March on Moscow! เป็นมากกว่ารอยล้อรถถังบนถนน | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“เราสามารถที่จะยิงเขา [พริโกซิน] ได้ทันที ซึ่งนั่นไม่ใช่ปัญหาเลย [ถ้าตัดสินใจจะทำ]… แต่อย่าทำเช่นนั้นเป็นอันขาด”
ประธานาธิบดีลูกาเชนโกกล่าวกับประธานาธิบดีปูตินทางโทรศัพท์

 

สงครามยูเครนเดินทางมาถึง 16 เดือนแล้วอย่างไม่น่าเชื่อ และในเดือนที่ 16 เช่นนี้เอง ได้เกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันจากความพยายามในการก่อการ “กบฏทหาร” ของกลุ่มแวกเนอร์

ซึ่งกบฏทหารเช่นนี้ส่งผลกระทบโดยตรงทั้งต่อสถานะของ “ระบอบปูติน” ซึ่งรวมศูนย์อยู่กับบทบาทของตัวประธานาธิบดีปูติน และกระทบโดยตรงอีกส่วนกับสถานการณ์สงครามยูเครน เนื่องจากกองกำลังทหารรับจ้างส่วนนี้มีบทบาทอย่างสำคัญกับการรบในยูเครน

แม้ “กบฏสุดสัปดาห์” จะจบลงอย่างรวดเร็ว แต่ผลกระทบทั้งในทางการเมืองและการทหาร จะเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม

 

จากสงคราม สู่กบฏ

การเปิดสงครามยูเครนของประธานาธิบดีปูตินนั้น เป็นข้อถกเถียงอย่างมากในเรื่องของภัยคุกคาม เพราะโดยสถานการณ์ในความเป็นจริงแล้ว องค์กรเนโต้ (NATO) อาจจะยังไม่ถือเป็น “ภัยคุกคามแบบฉับพลัน” (immediate threat) ต่อรัสเซียโดยตรง และยูเครนเองก็ยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกของเนโต้

แต่สิ่งที่เป็นกังวลใหญ่ของผู้นำรัสเซียคือ การที่รัฐบาลยูเครนเปิดรับยุทโธปกรณ์จากชาติพันธมิตรตะวันตก ซึ่งทำให้เกิดการตีความว่า การเข้ามาของยุทโธปกรณ์ดังกล่าวคือการยืนยันว่าเนโต้ได้เข้ามาในยูเครนแล้ว

ประเด็นการตีความเช่นนี้เป็นเรื่องสำคัญต่อความมั่นคงของรัสเซีย เพราะทำให้รัสเซียมองว่าการตัดสินใจเปิดสงครามยูเครนเป็นความชอบธรรมในการหยุดยั้งอิทธิพลของตะวันตก และดีที่สุดทั้งในทางการเมืองและการทหารที่รัสเซียจะต้องได้รับชัยชนะอย่างรวดเร็ว

แต่ยิ่งระยะเวลาของสงครามทอดนานออกไป พร้อมความพยายามที่จะเปิดการรุกกลับของกองทัพยูเครน ทำให้ความหวังว่ารัสเซียจะสามารถเข้าควบคุมรัฐยูเครนได้นั้น ดูจะห่างไกลออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ

หรืออีกนัยหนึ่งโอกาสที่รัสเซียจะชนะสงครามยูเครนอย่างเต็มรูปแบบนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้แล้ว

อีกทั้งเห็นได้ชัดถึงการสูญเสียกำลังรบ ทั้งในส่วนที่เป็นกำลังพลและยุทโธปกรณ์เป็นจำนวนมากในการรบที่เกิดขึ้น จนนำไปสู่ความอ่อนแอของกองทัพรัสเซียโดยตรง เพราะการทดแทนทั้งในส่วนของกำลังพลและยุทโธปกรณ์ไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

แต่ผลด้านกลับของสงครามยูเครนกลับเป็นสิ่งที่ผู้นำรัสเซียไม่พึงปรารถนาอย่างยิ่งในทางความมั่นคงคือ การทำสงครามของรัสเซียทำให้เนโต้มีความเข้มแข็ง และมีความเป็นเอกภาพมากขึ้น และเอกภาพนี้เห็นได้ชัดจากการสนับสนุนด้านการเมืองและการทหารต่อยูเครนในการทำสงครามต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย อีกทั้งการบุกของรัสเซียมีส่วนโดยตรงต่อการทำให้ “ลัทธิชาตินิยมยูเครน” มีความเข้มแข็งมากขึ้น

หรือในทางกลับกัน ผลที่เกิดจากสงครามคือกระแสต่อต้านรัสเซียในสังคมยูเครนที่มีเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนต้องยอมรับว่าสงครามครั้งนี้ได้ “ฉีก” ประเทศทั้งสองออกจากกันในแบบที่โอกาสของการกลับมามีความสัมพันธ์ในระดับปกติเช่นเดิมในยุคก่อนสงครามนั้น น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้แล้ว

 

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งของปัญหาคือ สำหรับการรบที่เกิดขึ้นนั้น เห็นได้ชัดว่าหน่วยทหารของกองทัพรัสเซีย รบไม่มีประสิทธิภาพมากเท่ากับกองกำลังของทหารรับจ้างของกลุ่มแวกเนอร์ ตัวอย่างการรบที่เมืองบัคมุต ที่กำลังของแวกเนอร์ทำการรบใน “ยุทธการยึดเมือง” อย่างหนัก ซึ่งถึงแม้เมืองในบริบททางยุทธศาสตร์อาจจะมี “คุณค่าทางทหาร” ไม่มากนัก แต่ชัยชนะในการยึดเมืองจะเป็นสัญลักษณ์สำคัญทางการเมืองถึงความเหนือกว่าทางทหารของรัฐคู่ขัดแย้ง อันทำให้บัคมุตเป็นพื้นที่การรบที่รุนแรงที่สุดของสงครามยูเครน

ความพยายามที่จะเหนี่ยวรั้งการรุกกลับของกองทัพยูเครนที่บัคมุต ในด้านหนึ่งจึงเป็นภาพสะท้อนสำคัญของขีดความสามารถทางทหารของทหารรับจ้าง

แต่ในอีกด้านก็คือภาพสะท้อนของความขัดแย้งระหว่างผู้นำกลุ่มแวกเนอร์กับกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ซึ่งผู้นำกลุ่มแวกเนอร์ได้แสดงออกอย่างชัดเจนด้วยการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงต่อการจัดการของรัฐมนตรีกลาโหมและผู้นำทหารรัสเซีย ที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านกระสุนอย่างเพียงพอให้แก่หน่วยทหารรับจ้างนี้

แต่ในอีกมุมหนึ่งของปัญหาคือ การที่รัสเซียไม่สามารถพึ่งกำลังรบตามปกติของกองทัพรัสเซียได้ และจำเป็นต้องใช้กำลังของทหารรับจ้าง เข้าทำการรบในแบบทหารประจำการ

 

ความท้าทายต่อระบอบปูติน

แม้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอาจจะดูเป็นเรื่องภายในของฝ่ายทหาร หรือที่เราเรียกปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนวันศุกร์ที่ 23 ต่อเข้าวันเสาร์ที่ 24 มิถุนายนว่า “กบฏทหาร” (mutiny) และจบลงอย่างรวดเร็ว จนถูกเรียกว่า “กบฏสุดสัปดาห์”

(จริงๆ แล้วอาจต้องเรียกว่า “กบฏวันเสาร์” เพราะสถานการณ์ไม่เดินต่อมาถึงวันอาทิตย์ที่ 25)

ไม่ว่าจะมีความเห็นต่อกลุ่มแวกเนอร์ และตัวผู้นำอย่างเยฟเกนี พริโกซิน ในมุมมองเช่นไรก็ตาม

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเคลื่อนกำลังพลเข้าใกล้ในระยะห่าง 200 กิโลเมตรจากกรุงมอสโค และจะเข้าถึงตัวเมืองไม่เกินระยะเวลา 24 ชั่วโมงนั้น ดูจะสร้างผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของ “ระบอบปูติน” อย่างมาก เนื่องจากคนในสังคมส่วนหนึ่งไม่ได้สนับสนุนและ/หรือเห็นด้วยกับนโยบายของประธานาธิบดีปูติน โดยเฉพาะในปัญหาสงครามยูเครน

ผลเช่นนี้ทำให้คนส่วนหนึ่งมีท่าทีสนับสนุนต่อการเคลื่อนทัพในครั้งนี้อยู่ในใจ หรือบางคนกล่าวว่าเขาผิดหวังที่กลุ่มแวกเนอร์ตัดสินใจถอนกำลังกลับ (แม้คนบางส่วนอาจจะไม่กล้าแสดงออกอย่างเปิดเผย ดังรายงานใน The Moscow Times, 26 มิถุนายน 2023)

ดังนั้น หลังจากการถอนตัวของกลุ่มแวกเนอร์ในวันอาทิตย์แล้ว ประธานาธิบดีปูตินจึงพยายามสร้างภาพในวันจันทร์ที่ 25 ว่า ทุกอย่างได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ… ชีวิตในมอสโคกลับมาเหมือนเดิม และไม่มีอะไรต้องน่าเป็นห่วง

รวมถึงการปรากฏตัวในโทรทัศน์ของเซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหม ที่เป็นคู่ขัดแย้งกับกลุ่มแวกเนอร์ โดยไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับกระทรวง ด้วยการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีแต่อย่างใด

หรือดังที่นายกเทศมนตรีของกรุงมอสโคกล่าวว่าทุกอย่างในเมืองเป็นปกติ และประกาศยกเลิกสถานะของการใช้มาตรการ “การต่อต้านการก่อการร้าย” ในเมืองหลวง (มอสโกไทม์, 26 มิถุนายน 2023)

 

สําหรับรัฐบาลแล้ว สิ่งเหล่านี้ดำเนินการเพื่อให้เห็นว่าระบอบปูตินยังมีความแข็งแรง ที่ทนต่อแรงกระทบ และไม่มีใครที่จะโค่นได้

แต่สำหรับประชาชนรัสเซีย ทุกคนรู้ดีว่าเรื่องนี้ยังไม่จบอย่างแน่นอน แม้ประวัติศาสตร์การเมืองรัสเซียแทบจะไม่เคยเห็นความสำเร็จจากการรัฐประหารก็ตาม อย่างน้อยความล้มเหลวจากรัฐประหารในเดือนสิงหาคม 1991 เป็นคำยืนยันในเรื่องนี้ แต่ผลสืบเนื่องจากการกบฏทหารครั้งนี้น่าจะกระทบต่อโครงสร้างอำนาจของระบอบปูตินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หรือที่หนังสือพิมพ์ The Spiegel ของเยอรมันกล่าวเปรียบเทียบว่า การก่อกบฏครั้งทิ้งปัญหาสืบเนื่องไว้มากกว่า “รอยตะขาบรถถังบนผิวถนน” และปัญหาน่าจะยังไม่จบ (The Spiegel International, 26 มิถุนายน 2023)

แม้กบฏแวกเนอร์อาจจะจบลงด้วยคำสั่งของพริโกซินให้ถอนกำลังกลับ และทุกอย่างอาจจะดูเป็นปกติในระยะเวลาอันสั้น พร้อมกับการปรากฏตัวของประธานาธิบดีปูตินในที่สาธารณะ และทำในสิ่งที่เขาแทบไม่เคยทำมาก่อนเลยคือ การออกมาสัมผัสมือกับประชาชนที่มาสนับสนุนเขา

จนทำให้เกิดคำถามว่า ระบอบปูตินกำลังก้าวสู่ “ยุคใหม่” หรือไม่

เนื่องจากแต่เดิมนั้น ระบอบนี้เผชิญกับการต่อต้านจากปีกเสรีนิยม ที่มีวิธีจัดการได้ง่ายๆ คือ “จับขัง”

แต่ครั้งนี้ ประธานาธิบดีปูตินกับเผชิญกับปีกชาตินิยมอีกแบบ และเป็นปีกชาตินิยมติดอาวุธที่พร้อมจะก่อการท้าทายต่อระบอบเดิมอย่างไม่เกรงกลัว กล่าวคือพวกเขาพร้อมจะก่อการด้วยกองกำลังติดอาวุธ ไม่ใช่แค่การชูป้ายประท้วงบนถนนในแบบที่ฝ่ายต่อต้านสงครามทำ

นอกจากนี้ ปัญหาอีกส่วนคือ การเจรจายุติปัญหาความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธระหว่างประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ของเบลารุส กับพริโกซิน อันทำให้หลายฝ่ายประหลาดใจอย่างมากในกรณีนี้

รวมถึงข้อเสนอให้กำลังของกลุ่มแวกเนอร์ที่ตัดสินใจไม่ยอมอยู่ใต้กระทรวงกลาโหม จะอพยพไปตั้งหลักที่เบลารุส การเจรจาผ่านผู้นำรัฐที่ 3 เช่นนี้ ทำให้เกิดคำถามตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ผู้นำรัฐที่ 3 เป็นผู้ที่มีบทบาทในการไกล่เกลี่ยเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งภายในของรัฐมหาอำนาจ

 

สงครามกลับมาสู่รัสเซีย

ในอีกด้านหนึ่งของปัญหากบฏครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของระบอบปูตินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากส่วนหน้าของกำลังรบของกลุ่มแวกเนอร์อยู่ห่างจากเป้าหมายคือกรุงมอสโคในระยะเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง และการเคลื่อนกำลังเช่นนี้ทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับการจู่โจมเมืองตริโปลีในลิเบีย ซึ่งกลุ่มแวกเนอร์สามารถเปิดปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยยุทธวิธีในครั้งนั้นอาศัยการรุกอย่างรวดเร็วของหน่วยทหารราบยานยนต์ สนับสนุนอย่างเต็มที่ด้วยกำลังรบทางอากาศเพื่อทำลายแนวตั้งรับของข้าศึก (คล้ายกับการเปิดการยุทธ์ในสงครามสายฟ้าแลบของกองทัพนาซีในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2)

ซึ่งเสมือนกับกลุ่มแวกเนอร์อาศัยประสบการณ์จากสงครามทะเลทรายในตะวันออกกลางกลับเข้ามาใช้ใน “ยุทธการยึดมอสโค” จนมีการเปรียบเปรยว่า สงครามทะเลทรายมาถึงรัสเซียแล้ว

นอกจากนี้ ยังเห็นถึงภาพของผู้คนในรอสตอฟ-ออน-ดอน ที่ออกมาแสดงอาการสนับสนุนฝ่ายกบฏอย่างไม่ปิดบัง ซึ่งอาจจะสะท้อนถึงชาวรัสเซียส่วนหนึ่งตอบรับกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่พริโกซิน ได้แสดงออกด้วยความกราดเกรี้ยวในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา อีกทั้งพวกเขาอาจจะเห็นด้วยอย่างมากกับความล้มเหลวของกองทัพรัสเซีย ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐมนตรีกลาโหมชอยกู และรวมถึงเสียงวิจารณ์ต่อพลเอกวาเลรี เกราซีมอฟ เสนาธิการใหญ่ของกองทัพรัสเซีย เพราะทหารประจำการดูจะมีประสิทธิภาพในสนามรบน้อยกว่าทหารรับจ้าง

ภาวะของความล้มเหลวของกองทัพรัสเซียในสงครามยูเครน ทำให้ความกราดเกรี้ยวของพริโกซิน ได้รับการตอบรับจากคนในสังคม แต่ก็ต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่าผู้นำกองกำลังแวกเนอร์ไม่ได้เสนอให้มีการยุติสงครามแต่อย่างใด

ข้อวิจารณ์เรื่องการสงครามของพริโกซินเป็นปัญหาของความต่างของแนวทางในการทำสงครามในยูเครน กล่าวคือเป็นแนวทางที่แตกต่างกับการยุทธ์ที่ดำเนินการโดยกระทรวงกลาโหม

กบฏแวกเนอร์ครั้งนี้จึงไม่ได้ยุติลงด้วยการถอนกำลังกลับ และดังที่กล่าวแล้วผลสืบเนื่องจากนี้เป็นมากกว่ารอยตีนตะขาบรถถังบนถนนอย่างแน่นอน!