นับถอยหลัง สู่วันระทึกพิธา | วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ถ้าจะถามว่า ความระทึกขวัญของประชาชนคนไทย ในช่วงระยะนี้คืออะไร คำตอบก็คงชัดเจนว่า การโหวตแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และการจัดตั้งรัฐบาล ที่วันเวลาใกล้เข้ามาเต็มที เป็นสถานการณ์ที่ต้องลุ้นอย่างระทึกมากที่สุด

หลังจากการแต่งตั้งประธานสภาและรองประธานสภาเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมแล้ว ในกลางเดือนกรกฎาคม ราววันที่ 13 ซึ่งจะเข้าสู่ขั้นตอนโหวตแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี จะเป็นอีกจุดชี้ขาดว่า สังคมไทยจะเดินไปทางไหน จะเกิดความร้อนระอุตามมาหรือไม่

นับจากวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ที่ผลการเลือกตั้งออกมาอย่างพลิกความคาดหมาย โดยพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1

ประชาชนจำนวนไม่น้อยรู้สึกดีอกดีใจกับผลการเลือกตั้ง เพราะหมายความว่า สังคมไทยจะก้าวรุดหน้าครั้งใหญ่การเมืองไทยจะไม่เหมือนเดิม จะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประการ

แต่พร้อมๆ กัน แรงต่อต้านพรรคก้าวไกล จากเครือข่ายอนุรักษนิยมการเมือง จากเครือข่ายอำนาจเก่า ก่อตัวต่อต้านพรรคก้าวไกลอย่างรุนแรงเช่นกัน

ยิ่งผลการเลือกตั้ง บ่งบอกความต้องการเปลี่ยนแปลงของประชาชน แต่อีกด้านแรงต่อต้านจากอำนาจเก่า ไม่ยอมให้พรรคก้าวไกลเข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย ก็ออกแรงขัดขวางอย่างหนักหน่วงเช่นกัน

ยิ่งก้าวไกลชนะเลือกตั้งและมาแรง ก็ยิ่งทำให้อีกฝ่ายระดมการต่อต้านอย่างเอาเป็นเอาตายเพิ่มมากเป็นเงาตามตัว

เหล่านี้บ่งบอกว่า สังคมไทยเรายังสลับซับซ้อนอย่างมาก การเมืองไทยก็ยังยอกย้อนซ่อนเงื่อนหลายชั้นจริงๆ

กลายเป็นว่า ผลการเลือกตั้ง ทำให้เครือข่ายอำนาจเก่า นั่งไม่ติด ต้องรีบวางแผนสมคบคิดจัดการเชือดก้าวไกลให้ได้

กระนั้นก็ตาม ทุกฝ่ายต้องช่วยกันปกป้องการเลือกตั้งและประชาธิปไตยให้เดินหน้าต่อไปและทำให้อยู่อย่างยั่งยืนที่สุด

ทั้งนี้ ด่านแรกหลังการเลือกตั้ง คือ วาระการแต่งตั้งประธานสภา และรองประธานสภา นับว่ายังดีที่ผ่านพ้นได้อย่างราบรื่น และผลการโหวตในสภา ก็ได้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยยึดกุมตำแหน่งได้ครบถ้วน

เพียงแต่เมื่อไปสู่วาระการแต่งตั้งนายกฯ คงยากจะราบรื่นเหมือนวาระประธานและรองประธานสภา

 

เหตุการณ์วันที่ 4 กรกฎาคม วันแต่งตั้งประธานสภาและรองประธานสภา แม้ว่าก่อนจะถึงวันประชุมโหวต บรรยากาศภายใน 8 พรรคที่กำลังจับมือกันตั้งรัฐบาล เต็มไปด้วยความอลหม่านไม่น้อย

เพราะเกิดข้อขัดแย้งระหว่างก้าวไกลกับเพื่อไทย ต่างฝ่ายต่างต้องการเก้าอี้ท่านประธานที่เคารพ

มีการพูดคุยกันหลายรอบ แต่ก็พลิกกลับไปกลับมา จนสุดท้ายฝ่ายเพื่อไทย เสนอทางออกที่ทำให้ทุกฝ่ายโล่งอก และก้าวไกลก็ยอมรับ ยอมถอยให้

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นพรรคอันดับ 3 ใน 8 พรรคร่วมรัฐบาล มาแบบครบถ้วนทั้งความอาวุโส ประสบการณ์ในสภา จุดยืนทางการเมือง และถือเป็นคนกลางในความไม่ลงตัวระหว่างพรรคอันดับ 1 และอันดับ 2 ได้ดีที่สุด

เมื่อเพื่อไทยดันวันนอร์เป็นทางออก ฝ่ายก้าวไกลก็ไม่ขัด การตั้งประธานสภาจึงเป็นไปอย่างราบรื่น แถมเมื่อเสนอชื่อในที่ประชุมสภา พรรคอีกฟากฝ่ายไม่ติดขัดอะไร ไม่มีการเสนอชื่อใครมาแข่ง ตำแหน่งประธานสภา จึงผ่านอย่างสบายๆ

เช่นเดียวกับการเสนอชื่อนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน จากเพื่อไทยเป็นรองประธานสภาคนที่ 2 ไม่ปรากฏแรงต้านจากพรรคฝ่ายขั้วเดิม ไม่มีการเสนอชื่อแข่ง ได้รับมติแต่งตั้งอย่างฉลุย

แรงต่อต้านจากพรรคฝ่ายเครือข่ายอำนาจเก่า มาแสดงออก กรณีรองประธานสภาคนที่ 1 นายปดิพัทธ์ สันติภาดา โควต้าของพรรคก้าวไกล โดยมีนายวิทยา แก้วภราดัย พรรครวมไทยสร้างชาติ ปรากฏเป็นคู่แข่ง ทำให้ ส.ส.ทั้งสภาเกือบ 500 คน ต้องร่วมกันลงมติลับ ใช้เวลายาวนาน

แต่ลงเอยนายปดิพัทธ์ ได้รับเสียงสนับสนุนท่วมท้น เป็นรองประธานสภาคนที่ 1 อย่างไร้ข้อกังขา แถมบ่งบอกด้วยว่าเสียงของ 8 พรรคที่ร่วมจัดรัฐบาล เหนียวแน่นไม่แตกแถว

การโหวตเลือกรองคนที่ 1 มีผลด้านดีคือ ทำให้เห็นความเป็นเอกภาพของ 8 พรรค ประกาศความเป็นฝ่ายเสียงข้างมากในสภาผู้แทนอย่างชัดแจ้ง

เพียงแต่อีกด้านทำให้เห็นว่า พรรคก้าวไกลเป็นเป้าหมายต่อต้านจากอีกฟากฝ่ายอย่างเข้มข้นจริงจัง

ถ้าเป็นพรรคเพื่อไทย เป็นพรรคประชาชาติ จะไม่มีการแตะต้องจากอีกฝ่าย แต่พอเป็นก้าวไกล เดินเกมสกัดทันที

แนวโน้มเช่นนี้ จะต้องปรากฏในวาระการแต่งตั้งนายกฯ ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมนี้ เมื่อเข้าสู่สมรภูมิรัฐสภา ที่จะมี 250 ส.ว.ร่วมโหวตด้วย!

 

ภายหลังการโหวตแต่งตั้งประธานและรองประธานสภา ที่พรรคฝ่ายประชาธิปไตยได้รับชัยชนะ กุมได้ครบถ้วนทุกตำแหน่ง ซึ่งเป็นสัญญาณดีว่า พลังของ 8 พรรคจะผนึกแน่นเพื่อไปสู่การชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อไป

ทั้งก้าวไกลและเพื่อไทย ประกาศอย่างมั่นใจว่า ชัยชนะจากตำแหน่งประธานและรองประธานสภา จะนำไปสู่การผลักดันนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ ของก้าวไกล ให้ไปสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อย่างลุล่วงในที่สุด

แต่ในความเป็นจริง ต้องยอมรับว่า ในเวทีสภาผู้แทนราษฎร เสียงของ 8 พรรค 312 เสียงนั้น เป็นเสียงข้างมากที่เหนือกว่าอีกขั้วอย่างเด็ดขาด

ขณะที่เวทีรัฐสภา มี 250 ส.ว. ร่วมด้วย มีผลให้ 312 เสียง กลายเป็นเสียงข้างน้อย

เวทีสภาผู้แทนฯ ที่ฝ่าย 8 พรรคเพิ่งได้รับชัยชนะในเก้าอี้ประธานสภาและรองประธานสภา แตกต่างอย่างมากกับเวทีรัฐสภา ที่จะต้องไปชิงตำแหน่งนายกฯ ยังจะต้องหาเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.อีก 64 เสียง

ที่ผ่านมาคณะเจรจาของก้าวไกล พยายามเดินหน้าเข้าพูดคุยกับ ส.ว.จำนวนหนึ่ง ซึ่งเหมือนจะมีเสียงตอบรับที่ดี แต่ก็ไม่มีใครรู้ชัดว่า ประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด

แต่ที่แน่ๆ บรรดาแกนนำ ส.ว.แนวอนุรักษนิยมการเมืองสุดโต่ง ได้ออกมาเคลื่อนไหวหลายระลอก ต่อต้านนายพิธาอย่างไม่มีลดราวาศอก พูดจาตอกย้ำในแนวทางการเมืองอันแหลมคมของก้าวไกล ว่าเป็นประเด็นปัญหาร้ายแรง อันทำให้ ส.ว.ไม่มีทางโหวตให้ผ่าน

อีกทั้งเมื่อมองย้อนเหตุการณ์โหวตรองประธานสภาคนที่ 1 ได้เห็นถึงอาการของ ส.ส.พรรคฝ่ายอนุรักษนิยมการเมืองชัดแจ้งว่า ถ้าเป็นก้าวไกลจะต้องขวางเอาไว้ก่อน ขณะที่กับพรรคเพื่อไทย ไม่มีอาการเช่นนี้

ทำให้มองเห็นท่าทีของฝ่ายอนุรักษนิยมการเมืองในหมู่ ส.ว.ได้เช่นกัน ว่าคงไม่ต่างไปจากนี้

ถือได้ว่า บัดนี้เข้าสู่ช่วงนับถอยหลังไปสู่การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แล้ว ใกล้จะได้รู้ว่า เมื่อ 8 พรรคผลักดันชื่อพิธา จะผ่านด่านหินนี้ได้หรือไม่

โดยมีข่าวที่สะพัดไปทั่วว่า เครือข่ายอำนาจเก่า เหล่าขุนศึกขุนนาง ยังยืนกรานท่าทีเดิม ปฏิเสธก้าวไกล แต่ยอมรับเพื่อไทย

แต่สำหรับ 8 พรรคประชาธิปไตย ยังไงก็ต้องผลักดันพิธาไปให้ได้ ยกเว้นถ้าไปไม่ไหวจริงๆ ก็อาจต้องเปลี่ยนมาที่เศรษฐา!