ยอม ‘งอ’ พึ่ง ‘วันนอร์’ เพื่อ-ก้าวต่อไป?

ความรู้สึกที่ว่า “อะไรไม่เคยได้เห็นก็จะได้เห็น” เกิดขึ้นบ่อยมากในการเมืองช่วงนี้

เปิดประชุมสภานัดแรกเป็นที่เรียบร้อย ภาพที่ไม่ค่อยคุ้นคือ ฝ่ายค้านเดิมสลับมานั่งเก้าอี้ฝั่งรัฐบาล ฝั่งรัฐบาลเดิม สลับไปนั่งฝ่ายค้าน คนคุ้นหน้าคุ้นตา หายไปจากจอทีวีรัฐสภาเยอะมาก หน้าใหม่ก็เข้ามาเยอะมาก

แต่ภาพที่ถูกแชร์เยอะมากกลับเป็นภาพ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในตำแหน่งใหม่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เข้าไปนั่งแทรกอยู่กับเพื่อนสมาชิก เป็นภาพที่ไม่ค่อยคุ้นตานัก เพราะตลอดเกือบทศวรรษที่ผ่านมาเห็นแต่ภาพ พล.อ.ประวิตร เป็นรองนายกฯ ติดต่อกันมายาวนาน

ที่สำคัญ พล.อ.ประวิตร คือ 1 ใน 3 ป. ที่ครองอำนาจนำในการเมืองไทย และรอบนี้ 2 ป. ไม่ได้เข้าสภา (1 ป.วางมือการเมือง อีก 1 ป.ยังไม่มีทีท่าจะวาง…)

นั่นคือ ปรากฏการณ์ “อะไรไม่เคยได้เห็นก็จะได้เห็น” ซึ่งจะเกิดขึ้นต่อไปหนักขึ้นเรื่อยๆ จากนี้ จับตาอย่ากะพริบ

 

ศึกเลือกประธานสภาสำเร็จเสร็จสิ้นด้วยดี “ตาอินก้าวไกล” ปะทะเดือด “ตานาเพื่อไทย” สุดท้ายเก้าอี้ตกเป็นของ “ตาอยู่ประชาชาติ”

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ได้รับเลือกให้เป็นประธานสภา โดยมี นายปดิพัทธ์ สันติภาดา จากก้าวไกล ได้รับเลือกเป็นรองประธานอันดับ 1 และนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน จากเพื่อไทย เป็นรองประธานสภา อันดับ 2

ต้องบอกว่ารอบนี้เพื่อไทย “ไม่ยอม” ในเกมการต่อรอง ไม่เพียงสะท้อนผ่านกองเชียร์ที่ต่อสู้ถกเถียงกันขั้นแตกหัก ยังสะท้อนออกมาผ่าน ส.ส. และแกนนำของพรรคนับตั้งแต่หลังทราบผลเลือกตั้ง

ไม่ว่าจะเป็น อดิศร เพียงเกษ หัวหมู่ทะลวงฟัน ตามมาด้วยรุ่นใหญ่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นักการเมืองรุ่นเก๋า อย่าง ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ และพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ที่รายหลังถึงกับประกาศตำแหน่งนี้จะยกให้ใครไม่ได้

ความปั่นป่วน-ไม่เป็นเอกภาพจึงเกิดขึ้นหนักที่ฝั่งเพื่อไทย ขณะที่ทีมเจรจาของเพื่อไทยมีข้อเสนออีกอย่าง แต่การเมืองภายในของพรรคเห็นอีกอย่าง เพราะมีหลายก๊ก หลายกลุ่ม

จึงเป็นที่มาของการเสนอชื่อ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” เป็นตัวกลาง สะท้อนความเก๋าของ “นักรบห้องแอร์เพื่อไทย”

แต่แน่นอน ภาพลักษณ์ของพรรคเพื่อไทยตลอดหลายสัปดาห์ก่อนการเลือกประธาน ที่มีท่าทีเปลี่ยนไปมา ความไม่ชัดเจนในประเด็น-วาระ ยิ่งสร้างความสงสัยของประชาชนต่อเนื่องจากฤดูเลือกตั้งให้เพิ่มขึ้นไปอีก

ยิ่งเจอประเด็น “ฟรีโหวต” เข้าไป เป็นใครก็ต้องถอย เพราะหากปล่อยให้เกิดขึ้นก็เท่ากับแทบจะเป็นการปูทางไปสู่การล้มการตั้งรัฐบาลทั้งหมด

ชัดเจนว่าพรรคก้าวไกลยอม “งอ” ไม่ “แตกหัก” เมื่อได้ยินชื่อ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” แต่ก็ “งอ” แบบมีเงื่อนไข จนเกิดเป็นข้อตกลง 4 ข้อที่จะผลักดันร่วมกันภายใต้ประธานสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากพรรคประชาชาติ ถือเป็นการยอมประนีประนอมในพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล เพื่อเดินหน้าหลักการใหญ่คือการตั้งรัฐบาลจากการเลือกตั้งให้ได้

มีความเห็นหลากหลายต่อการเป็นประธานของ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” แม้แต่ ส.ส.จากประชาธิปัตย์ และรวมไทยสร้างชาติ ยังประกาศสนับสนุน

ขณะที่ฝั่งกองเชียร์ก้าวไกล ก็แบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือไม่เห็นด้วยต่อการยอมถอยของก้าวไกล เพราะหากก้าวไกลไม่ได้ประธานสภา ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะไม่ได้นายกฯ เนื่องจากไม่ใช่คนคุมเกมการเลือก และไม่สามารถผลักดันวาระก้าวหน้าต่างๆ ได้

ขณะที่ฝ่ายที่เห็นด้วย มองว่าผลงานของ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ในฐานะ ส.ส.พรรคประชาชาติ ที่อภิปรายเดินหน้าชนกับ พล.อ.ประยุทธ์ในสภามาแล้ว ทั้งจุดยืนเรื่อง 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็น่าเคารพ กล้ายืนข้างผู้ถูกกระทำ

ช่วงจัดตั้งรัฐบาลก็ออกมาเตือนสติวุฒิสภาได้อย่างน่าฟัง ช่วงแตกหักของพรรคก้าวไกลกับเพื่อไทยในตำแหน่งประธานสภา ก็ไม่อยู่เฉย ออกมาตักเตือนให้รีบทำความเข้าใจกัน แม้จะถูกมองว่าเป็นสาขาเพื่อไทยทางอ้อม แต่ก็ดำรงตนได้ดี เข้าอกเข้าใจคนรุ่นใหม่ เข้าใจคนที่ถูกกดขี่

นี่คือจุดที่ก้าวไกลคงยอมรับ

การถอยของก้าวไกลรอบนี้ถูกเยาะเย้ย นักการเมืองบางคนว่า “คนมันเก๋าผิดกัน” หรือ “กระดูกคนละเบอร์…”

ขณะที่ ส.ว.บางคนถึงกับโพสต์เฟซบุ๊กมองไปไกลว่า การถอยครั้งนี้จะนำมาสู่การแพ้ทั้งกระดาน

แต่หากมองลักษณะและวิธีการต่อสู้ ก้าวไกลเล่นเกมง่ายกว่ามาก ยึดไปตามหลักการ เล่นไปตามไทม์ไลน์หน้ากระดาน ภายใต้วาระหลักของพรรคตัวเอง ประคองไม่ให้หลุดจากกรอบ

กลับกัน ความตึงเครียดไปอยู่ที่เพื่อไทย ที่ต้องเหนื่อยการประสานงานบนความแตกต่างของกลุ่มในพรรค แถมมาด้วยการต่อสู้ข้อมูลข่าวสาร คำถามถาโถมเข้าใส่อย่างหนักจากประชาชน

 

ในเกมการเลือกประธานสภาก็น่าสนใจ ขั้วอำนาจเก่าแสดงสัญลักษณ์การต่อสู้ก้าวไกล ด้วยการส่ง วิทยา แก้วภราดัย จากรวมไทยสร้างชาติ เข้าชิงเก้าอี้รองประธานสภาคนที่ 1 จนต้องมีการลงคะแนน ขณะที่ขั้วอำนาจเก่าไฟเขียวให้พรรคประชาชาติและพรรคเพื่อไทย นั่งเก้าอี้แบบไม่ต้องลุ้น

สะท้อนชัดว่านับจากนี้ ในเกมสภา ขั้วรัฐบาลเดิมอำนาจเก่ายังสู้ไม่ถอย และจะสู้ยิบตายิ่งขึ้น จับตาดูวันเลือกนายกรัฐมนตรีให้ดี

ยิ่งอาการของภูมิใจไทย ที่ไม่ยอมลงคะแนนโหวตให้รวมไทยสร้างชาติ แต่เลือกงดออกเสียง ยิ่งน่าสนใจว่าเป็นการส่งสัญญาณดี หรือทอดสะพานอะไรบางอย่างหรือเปล่า?

 

ท่าทีทางการเมืองหลังจากนี้ยิ่งน่าจับตา โดยเฉพาะ 2 พรรคการเมืองหลักจาก 8 พรรค ที่ครองคะแนนเสียงรวมกันมากกว่า 25 ล้านเสียง

ก้าวต่อไปของเพื่อไทยจากนี้เป็นงานหนัก (เผลอๆ อาจหนักกว่าก้าวไกล ทั้งตามฐานคะแนนเหมือนต้องรับผิดชอบน้อยกว่า) เพราะที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ “พี่ใหญ่เพื่อไทย” ถูกตั้งคำถามเรื่องการดำเนินการทางการเมืองจากคนจำนวนไม่น้อย จึงต้องแสดงให้เห็นการเข้าใจ ไม่ลืมในเจตนารมณ์ประชาชนวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม

ต้องไม่มีถ้อยคำประเภท “อยากออกแต่ก็ออกไม่ได้” หรือ “ถูกคลุมถุงชน” หลุดออกมาให้คนตีความกันอีก

ขณะที่ก้าวต่อไปของก้าวไกล ทำอะไรต้องชวนคนอื่นทำด้วย ต้องให้พรรคร่วมเห็นตรงกัน สร้างการเห็นพ้องต้องกันในทางการเมืองและนโยบาย เพราะจับมือกันลงเรือลำเดียวกันแล้ว (ต่อให้คนอื่นทำให้รู้สึกระแวงก็ตาม)

ส่วนก้าวต่อไปของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” นั้น ต้องยอมรับว่า “พิธา” มีความสามารถในการสร้างและรักษากระแสความนิยมได้สูง รักษาการนำได้ดีในพรรค การนำประชุมร่วมพรรคจัดตั้งรัฐบาล เปิดเผยวาระต่อประชาชน ตอบคำถามทุกอย่างชัดเจน การลงพื้นที่ ไปต่างจังหวัดพบปะประชาชน

วันเปิดประชุมวันแรก ภาพการเดินถอดสูทฝ่าสายฝนไปหาผู้สนับสนุนหน้าสภา นั่งอยู่กับพื้นพร้อมประกาศเสียงดัง พูดว่า “ขอรายงานเจ้านาย…” พร้อมกับเล่ารายละเอียดในสภา ทั้งยังประกาศว่า ประธานและรองประธาน เป็นคนของฝั่งประชาธิปไตยแล้ว ต่อไปประชาชนที่มาติดต่อ ต้องไม่ตากฝน การเข้าหาแม่บ้าน ถามสารทุกข์สุกดิบ โบกมือให้คนงานก่อสร้าง

ต่างๆ เหล่านี้ ต่อให้ถูกวิจารณ์ว่าสร้างภาพ แต่อาการเคลื่อนไหวเหล่านี้ คือการแสดงสัญลักษณ์การเคารพต่อประชาชน การแสดงภาวะผู้นำ สะท้อนวุฒิภาวะผู้นำในการพยายามฝ่าวิกฤต แม้ก่อนหน้านี้จะถูกเย้ยหยัน ไร้ประสบการณ์

ส่วนก้าวต่อไปของกองเชียร์ ต้องเข้าใจว่า ที่สุดแล้ว 2 พรรคการเมืองหลักฝ่ายตั้งรัฐบาล มีพื้นฐานทางแนวคิด วิถีทางการเมืองที่ต่างกัน

ดังนั้น กองเชียร์ก็จะมีความเห็นขัดแย้งกันตลอดไป ต้องทะเลาะกันอีกนาน

 

ในระยะ 4 ปีจากนี้ 2 พรรคหลักจะกำหนดวาระทางการเมืองเป็นจุดหมายที่จะแก้ไขร่วมกันอย่างไร จะล้างมรดก คสช. จะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จะปฏิรูปกองทัพอย่างไร นั่นคือเป้าหมายในช่วงนี้ที่จะมองร่วมกันได้

เพราะขณะนี้ยังไม่พ้นขีดอันตราย ฝ่ายตรงข้ามตอนนี้ยังรอวันพลิกขั้วขึ้นมาครองอำนาจอยู่

จนถึงวันนี้ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลยังสามารถประคองเกมมาได้ ท่ามกลางสารพัดอุปสรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลในฐานะพรรคแกนนำ ขณะที่ฟาก ส.ว. ต้องยอมรับว่า ยังไม่เห็นสัญญาณที่ดี

แม้ 250 ส.ว.จะมีอำนาจในการหยุด “พิธา” ไม่ให้เข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลได้ แต่ก็ต้องจับตาดูว่า จะ “กล้า” ทำหรือไม่ เพราะในอีกมิติหนึ่ง การไม่โหวตให้ “พิธา” ซึ่งสามารถรวมเสียงข้างมากได้ 312 เสียง เท่ากับจะเป็นการเปิดศึกปะทะกันของ 250 ส.ว. กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ของประเทศโดยตรง

การยอมถอยแล้วในศึกชิงเก้าอี้ประธานสภา บางคนมองว่าพ่ายแพ้ แต่ในมุมหนึ่ง มันเป็นการเพิ่ม “ราคาที่ต้องจ่าย” ให้สูงมากขึ้น หากใครจะคิดเล่นเกมอย่างไม่ตรงไปตรงมาในศึกเลือกนายกฯ ที่กำลังจะถึงนี้ต่างหาก

รอดู 13 กรกฎาคม ผลจากการยอม “งอ” ครั้งนี้ จะเป็นอย่างไร