คณิต ณ นคร : กฎหมายดี แต่นักกฎหมายค่อนข้างแย่

คณิต ณ นคร : กฎหมายดี แต่นักกฎหมายค่อนข้างแย่ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โจทย์ใหญ่รัฐบาลใหม่ กับความหวังที่ยังมองไม่เห็น… ปฏิรูปกฎหมาย-หัวใจสำคัญ

 

ศ.คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด อดีตประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เปิดใจกับมติชนสุดสัปดาห์ ว่า กฎหมายไทยเราดี ไม่แพ้ประเทศใดในโลก แต่นักกฎหมายเราหลายคนค่อนข้างแย่

ถามว่าที่แย่ๆ มาจากไหน ก็มาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทุกที่ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าเราต้องปฏิรูปมหาวิทยาลัยด้วย การเรียนการสอนต้องทำให้ถูกหลัก

ผมเองเคยได้รับเชิญไปสอนที่เนติบัณฑิตยสภา ชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นสำนักอบรมศึกษากฎหมาย ปรากฏว่ามีสำนักสอนกฎหมายแข่งกับมหาวิทยาลัย แถมทุกวันนี้คณะนิติศาสตร์ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจก็มี ถามว่าเปิดขึ้นมาได้อย่างไร ผมคิดว่า เราต้องทำการศึกษากฎหมายในสถาบันต่างๆ ให้เกิดมรรคเกิดผลด้วยการทำให้ถูกหลัก แล้วทุกอย่างก็จะพัฒนาขึ้นไป ไม่ควรสอนให้ “จำ”

ที่ผ่านมาการเรียนการสอนยึดตามแนวทางของศาลฎีกา แต่ศาลฎีกาของเราเป็นประเทศเดียวที่พิจารณาข้อเท็จจริง ไม่มีที่ไหนในโลกนะ อย่างที่สหรัฐอเมริกาหรือประเทศอื่นเขาพิจารณาจากข้อกฎหมายทั้งนั้น ขณะเดียวกันศาลฎีกาของประเทศไทยมีเยอะ ในขณะที่สหรัฐนั้นมี 9 คนขึ้นไป ที่เยอรมนีมี 15 คน ญี่ปุ่น 15 คน แต่ของไทยมีถึง 173 คน แต่ก็ไม่ได้มีการพัฒนาอะไรให้ดีขึ้นเลย เพราะฉะนั้น เราต้องปฏิรูปให้หมดทั้งกระบวนการยุติธรรม

ซึ่งที่ผ่านมาคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศไว้ตั้งแต่ตอนที่ยึดอำนาจบอกว่าจะปฏิรูปตำรวจ แต่ก็ไม่เห็นจะมีการปฏิรูปใดๆ เกิดขึ้น แล้วจะให้ทำอย่างไร?

โจทย์ใหญ่รัฐบาลใหม่

เรื่องการปฏิรูปกฎหมาย อ.คณิตบอกว่า สำนักงานปฏิรูปกฎหมายก็เคยเกิดขึ้นแล้ว ผมเองเป็นผู้ยกร่างกฎหมายนี้ พอยกร่างเสร็จก็มีสำนักงานปฏิรูปกฎหมายเกิดขึ้น แต่ตอนนี้ถูกยกเลิกหลังจากการยึดอำนาจที่ผ่านมา ซึ่งทุกประเทศเขามีสิ่งที่เรียกว่า Law reform commission หรือที่เข้าใจกันคือคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ของเราเคยมีแต่ก็ดันยกเลิก

ตอนที่ร่างเสร็จผมก็ไม่อยากที่จะเป็น 1 ในคณะกรรมการ แต่คุณกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ (อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม) ในฐานะเคยเป็นคณะทำงานสมัยผมเป็นอัยการสูงสุด บอกว่าชุดแรกเนี่ย อาจารย์ต้องเข้าไปเป็น เราเลยจำเป็นต้องไป ผมก็ไปทำ เราก็พยายามปฏิรูป

แต่แล้วยังไง วันนี้ก็เละ คุณประยุทธ์ก็เข้ามาบอกจะปฏิรูป แต่ก็ไม่ทำ กฎหมายก็เป็นแบบนี้ ซึ่งกฎหมายเรานี้ถือว่าปฏิรูปน้อยมาก กฎหมายเราที่ยังแย่อยู่มีบางส่วน แต่ว่าส่วนที่แย่ๆ นั้นกลับมีบทบาทสำคัญ ก็เลยเป็นแบบนี้

ที่ผ่านมาในช่วงชีวิตผมถูกใช้ให้ทำงานเกี่ยวกับ “เหตุการณ์ความไม่สงบ” ถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกมีการฆ่ากันที่ถนนราชดำเนิน ช่วงปี 2535 (สมัยนั้นผมเป็นรองอัยการสูงสุด) มีโทรศัพท์เชิญให้เป็นกรรมการตรวจสอบความจริงที่เกิดขึ้น โดยบอกกับผมว่าให้อาจารย์ไปช่วยหน่อย ผมก็เลยถามกลับไปว่าทำไมต้องเป็นผม คำตอบที่ได้รับกลับมาคือเหตุผลว่าคุณเป็นกลางดี

พอเราทำเสร็จ ข้อเท็จจริงที่เราตรวจสอบก็ไปอยู่ที่กระทรวงกลาโหม แต่แล้วกลับไม่ได้มีการเผยแพร่ที่ไหน ไม่ว่าจะในหรือนอกประเทศ

ครั้งที่ 2 สมัยของคุณทักษิณ ชินวัตร ที่มีการแก้ไขปัญหายาเสพติด และมีการพูดกันถึงปัญหาการฆ่าตัดตอน 2,000 กว่าศพ แล้วเขาก็ตั้งให้ผมเป็นคณะกรรมการตรวจสอบความจริง ผมก็ทำเสร็จแล้วเขียนออกมาเป็นรายงาน เรื่องวิสามัญคดีฆาตกรรมยาเสพติดในประเทศไทย ชอบด้วยกฎหมายหรือจงใจฆ่าทิ้ง?

มีการทำรายงานออกมาทำ 2 ภาษาเลย แต่กลับไม่มีใครอ่าน

และต่อมาครั้งที่ 3 ช่วงที่เสื้อเหลืองเสื้อแดงทะเลาะกัน ก็มีการแต่งตั้งผมให้ทำงานเข้าไปตรวจสอบ แล้วเราก็เสนอโมเดลการแก้ปัญหาระยะต้น ระยะกลาง ระยะปลาย ทั้งหมดไม่ถูกหยิบไปใช้ แล้วก็มีเรื่องเกี่ยวกับคดีก่อการร้าย

ซึ่งคดีก่อการร้ายในมุมมองผมเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เลยเสนอให้อัยการสูงสุดถอนฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งก็ไม่มีใครทำ ก็จบ

ชีวิตของผมเป็นแบบนี้ ทุกอย่างที่ผมทำเป็นเรื่องของประโยชน์ส่วนรวมทั้งนั้น

ม.112 ในมุมมองของ อ.คณิต

สําหรับกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีการพูดถึง ผมเคยมีข้อเสนอว่า กฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ควรจะเป็นความผิดที่ต้องให้อำนาจ ซึ่งต้องให้อำนาจก่อน ไม่ใช่ปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการ ถ้ายุติได้ก่อน จะทำให้ปัญหาเบาบางลง

อ.คณิตได้เล่าว่าตนนั้นได้แต่งตำราเรื่องกฎหมายอาญาด้านความผิด หนึ่งในประเด็นที่เขียน คือในความผิดคดี 112 ต้องให้เป็นความผิดที่ให้อำนาจ ซึ่งความจริงพระมหากษัตริย์ท่านจะพูดไม่ได้ แต่สามารถให้เลขาธิการสำนักพระราชวังได้

ผมยินดีอย่างยิ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะนำเอาข้อเสนอทั้งหมดของผมไปสานต่อ เพราะส่วนตัวทำเพื่อสังคมทั้งนั้น ที่ผ่านมาผมได้เขียนหนังสือเรื่องสิทธิของข้าพเจ้าในคดีอาญา หนังสือเล่มนี้เข้ามาพอดีในช่วงของเพนกวินกับทนายอานนท์ นำภา ถูกจับ เป็นกรณีการออกหมายจับโดยที่ไม่มีเหตุ

ซึ่งการจะออกหมายจับได้ คือ 1.หลบหนี 2.ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน แต่ก็ไปออกหมายจับเขา จนแม่ของเพนกวินมาโกนหัวประท้วง

 

ความหวังของสังคมไทย?

ผมยังนึกไม่ออก ยืนยันเหมือนกับตอนแรกที่ผมพูดไปแล้วว่าประเทศไทยกฎหมายเราดี ไม่แพ้ใคร เรามีการปรับปรุงตั้งแต่สมัย ร.5 แต่นักกฎหมายที่เรียนจบกฎหมายมายังแย่ๆ ซึ่งมีที่มาจากมหาวิทยาลัยทั้งนั้น

ขณะที่วงการตำรวจหนัก บ้านเราก็หนักมาตั้งนานแล้ว ในต่างประเทศ ยกตัวอย่างประเทศเยอรมนี การสอบสวนคดีอาญา ตำรวจมีหน้าที่ช่วยเหลือพนักงานอัยการ แต่ของบ้านเราแยกกันทำ แทนที่การตรวจสอบความจริงทำร่วมกัน แต่ของเราไม่ช่วยเหลือ แยกไปทำเอง ต่างคนต่างทำ และเมื่อต่างคนต่างทำก็ไม่มีอะไรเคลื่อนไหวในทางที่ดีขึ้น

ทุกวันนี้ศาลเป็นที่พึ่งได้หรือไม่ผมไม่แน่ใจ ผมก็เป็นห่วงว่าหาคนเป็นกลางในบ้านเราไม่มี ผมก็เป็นห่วงครับ แต่ตอนนี้อยู่ในสถานะข้าราชการบำนาญ เลยไม่สามารถเข้าไปยุ่งอะไรได้ ยกเว้นแต่เรื่องสอนหนังสือ ผมเองก็ยังคิดไม่ออก เพราะว่าคนในกระบวนการยุติธรรมยังคิดไม่เป็นระบบ เพราะเอาแต่คิดที่จะแสดงอำนาจกัน

ดังนั้น ต้องคิดให้เป็นระบบ แบบอย่างมีให้เห็นในหลายประเทศตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง

 

อยากเห็นสังคมไทยเป็นไปในแบบไหน

ผมอยากเห็นสังคมไทยเป็นประชาธิปไตย

ประชาธิปไตยในที่นี้คือ ประชาชนต้องเป็นใหญ่

แต่ตอนนี้ยังเห็นว่ายังตั้งรัฐบาลไม่ได้เลย