รากฐาน ขุนเดช เส้นทาง สุจิตต์ วงษ์เทศ บนถนน เรื่องสั้น

บทความพิเศษ

 

รากฐาน ขุนเดช

เส้นทาง สุจิตต์ วงษ์เทศ

บนถนน เรื่องสั้น

 

สุจิตต์ วงษ์เทศ เข้าเป็นนักศึกษาน้องใหม่ “ปีแรก” ของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัย ศิลปากร เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2507

จะต้องเดินทางไปฝึกภาคสนามตามหลักสูตรการศึกษา

ปี 2507 นั้น อาจารย์กำหนดงานสนามด้วยการขุดค้นเตาสังคโลกที่บ้านเกาะน้อย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

ที่บ้านเกาะน้อยริมแม่น้ำยมตอนเหนือแก่งหลวง

อาจารย์และนักศึกษาจะต้องเช่าบ้านของชาวบ้านที่นั่นเป็นที่พักอาศัยเพราะในตอนนั้นยังไม่มีถนน ยังไม่มีการพัฒนาหมู่บ้านเกาะน้อยซึ่งอยู่ฟากตะวันตกของแม่น้ำยม

คำบอกเล่าจาก สุจิตต์ วงษ์เทศ น่าสนใจอย่างยิ่ง

 

เมื่อแรก ประสบ

กับ “อามหา”

มีคนแก่ๆ คนหนึ่งซึ่งทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยติดต่อประสานงานระหว่างคณะอาจารย์และนักศึกษากับชาวบ้าน

ตลอดถึงวิธีการกินอยู่ในหมู่บ้าน

วันรุ่งขึ้นจึงเริ่มการขุดค้นด้วยการถางป่าอาณาบริเวณโคกเนิน คนแก่ๆ คนนี้ก็ยังเป็นธุระคอยประสานงานตลอดถึงแนะนำวิธีการต่างๆ

ผมได้ยินอาจารย์และนักศึกษารุ่นพี่บางคนเรียกคนแก่นี้ว่า “อามหา”

เมื่อตกเย็นเลิกงานการถางป่าแล้วนักศึกษากลุ่มหนึ่งซึ่งมีผมอยู่ด้วยจับกลุ่มกินเหล้ากับชาวบ้านที่นั่น

ผมจึงรู้จักกับ “อามหา” อย่างเป็นทางการ

 

จาก เมืองเชลียง

ไปยัง หนองคาย

พ.ศ.2508 ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน หลังสอบ (ซ่อม) ปลายปีเสร็จเรียบร้อย

ผมเดินทางจากกรุงเทพฯ โดยรถไฟไปจังหวัดหนองคาย

เพื่อสมทบกับคณะสำรวจและศึกษานอกสถานที่ซึ่งมี อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เป็นอาจารย์ผู้ควบคุมเดินทางไปล่วงหน้าก่อนแล้ว

คณะสำรวจและศึกษานอกสถานที่ข้ามแม่น้ำโขงไปฝั่งลาวเข้าเวียงจันทน์

ที่ร้านอาหารกลางนครเวียงจันทน์คราวนั้นมีโอกาสซดเบียร์กับ “อามหา” อย่างสนุกสนาน

ผมมีหน้าที่หุงข้าวทุกๆ เย็นเมื่อเสร็จภารกิจหลักเกี่ยวกับการบุกป่าฝ่าดงสำรวจ

เพื่อนผู้หญิงทำกับข้าว “อามหา” มีหน้าที่ตำน้ำพริกกะปิเป็นประจำทุกวัน พร้อมทั้งหายอดผักจิ้มน้ำพริกจากละแวกวัด

จากหนองคายถึงเมืองเชลียงผมมีความคุ้นเคยกับ “อามหา” มากขึ้นเป็นลำดับ

 

เมตตา “อามหา”

ใน ความทะเล้น

สาเหตุที่ผมคุ้นกับ “อามหา” อย่างรวดเร็วก็เพราะขณะที่ยังเป็นนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรอยู่นั้น ผมยังเป็น “เด็กวัด”

ต้องอาศัยข้าวก้นบาตรพระที่วัดเทพธิดารามกินเป็นประจำ

“อามหา” เมตตาผมเป็นพิเศษเพราะเพื่อนรุ่นพี่คนอื่นๆ ไม่เคยเป็นเด็กวัด และไม่มีพ่อเป็น “มหา” เหมือนผม

รวมทั้งผมก็เป็นเด็กวัดประเภททะลึ่งกับพระเณรเถรตู้มาแล้วอย่างสมบุกสมบัน ดังนั้น จึงทะเล้นกับ “อามหา” ได้ตลอดเวลา ผมยิ่งทะเล้นก็ดูเหมือนว่าจะได้รับความเมตตาเพิ่มมากขึ้นจาก “อามหา”

แล้วการก็เลื่อนไหลมายังรากฐานแห่ง “เรื่องสั้น” ว่าด้วย “ขุนเดช”

 

ฐานที่มั่น แกร่ง

ฐานที่มั่น “ช่อฟ้า”

เรื่องฆ่าคนร้ายขุดกรุสุโขทัยด้วยงูเห่าจะจริงหรือเท็จก็ไม่มีใครพิสูจน์ได้ แต่ “อามหา” เล่าให้ผมฟังจากปากของท่านเองซ้ำซากหลายครั้งหลายหน

เพราะผมเองจะขอให้ท่านเล่าเรื่องนี้ซ้ำซาก

เมื่อกลับกรุงเทพฯ หลังจากเสร็จการสำรวจและศึกษาผมนำความเหล่านี้ไปเล่าให้เพื่อนฟัง เพื่อนที่เริ่มจะเขียนกลอนด้วยกันในตอนนั้นก็มีเพียง 2 คน

คือ ไอ้ช้าง-ขรรค์ชัย บุนปาน และ ไอ้ปั๋ง-เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

ยามนั้นไอ้ปั๋งทำหนังสือ “ช่อฟ้า” รายเดือนของวัดมหาธาตุ ไอ้ปั๋งก็ยุให้ผมเขียนเรื่องสั้นทันที เพราะมันจะเป็นคนพิจารณาเรื่องสั้นเอง

แต่ผมยังไม่เคยเขียนเป็นเรื่องเป็นราวเพราะหนักไปทางเขียนกลอน

 

เรื่องสั้น คนบาป

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

นานเข้าผมก็เกิดความรู้สึกอยากจะลองเขียนเรื่องสั้นอย่างคนอื่นๆ ดูบ้าง จึงเอาเรื่องที่ “อามหา” เล่าถึงการฆ่าคนด้วยงูเห่านี้มาเขียน

เมื่อเขียนเสร็จก็ตั้งชื่อเรื่องว่า “คนบาป”

แล้วก็ยื่นต้นฉบับให้ไอ้ปั๋งอย่างอายๆ เพราะเพียงแต่อยากเขียนเท่านั้น ไม่คิดว่าตัวเองจะเขียนหนังสือได้ดี

“มึงจะเอาไปไหนก็ตามใจ”

ไอ้ (ห่า) ปั๋งรับต้นฉบับไป ผมไม่กล้าแม้แต่จะฟังคำวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องสั้นเรื่องนี้ของผม เพราะผมไม่คิดว่ามันคือเรื่องสั้นหากเขียนไปเพราะความอัดอั้นตันใจ

อยากด่าคนที่ทำลายศิลปกรรมเท่านั้น

 

เรื่องสั้น ขุนเดช

อุษณา เพลิงธรรม

ไอ้ปั๋งแนะนำบางอย่างเกี่ยวกับตอนจบเรื่องผมก็ทำตามที่มันแนะนำ หลายวันต่อมาไอ้ปั๋งบอกกับผมว่า

“เรื่องสั้น ‘คนบาป’ ส่งไปแล้วนะ”

“มึงว่ายังไงวะ ใช้ได้ไหม” ผมถามอย่างเหนียมๆ และใจระทึก

“เปล่า ก็ไม่ได้ส่งให้หนังสือ ‘ช่อฟ้า’ ไม่ได้ส่งให้ใครที่ไหน กูม้วนส่ง ‘สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์’ ว่ะ”

“ชิบหายกันพอดี” ผมเกือบตะโกนออกมา

เพราะนั่นหมายถึงว่าผมไม่มีวันได้เขียนเรื่องสั้นอีกต่อไปเพราะเป็นที่รู้กันดีว่าสนามเรื่องสั้น “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ตอนนั้นเป็น “มหาวิทยาลัย” ของคนเขียนหนังสือ

ใครเขียนเรื่องสั้นได้ลงพิมพ์ใน “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” หมายความว่าสำเร็จได้ปริญญาทางการเขียนเรื่องสั้นไปทันที

แต่แล้วเรื่องสั้น “คนบาป” ก็ได้ตีพิมพ์ใน “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์”

 

ภายใน ข่าวดี

ก็มี “ข่าวร้าย”

ข่าวร้ายก็คือ ในเดือนพฤษภาคม 2509 เกิดสถานการณ์ “เลือดแดงทาดินเข็ญ” ขึ้นที่ข้างทางเกวียน หนองกุงศรี สกลนคร

เป็นสถานการณ์ จิตร ภูมิศักดิ์ เสียสละ

ต่อมา ในเดือนกรกฎาคม ปีเดียวกัน เรื่องสั้น “คนบาป” ก็ผ่านความเห็นชอบจาก อุษณา เพลิงธรรม หวนสู่มือ ประมูล อุณหธูป

ตีพิมพ์ใน “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์”