ในยุค ChatGPT เราจะสมัครงานกี่ครั้งก็ได้

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech | จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

ในยุค ChatGPT

เราจะสมัครงานกี่ครั้งก็ได้

 

“ลูกได้ใช้ ChatGPT ช่วยทำงานบ้างหรือเปล่า” นี่เป็นคำถามที่คุณพ่อถามฉันตอนที่ฉันกลับไปเยี่ยมบ้านที่ต่างจังหวัดครั้งล่าสุด

ก่อนที่ฉันจะได้ตอบอะไรกลับไป คุณพ่อก็รีบชิงอวดว่า “พ่อชอบ ChatGPT จัง มันมีประโยชน์มากเลยนะ ทุกวันนี้ใช้ช่วยเขียนอีเมลภาษาอังกฤษ ไม่ต้องเสียเวลาแต่งประโยคเองอีกแล้ว สะดวกมาก”

ความใช้งานง่ายของ ChatGPT ทำให้มันกลายเป็นเครื่องมือช่วยอำนวยความสะดวกที่เข้าถึงคนได้หลากหลายกลุ่ม การเขียนอีเมลอาจจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับบางคน แต่มันก็เป็นเรื่องยากสำหรับอีกหลายๆ คนที่ไม่รู้ว่าจะต้องเรียงร้อยถ้อยคำออกมาอย่างไรให้สละสลวย แต่ในขณะเดียวกันก็จะต้องสื่อสารได้แบบกระชับไม่ตกหล่น

ยิ่งถ้าต้องเขียนในภาษาที่เราไม่ถนัดก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่

 

อีกหนึ่งอย่างที่ ChatGPT ช่วยเขียนได้ดีและกลายเป็นเครื่องมือที่คนพึ่งพามากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ เรซูเม่ที่ใช้ในการสมัครงาน

ผู้ใช้งาน TikTok คนหนึ่งชื่อ Leah Graham ทำคลิปสั้นๆ หลายคลิปเพื่อแชร์ประสบการณ์ว่าตัวเธอเองใช้ ChatGPT มาช่วยเขียนเรซูเม่ และได้รับการติดต่อกลับจาก “ทุกบริษัท” ที่เธอยื่นใบสมัครงานไป

บางตำแหน่งที่เธอได้รับการติดต่อกลับเป็นตำแหน่งเดียวกับที่เคยสมัครก่อนหน้านี้และถูกปฏิเสธมาแล้วหลายครั้ง

Leah บอกว่า ก่อนหน้านี้เธอร่อนใบสมัครเป็นกระบุงโกย สมัครไปแล้ว 300 กว่าตำแหน่ง ภายในเวลา 3 เดือน แต่ได้รับการติดต่อกลับมาแค่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

แต่พอเธอลองยื่นใบสมัครที่ ChatGPT ช่วยเขียนบ้าง อัตราการประสบความสำเร็จกลับพุ่งสูงถึง 100 เปอร์เซ็นต์!

เธอจึงตัดสินใจทำคลิปวิดีโอสอนวิธีการใช้ ChatGPT ช่วยเขียนเรซูเม่ เผื่อว่าใครที่กำลังเตะฝุ่นอยู่ในตอนนี้จะได้รับอานิสงส์จากเครื่องมือทางเทคโนโลยีอันแสนชาญฉลาดนี้บ้าง

 

คําสั่งที่เธอใช้ (เรียกว่าพร็อมพท์) ก็คือการพิมพ์บอก ChatGPT ว่า “ฉันกำลังเรียบเรียงเรซูเม่ของตัวเองใหม่ ฉันเคยทำงานตำแหน่ง (ใส่ชื่อตำแหน่ง) ที่ (ใส่ชื่อบริษัท แวดวง หรือเมืองที่ทำงาน) เป็นเวลานาน (ใส่ระยะเวลา) ฉันจะป้อนข้อมูลประสบการณ์การทำงานที่ได้รับจากตำแหน่งนี้ให้ ได้โปรดช่วยถามคำถามฉันกลับมากี่ข้อก็ได้เพื่อช่วยให้ฉันเรียบเรียงเรซูเม่ของฉันใหม่ให้ดู (ใส่ทักษะที่อยากจะนำเสนอ) และให้มีความเป็นมืออาชีพที่สุด”

จากนั้น ChatGPT ก็จะตอบกลับมาด้วยรายการคำถามมากมาย อย่างเช่น “คุณทำงานเป็นทีมหรือทำงานคนเดียว” และ “งานที่ทำต้องติดต่อลูกค้าด้วยหรือเปล่า”

เมื่อตอบคำถามหมดแล้ว ChatGPT ก็จะเริ่มไล่รายการออกมาเป็นข้อๆ โดยแบ่งออกเป็นหมวดหมู่อย่างเป็นระบบระเบียบ เช่น ความเป็นผู้นำ ความสำเร็จที่ผ่านมา ประวัติการศึกษา และทักษะที่มี

พิมพ์ตอบไป-กลับให้ข้อมูลเพิ่มเติมกันอีกสักหน่อยก็ออกมาเป็นเรซูเม่ให้เธอสามารถคัดลอกไปวางไว้ในโปรแกรมสวยๆ และเธอก็ยังให้ ChatGPT ช่วยเขียนจดหมายนำ หรือ cover letter ให้ด้วย

แค่นี้ก็พร้อมส่งให้แผนกทรัพยากรบุคคลของแต่ละบริษัทโดยดูมีความเป็นมืออาชีพในแบบที่เธอต้องการ

 

คลิปวิดีโอของเธอได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลามด้วยยอดชมหลายล้านครั้งและคอมเมนต์อีกมากมาย นับเป็นคลิปที่ช่วยชี้ทางสว่างให้คนที่กำลังหางานได้ไอเดียว่าจะใช้ ChatGPT มาช่วยปรับเรซูเม่ของตัวเองให้ดูดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง

Leah บอกว่า คนที่ทำงานในตำแหน่งที่เป็นซีเนียร์อยู่แล้วอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ ChatGPT ช่วย แต่นี่เป็นเครื่องมือที่เหมาะมากสำหรับคนอย่างเธอที่ผ่านการทำงานมาในหลายวงการและต้องการทำให้ความสามารถของตัวเองเด่นชัดขึ้นมา เหมาะสมสำหรับแต่ละตำแหน่งงานที่ต้องการสมัคร

ย้อนคิดถึงประสบการณ์การเขียนเรซูเม่เพื่อสมัครงานของตัวฉันเองก็จำได้ว่าเป็นกระบวนการที่กินเวลาเยอะมาก ยิ่งถ้ายื่นหลายๆ ตำแหน่ง หลายๆ บริษัทพร้อมกันก็ควรปรับแต่งให้เรซูเม่เหมาะสมกับแต่ละตำแหน่งที่ยื่นไป

หรือจดหมายนำที่เหมือนจะเขียนง่ายแต่จริงๆ ไม่ง่ายเลย เพราะจะต้องกระชับฉับไวดึงดูดความสนใจให้ได้ แค่จดหมายนำอย่างเดียวก็อาจจะกินเวลาไปหลายชั่วโมงแล้ว

อย่างไรก็ตาม ก็มีการตั้งคำถามเหมือนกันว่าการใช้ ChatGPT ช่วยเขียนเรซูเม่ให้ถือเป็นการโกง คล้ายๆ กับการโกงข้อสอบหรือเปล่า เหมือนหรือต่างแค่ไหนกับการใช้ ChatGPT ช่วยเขียนเรียงความไปส่งอาจารย์

ก่อนที่ ChatGPT จะมาถึง เราก็มีตัวช่วยในการเขียนเรซูเม่กันอยู่แล้วจริงไหมคะ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ซอฟต์แวร์หรือตัวช่วยง่ายๆ อย่างการเสิร์ชหาตัวอย่างเรซูเม่ที่ใกล้เคียงแล้วมาปรับให้เข้ากับตัวเอง

ChatGPT ก็คล้ายๆ กันแต่มันสามารถสั่งงานได้ง่ายกว่า เร็วกว่า เรียบเรียงได้ดีกว่า ช่วยเราจัดระเบียบทางความคิดและให้ไอเดียที่เราอาจจะนึกไม่ถึง

 

อีกคำถามที่น่าสนใจก็คือ ถ้าเราใช้ ChatGPT เหมือนกันหมด เรซูเม่และใบสมัครงานของทุกคนจะออกมาในรูปแบบเดียวกันจนไม่มีใครโดดเด่นอีกต่อไปหรือเปล่า

เราอาจจะไม่มีคำตอบที่ฟันธงได้เป๊ะๆ แต่ฉันเชื่อว่า ChatGPT มีศักยภาพในการช่วยให้เราเขียนเรซูเม่ได้ดีขึ้นจริงๆ ทั้งนี้ ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เราต้องรู้ว่าจะใช้คำสั่งอย่างไรจึงจะเหมาะสมที่สุด ต้องให้ข้อมูลอะไรเพื่อให้เรซูเม่ออกมาสะท้อนความเป็นจริงมากที่สุด และที่สำคัญก็คือ เราจะต้องนำเรซูเม่ที่ ChatGPT ร่างไว้ให้มาปรับแต่งใหม่ด้วย ไม่ใช่ให้มาอย่างไรก็ส่งไปอย่างนั้น

ฝ่ายบุคคลที่เป็นผู้คัดกรองใบสมัครก็คงต้องปรับตัวด้วยเหมือนกัน ต้องเตรียมรับใบสมัครที่ ChatGPT ช่วยเขียนและหาวิธีว่าทำอย่างไรจึงจะดึงคนที่โดดเด่นอย่างแท้จริงออกมาได้

ท่ามกลางเรซูเม่ที่ผู้สมัครทุกคนดูเป็นมืออาชีพไปหมด