‘ตัว (แสดง) แทน’ กับ ‘ตัวจริง’ | ปราปต์ บุนปาน

อดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งเคยแสดงทรรศนะเอาไว้อย่างน่าสนใจ (แม้ผลงานและพฤติกรรมระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศจะไม่น่าประทับใจและเป็นรอยบาปสำคัญในทางการเมืองไทย) ว่า พรรคก้าวไกลได้พัฒนากลายเป็นสถาบันทางการเมืองอย่างเต็มตัว ภายหลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ และแกนนำพรรคยุคบุกเบิกถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง

อาจอธิบายต่อได้ว่า ความเป็นสถาบันทางการเมืองของพรรคก้าวไกลปรากฏออกมาชัดเจน เมื่อพรรคไม่ได้เป็นสมบัติส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

หากคนหน้าใหม่ๆ กลุ่มใหม่ๆ ก็สามารถขึ้นมาร่วมนำ-ร่วมขับเคลื่อนพรรคการเมืองนี้ได้ ด้วยจุดยืนการต่อสู้แบบเดิม แม้จะมีความถนัดเชี่ยวชาญ บุคลิก รสนิยม ภูมิหลัง ที่แตกต่างจากบรรดาผู้นำกลุ่มแรกก็ตาม

ดังที่ใครๆ ก็พอมองออกว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” นั้นไม่ใช่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” “ชัยธวัช ตุลาธน” ก็ไม่ใช่ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” และ “ศิริกัญญา ตันสกุล” ก็ไม่เหมือน “พรรณิการ์ วานิช”

ส่วน “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” “รังสิมันต์ โรม” “เบญจา แสงจันทร์” “ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์” “ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” “เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร” “จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์” “พริษฐ์ วัชรสินธุ” “รักชนก ศรีนอก” “พนิดา มงคลสวัสดิ์” และ “พุธิตา ชัยอนันต์” เป็นต้น

ก็มีลักษณะเด่น มีตัวตน ที่ไม่เหมือนกับกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ซึ่งถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองไป และไม่เหมือนกับนักการเมืองรุ่นเก๋าๆ จำนวนมากจากพรรคการเมืองอื่นด้วย

จึงอาจกล่าวได้ว่าพรรคก้าวไกลคือแหล่งรวมของปัจเจกชนที่กระตือรือร้นทางการเมือง และมุ่งเปลี่ยนสังคมด้วยพลังงาน-ความคาดหวัง-ความใฝ่ฝันแบบใหม่ๆ

 

หลังปี 2549 เป็นต้นมา อัปลักษณะหนึ่งของการเมืองไทย ก็คือ ความเป็นการเมืองของ “ตัว (แสดง) แทน”

เรามีผู้นำทางการเมือง มีนายกรัฐมนตรี ทั้งจากการเลือกตั้ง รัฐประหาร และประชาธิปไตยจำแลงรูปแบบต่างๆ หลากหลายคน

แต่พวกเราก็สัมผัสและรู้สึกได้โดยกระจ่างแจ้งว่า พวกเขาไม่ได้เป็นตัวของตัวเองเท่าที่ควร ทว่า มีบุคคลอื่นๆ (ทั้งรายคนหรือหมู่คณะ) ซึ่งไม่สามารถจะออกมาแสดงบทบาทการเมืองหน้าฉากได้ คอยชักใยอยู่เบื้องหลัง

พูดอีกแบบคือทั้งรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยและรัฐบาลเผด็จการ ต่างเลือกใช้บริการ “ผู้นำหุ่นเชิด” ไม่ต่างกัน

แนวโน้มความเอนเอียงที่จะเชื่อถือข่าวลือ-ข่าวซุบซิบเรื่อง “ดีลลับ” ต่างๆ นานา ของผู้คนในสังคมไทยร่วมสมัย จึงวางรากฐานอยู่บนสภาพความเป็นจริงทางการเมืองเช่นนี้

 

อย่างไรก็ดี ดังที่ได้กล่าวไว้ในช่วงต้นบทความว่า พลพรรคก้าวไกลคล้ายจะทำงานการเมืองด้วยวิถีทางอันแตกต่างออกไป

พวกเขาคือเหล่าปัจเจกบุคคลที่มิได้เป็น “หุ่นเชิด” หรือ “ตัว (แสดง) แทน” ของผู้มีอำนาจคนไหน-กลุ่มไหน แต่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง และมีความเป็น “ตัวจริง”

“ตัวจริง” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการเก่งจริง มีฝีมือจริงเท่านั้น (ในฐานะฝ่ายค้าน ก้าวไกลพิสูจน์ไปแล้วว่าพวกเขามีศักยภาพจริงๆ แต่ในฐานะรัฐบาล พวกเขายังคงรอคอยบทพิสูจน์อยู่)

หากยังหมายถึงการเป็นคนธรรมดาที่มีเลือดเนื้อจริงๆ ทำถูกบ้าง ทำผิดบ้าง มีวุฒิภาวะบ้าง ดูเป็นเด็กดื้อบ้าง มีพลังล้นเหลือในหลายเรื่อง แต่ก็อาจอ่อนด้อยประสบการณ์ในบางเรื่อง เช่นเดียวกับสามัญชนคนเดินดินทั่วไป ที่ไม่ได้วิเศษวิโสมาจากไหน

จุดเด่นข้อนี้แหละส่งผลให้สถานะ “ผู้แทนราษฎร” ของนักการเมืองจากก้าวไกลมีความหนักแน่นยิ่งขึ้น ทั้งยังยึดโยงกับผู้คนจำนวนมากในประเทศอย่างแน่นเหนียว

แม้ว่าความหนักแน่น-แน่นเหนียวนั้น อาจถูกใครบางคนสบประมาทว่ายังมิใช่ “เสียงส่วนใหญ่”

แม้ว่าถึงที่สุดแล้ว ปัจเจกชนกลุ่มนี้อาจถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงอำนาจรัฐ ทั้งๆ ที่ชนะเลือกตั้งมาก็ตาม

แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า นี่เป็นสถานภาพ เป็นคุณลักษณะ ที่ไม่เคยมีสถาบันทางการเมือง พรรคการเมือง และนักการเมืองคนใดได้ครอบครองมาก่อน ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีหลัง •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน