คณะทหารหนุ่ม (48) | จปร.7 โดดเด่น กับปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในปวศ.กองทัพบก

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

จปร.7 โดดเด่น…

ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของกองทัพบก ที่มีการเกาะกลุ่มกันโดยเฉพาะนายทหารระดับคุมกำลังระดับกลางเช่นที่คณะทหารหนุ่มกำลังดำเนินการอยู่

การเกาะกลุ่มทำให้เกิดพลังท่ามกลางสุญญากาศในโครงสร้างการบังคับบัญชาของกองทัพบก อันเป็นผลจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 พลังที่ส่งผลต่อการขึ้นสู่ทั้งยศและตำแหน่งของนายทหาร จปร.7 อย่างรวดเร็ว

โดยเฉพาะหลังผลสำเร็จในการยึดอำนาจขับไล่รัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งไม่อาจเกิดได้ในสถานการณ์ “ปกติ” ก่อนหน้านี้

พ.ศ.2523 ที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี กำลังจะเกษียณอายุจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกนั้น นายทหาร จปร.7 ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งคุมกำลังระดับกรมที่สำคัญ ได้แก่

พ.อ.ปรีดี ดีรามสูต ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 พ.อ.ชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 31 พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 2 พ.อ.แสงศักดิ์ มังคละศิริ ผู้บังคับการกรมทหารช่างที่ 11 และ พ.อ.มนูญ รูปขจร ผู้บังคับการกรมทหารม้าที่ 4

กล่าวสำหรับยศทางทหารนั้น ทุกคนได้เลื่อนยศเป็นพันเอกพิเศษ จ่อตำแหน่งและชั้นยศนายพล

ไม่เพียงแต่ตำแหน่งทางการทหารเท่านั้น แต่ จปร.7 ยังได้เข้ารับตำแหน่งทางการเมืองในรัฐสภาอีกด้วย ทั้งหมดนี้เป็นผลรวมของการที่นายทหารหนุ่มได้เกาะกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่นมาตลอด และได้อาศัยสถานการณ์ทางการเมืองสร้างฐานอำนาจอย่างรวดเร็ว

จนเป็นเหตุให้นายทหารรุ่นก่อนๆ มีความรู้สึกในทางลบต่อคณะทหารหนุ่มเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ

 

ปฏิกิริยาต่อต้าน

พ.ศ.2523 เริ่มปรากฏปฏิกิริยาต่อต้าน จปร.7…

พล.ต.ยุทธศักดิ์ คล่องตรวจโรค ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อย จปร. ได้เขียนบทความเชิงเตือนสติทหารว่า ทหารที่ดีควรมีระเบียบวินัย ควรเป็น “ทหารในแถว” ไม่ใช่ “ทหารนอกแถว” ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันดีว่า “ทหารนอกแถว” ที่กล่าวถึงนั้นได้แก่คณะทหารหนุ่ม

พล.อ.วิโรจน์ แสงสนิท หนึ่งในแกนนำ จปร.5 ให้สัมภาษณ์ไว้ใน “กำเนิดและอวสาน รสช.” ของ วาสนา นาน่วม ว่า

“จำลองเขามามีบทบาทตอนเรียนนายร้อยชั้น 5 ที่เห็นมีบทบาทต่อการเป็นหัวหน้านักเรียนที่โรงเรียนไม่ให้รับพระราชทานกระบี่เพราะขัดระเบียบ โรงเรียนเขาห้ามจัดหนังแต่เขาจัด จำลองเป็นคนหัวดื้อมานานแล้วนะ สุจินดาเขาอยู่ในพวกแนวหน้าของรุ่น”

“จำลองก็อยู่ในแนวหน้าของรุ่น จะมามีปัญหาก็ตอนที่รุ่น 7 ขึ้นมาเป็นผู้พัน ก่อนที่จะปฏิวัติตอนนั้น เรายอมรับเขาไม่ได้เพราะกลุ่มนี้มันทำอะไรข้ามหัวรุ่นพี่ เอาแต่ตัวเอง กองทัพอยู่ไม่ได้ เราไม่รับอันนี้ ตอนเรียนไม่มีอะไรกัน มนูญนี่สุจินดาเขาปกครองมา ตอนยังเติร์กเมษาฮาวาย ตอนนั้นมนูญจะเอารุ่นตัวเองเป็นโน่นเป็นนี่ แล้วรุ่นพี่มันไปไหน ก็ว่ากันไปตามธรรมชาติ เกิดขึ้นมาโตขึ้นมา รุ่นนี้จะโตมากก็ไม่มีใครว่าอะไร แต่จะเอารุ่นตัวเองขึ้นมาหมด ใครเขายอมได้”

พล.อ.สุจินดา คราประยูร แกนนำ จปร.5 กล่าวเสริมว่า…

“ในขณะนั้นเขาทำไม่ถูก เพราะว่าสิ่งที่เขาทำนั้น เขาไม่ให้เกียรตินายทหารชั้นผู้ใหญ่ สมัยนั้นจำได้ไหม ขนาดเขายศพันตรีพันโท เขายังข้ามหน้านายพล ข้ามอะไรต่างๆ หมด ซึ่งเราบอกว่าอย่างนี้มันอยู่ไม่ได้ กองทัพมันอยู่ไม่ได้ กองทัพต้องมีวินัย มันต้องฟังกันมาตามลำดับ แต่เขามีผู้ใหญ่หนุนให้ท้าย มันก็มีสภาพเป็นอย่างนั้น”

“สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เราทนไม่ได้แล้วเราก็บอกรุ่นพี่หลายคนนะว่า อย่างนี้มันไม่ได้นะ เคยพูดกับ พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา เคยคุยกับท่าน ท่านก็เห็นด้วยอย่างเรา แต่ท่านบอกว่าไม่สามารถทำอะไรได้ เราก็พยายามแก้ไข เราทนไม่ได้ในสิ่งที่เขาทำ ไม่มีใครที่ต่อต้านเลย ยอมเขาหมด เพราะเขามีผู้ใหญ่หนุนอยู่ เขาเลยยอมกันหมด”

 

งานเลี้ยงที่ไร้ จปร.7…

พล.อ.สุจินดา คราประยูร ได้เล่าเรื่องการจัดงานเลี้ยง จปร.1-8 เว้น จปร.7 อันเป็นสัญลักษณ์ต่อต้าน จปร.7 ที่แสดงออกต่อสาธารณชนอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรกเมื่อกลางปี พ.ศ.2523 ว่า

“เราบอกว่าอย่างนี้ไม่ได้แล้วนะ เราก็ต้องนั่น เราก็พูดกับพี่จิ๋วเพราะเป็นรุ่นพี่ที่มีคนนับถืออยู่ในกรมยุทธการก็ชวนเขามา ผมบอกว่า ผมจะจัดงานเลี้ยงแล้วนะ แล้วผมจะแสดงให้รู้ว่าผมต่อต้านรุ่น 7 แล้วนะ โดยที่จัดเลี้ยง จปร.ทุกรุ่น แต่ไม่เชิญรุ่น 7 พี่จิ๋วเขาบอกว่าไม่มีวิธีอื่นดีกว่านี้แล้วหรือ ผมบอกไม่มี แล้วยังบอกเลยว่า แล้วพี่จะเอาฝ่ายไหนล่ะ แต่ไม่ได้มีเรื่องผิดพ้องหมองใจกันมาก่อน ไม่มี แต่เราเห็นว่า สิ่งที่เขาทำในกองทัพไม่ถูก กองทัพต้องปกครองบังคับบัญชาเคารพกัน ตามลำดับอาวุโส ตามวินัย”

พล.ต.ยุทธศักดิ์ คล่องตรวจโรค ก็ให้สัมภาษณ์เมื่อปรากฏข่าวการพบปะสังสรรค์นักเรียนนายร้อยรุ่น 1-6 และรุ่น 8 โดยเว้นไม่เชิญ จปร.7 ไปร่วมครั้งนี้ว่า

“ชอบใจที่ พ.อ.เลิศ พึ่งพักตร์ (เลขานุการ จปร.5) แถลงข่าวการประชุมของ จปร.รุ่น 1 ถึง 6 และ 8 ที่ระบุว่า ทหารไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ยินดีที่ทหารไม่ออกนอกแถว นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการทหารบก เป็นรัฐมนตรีกลาโหม ท่านเล่นการเมืองอยู่แล้ว ทหารอื่นไม่ควรไปเล่นการเมืองอีก”

 

อาทิตย์เข้ากรุง

ขณะที่การรวมตัวเพื่อต่อต้าน จปร.7 ที่นำโดย จปร.5 ซึ่งปรากฏเป็นรูปธรรมเมื่อกลางปี พ.ศ.2523 ก่อนหน้านี้เมื่อตุลาคม พ.ศ.2522 พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก ได้ย้ายจากกองทัพภาคที่ 2 มาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ หน่วยกำลังหลักในกรุงเทพฯ

แน่นอนว่าย่อมต้องผ่านความเห็นชอบจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกซึ่งปราศจากฐานกำลังในกรุงเทพฯ และกำลังจะเกษียณอายุราชการใน 30 กันยายน พ.ศ.2523

เป็นผู้บัญชาการทหารบกที่ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช สรุปความเป็นไปได้ว่าคณะทหารหนุ่มจะถอนการสนับสนุนเหมือนดังที่เคยกระทำต่อ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มาแล้ว

 

“อาทิตย์” ที่ไม่มีใครรู้จัก

พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก เข้ารับการศึกษาโรงเรียนเตรียมทหารบกรุ่น 5 ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า “รุ่น 5 ใหญ่” เพื่อแยกจาก “จปร.5” ของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร จบการศึกษาออกรับราชการเหล่าทหารราบเมื่อ พ.ศ.2491

พ.ศ.2514 มีการจัดตั้งกรมผสมที่ 23 เพื่อเสริมกำลังด้านกองทัพภาคที่ 2 ใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ที่นำกลับจากกองพลทหารอาสาสมัคร เวียดนามใต้ โดยมอบหมายให้กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน เป็นหน่วยพี่เลี้ยงในการดำเนินการจัดตั้ง ที่ตั้งขั้นต้นระหว่างการจัดตั้งหน่วยใหม่อยู่ในกองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน กรุงเทพฯ และต่อมา พ.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการกรมผสมที่ 23 เป็นคนที่ 2

ระหว่างที่อยู่ในกองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน พ.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ได้รับการช่วยเหลืออย่างดียิ่งจนสนิทสนมกับ พ.ท.วิโรจน์ แสงสนิท จปร.5 ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1 ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มของความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่าง พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก และ จปร.5 ในเวลาต่อมา

ขณะนั้นนาม “อาทิตย์ กำลังเอก” ยังไม่มีใครรู้จัก