมาถึงแรงงาน ที่ปัจจุบันการจ้างงานแบบล่วงเวลา หรือการทำโอที ในภาพรวมลดลงเกือบทั้งหมด ซึ่งในมุมของบริษัทผม ก็ได้รับผลกระทบเรื่องยอดขายเช่นกัน ถือว่าเป็นเป็นผลกระทบครั้งแรกในรอบ 10 ปี เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นผู้ประกอบการนำเข้า และส่งออกสินค้า ซึ่งถือว่าสถานการณ์เลวร้าวกว่าช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนกำลังการผลิตกลับมาอยู่ที่ประมาณ 60-62% แต่อย่างน้อยควรกลับมาอยู่ที่ 85% จาก 100% ในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19
นอกจากเรื่องการส่งออกที่น่าเป็นห่วงแล้ว นโยบายการปรับขึ้นค่าแรง ของพรรคการเมือง ที่จะขึ้นมาเป็นรัฐบาลชุดใหม่ในอนาคตนั้น ยังคงเป็นความกังวลของผู้ประกอการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) อยู่ จึงมองว่าการนำมาพูดถึงในช่วงนี้อาจยังไม่เหมาะสมต้องดูสภาพคล่องของธุรกิจ ภาวะเศรษฐกิจในตอนนี้หลายธุรกิจเสี่ยงจะเจ๊งไม่เจ๊งแหล่ ดูได้จากจำนวนผู้ว่างงานในเดือนพฤษภาคม 2566 ที่สูงขึ้นในรอบ 6 เดือน หรือประมาณ 1.3% ซึ่งสาเหตุหลักจากการว่างเงินเกิดจากสภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ที่ปัจจุบันมีสต๊อกเหลือค้างจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน
เรียกได้ว่ายังไม่ทันเข้ามารับตำแหน่ง งานก็เข้าแบบรัวๆ เสียแล้ว แต่รัฐบาลชุดใหม่ จะเข้ามาแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ทันการณ์
หรือเศรษกิจไทยจะสิ้นลมก่อน คงต้องจับตาดูกันต่อไป!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022