การตั้งนายกฯ และรัฐบาล ถ้าไม่ผ่าน… ส.ว.จะมีคนมาขอแข่ง การปะทะของอำนาจเก่ากับประชาชนเกิดขึ้นโดยตรงแล้ว

มุกดา สุวรรณชาติ

การตั้งนายกฯ และรัฐบาล ถ้าไม่ผ่าน… ส.ว.จะมีคนมาขอแข่ง การปะทะของอำนาจเก่ากับประชาชนเกิดขึ้นโดยตรงแล้ว

 

 

จนถึงวันนี้ไม่มีใครกล้ารับรองว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลได้ 100% และถ้าวิเคราะห์ตามการเมืองที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ ส.ว.แต่งตั้งมีสิทธิ์เข้าร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี โอกาสที่พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะจัดตั้งรัฐบาล ยากกว่าการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยของกลุ่มรัฐบาลเก่า

ความไม่แน่นอนแบบนี้ได้ส่งผลกระทบให้กับการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่ผลกระทบที่มากกว่าก็คือ ถ้าก้าวไกลไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี การเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจ คงไม่ได้เป็นไปตามที่ผู้ลงคะแนนเสียงคาดหวังไว้

หลังการรัฐประหาร 2549 กลุ่มอำนาจเก่าต้องการขยายขอบเขตเสรีภาพของตนเองให้กว้างกว่า ต้องการความเสมอภาคที่เหนือกว่า ต้องการความยุติธรรมที่ได้เปรียบ คนกลุ่มนี้จึงต้องโฆษณาว่า พวกเขาดีกว่า ซื่อสัตย์กว่า เป็นสายเลือดผู้ดี ที่ไม่มีวันทำชั่ว เหมาะจะเป็นผู้ปกครองตลอดไป จากนั้นก็ใช้อำนาจจากปืนและกฎหมายมาเสริมเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป

ส่วนพลังฝ่ายก้าวหน้าพัฒนาตามการเปลี่ยนแปลงของโลก ผ่านพรรคการเมืองจากไทยรักไทยมาสู่เพื่อไทย และก็เพิ่มอนาคตใหม่ สุดท้ายก็เป็นก้าวไกล ในขณะที่การสื่อสารพัฒนาเร็วมาก แต่พลังฝ่ายล้าหลังก็ยังมุ่งที่จะรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของตนโดยไม่สนใจผลกระทบต่อส่วนรวม แม้จะยุบพรรคการเมืองได้

แต่ประชาชนก้าวหน้าไม่หยุดขยายตัวไปเรื่อยๆ จาก 10 ล้านในปี 2544 มาปรากฏชัดผ่านการเลือกตั้งปี 2566 ว่ามีกว่า 26 ล้าน

 

กลุ่มอำนาจเก่า
ตัดสินใจผิดพลาดหลายครั้ง
และอาจจะทำอีก

อํานาจเก่ายิ่งแก้ ความขัดแย้งยิ่งขยาย จากบางคนไปสู่บางกลุ่ม และสุดท้ายขยายไปทั่วประเทศ

ความผิดพลาดขั้นที่ 1ของกลุ่มอำนาจเก่า คือแยกมิตรแยกศัตรูไม่เป็น ไปกำหนดให้ทักษิณ ชินวัตร เป็นศัตรูที่ต้องกำจัด เมื่อทักษิณเสนอนโยบายที่ตอบสนอง คนส่วนใหญ่ได้ดีกว่า กลับมองว่าเป็นอันตราย

ความผิดพลาดขั้นที่ 2 คือใช้แนวทางทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจด้วยอาวุธในเดือนกันยายน 2549 แต่ผลที่ออกมา ประชาชนก็ไม่ยอมรับ จึงต้องรีบเลือกตั้งใหม่ ซึ่งก็แพ้เหมือนเดิม

ความผิดพลาดขั้นที่ 3 คือการใช้อำนาจตุลาการภิวัฒน์ในปลายปี 2551 เพื่อโค่นรัฐบาลและยุบพรรคพลังประชาชน ทำให้ความยุติธรรมเปลี่ยนไปตามสี ตามฝ่าย ความเคารพเชื่อถือก็หายไป

ความผิดพลาดขั้นที่ 4 คือการปราบประชาชนด้วยอาวุธ ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ทำให้พวกเสื้อแดงโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งความคิดและกำลัง แต่สิ่งที่ติดมาด้วยคือความคับแค้นและความเกลียดชังกัน

ความผิดพลาดขั้นที่ 5 ก็คือการใช้ม็อบ กปปส.เข้ามาสร้างกระแสโค่นล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากนั้นก็ใช้อำนาจตุลาการภิวัฒน์และการรัฐประหารในปี 2557 และปกครองต่อ

ความผิดพลาดขั้นที่ 6 ก็คือการพยายามสืบทอดอำนาจด้วยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 และมีบทเฉพาะการให้ ส.ว.แต่งตั้งมาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีซึ่งมีผลที่เกิดการบิดเบือนในการเลือกตั้ง 2562 และในการเลือกตั้ง 2566 ซึ่งผู้ชนะเลือกตั้งอาจไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ที่ต้องระวังขณะนี้ คือกลุ่มอำนาจเก่า ไม่พอใจและกลัวเสียอำนาจการปกครอง จึงอาจฝืนมติเสียงเลือกตั้ง 70% โดยหาจังหวะแทรกเกมตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย แล้วไปคอยกวาดซื้อ ส.ส.เอาข้างหน้า

 

เกมตั้งนายกฯ
และรัฐบาล กับแรงกดดัน

ต้องสังเกตข้อตกลงร่วมของเพื่อไทยและก้าวไกลก่อนโหวตประธานสภา

ข้อตกลงร่วมข้อที่ 3 ในแถลงการณ์ร่วม… “เรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพระหว่าง 8 พรรคในการจัดตั้งรัฐบาล เสนอและสนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี อย่างสุดความสามารถ โดยดำเนินการตามข้อตกลง MOU ที่ได้แถลงร่วมกันเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566”

ข้อตกลงร่วมข้อที่ 4… “พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยยืนยันร่วมกันให้ความเห็นชอบกฎหมายสำคัญเพื่อประชาชน ซึ่งรวมถึงการนิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมือง และการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ร่างพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามที่พรรคก้าวไกลเสนอ”

คาดได้ว่าข้อตกลงร่วมคงทำให้กลุ่มอำนาจเก่า และ ส.ว.ไม่พอใจ ดังนั้น เกมการเมืองจะเริ่มเป็นขั้นตอน…

การสนับสนุนอย่างสุดความสามารถ ต่อนายพิธา แคนดิเดตนายกฯ ก้าวไกล คือ…จะถูกเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งนายกฯ ในรัฐสภาทันที แต่ครั้งแรกอาจจะหาคะแนนเสียงสนับสนุนได้เกินครึ่งหรือ 376 เสียงไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะต้องมีการเสนอครั้งที่ 2 ซึ่งก็คาดว่าถึงได้คะแนนเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังไม่ถึง 376 เสียงอยู่ดี (แต่ถ้าผ่านขั้นตอนนี้ไปได้ก็ยังจะมีคดีที่ถูกยกไปร้องไว้กับศาลรัฐธรรมนูญมาเป็นตัวขัดขวาง)

ถ้าเกิดความล้มเหลวในขั้นนี้ อำนาจเก่าก็จะบอกว่าก้าวไกลหาคะแนนสนับสนุนไม่ได้เอง แต่ในความเป็นจริง เป็นเพราะการกำหนดให้ ส.ว.มาเลือกนายก ดังนั้น แรงกดดันจากประชาชนจะพุ่งไปที่ ส.ว.

ก้าวไกลอาจจะต้องตัดสินใจแก้ปัญหาการเมือง ด้วยการดึงพรรคการเมืองอื่นมาเสริมเพื่อให้มีคะแนนสนับสนุนถึง 376 เสียง จะกล้าทำหรือไม่? จะสำเร็จหรือไม่?

 

เกมตั้งนายกฯ รอบสอง
ระวัง! จะมีคนมาขอแข่ง

ถ้าก้าวไกลไม่สามารถผ่านด่าน 376 ถึง 2 ครั้งก็จะต้องส่งไม้ต่อให้กับพรรคเพื่อไทย ซึ่งคนที่รับไม้ก็จะเป็น เศรษฐา ทวีสิน ถ้าเป็นไปตามข้อตกลงทั้ง 8 พรรคฝ่ายประชาธิปไตยก็ยังคงรักษาคำมั่นกันไว้ ดังนั้น ก็จะมี 312 เสียง

คิดว่าเพื่อไทยไม่เสี่ยง ถึงตอนนั้นต้องเช็กเสียงแล้วว่าได้จาก ส.ว.มาเพิ่ม มากน้อยเท่าไร ถ้าไม่ถึง 376 ก็จำเป็นจะต้องดึงพรรคการเมืองอื่นเข้ามาถ้ากรณีที่ขาดเสียงไม่มาก พรรคแรกที่จะถูกนำเข้ามาเพิ่มก็คือพรรคชาติไทยพัฒนา และถ้ายังขาดอีกก็จะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ แต่ถ้าไปดึงพลังประชารัฐ ก็จะถูกรถทัวร์วิ่งชนพรรค

เพื่อไทยอาจจะชิงดึงแนวร่วมตั้งแต่ครั้งแรก แต่การหาพรรคมาร่วมยังไม่แน่ว่าจะทำได้

ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่สามารถตั้ง เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ จะเป็นการเปิดโอกาสให้พรรคร่วมรัฐบาลเก่า เสนอนายกฯ โดยมี ส.ว.เข้าร่วมสนับสนุนจนมีคะแนนเกิน 400 แม้ในวันตั้งนายกฯ จะคล้ายกับเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย แต่พวกเขาเตรียมการหา ส.ส.ให้ย้ายข้างมาสนับสนุนให้มี ส.ส.เกิน 260 เสียง ในโอกาสต่อไป ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดๆ ก็ตาม ซึ่ง ส.ส.ย้ายข้างเหล่านั้น ก็จะมีข้ออ้างว่าตั้งรัฐบาลไม่ได้ ประเทศหยุดชะงัก พวกเขาจำเป็นต้องสนับสนุนพรรคที่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้

สถานการณ์แบบนี้ มีโอกาสเกิดขึ้น ยังประมาทไม่ได้ และคงมีการเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาชน เพื่อประท้วงเกิดขึ้น เพราะผู้เลือกตั้งเห็นว่าอำนาจอธิปไตยจากประชาชน ถูกทำเหยียบย่ำ เจตนารมณ์ของผู้เลือกตั้งถูกทำลาย

วิธีต่อต้านกับอำนาจเก่าที่ดีที่สุดขณะนี้ก็คือ 2 พรรคใหญ่ต้องจับมือกันอย่างเหนียวแน่นไม่ว่าสถานการณ์ใด ดูแล ส.ส.ของแต่ละพรรคให้ดี มีการแบ่งสรรอำนาจและการงานอย่างเหมาะสม

ถ้าพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย เดินเกมการเมืองได้ดี ประชาชนก็ไม่ต้องเดือดร้อนลงมาประท้วงบนถนน