‘มุมกลับ’ โซลาร์เซลล์

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

เวลานี้มีข้อถกเถียงกันว่า พลังงานหมุนเวียนเมื่อนำมาทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลให้ประโยชน์คุ้มค่ากับโลกมากแค่ไหน

หลายประเทศในโลกตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เอาพลังงานหมุนเวียนมาทดแทนให้ได้ 70% ในอีก 27 ปีข้างหน้า เพื่อลดการปล่อยก๊าซพิษบรรเทาภาวะโลกร้อน

ความจริงมีอยู่ว่า โซลาร์เซลล์เป็นพลังงานสะอาด ไม่มีมลพิษปนเปื้อน เป็นการแปลงแสงอาทิตย์มาเป็นพลังงานไฟฟ้า เป็นพลังงานหมุนเวียนที่ไม่มีวันหมดอายุตราบใดที่พระอาทิตย์ยังส่องแสง

แต่เกิดข้อถกเถียงกันว่าขยะที่มาจากวัสดุที่นำมาผลิตชิ้นส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์เมื่อหมดอายุการใช้งานจะนำไปรีไซเคิลหรือกำจัดอย่างไร

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านแผงโซลาร์เซลล์เชื่อว่าในอีกไม่นานผู้คนจะหันมาติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์กันขนานใหญ่ เพราะราคาค่าไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลแพงมากขึ้น อีกทั้งคนส่วนใหญ่เชื่อกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าโซลาร์เซลล์เป็นหนึ่งในทางออกของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลก เนื่องจากกระบวนผลิตพลังงานไฟฟ้าผ่านโซลาร์เซลล์ไม่เกิดเขม่าควันพิษทำลายคุณภาพอากาศ สุขภาพของผู้คน

นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่า ภายในปี 2593 ถ้าผู้คนในโลกใบนี้อยู่ภายใต้สังคมปลอดคาร์บอน จะช่วยให้สุขภาพของผู้คนและคุณภาพอากาศของโลกดีขึ้นอย่างมาก อาจจะประมวลเป็นมูลค่าถึง 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

คาดกันว่าในไม่ช้าไม่นานทั้งโลกจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่ให้กระแสไฟฟ้ารวมๆ แล้วไม่น้อยกว่า 1 เทราวัตต์ (terawatt) แม้เป็นยุคก้าวกระโดดของโซลาร์เซลล์ แต่ยังมีปริมาณไม่มากเท่าไหร่หากเทียบเคียงกับการใช้ไฟฟ้าของสหรัฐทั้งประเทศที่มีอยู่ประมาณ 17.7 เทราวัตต์

แผงโซลาร์เซลล์ทั่วไปให้กำลังไฟราว 400 วัตต์ ถ้าติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ 1 เทราวัตต์ เท่ากับต้องใช้แผงทั้งสิ้น 2,500 ล้านแผง

ลองนึกภาพดูว่า เมื่อชาวโลกติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์กันมากมายแล้วนับเวลาออกไปอีก 25-30 ปี แผงโซลาร์เซลล์หมดอายุการใช้งานจะกำจัดหรือรีไซเคิลแผงพลังงานแสงอาทิตย์ได้สักเท่าไหร่

แผงโซลาร์เซลล์ชนิดธรรมดา มีส่วนประกอบทำด้วยแก้ว 65-75% กรอบทำด้วยอะลูมิเนียม 10-15% พลาสติก 10% ซิลิกอน 3-5% อินเดียม (indium) เทลเลอเรียม (tellurium) เงิน และทองแดงผสมอยู่ด้วย

การขุดเหมืองเพื่อหาแร่ธาตุมาทำวัตถุดิบแผงโซลาร์เซลล์ต้องใช้พลังงานมากและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีการศึกษาพบว่าคาร์บอนฟุตพริ้นต์ในการผลิตแผงโซลาร์เซลล์มีมากถึง 18 เท่า แต่การใช้ก๊าซธรรมชาติปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นต์มีแค่ 13 เท่าของโซลาร์เซลล์

ณ เวลานี้ มีเพียงโรงงานของกลุ่มไวโอเลีย (Violia group) ในฝรั่งเศสเท่านั้นที่สามารถจะนำแผงโซลาร์เซลล์ไปรีไซเคิลกลับมาใช้งานใหม่ได้เต็มประสิทธิภาพ แต่ความสามารถในการรีไซเคิลยังไม่มากพอปีละแค่ 4 พันตัน เฉพาะฝรั่งเศสแห่งเดียวก็ล้นมือ

ที่อังกฤษ ปัจจุบันมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ใหม่เดือนละ 13,000 แผง ส่วนใหญ่ติดบนหลังคาบ้าน ส่วนแผงโซลาร์เซลล์เก่าที่ติดไปแล้วคาดว่าจะหมดอายุในอีก 7 ปีข้างหน้ามีราว 4 ล้านตัน และถ้ารวมแผงโซลาร์เซลล์หมดอายุทั่วโลกในปี 2593 จะมีทั้งหมด 200 ล้านตัน

ปัญหาที่ตามมาจะรีไซเคิลกองขยะแผงพลังงานแสงอาทิตย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและไม่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร?

 

ในยุโรปกำลังคิดหาทางออกให้กับปัญหาขยะแผงโซลาร์เซลล์ นอกจากคิดในเรื่องของการรีไซเคิลดึงเอาวัสดุมีค่าอย่างเงินและทองแดงออกมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง ยังคิดพัฒนาวัสดุที่ใช้ทำแผงพลังงานแสงอาทิตย์ให้มีคุณภาพดีขึ้นนำมารีไซเคิลได้ง่ายกว่าเดิมและมีราคาถูก

หลายประเทศสนับสนุนให้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาลานจอดรถยนต์ อย่างเช่น ลานจอดรถยนต์ของโรงงานผลิตรถยนต์ของอังกฤษติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มากถึง 2,000 แผง ให้กำลังไฟฟ้ามากถึง 1 เมกะวัตต์ เอาไฟนี้ไปป้อนบ้านเรือนได้หลายร้อยหลังคาเรือน

ที่ฝรั่งเศส สภาสูงเห็นชอบกฎหมายสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น และอนุมัติให้ที่จอดรถยนต์มากกว่า 80 คันขึ้นไปจะต้องติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์

แนวโน้มในอนาคตพื้นที่โล่งกว้างอย่างโรงพยาบาล ศูนย์การค้า สนามฟุตบอล จะได้รับการออกแบบให้เอาแผงโซลาร์เซลล์ไปติดตั้งง่ายสะดวกขึ้น ทั้งให้กำลังไฟฟ้าและเป็นที่ชาร์จไฟของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

ในอีกมุมหนึ่ง มีการมองกันว่าแผงพลังงานแสงอาทิตย์เมื่อนำไปติดตั้งในพื้นที่ขนาดใหญ่โล่งจนกลายเป็นฟาร์มแสงอาทิตย์หรือโซลาร์ฟาร์มนั้นจะเป็นปัญหากระทบกับสิ่งแวดล้อม

แผงโซลาร์เซลล์ดำๆ มีกรอบอะลูมิเนียมหนาๆ เมื่อเอามาเรียงเป็นแถวยาวกว้างใหญ่จะทำให้พื้นที่สีเขียวสูญหายไป มีผลต่อภูมิทัศน์ เกิดมลพิษทางสายตา (visual pollution)

เคยมีกรณีนี้เกิดขึ้นแล้วเมื่อกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในอังกฤษคัดค้านการติดตั้งโซลาร์ฟาร์มในพื้นที่อนุรักษ์ของเฮสติ้ง คันทรี่ พาร์ค ปรากฏว่าสภาท้องถิ่นต้องยกเลิกโครงการ เพราะเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าพื้นที่อนุรักษ์มีความสำคัญกว่า

ช่วงที่มีการเลือกตั้งนายกฯ อังกฤษหยิบยกประเด็นโซลาร์ฟาร์มมาถกเถียงกัน ทั้งคุณลิซ ทรัสส์ อดีตนายกฯ และคุณริชี ซูแน็ก นายกฯ คนปัจจุบันต่างไม่เห็นด้วยที่เอาแผงโซลาร์เซลล์ไปเรียงบนผืนไร่นา เพราะเชื่อว่าผืนดินเกษตรกรรมนั้นให้คุณค่ามากกว่า

สื่อไปสัมภาษณ์กลุ่มวัยรุ่นอังกฤษในประเด็นเดียวกันได้คำตอบว่า โซลาร์ฟาร์มไม่ใช่เป็นทางเลือกอันดับแรกๆ และไม่ควรเอาพลังงานสีเขียวไปแลกกับพื้นที่สีเขียวที่เป็นธรรมชาติ

 

ส่วนที่บ้านเรา หลายพรรคการเมืองมีนโยบาย “โซลาร์เซลล์” อย่างเช่น พรรคก้าวไกล ตั้งเป้าจะติดตั้งล้านหลังคา ล้านโซลาร์เซลล์ ไฟฟ้าที่ผลิตเกินจะเอามาขายคืนให้กับรัฐบาล และยังมีนโยบายติดตั้งโซลาร์เซลล์กับโรงเรียน โรงพยาบาล

แต่การเมืองวันนี้ยังอยู่ในภาวะอึมครึม ไม่รู้ว่าสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ทั้ง 750 คนจะเลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกลเป็นนายกฯ หรือเปล่า เพราะดูเหมือนมีเสียงต้าน “พิธา” มากกว่าเสียง “หนุน” ทั้งๆ ที่ประชาชนมีฉันทามติเลือกพรรคก้าวไกลมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ

แต่ผมก็ยังเชียร์ “พิธา” เป็นนายกฯ อยู่วันยังค่ำ และถ้าพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลได้เมื่อไหร่ ก็ขอฝากนำประเด็นมุมกลับของ “โซลาร์เซลล์” ไปคิดเป็นการบ้านเพื่อเตรียมรับมือกับพลังงานหมุนเวียนในอนาคต •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]