รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

รัฐที่มีอายุใกล้เคียงกับผม คงจำได้ดีว่าเมื่อหลายปีก่อนเคยมีรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงกันอยู่เป็นประจำ ชื่อรายการ “ภาษาไทยวันละคำ” โดยมีอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งคือ ศาสตราจารย์กาญจนา นาคสกุล เป็นวิทยากร ความรู้ที่ได้จากรายการดังกล่าวยังอยู่ในสมองของผมหลายคำทีเดียว

วันนี้ผมจะขออนุญาตทำรายการ “ภาษาไทยวันละหลายคำ” ในคอลัมน์นี้บ้าง

ตกลงนะครับ

คําหลักที่ผมจะนำมาสนทนาวันนี้ คือคำว่า “พิธี” ซึ่งโดยรากศัพท์เดิมแล้ว คำคำนี้ไม่ห่างไกลกันกับคำว่า “วิธี” เลย

แต่นานวันเข้าทั้งสองคำก็มีทางเดินชีวิตของตัวเองและเดินห่างออกไปจากกันพอสมควร จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ คำว่า วิธี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายว่า ทำนองหรือหนทางที่จะทำ เช่น วิธีทำฝอยทอง วิธีสอนคณิตศาสตร์ เลขข้อนี้ทำได้หลายวิธี

ขณะเดียวกันก็ยังมีความหมายอื่นอีก กล่าวคือ หมายถึงแบบหรือแบบอย่าง เช่น ทำถูกวิธี

ส่วนคำว่า พิธี หมายถึงงานที่จัดขึ้นตามลัทธิหรือความเชื่อตามขนบธรรมเนียมประเพณีเพื่อความขลังหรือความเป็นสิริมงคล เป็นต้น หรือจะแปลว่า แบบอย่าง ธรรมเนียมก็ได้ เช่น ทำให้ถูกพิธี

ยังพอสังเกตเห็นได้นะครับว่า คำว่าพิธีและวิธี มีความเหลื่อมซ้อนกันอยู่ในการใช้งาน ในบางบริบทก็ต่างความหมายกัน แต่ในบางบริบทก็มีความหมายแทบจะเหมือนกันสนิท

กลับมาพูดถึงคำว่า “พิธี” กันต่อ

สําหรับเราทั่วไปแล้วย่อมมีความเข้าใจตรงกันว่า พิธี หมายถึงการจัดการงานอย่างอื่นอย่างใดที่มีแบบแผนเป็นมาตรฐาน อาจมีที่มาจากศาสนาหรือความเชื่ออื่นใดก็ได้

ในชีวิตของเราทุกคนผ่านพิธีมาเยอะแล้วครับ อย่างน้อยตอนเป็นเด็กก็ต้องเคยเห็นพิธีไหว้ครูกันมาแล้ว โตขึ้นมาหน่อยถ้าเป็นผู้ชายคิดจะบวชเรียนก็ต้องมีพิธีบรรพชาอุปสมบท หรือบางทีก็เรียกกันตามความคุ้นเคยว่าพิธีบวชนาค บวชเรียนเสร็จสรรพเรียบร้อยแล้วก็ต้องอยากเบียดกันบ้าง คราวนี้ก็ต้องจัดพิธีหมั้นพิธีแต่งงานสิครับ ครั้นอยู่ไปนานเข้า พอเลิกหายใจก็ต้องมีคนมาเป็นธุระจัดพิธีศพให้เรา

พิธีที่ออกชื่อมาแล้วแต่ละพิธี ไม่จำเป็นต้องเหมือนเดิมหรือคงที่ตลอดไป นานวันเข้าพิธีบางอย่างอาจเสื่อมความนิยมและเลิกราหายสูญไปในที่สุด เช่น พิธีโกนจุก ซึ่งเป็นพิธีสำคัญของไทยเราแต่เก่าก่อน เพื่อเป็นสัญญาณบอกความเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กเข้าสู่วัยรุ่น เดี๋ยวนี้ก็แทบไม่เหลืออยู่แล้ว จะมีงานโกนจุกให้เห็นได้จริงๆ เพียงปีละไม่กี่รายเท่านั้น

พิธีบางอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยม ที่เห็นชัดคือพิธีแต่งงาน ทุกวันนี้ทำกันหลายรูปแบบเต็มที เจ้าบ่าวเจ้าสาวอยากให้มีพิธีทางศาสนาหรือไม่ก็ตามใจปรารถนา พิธีรดน้ำเวลาแต่งงาน ในอดีตเคยเชิญแต่เฉพาะญาติผู้ใหญ่หรือผู้ที่เคารพนับถือมาเป็นผู้รดน้ำ

ยุคต่อมาเปลี่ยนไปเชิญแขกนับร้อยนับพันมาต่อแถวยาวยืดเป็นขบวนรถไฟเพื่อรดน้ำอวยพรบ่าวสาว

พอโควิดมาถึงตัวเข้า พิธีรดน้ำแต่งงานคู่สมรสหลายรายกลับไปใช้คติเดิม คือเชิญแต่เฉพาะพ่อแม่ของบ่าวสาวและญาติผู้ใหญ่เพียงสี่ซ้าห้าคนเท่านั้นมาร่วมพิธี

แบบนี้ก็ปลอดภัยไร้โรค สบายใจดี

ขยับไปถึงคำอีกสักสองคำ ซึ่งเป็นการต่อความยาวสาวความยืดออกไปจากคำว่า พิธี นั่นเอง

สองคำที่ว่านี้ คือคำว่า พระราชพิธี คำหนึ่ง และ รัฐพิธี อีกคำหนึ่ง

คำแรกคือคำว่า พระราชพิธี พจนานุกรมอธิบายว่า พิธีที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดไว้ตามราชประเพณี เช่น พระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชพิธีสงกรานต์ พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี

ผมอธิบายขยายความต่อไปตามประสาผมอีกหน่อยหนึ่ง พระราชพิธีคือการงานพิธีต่างๆ ที่พระเจ้าแผ่นดินท่านทรงเป็นเจ้าของงาน มีหน่วยราชการในพระองค์เป็นผู้ปฏิบัติ เป็นผู้จัดการทุกอย่าง ข้าวของเครื่องใช้เป็นของท่านทั้งนั้น

ถ้าวางหลักอย่างนี้เป็นเบื้องต้นแล้ว อย่าได้ไปเผลอนึกว่า พิธีใดที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในพิธีแล้ว จะกลายเป็นพระราชพิธีไปทั้งหมดนะครับ

ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าใครเป็นเจ้าของงานต่างหาก

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ พิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ แม้เป็นงานที่เชิญเสด็จพระราชดำเนิน และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรด้วยพระองค์เอง หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านพระองค์อื่น ผู้อื่น แทนพระองค์ก็ตาม พิธีนั้นก็ยังคงเป็นพิธีที่มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพ มหาวิทยาลัยเป็นธุระจัดการงานทั้งหมดด้วยตัวเอง

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร จึงไม่กลายเป็นพระราชพิธีขึ้นมาได้

ส่วนคำว่า รัฐพิธี นั้น ไม่ได้ยินกันบ่อยครั้งนัก

ล่าสุดนี้ก็คือ รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา เมื่อวันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ไปในรัฐพิธีดังกล่าว ณ อาคารรัฐสภา ดังเป็นข่าวคราวที่ทุกท่านได้รับทราบกันแล้ว

งานชนิดใด อย่างไรจึงเรียกว่า รัฐพิธี หรือครับ

คำนี้พจนานุกรมอธิบายว่า เป็นงานที่รัฐบาลจัดขึ้นโดยกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงรับไว้มีกำหนดการเป็นประจำ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธาน เช่น วันที่ระลึกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า

นั่นหมายความว่า รัฐพิธี คือพิธีของทางราชการที่รัฐบาลเป็นเจ้าของงาน แต่เป็นงานที่มีความสำคัญหรือมีเกียรติยศยิ่ง โดยรัฐบาลกราบบังคมทูลพระกรุณาเชิญเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธาน

ตัวอย่างล่าสุดก็คือรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาที่เพิ่งผ่านไปเมื่อไม่กี่วันนี้เอง

งานพิธีดังกล่าวมีความสำคัญถึงขนาดต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญทีเดียวนะครับ

โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 122 วรรคสอง บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำรัฐพิธีเปิดประชุมสมัยสามัญประจำปีครั้งแรกด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระรัชทายาทซึ่งทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นผู้แทนพระองค์ มาทำรัฐพิธีก็ได้”

และถ้าความทรงจำของผมไม่คลาดเคลื่อน การเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดประชุมรัฐสภาคราวนี้ เป็นครั้งแรกที่มีรัฐพิธีดังกล่าวที่อาคารรัฐสภาหลังใหม่ ที่เพิ่งสร้างเสร็จเรียบร้อย

เอ๊ะ! หรือสร้างยังไม่เรียบร้อยผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน

แน่ใจแต่เพียงว่า การเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดประชุมรัฐสภาครั้งก่อนหน้านี้เมื่อพุทธศักราช 2562 เป็นรัฐพิธีที่จัดขึ้นที่ห้องวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ ถนนศรีอยุธยา อันเนื่องมาจากความไม่พร้อมในเรื่องสถานที่ของอาคารรัฐสภาริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตรงเกียกกายนี่เอง

ในอดีตเก่าก่อน หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อพุทธศักราช 2475 แล้ว เราได้ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่ทำการของรัฐสภามาช้านาน ดังนั้น ทุกครั้งที่มีรัฐพิธี เปิดประชุมรัฐสภา พระมหากษัตริย์หรือผู้แทนพระองค์ก็จะเสด็จพระราชดำเนินหรือไปทำพิธีดังกล่าวที่พระที่นั่งอนันตสมาคม

แม้ต่อมา เมื่อพุทธศักราช 2517 ได้มีการก่อสร้างอาคารที่ประชุมรัฐสภาใหม่ที่ตรงถนนอู่ทองใน ซึ่งบัดนี้ได้รื้อลงแล้ว การเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดประชุมรัฐสภาก็ยังคงจัดเป็นรัฐพิธีที่พระที่นั่งอนันตสมาคมดุจเดิม สมาชิกรัฐสภาย่อมพากันไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในที่นั้น

จบพิธีแล้ว จะเป็นวันเดียวกันหรือวันต่อมาก็ตาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งใหม่จึงค่อยมาประชุมกันที่อาคารที่ประชุมเพื่อปฏิบัติหน้าที่และทำกิจต่างๆ ต่อไป

 

ธรรมเนียมการที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดการประชุมรัฐสภาหลังการเลือกตั้งทั่วไปนี้ ประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ถือปฏิบัติกันอย่างทั่วถึง

จะบอกว่างานนี้เป็นหมุดหมายแห่งความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของประเทศกับวิถีประชาธิปไตยที่มีผู้แทนราษฎรผู้ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชน โดยได้อยู่พร้อมกันก็ในพิธีสำคัญดังกล่าวก็เห็นจะได้

สำหรับผู้ที่ชอบดูรายงานข่าวแบบจักรๆ วงศ์ๆ เช่นผม คงจำภาพที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองประทับรถพระที่นั่งเทียมม้าจากพระราชวังบักกิ้งแฮม ไปทรงเปิดการประชุมรัฐสภาของอังกฤษได้เป็นอย่างดี จริงไหมครับ

ในฐานะที่อายุมากและรู้เห็นอะไรต่อมิอะไรมาช้านาน เมื่อได้เห็นข่าวการเสด็จพระราชดำเนินไปในรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาครั้งล่าสุดแล้ว จึงอดไม่ได้ที่จะจัดรายการภาษาไทยวันละสามคำสี่คำอย่างเช่นที่เล่ามานี้

แล้วก็สรุปเหมือนอย่างหลายครั้งที่สรุปลงท้ายบทความว่า พิธีการต่างๆ ล้วนหนีไม่พ้นไปจากหลักของความไม่เที่ยง มีความเปลี่ยนแปลงเป็นปกติวิสัย พิธีบางอย่างมีแล้วก็เลิก พิธีบางอย่างเลิกไปแล้วกลับมีขึ้นมาใหม่ พิธีบางอย่างเคยจัดในสถานที่หนึ่งแล้วก็เปลี่ยนไปจัดในสถานที่อื่น พิธีบางพิธีไม่เคยมีมาก่อนแต่เพิ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก สารพัดที่จะเป็นไป

โยมทั้งหลายจงอย่าติดยึดอะไรมากเลย จะได้สบายใจเหมือนอาตมา

ว่าแต่ใครเป็นนายกฯ ล่ะโยม

ฮา!