ทัดมาดอว์ แห่งลุ่มน้ำอิรวดี | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ทัดมาดอว์ (Tatmadaw) แห่งลุ่มน้ำอิรวดี ผมหมายถึง ทหารซึ่งทำการรัฐประหารในเมียนมาเมื่อ 2 ปีกว่าที่ผ่านมา

ทัดมาดอว์เป็นทหารที่ยังคงมีบทบาททางการเมืองเหนียวแน่นในการเมืองและเศรษฐกิจเมียนมา

พวกเขาหาใช่แบบอย่างของกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย พวกเขาได้รับความสนใจจากแวดวงผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการทหารอย่างไม่เสื่อมคลาย ในแง่จำนวนกำลังพลขนาดใหญ่ที่สุดเหนือกำลังพลทหารในประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เป็นกำลังพลที่มีอาวุธทันสมัยที่รัฐบาลทหารเมียนมาซื้อมาจากประเทศชั้นนำผู้ผลิตอาวุธ

ได้เข้าไปเรียนในวิทยาลัยการทหารชั้นนำของประเทศ เด่นทั้งวิชาการทหาร การฝึกมาตรฐานสูงและความอดทน

ได้รับการปลูกฝังให้ภักดีต่อผู้นำทหาร แต่ความโดดเด่นเหล่านี้ถูกท้าทายด้วยสงครามภายในเมียนมา โครงสร้างภายในกองทัพ อุดมการณ์ ความชอบธรรมและกาลเวลา

น่าสนใจยิ่ง รัฐประหารในเมียนมาล่าสุด 1 กุมภาพันธ์ 2021 คือภาพสะท้อนความจริงของทัดมาดอว์อย่างดี

เมื่อเข้าใจทัดมาดอว์หลังรัฐประหารในเมียนมา เวลาผ่านไป 2 ปีกว่าเราจะเข้าใจอีกด้านหนึ่งของการเมืองเมียนมาพร้อมกัน

 

รัฐประหารล่าสุด
พลวัตและผลกระทบ

แม้ทหารเมียนมาสร้างความน่าหวาดกลัวให้ชาวบ้านอย่างมาก ด้วยการเผาหมู่บ้านและโจมตีทางอากาศ

แต่ทหารเมียนมาก็ไม่ได้ชนะแท้จริง ในขณะที่เกิดขาดแคลนอาวุธอย่างหนักและต่อเนื่อง

ทหารเมียนมากำลังสูญเสียพื้นที่ที่ห้อมล้อมดินแดนกองทหารกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งต่อสู้มายาวนานบริเวณชายแดน รวมทั้งนักรบกลุ่มใหม่ที่จัดตั้งโดยกองทหารต่อสู้ของประชาชน (People’s Defense Militias – PDF)

ตอนนี้ทหารเมียนมาเผชิญการคุกคาม แม้ในเมืองใหญ่ที่สุด

หลายเดือนที่ผ่านมา ผู้นำทหารประกาศจะจัดการเลือกตั้งทั่วไป แม้พรรค National League for Democracy – NLD ถูกห้ามมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง แล้วความจริงคือ การออกเสียงจริงๆ เกือบเป็นศูนย์ แม้ว่ากองทัพเมียนมาต้องการจัดการเลือกตั้งปลอมๆ แต่พวกเขาก็ไม่สามารถทำการเลือกตั้งให้ปลอดภัยในหลายๆ พื้นที่

เดือนที่ผ่านมามีรายงานหลายฉบับ ให้รายละเอียดความอ่อนแอหลายอย่างของทัดมาดอว์ มีการโจมตีทางอากาศอย่างป่าเถื่อนมากขึ้น แต่ยุทธวิธีรบเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้ทัดมาดอว์ชนะเอาดินแดนที่ถูกยึดไปกลับคืนมาได้

ตรงกันข้ามชาวเมียนมาหันกลับไปต่อต้านมากขึ้น กำลังของทัดมาดอว์ถูกซุ่มโจมตีบ่อยขึ้นจากเครื่องบินประจัญบานของ PDF

PDF เป็นนักรบรุ่นใหม่และไม่ได้เข้าไปเรียน1 ในวิทยาลัยการทหาร (Military’s Defense Service Academy – DSA ) วิทยาลัยการทหารที่ Pyin Oo Lwin เมืองมัณฑะเลย์ เมืองที่เคยมีคนสมัครเป็นนักเรียนทหารอย่างน้อย 500 นายต่อปี ตอนนี้มีคนสมัครเรียนเพียง 22 ราย2

วิทยาลัยการทหารแห่งนี้เคยเป็นที่รับสมัครนักเรียนทหาร (cadet) จำนวนมากมายาวนาน แต่หลังรัฐประหาร จำนวนคนสมัครตกฮวบลง

บางทีอาจเพราะคนหนุ่มเหล่านี้ไม่ต้องการเข้าร่วมกับทัดมาดอว์ในสนามรบอีกต่อไปแล้ว

ในขณะที่ผู้นำทหารจำนวนมากและเจ้าหน้าที่ทหารถูกลอบสังหารในเมืองต่างๆ

ปัจจัยเหล่านี้มีรายงานว่า กำลังใจในกองทัพตกต่ำมาก นายทหารถูกลอบสังหารในหลายเมือง และการหนีทหารกลายเป็นปกติมาก

จากรายงาน ผู้เชี่ยวชาญชาวเมียนมา Ye Myo Hein3 สรุปว่าทัดมาดอว์ในอดีตมีจำนวน 300,000-400,000 นาย4 ซึ่งเป็นกองทัพที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตอนนี้เหลือราว 150,000 นาย

ผู้เชี่ยวชาญยังสรุปว่า มีทหารเพียง 70,000 นายที่ยังคงสู้รบ เนื่องจากตาย หนีทหาร และเอาใจออกห่างตั้งแต่หลังรัฐประหารเป็นต้นมา

น่าสนใจ Ye Myo Hein เขียนไว้ด้วยว่า มีรายงานเท็จเรื่องจำนวนกำลังทหารภายในกองทัพได้เผยแพร่ออกไป แม้แต่พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย และผู้ช่วยของเขา พลเอกโซ วิน (Soe win) ก็ไม่รู้จำนวนจริงๆ ของกำลังพล

ผู้เชี่ยวชาญเขียนน่าสนใจมาก แม้แต่หน่วยทหารราบเบา (Light Infantry Divisions) ทัดมาดอว์ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นกองกำลังที่น่ากลัวที่สุดของเมียนมา ความเข้มแข็งก็ตกต่ำลง5

 

ความผิดพลาด

หลังรัฐประหารในทันทีนั้น ทัดมาดอว์ตอบสนองการประท้วงอย่างสันติของคนเมียนมา ด้วยความป่าเถื่อน แล้วเปลี่ยนมาเป็นการสังหารหมู่และการจับกุม

ในเวลานั้น ดูเหมือนทัดมาดอว์ควบคุมเข้มข้นประเทศได้มาก รวมทั้งเมืองใหญ่ที่สุดและใจกลางแผ่นดินของชาติพันธุ์เบอร์มัน (Burman)

องค์กรติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ยังคงอยู่ก็จริง แต่มีจำนวนมากที่อ่อนแอเนื่องจากสูญเสียดินแดนของพวกเขาให้กับกำลังทหารในเวลาต่อมา

แม้ว่าคนเมียนมาที่เห็นแนวทางสันติวิธีล้มเหลว แล้วมุ่งหน้าเข้าป่าติดอาวุธ บางทีทหารมองภาพครั้งก่อนนักรบในป่าสามารถเรียนรู้การสู้รบได้ดีพอต่อกรกับทหารผู้ชำนาญการรบ

แต่มีข้อยกเว้น องค์กรติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์แยกออกจากความเป็นศัตรูในอดีต มาเป็นแต่ละฝ่ายร่วมทำงานด้วยกัน ร่วมต่อต้านศัตรูร่วมและทำลายทหารที่อ่อนล้า กองกำลังที่ท้อแท้

มีการประเมินจากรายงาน ทหารเห็นทหารถูกฆ่า 15 นายต่อวัน6

ทัดมาดอว์มีความสูญเสียมากกว่า PDF และทหารของกลุ่มชาติพันธุ์ PDF พัฒนาเป็นนักรบที่มีประสิทธิภาพรวดเร็วกว่า

บางส่วนมาจากการฝึกฝนและให้การสนับสนุนโดยกลุ่มทหารชาติพันธุ์

พวกเขาชำนาญการโจมตี เข้าตีและตีจาก หรือ hit and run ขบวนของทัดมาดอว์ มุ่งเป้าเจ้าหน้าที่ทหาร และใช้สื่อโซเชียลโน้มน้าวทัดมาดอว์ให้ยอมแพ้

ส่วนทัดมาดอว์ตอนนี้กำลังต่อสู้หลายแนวรบมากเกินไป จากรายงานของ Jason Tower7 นักวิจัยของ United States Institute of Peace รัฐอาระกัน (Arakan) รัฐทางตะวันตกของเมียนมาเป็นตัวอย่างของทหารของอาระกันที่ทรงพลังได้ควบคุมพื้นที่เกือบทั้งรัฐได้แล้ว

ไม่นานมานี้ ในรายงานของ Special Advisory Council of Myanmar องค์กรด้านการวิจัยพบว่า ทัดมาดอว์ควบคุมพื้นที่ได้แค่ 1 ใน 5 ของประเทศ

รายงานชี้ให้เห็นว่า ทัดมาดอว์ควบคุมเพียงแค่ถนนจำนวนน้อยนอกเมือง ตอนนี้ในใจกลางประเทศ กำลังทหารของฝ่ายต่อต้านต่อสู้และอยู่แค่มือเอื้อม ไม่กี่ไมล์จากเมืองหลวง เนปิดอว์ (Naypidaw) และกำลังต่อสู้ในย่างกุ้งเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

อาจกล่าวได้ว่า ในแง่ปัจจัยภายในประเทศ จำนวนกำลังพล จำนวนอาวุธ ยุทธวิธีการรบ การต่อสู้เพื่อเข้ายึดพื้นที่ แรงสนับสนุนจากประชาชน ชาวบ้านล้วนหันมาเป็นคุณต่อ PDF องค์กรติดอาวุธของกลุ่มต่อต้าน และกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ ที่หันมาร่วมมือกันต่อสู้ศัตรูร่วม

ที่สำคัญ ขวัญและกำลังใจฝ่ายต่อต้านอัดแน่นไปด้วยจิตใจสู้รบ

 

สู่นักรบแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ในอดีต ความเกรียงไกร ยิ่งใหญ่ของนักรบแห่งลุ่มน้ำอิรวดีดับมอดไหม้ไปแล้ว ด้วยปัญหาความชอบธรรมทางการเมือง

จิตวิญญาณแห่งการสู้รบเอาชนะกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่หาใช่ชาวเบอร์มัน ที่มีฐานที่มั่นและถิ่นอาศัยใจกลางเมียนมาห่อเหี่ยว ท้อถอยไปมากแล้ว

แล้วด้วยกาลเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลง ทัดมาดอว์อ่อนแรง หมดพลัง ปัจจุบันสมัยไม่เหลือแม้แต่จำนวนมหาศาลแห่งกองทัพที่มีกำลังพลมากที่สุดในภูมิภาค

แล้วจะเหลืออะไรสำหรับนักรบแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ด้วยชื่อเรียกขานต่างๆ นานา ทั้งวงค์เทวัญ บูรพาพยัคฆ์ รุ่นนักเรียนนายร้อยรุ่น 1 5 7 หรือรุ่น 21 23 24 ไร้ความหมาย แม้กลับไปที่เหล่าทหารราบ ม้า ปืน หมวกดำ หมวกแดง

ในขณะที่ทัดมาดอว์เผชิญหน้าความชอบธรรมทางการเมือง ทศวรรษแห่งบูรพาพยัคฆ์เผชิญความล้มเหลวแห่งการบริหารประเทศในนามของระบอบประยุทธ์

ระบอบการเมืองที่คนไทยจะจดจำไปนานแสนนาน ไม่มีค่ายและป้อมยามใดปกป้องได้อีกแล้ว

 


1Ye Myo Hein, Myanmar : Military is Smaller Than Commonly Though-and Shrinking Fast, United State Institute of Peace, May 3, 2023

2“Applicants to Myanmar military academy dwindling, defecting officers say” Myanmar now, April 5, 2022

3Ye Myo Hein เป็น Visiting Scholar ที่ the United State Institute of Peace and a Global Fellow ที่ the Wilson Center

4จากการสัมภาษณ์อดีตทหาร บันทึกการประชุม เอกสารภายในกองทัพ คนที่ยอมแพ้และพวกหนีทหาร ตัวเลขปี 2021 มีทหาร 400,000 นาย จำนวนจริงเหลือไม่ถึงครึ่ง อ้างจาก Ye Myo Hein, opcit., : 3.

5Ibid., : 4.

6Dominic Faulder, “Myanmar military’s might fails to crash decades-old resistance” Nikkei Asia, 28 March 2023, : 1.

7Jason Tower, “The Limits of Beijing’s Support for Myanmar’s Military”, US Institute of Peace, March 28, 2023., : 4.