ว่าด้วยนโยบายต่างประเทศ ที่มี ‘กระดูกสันหลัง’ และ ‘พลิ้วไหว’ | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกลที่เป็นแกนนำการจัดตั้งรัฐบาล เขียนขึ้นทวิตเตอร์เรียกร้องให้มีการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับชาวพม่าที่อยู่ฝั่งตรงข้ามชายแดนไทย

ถือเป็นการประกาศจุดยืน “เชิงรุก” ของการทูตไทยในยุคใหม่ที่จะต้องปรับคลื่นการสื่อสารและความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารเพื่อนบ้านทางตะวันตกครั้งสำคัญ

นายพลโซ วิน รองผู้บัญชาการทหารของพม่า ออกมาบอกว่า แกนนำของพรรคก้าวไกลมีความโอนเอียงไปทางตะวันตก รัฐบาลทหารพม่าต้องจับตาดูชายแดนอย่างระมัดระวังมากขึ้น สะท้อนว่ารัฐบาลทหารพม่ามีความระแวงสงสัยรัฐบาลใหม่ของไทยแน่นอน

ทิศทางของนโยบายต่างประเทศไทยต่อพม่าเป็นอย่างไร ผมตั้งวงกับนักวิชาการ, นักการทูต และนักธุรกิจที่กิจกรรมโยงใยกับสถานการณ์ในพม่าพอสมควร

ระดมความคิดเห็นเพื่อช่วยกันออกแบบนโยบายไทยต่อเพื่อนบ้านเราให้สอดคล้องกับหลักการและภาคปฏิบัติให้ตอบโจทย์ผลประโยชน์ของไทยอย่างแท้จริงและยั่งยืน

ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช บอกว่า รัฐบาลทหารพม่าไม่ต้องการให้ประเทศอื่นมาก้าวก่ายเรื่องภายในของเขา ไม่ต้องการให้ใครข้างนอกมากดดันเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงจากสถานภาพปัจจุบัน

“ทหารพม่าหวาดระแวงสหรัฐ หวาดระแวงตะวันตก นายพลโซ วิน มองว่าคุณพิธาโน้มเอียงไปทางตะวันตก และอาจจะสนับสนุนรัฐบาล NUG ของฝ่ายต่อต้านที่กองทัพพม่าเห็นว่าเป็นพวกก่อการร้าย…”

ดร.ดุลยภาคเน้นว่า “จงกวาดสายตาไปที่ชายแดนไทย เพราะที่นั่นมีฐานกองกำลังของกลุ่ม PDF (People’s Defence Force) ที่ต่อต้านรัฐบาลทหาร”

ดังนั้น ชายแดนทางตะวันตกของไทยที่ติดกับพม่าก็จะยังไม่สงบ

“ดังนั้น หากเราจะมีนโยบายที่โจมตีรัฐบาลทหารพม่า เราก็ต้องเตรียมตรึงกำลังทางชายแดนตะวันตกของเราเช่นกัน” ดร.ดุลยภาคเสนอ

 

พิธาพูดทำนองว่าหากเขามาบริหารประเทศ การทูตแบบ bamboo diplomacy (การทูตต้นไผ่แบบลู่ตามลม) ก็จะกลายเป็นอดีตไป

จะเน้นไปที่ “การทูตแบบมีกระดูกสันหลัง”

ทูตพิศาล มาณวพัฒน์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำวอชิงตัน และบรัสเซลส์ บอกว่า

“ผมคิดว่าเราต้องมีทั้งสองอย่าง คือมีกระดูกสันหลัง มีหลักการ มีความกล้าหาญ และเราต้องมีการทูตที่อ่อนไหว ยืดหยุ่นได้ ไม่ใช่แข็งกร้าว”

(ตอนหนึ่งของการสนทนา ดร.ดุลยภาคใช้คำว่า “การทูตพลิ้วไหว”)

ทูตพิศาลยกตัวอย่างที่ “น่าเสียดาย” ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พลาดโอกาสที่จะแสดงบทบาททางการทูตของไทยที่ควรจะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยอย่างยิ่ง

“นั่นคือกระทรวงการต่างประเทศหรือท่านรัฐมนตรี (ต่างประเทศ) ไม่ได้ให้ข้อเสนอแนะที่ถูกต้องให้ท่านนายกฯ ตัดสินพร้อมกับเหตุผลในตอนที่ผู้นำทหารพม่าจะประหารชีวิตคนที่ต่อต้านรัฐบาลข้อหากบฏ-ก่อการร้ายเมื่อเดือนกรกฎาคมที่แล้ว ทั้งหมด 4 คน

“คนทั้งโลกขอให้ไว้ชีวิต นายกฯ ฮุนเซนของกัมพูชาซึ่งขณะนั้นเป็นประธานอาเซียนมีบทบาทชัดเจน ขอวิงวอนขอชีวิต

“สำหรับผมแล้ว นั่นคือโอกาสสำหรับประเทศไทยที่จะแสดงกับชาวโลก ที่เราบอกว่าเรามีความใกล้ชิดจริง เราสามารถพิสูจน์ข้อนี้ได้ด้วยการมีจดหมายไปขอชีวิต โดยบอกว่าเราเป็นชาวพุทธด้วยกัน นายทหารของพม่าได้แสดงถึงความมีธรรมะธัมโมมาตลอด

“ถ้าตอนนั้นเราไปขอชีวิตทั้ง 4 คนนี้ จะเป็นประโยชน์มหาศาลกับรัฐบาลทหารเอง เพราะฉะนั้น ถ้าเราทำจดหมายนั้นไปถึงผู้นำทหารพม่า เราก็สามารถรีบออกข่าวเลย เราก็จะได้เครดิตจากคนทั้งโลก

“ถ้าเขาไม่ทำตามที่เราร้องขอ หนึ่ง เราได้เครดิต สองเป็นการพิสูจน์ว่าที่ทหารไทยคิดว่าทหารพม่ามีความเคารพนับถือยำเกรงในตัวผู้นำทหารไทยนั้น ไม่น่าจะเป็นความจริงแล้ว…”

หากผู้นำทหารพม่ายอมทำตามที่ไทยเสนอ ไทยก็ได้คะแนนไปเต็มๆ

“สำหรับผม นั่นคือการพลาดโอกาสอันสำคัญ เพราะในกรณีนั้นเรามีแต่ได้กับได้

“การที่เรานั่งเงียบนั้นก็เท่ากับว่าการทูตของเราต่อพม่าไม่ได้ผล ที่เราอ้างนักหนาว่าเราจะต้องใช้วิธีเงียบๆ จึงจะมีประสิทธิภาพ ก็ไม่จริง

“แต่ถ้าเราได้ร้องขออย่างเป็นทางการ เราก็จะได้เสียงชื่นชม ได้ดอกไม้ และได้ใจจากฝ่ายต่อต้านในพม่าด้วย ได้ใจกับทหารพม่า และได้ใจคนพม่าเองด้วย…”

ทูตพิศาลเสริมว่า

“สำหรับผม นี่เป็นครั้งแรกที่กัมพูชามีบทบาททางการทูตที่เด่นกว่าเรา

“ในเนื้อหาที่เราอ้างว่าเรามีความเชี่ยวชาญ เรามีความใกล้ชิด น่าเสียดายครับ”

ทูตพิศาลเสนอว่าถ้าคุณพิธาได้เป็นนายกฯ “ใช้ทหารให้เป็นประโยชน์” เพราะนโยบายที่จะใช้อาเซียนในการพยายามจะทำให้เกิดสันติภาพและการปรองดองในเมียนมา

“ในเมื่อทหารไทยมีความใกล้ชิดกับทหารพม่า ไทยต้องเล่นทั้งสองทาง ต้องปกป้องชายแดนของเรา ขณะเดียวกันเราก็มีใจให้เขา…เราต้องสามารถทำได้ทั้งสองอย่างพร้อมๆ กัน”

 

ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร เลขาธิการหอการค้าไทยในจีน เห็นว่าการทูตไทยต้องมาในรูป “ผสมผสาน”

“ทิศทางและแนวโน้มของการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจโลกนั้นมีแนวโน้มที่มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้น…”

ผู้บริหารพรรคก้าวไกลต้องเข้าใจว่า “การทูตลู่ลม” ก็ไม่ได้หมายถึงความอ่อนแอ

“การมีกระดูกสันหลังและการลู่ลมนั้นสะท้อนความยืดหยุ่นโดยเฉพาะในเวทีที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น…”

เพราะหากไทยเราเจอพายุใหญ่ ก็อาจจะล้มครืนได้เพราะเราไม่ลู่ลม

“เราจะไม่เคยเห็นต้นไผ่ถอนรากไม่ว่าพายุจะแรงอย่างไร…เพราะมันมีการผ่อนแรง มีความยืดหยุ่น” ดร.ไพจิตรบอก

และเสริมว่า ไทยไม่จำเป็นต้องยืนแข็งแกร่งอยู่ประเทศเดียว เพราะเราสามารถจับมือกับอาเซียนในบางเรื่อง

“คือคำอธิบายว่าทำไมไผ่ทั้งกอมันจึงแข็งแกร่ง…”

แม้แต่จีนเอง ดร.ไพจิตรบอกว่า ในบางจังหวะ บางช่วง ก็ใช้แนวทางลู่ลมเหมือนกัน

ย้อนไป 10-20 ปีก่อน จีนก็ไม่แข็งกร้าวแบบนี้ หากทางตะวันตกพูดอะไรมา หากเขาเห็นว่าไม่ใช่สาระที่เขาพร้อม เขาก็รับรู้และเรียนรู้ ตอบรับอย่างมีมารยาททางการทูต

“แต่เมื่อเขามีความพร้อมมากขึ้น เขาเริ่มยึดหลักจริยธรรมและคุณธรรม เขาก็ตอบโต้เพื่อบอกโลกภายนอกว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ไม่ถูกต้อง…มิติตรงนี้มีทั้งศาสตร์และศิลป์ที่รัฐบาลใหม่ต้องเอามาใช้ทางการทูตต่างประเทศ…”

 

คนไทยบางคนกลัวว่าถ้าพิธาถูกมองว่าอยู่ข้างอเมริกามาก จนทำให้สหรัฐมาตั้งฐานทัพในไทย จะก่อให้เกิดสงครามระหว่างสองยักษ์ในประเทศไทยในทำนอง “ชักศึกเข้าบ้าน”

ความกังวลนี้มีความเป็นไปได้เพียงใด?

ทูตพิศาลตอบว่า “ผมคิดว่าเราผ่านยุคนั้นมาแล้ว ผมเชื่อว่ากระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลไทยมีความฉลาดพอที่จะดูแลความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนได้อย่างนิ่มนวล…ผมเชื่ออย่างนี้ ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล…”

ไทยเราเรียนรู้จากบทเรียนช่วงสงครามเวียดนามและสงครามเย็นเพียงพอหรือไม่?

“ผมมั่นใจในกระทรวงการต่างประเทศ เรามีประสบการณ์ ผมเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกลหรือใครเข้ามาเป็นรัฐบาล เขาก็ย่อมต้องมีเหตุมีผลที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง”

เวทีวันนั้นจึงย้ำเน้นถึงการที่รัฐบาลใหม่สร้างอำนาจต่อรองกับมหาอำนาจด้วยการทูตที่มีทั้ง “กระดูกสันหลัง” และ “ความยืดหยุ่น” ในอันที่จะปกปักรักษาผลประโยชน์ของประเทศ

ในภาวะที่โลกกำลังเข้าสู่ช่วงตอนที่ต้องเผชิญกับความผันผวนปั่นป่วนในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเช่นกัน