การล่วงละเมิดทางเพศในโลกศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

การล่วงละเมิดทางเพศในโลกศิลปะ

 

เมื่อไม่นานมานี้ มีเหตุการณ์พยายามล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นในวงการศิลปะและวรรณกรรมในบ้านเรา

กลายเป็นข่าวแพร่หลาย เป็นที่จับตาของผู้คนในสังคมวงกว้าง และปลุกกระแสต่อต้านการล่วงละเมิดและการคุกคามทางเพศให้ถูกพูดถึงอีกครั้ง หลังจากเงียบหายไปหลังจากที่กระแสการเคลื่อนไหว #MeToo เกิดขึ้นในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมา

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าไม่มีเหตุการณ์ล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ว่านี้

ในทางกลับกัน ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีข่าวเหตุการณ์ล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศของคนในวงการศิลปะและวงการทำงานสร้างสรรค์ในบ้านเราเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แต่ข่าวเหล่านั้นก็กลับถูกเพิกเฉยและละเลยด้วยเหตุผลหลายประการ

ทั้งจากโครงสร้างของสังคมแบบอำนาจนิยมในวงการศิลปะและวงการทำงานสร้างสรรค์

หรือจากชื่อเสียงและสถานภาพทางสังคมของผู้กระทำ หรือแม้กระทั่งจากการโยนความผิดให้ผู้ถูกกระทำด้วยซ้ำไป

สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงเกิดขึ้นในวงการศิลปะและวงการทำงานสร้างสรรค์ในบ้านเราเท่านั้น นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในวงการศิลปะและวงการทำงานสร้างสรรค์ของโลกสากล ก็มีเรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้นเช่นกัน

เพียงแต่ประเด็นเหล่านี้ถูกจดจำ บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรทางประวัติศาสตร์ หรือแม้แต่เกิดการต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรม ไม่ปล่อยให้เรื่องเงียบหายไปเฉยๆ

อาร์ทิมีเซีย เจนทิเลสกี Judith Slaying Holofernes (1620), ภาพจาก https://rb.gy/nrk9p

ยกตัวอย่างเช่น เรื่องราวของ อาร์ทิมีเซีย เจนทิเลสกี (Artemisia Gentileschi) ศิลปินหญิงชาวอิตาเลียนแห่งยุคบาโร้ก เธอเป็นผู้หญิงไม่กี่คนในยุคนั้น ที่กล้าขึ้นศาลฟ้องร้องผู้ชายที่ข่มขืนเธอในวัย 18 ปี ซึ่งเป็นศิลปินที่พ่อของเธอจ้างมาทำงานและสอนเธอวาดภาพ

หลังจากผ่านการพิจารณาคดี, การตรวจสอบทางสูตินรีเวชอันเจ็บปวดและน่าอับอาย และการทรมานร่างกายเพื่อพิสูจน์หลักฐานในการถูกข่มขืนต่อหน้าผู้พิพากษา รวมถึงการประณามหยามเหยียดจากชายผู้ข่มขืนเธอ

ในที่สุดเธอก็ชนะคดี ถึงแม้ผู้ต้องหาที่ข่มขืนเธอจะติดคุกและถูกเนรเทศไม่ถึงปี ก่อนที่จะกลับมาทำงานกับพ่อของเธออีกในภายหลัง

ความโหดเหี้ยมรุนแรงที่กระทำต่อเพศชายที่ปรากฏในภาพวาดของเธอ จึงเปรียบเสมือนการประทับตราบาปและแสดงการแก้แค้นในสิ่งที่เพศชายกระทำกับเธอ

และเป็นการแสดงออกถึงพลังของเพศหญิงในการไม่สยบยอมต่อการกดขี่นั่นเอง

ชัค โคลส Self-Portrait (2000), ภาพพิมพ์ซิลก์สกรีน, ภาพโดย Adamson Gallery, Washington, ภาพจาก https://rb.gy/bcl5r

กลับมาในยุคปัจจุบัน ในช่วงที่เกิดกระแสการเคลื่อนไหว #MeToo มีเหตุการณ์ที่ ชัค โคลส (Chuck Close) ศิลปินอเมริกันระดับปรมาจารย์ผู้เป็นหนึ่งในศิลปินผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดในวงการศิลปะอเมริกัน ถูกหญิงสาวหลายคนร้องเรียนว่าเขาล่วงละเมิดทางเพศพวกเธอ

โดยกล่าวว่า เขาเชื้อเชิญพวกเธอให้ไปที่สตูดิโอของเขาทีละคน และเอ่ยปากให้เปลื้องเสื้อผ้าเปลือยเปล่าเพื่อ ‘คัดตัว’ สำหรับเป็นนางแบบวาดภาพ

ยิ่งไปกว่านั้น เขายังถามคำถามลามกหยาบคายเกี่ยวกับอวัยวะเพศของพวกเธอ โดยหญิงสาวบางคนกล่าวหาว่าเขาเคยขอให้เธอช่วยตัวเองต่อหน้าเขา

หลังจากข่าวอื้อฉาวแพร่กระจายไปในวงกว้าง คนในแวดวงศิลปะก็เริ่มความเคลื่อนไหวตอบสนองต่อประเด็นนี้ สถาบันศิลปะบางแห่งปลดผลงานของเขาออก บางแห่งยกเลิกนิทรรศการของเขา

เอ็มมา ซัลโควิกซ์ ขณะกำลังทำงานศิลปะแสดงสดเพื่อประท้วงหน้าผลงานของชัค โคลส ภาพโดย Sylvia Kang ภาพจาก https://rb.gy/z5mvr

ในขณะที่บางแห่งจัดนิทรรศการเทียบเคียงเพื่อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับประเด็นนี้

หรือศิลปินหญิงชาวอเมริกัน เอ็มมา ซัลโควิกซ์ (Emma Sulkowicz) ก็ไปทำงานศิลปะแสดงสดอยู่หน้าผลงานของโคลส ที่แสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำอย่าง Metropolitan Museum of Art และ Museum of Modern Art (MoMA) ด้วยการเปลื้องเสื้อผ้าจนเหลือแต่ชุดชั้นในสีดำ และแปะสัญลักษณ์เครื่องหมายดอกจัน (*) ลงไปบนตัวจนลายพร้อย

เพื่อแสดงการประท้วงต่อต้านกรณีล่วงละเมิดทางเพศของชัค โคลส นั่นเอง

เอ็มมา ซัลโควิกซ์ Mattress Performance (Carry That Weight) ภาพจาก https://rb.gy/wufuh

ซัลโควิกซ์เองก็เป็นศิลปินผู้ทำงานศิลปะสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อต้านการข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศมาอย่างต่อเนื่องและโดดเด่นที่สุดคนหนึ่งในโลกศิลปะ

ที่สำคัญ เธอเองก็เป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศด้วยตัวเอง

ผลงานศิลปะแสดงสดที่มีชื่อเสียงที่สุดของเธอคือ Mattress Performance (Carry That Weight) (2014-2015) ที่ซัลโควิกซ์ทำขึ้นเพื่อประท้วงเหตุการณ์ที่เธอถูก พอล นุงเกสเซอร์ (Paul Nungesser) เพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยข่มขืนในหอพักของเธอเอง แต่เขากลับลอยนวลพ้นผิด

เธอจึงตัดสินใจทำผลงานศิลปะแสดงสดชุดนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นงานศิลปนิพนธ์สำหรับเรียนจบ และยังเป็นการประท้วงป่าวประกาศให้สาธารณชนได้รับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอ

ด้วยการใช้เตียงนอน (หรือ ‘ฟูกที่นอน’) สีน้ำเงินเข้ม ขนาดยาวเป็นพิเศษ และมีน้ำหนักถึง 50 ปอนด์ (23 ก.ก.) ซึ่งเป็นฟูกเตียงนอนที่ใช้ในหอพักของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียที่เธอถูกข่มขืนบนนั้น

โดยเธอแบกฟูกที่นอนนี้กับตัวเอาไว้ตลอดเวลาที่ไปไหนมาไหนในพื้นที่มหาวิทยาลัย

เธอยังไม่อนุญาตให้ตัวเองร้องขอความช่วยเหลือในการแบกที่นอนนี้จากใครก็ตาม (เว้นเสียแต่ว่าพวกเขาจะยื่นมือมาช่วยเหลือเธอเอง)

เธอกล่าวว่าการทำเช่นนี้เป็นประสบการณ์ที่ทรมานร่างกายเอามากๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องกระทำสำหรับเธออย่างยิ่ง

การแสดงสดของซัลโควิกซ์ในครั้งนั้น รวมถึงประเด็นที่เธอต้องการจะสื่อสาร ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนอย่างมากจนสื่อขนานนามเธอว่า “หญิงสาว (ผู้แบก) ที่นอน”

ซัลโควิกซ์กล่าวว่าเธอจะยุติการแสดงชุดนี้ก็ต่อเมื่อผู้ข่มขืนเธอถูกลงโทษให้พ้นสภาพการเป็นนักศึกษา หรือไม่ก็ออกจากมหาวิทยาลัยไปเอง

และเธอจะแบกที่นอนไปในพิธีรับปริญญา (ถ้าจำเป็น)

ท้ายที่สุดซัลโควิกซ์ก็แบกฟูกที่นอนมางานรับปริญญาของเธอจริงๆ ในเดือนพฤษภาคม 2015 โดยมีเพื่อนนักศึกษาหญิงหลายคนที่ร่วมรับปริญญาช่วยกันแบกที่นอนเข้ามาท่ามกลางเสียงเชียร์สนั่นของเพื่อนนักศึกษาที่เหลือ

ในขณะที่อธิการบดีผู้แจกปริญญาบัตรไม่ยอมจับมือแสดงความยินดีกับเธอ โดยทางมหาวิทยาลัยอ้างว่าเป็นเพราะถูกฟูกที่นอนขวางทางอยู่

หลังจบการศึกษา ซัลโควิกซ์กล่าวว่า เธอกะอยู่แล้วว่ามหาวิทยาลัยคงไม่ลงโทษนุงเกสเซอร์ให้พ้นสภาพการเป็นนักศึกษา เธอจึงทำการแสดงสดแบกที่นอนต่อเนื่องเป็นเวลาเก้าเดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกับการตั้งครรภ์ของผู้หญิง โดยเธอกล่าวว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของผลงานชุดนี้

“สำหรับฉัน ผลงานชุดนี้นำเสนอข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ชายคนหนึ่งทำสิ่งที่เลวร้ายกับฉัน และฉันเปลี่ยนประสบการณ์อันเลวร้ายนั้นให้กลายเป็นสิ่งที่งดงาม”

เอ็มมา ซัลโควิกซ์ ขณะแบกที่นอนกับเพื่อนๆ มารับปริญญา ภาพโดย Adam Sherman ภาพจาก https://rb.gy/udtwz

ล่าสุด ในปี 2023 นี้นี่เอง ที่มีข่าวฉาวของ ทอม แซกส์ (Tom Sachs) ศิลปินร่วมสมัยชาวอเมริกัน ที่เพิ่งเดินทางมาแสดงงานในบ้านเราเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ว่าเขาถูกอดีตพนักงานหลายคนกล่าวหาว่าเขาสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เกิดความน่าหวาดผวา และไม่น่าไว้วางใจ

อดีตพนักงานบางคนกล่าวว่าเขาแสดงวาจาไม่เหมาะสมเกี่ยวกับเรื่องเพศและรูปร่างหน้าตาของพนักงาน และยังขว้างปาข้าวของข้ามห้องไปยังพนักงานหลายคนบ่อยๆ และยังเรียกห้องเก็บของในชั้นใต้ดินว่า “ห้องข่มขืน” เขายังสวมแค่ชุดชั้นในเดินไปเดินมาทั่วสตูดิโอ และยังเรียกพนักงานว่า “ออทิสติก”, “ปัญญาอ่อน”, “อี_อก” และถ้อยคำแรงๆ อื่นๆ อีกด้วย

ทางบริษัท Nike ที่ร่วมงานกับทอม แซกส์ มาอย่างยาวนานกล่าวว่า พวกเขามีความกังวลอย่างมากต่อข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงมากๆ เช่นนี้ และกำลังติดต่อทอมและสตูดิโอของเขาเพื่อพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์และวิธีการแก้ไขปัญหาที่ว่านี้

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ทอม แซกส์ ยังถูกกล่าวหาว่าเขาวิดีโอคอลคุยกับพนักงานหญิงของ Nike โดยสวมแค่ชุดชั้นในเท่านั้น ซึ่งทางอดีตพนักงานของสตูดิโอของทอม แซกส์ กล่าวว่าการแต่งกายแบบนี้เป็น “ชุดเสมือนจริงประจำสัปดาห์” และเป็น “ส่วนหนึ่งของกระบวนการออกแบบตามปกติ”

อดีตพนักงานของสตูดิโอคนหนึ่งยังกล่าวว่า “เหมือนเขาพยายามทำให้คนอื่นรู้สึกแย่ เพื่อแสดงถึงความเป็นอัจฉริยะของตัวเอง เรื่องนี้ไม่แฟร์เลย เพราะมีหลายคนข้างนอกรู้ว่าเขาเป็นคนแบบไหน แต่โลกศิลปะมันแคบ ไม่มีใคร (แม่ง) แยแสเรื่องนี้หรอก”

ล่าสุดทาง Nike ก็มีการเคลื่อนไหวต่อสถานการณ์นี้ ด้วยการเปลี่ยนแพ็กเกจของรองเท้า NikeCraft Mars Yard 2.0 ที่ทอม แซกส์ ร่วมออกแบบมาตั้งแต่ปี 2017 โดยการเอาคำว่า “work like a slave” (ทำงานเยี่ยงทาส) ออกไปจากฝากล่องรองเท้าก่อนที่จะเปิดตัวสินค้าสู่ตลาดนั้น

 

คําถามที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อเกิดเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นในวงการศิลปะ คนในวงการควรจะทำอย่างไรดี

ท้ายที่สุดแล้ว การเพิกเฉยต่อความไม่ชอบธรรมและความเลวร้ายในสังคมไม่น่าจะใช่ทางออกที่ดี เพราะศิลปะนั้นไม่ได้ลอยอยู่ในอากาศเปล่าๆ ปลี้ๆ หากแต่เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งในสังคม

อย่างน้อยที่สุด สิ่งที่คนในวงการนี้พอจะทำได้ ก็คือการใส่เครื่องหมายดอกจัน *

เครื่องหมายวรรคตอนเล็กๆ ที่เน้นย้ำถึงผลกระทบอันใหญ่หลวงที่ผู้ถูกกระทำได้รับจากความเลวร้ายไม่ชอบธรรมเหล่านั้นก็ยังดี •

 

ข้อมูล https://rb.gy/nrk9p, https://rb.gy/fmoz0, https://rb.gy/mrg26, https://rb.gy/wiq5p, https://rb.gy/stmau, https://rb.gy/lvcoa, https://rb.gy/4eui1

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์