ตามรอยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (6) Wawasan 2035 การศึกษามาอันดับหนึ่ง

สมหมาย ปาริจฉัตต์

รายงานพิเศษ | สมหมาย ปาริจฉัตต์

 

ตามรอยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (6)

Wawasan 2035 การศึกษามาอันดับหนึ่ง

 

Future of Brunei after oil and gas. อนาคตของบรูไนหลังยุคน้ำมันและก๊าซ

Preparation of Brunei for future, especially their workforce. การเตรียมความพร้อมของบรูไนในอนาคตโดยเฉพาะด้านกำลังแรงงาน

Lessons learned from the Gulf states for Brunei. บทเรียนจากกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน

Roles of Brunei religious police in social infrastructure. บทบาทของตำรวจศาสนาบรูไนในโครงสร้างพื้นฐานด้านสังคม

Sources of Brunei incomes. แหล่งที่มาของรายได้ของบรูไน

หัวหน้าคณะเดินทางส่ง 5 ประเด็นชวนคิดเข้ากลุ่มไลน์ Brunei 21 – 21 May 2023 แต่เช้าวันรุ่งขึ้น ก่อนคณะจะออกไปเยี่ยมโรงเรียนและครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี บรูไน คนล่าสุด

ชวนให้ทุกคนที่กำลังติดตามความเป็นไปของบรูไน เลือกตามความสนใจใคร่รู้ อยากได้คำเฉลยข้อไหน มีคำตอบที่ได้จาก AI ไว้แล้วพร้อมส่งให้ทันที

ผมไม่ได้ไล่เรียงถาม ใคร่ขอรู้คำตอบข้อไหน ได้แต่คิดว่าทั้ง 5 ประเด็นล้วนเป็นเรื่องท้าทายวิสัยทัศน์ บรูไน 2035 หรือ Wawasan 2035 อย่างยิ่ง

หนังสือพิมพ์ Borneo Bulletin รายงานข่าวคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี พบครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี บรูไน พร้อมภาพขึ้นหน้า 1

หลังจากสมเด็จพระราชาธิบดีทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับแผนพัฒนาประเทศในระยะยาว เมื่อปี ค.ศ.2014 ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจบรูไนเพื่อแสวงหารายได้เพิ่มขึ้นโดยหันมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การค้าบริการ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อุตสาหกรรมฮาลาล เทคโนโลยีสารสนเทศ การเงินการธนาคาร และการท่องเที่ยว

คงเพราะเหตุจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของบรูไนติดลบต่อเนื่องตลอด 4 ปี 2014 -2.5 2015 -0.5 2016 -2.5 2017 -0.5-01 เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมน้ำมันลดลงจากราคาน้ำมันในตลาดโลกตกต่ำ จึงกระทบต่อรายได้ของบรูไน (เว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูตไทย ปรับปรุงเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2565)

สอดคล้องกับสาระวิทยานิพนธ์ของ รมิดา ชั้นพรภักดี ทรงชัย ทองปาน หัวข้อ Wawasan Brunei 2035 และโอกาสด้านการค้าและการลงทุนของประเทศไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2020

อ้างถึงข้อมูลจาก U.S Energy information Administration EIA 2017 ว่า ในปี 2012 ประเทศบรูไนมีปริมาณน้ำมันสำรองลดลงกว่าร้อยละ 19 และ 39 ในช่วง 20 และ 30 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีการคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำมันดิบสำรองของบรูไนจะหมดลงในอีก 15 ปีข้างหน้า ตามด้วยก๊าซธรรมชาติสำรองที่จะหมดลงใน 25 ปีข้างหน้า

ดังนั้น ทรัพยากรที่ล้ำค่าของบรูไนกำลังจะหมดลงในราวปี 2028-2032 จำเป็นต้องลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เพื่อสร้างความยั่งยืนและการพัฒนาประเทศให้สำเร็จภายในปี 2035

การบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ดังกล่าว จำเป็นต้องวางยุทธศาสตร์หลักของประเทศ 8 ด้าน

1. ยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา

2. ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ

3. ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง

4. ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาระบบองค์การ

5. ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น

6. ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

7. ยุทธศาสตร์ด้านการประกันสังคม

8. ยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม

จากยุทธศาสตร์ทั้ง 8 ด้าน บรูไนแปลงออกมาเป็นแผนพัฒนาแห่งชาติทุก 5 ปี ตั้งแต่แผนพัฒนาฉบับที่ 10 ค.ศ.2012-2017 ขับเคลื่อนประเทศ 4 ประการ

ได้แก่

1. การส่งเสริมให้ประชากรมีการศึกษาและมีทักษะสูง

2. การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน

3. การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ

4. การสร้างความมีประสิทธิภาพและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานความรู้และนวัตกรรม

ต่อมาแผนพัฒนาแห่งชาติฉบับที่ 11 RKN 11 2018-2022 ขับเคลื่อนประเทศ 5 ประการ 1.การส่งเสริมด้านการศึกษา 2.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 3.การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ 4.การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว 5.การพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม

แผนพัฒนาล่าสุดทั้งสองฉบับยังคงให้น้ำหนักความสำคัญกับแผนพัฒนาการศึกษามาอันดับหนึ่ง ส่งเสริมให้ประชากรมีการศึกษาและมีทักษะสูง เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นแกนหลัก

บรูไนจะบริหารจัดการตัวเองในแต่ละยุทธศาสตร์อย่างไร ทำให้ประเทศเดินต่อไปข้างหน้า รักษาตำแหน่งประเทศผู้มั่งคั่งร่ำรวย ประชากรมีรายได้สูง สวัสดิการดี เศรษฐกิจพลิกฟื้นมาเป็นบวก จึงเป็นย่างก้าวที่น่าติดตาม ภายใต้เสถียรภาพทางการเมืองจากความเป็นรัฐอิสลาม รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สถาบันกษัตริย์ดำรงบทบาททั้งสองด้าน คือ เป็นองค์พระประมุขของชาติ ประชาชนและเป็นผู้นำรัฐบาล คณะบริหารประเทศ ไปพร้อมกัน

รถนำคณะเดินทางต่อไปยังโรงเรียนเป้าหมาย ระหว่างทางทุกคนชื่นชมยินดีกับข่าวสารที่ได้รับ สื่อทุกแขนงของบรูไนเผยแพร่ข่าวการพบปะหารือระหว่างคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เอกอัครราชทูตไทยประจำบรูไน กับครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีบรูไน กระจายไปทั่วประเทศ

หนังสือพิมพ์ Borneo Bulletin รายงานข่าวพร้อมภาพขึ้นหน้า 1 เพจเฟซบุ๊กของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงต่างประเทศ รายงานละเอียด สำนักข่าว Berita Jam เปิดเป็นข่าวแรกของวัน

นักเดินทางทางการศึกษาจากเมืองไทยพากันเปิดอ่านด้วยความตื่นเต้น สื่อออนไลน์ ออฟไลน์บรูไนให้ความสำคัญกับข่าวการศึกษาเป็นข่าวใหญ่ มีแต่ข่าวดีๆ ขึ้นหน้าหนึ่ง

 

วันวานผมรักษามารยาท เลยปากหนักไม่เอ่ยถามเพื่อนสื่อบรูไน ข่าวร้าย ข่าวลบ ข่าวลึก มีบ้างไหม นำเสนออย่างไร ลงหน้าไหน

มาได้คำตอบภายหลังในเวลาต่อมาจาก ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ ผศ.ภัททริา กลิ่นเลขา รองหัวหน้าสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ในวิทยานิพนธ์ของเธอชื่อ พฤติกรรมการเปิดรับสื่อของคนประเทศบรูไนดารุสซาลาม (2560)

“การใช้เทคโนโลยีของสื่อสารของชาวบรูไน เช่น การโฆษณาขายของ การโฆษณาทางธุรกิจต่างๆ ยังคงใช้โทรศัพท์ในการติดต่อ สะท้อนให้เห็นว่ายังไม่เป็นสังคมดิจิทัลมากนัก และอีกส่วนหนึ่งบรูไนก็ไม่เป็นสังคมแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ อย่างเช่น การใช้สื่อโซเซียลของหนังสือพิมพ์ Borneo Bulletin ที่ไม่ใช้ Facebook Twiter ในการลงข้อมูล แต่จะใช้ Instagram ซึ่งก็มีจุดบอดคือไม่สามารถย้อนกลับมาดูข้อมูลเก่าได้ เพราะฉะนั้น จะไม่มีการอัพเดตข่าวสารบ่อยๆ จะเลือกเฉพาะเรื่องที่สาคัญจริงๆ ดังนั้น ความจำเป็นของการใช้สื่อโซเซียลของสื่อสารมวลชนไม่มากนัก ทำให้ประชาชนเข้าถึงข่าวน้อยอยู่ ซึ่งก็ถือว่ามีความระมัดระวังในการใช้สื่อพอสมควร”

บทสรุปของนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ไทยแดนใต้ ชี้ว่าสื่อสารมวลชนในประเทศบรูไนไม่ว่าจะเป็นสื่อของรัฐหรือเอกชนจำเป็นจะต้องดำเนินงานอย่างระมัดระวังและเข้มงวดให้อยู่ภายใต้กรอบกฎหมายที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนดและอยู่ภายใต้กรอบของศาสนาตามอุดมการณ์ “วิถีชีวิตแบบมาเลย์ ศาสนาอิสลาม และยึดมั่นในระบบกษัตริย์” และจำเป็นต้องมีการควบคุมตนเองในการนำเสนอ (Self-censorship) เพื่อสนับสนุนให้สังคมไร้ความขัดแย้ง มีความสงบสุข หากทำผิด เช่น การรายงานเท็จ ข้อมูลผิดพลาด ก็จะมีโทษจำคุก ไม่สามารถอุทธรณ์ได้

“ดังนั้น การทำงานของสื่อมวลชนบรูไนจึงไม่มีเนื้อหาที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลได้เลย สื่อถูกปลูกฝังให้มีอุดมคติของการรับใช้ชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ มากกว่าคำนึงถึงเสรีภาพในการสื่อสาร แต่ก็ยังมีทางเลือกอื่นๆ ให้กับประชาชนในการเปิดรับสื่อจากต่างประเทศ” ผศ.ภัททิรา ปิดท้ายงานค้นคว้าของเธอ

แม้สื่อมีบทบาทจำกัด แต่ยังเปิดช่องให้ประชาชนรับข่าวสารจากโลกภายนอกผ่านสื่อต่างประเทศได้ ทำให้โอกาสที่จะได้รับข่าวสาร เรื่องละเอียดอ่อนต่างๆ จึงมาจากรายงานผ่านสื่อนอกประเทศเป็นส่วนใหญ่

ตัวอย่าง รายงานข่าวการสอบสวนคดีดังในกระทรวงการคลัง ช่วงทศวรรษ 1990 กลายเป็นเรื่องซุบซิบนินทาลึกแต่ไม่ลับอยู่เป็นเวลานาน