ศิลปินผู้เปิดโอกาส ให้ผู้ชมมีปฏิสัมพันธ์กับศิลปะ อย่างแนบชิดสนิทเนื้อ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ศิลปินผู้เปิดโอกาส ให้ผู้ชมมีปฏิสัมพันธ์กับศิลปะ อย่างแนบชิดสนิทเนื้อ

 

ในตอนนี้เราขอเล่าเรื่องราวของศิลปินผู้มีชื่อเสียงระดับโลกอีกคนที่กำลังจะมาแสดงงานในเมืองไทยในช่วงปลายปีนี้

ศิลปินผู้นี้มีชื่อว่า เออร์เนสโต เนโต (Ernesto Neto) ศิลปินร่วมสมัยชาวบราซิล ผู้เป็นที่รู้จักจากการใช้วัสดุโปร่งแสงที่ยืดหดได้, เม็ดโฟม และเครื่องเทศกลิ่นหอม เพื่อสร้างงานศิลปะจัดวางนุ่มนิ่ม รูปทรงคล้ายสิ่งมีชีวิต ที่ถูกสร้างเป็นสภาพแวดล้อมในพื้นที่แสดงงาน ถึงแม้จะถูกมองว่าเป็นศิลปินมินิมอลลิสต์

แต่ผลงานของเขาก็แตกต่างจากศิลปินมินิมอลลิสต์คนอื่นๆ ทั้งการเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้สัมผัส จับต้อง และมีส่วนร่วมกับผลงานอย่างใกล้ชิด หรือการเล่นกับประสาทสัมผัสต่างๆ ของผู้ชมอย่างการมองเห็น การสัมผัส หรือแม้แต่การได้กลิ่น

เออร์เนสโต เนโต เกิดในเมืองรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล หนึ่งในเมืองที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ที่ความเป็นธรรมชาติและการพัฒนาของเมืองหลอมรวมตัวเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน ความเป็นสองขั้วระหว่างธรรมชาติและป่าคอนกรีตปะปนกันอย่างสับสนปนเป หากแต่ก็เปี่ยมเสน่ห์เฉพาะตัว

เช่นเดียวกับผลงานศิลปะของ เออร์เนสโต เนโต ที่เป็นส่วนผสมของสภาพแวดล้อมอันไม่จีรังยั่งยืนที่ได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ อันถักทอขึ้นด้วยน้ำมือมนุษย์ ประกอบขึ้นเป็นผลงานศิลปะจัดวาง ที่ไม่เพียงสร้างความตื่นตะลึงทางสายตา

หากแต่สร้างประสบการณ์ในการมีส่วนร่วมให้ผู้ชมอย่างเต็มที่ ทั้งการสัมผัส, ได้กลิ่น หรือแม้แต่เอาตัวเองเข้าไปอยู่ภายในตัวงานได้

เออร์เนสโต เนโต, ภาพจาก https://shorturl.at/adipP
Celula Nave (2004), ภาพจาก https://shorturl.at/hyXY7

เออร์เนสโต เนโต ได้แรงบันดาลใจอย่างมากจากศิลปินคอนเซ็ปชวลคนสำคัญของบราซิลในยุค 1950-1960 อย่าง ลิเชีย คลาร์ก (Lygia Clark), เอลิโอ โอทิซิกา (Helio Oiticica) และ ซิลโด เมเรลิส (Cildo Meireles) รวมถึงศิลปะมินิมอลลิสม์ และศิลปะอาร์เต้ โพเวรา (Arte Povera)

ผลงานประติมากรรมสภาพแวดล้อมของเขาส่วนใหญ่ เป็นงานศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ที่ทำขึ้นจากตาข่ายและรังไหมถักไหมพรม ที่เย็บติดกับผ้ายืดไนลอน ภายในมักบรรจุวัตถุแปลกๆ

เช่น เครื่องเทศกลิ่นหอมอย่าง ขมิ้น, ยี่หร่า ไปจนถึงลูกกวาด, ทราย, เปลือกหอย และเม็ดโฟมจิ๋วหลากสีสัน ยัดไส้อยู่ในถุงตาข่าย จนเกิดเป็นประติมากรรมห้อยย้อยลงมาเหมือนหยาดน้ำค้างจากเพดาน

บางครั้งเขาก็สร้างผลงานประติมากรรมขนาดความสูงเท่ามนุษย์ ที่ดูคล้ายผลงานของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์

เขามักทำงานกับวัสดุโปร่งใสที่มีพื้นผิวแปลกตา สร้างเป็นประติมากรรมรูปร่างแปลกประกลาดพิสดาร ดูไม่ออกว่าเป็นข้างในหรือข้างนอก

บางครั้งดูคล้ายกับผลของต้นไม้ประหลาด หรือที่อยู่อาศัยและภาชนะใส่อะไรสักอย่าง

ผลงานของเขามักเปิดโอกาสให้ผู้ชมเข้าไปอยู่ภายใน ไม่ต่างอะไรกับงานสถาปัตยกรรม แต่ก็ไม่เหมือนกับสถาปัตยกรรมทั่วๆ ไป หากแต่เป็นพื้นที่ภายนอกและภายในที่มีพื้นผิวยั่วเย้าให้สัมผัสจับต้อง

และให้ความรู้สึกคล้ายกับประสบการณ์ที่เราได้รับจากธรรมชาติ หรือผลงานประติมากรรมนุ่มนิ่มที่ผู้ชมเอาร่างสวมสอดเข้าไปข้างในได้

Leviathan Thot (2006), ภาพจาก https://shorturl.at/hyXY7
The Suspended Bicho na PaisaGem (2011), ภาพจาก https://shorturl.at/oJK06

ดังเช่นผลงานชิ้นแรกที่เนโตทำขึ้นในปี 1997 อย่าง Nave (1997) (“เรือ” ในภาษาโปรตุเกส) ที่เติมเต็มพื้นที่แสดงงานที่ดูเหมือนถ้ำด้วยการแขวนผืนผ้าไนลอนโปร่งแสง ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมจับต้องสัมผัสได้

หรือผลงานในปี 2006 อย่าง Léviathan Thot (2006) ประติมากรรมจัดวางเฉพาะพื้นที่ที่ติดตั้งในมหาวิหารแพนธีออน ในปารีส เขาติดตั้งกระสอบผ้าไนลอนบรรจุเม็ดโฟมห้อยจากเพดานความสูง 60 เมตร จนดูคล้ายกับอนุสาวรีย์น้ำค้างหยดย้อยจำนวนมาก ล้อไปกับสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิคภายในวิหารด้วยผลงานศิลปะรูปทรงคล้ายสิ่งมีชีวิตของเขา

ผลงานชิ้นนี้ทำให้เขาได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวินจากกระทรวงวัฒนธรรมฝรั่งเศส

หรือผลงาน Bicho SusPenso na PaisaGen (2012) งานศิลปะจัดวางที่ติดตั้งในสถานีรถไฟ Leopoldina ในเมืองรีโอเดจาเนโร เนโตสร้างงานประติมากรรมจัดวางที่มีโครงสร้างแขวนลอยเหนือศีรษะผู้ชม ทำขึ้นจากตาข่ายไหมพรมถักหลากสีสัน ขนาดกว้างใหญ่จนผู้ชมต้องใช้เวลาสักพักถึงจะเดินดูได้ทั่ว

ตัวประติมากรรมยังมีทางเข้าสองทางให้ผู้ชมเข้าไปเพื่อเดินสำรวจภายใน บนทางเดินโปร่งแสงนุ่มนิ่มเด้งดึ๋ง ที่ลอยอยู่เหนือพื้น ราวกับกำลังเข้าไปเดินเล่นในบ้านพิศวงในสวนสนุกยังไงยังงั้น

หลังจากเข้าไปผจญภัยในประติมากรรมนุ่มนิ่มแล้ว ผู้ชมยังสามารถหยิบฉวยของที่ระลึกอย่างลูกกวาดในถุงกระสอบไหมพรมที่ห้อยอยู่ข้างใต้ทางเดินได้ตามใจชอบ

เนโตมักเรียกขานผลงานเหล่านี้ของเขาว่า Bicho ที่หมายถึง “สิ่งมีชีวิต” หรือ “สัตว์ป่า” ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานประติมากรรมของ ลิเชีย คลาร์ก ที่ให้ความรู้สึกผันผวน คาดเดาไม่ได้ อันเป็นคุณลักษณะของสัตว์ป่านั่นเอง

Madness is part of life (2012), ภาพจาก https://shorturl.at/oJK06
Gaiamothertree (2018), ภาพจาก https://shorturl.at/oJK06

แรกเริ่มเดิมที เนโตหัดถักไหมพรมกับยายและป้าทวดของเขา นับแต่นั้นมา เขาไม่เพียงถักไหมพรมเพื่อความสวยงามเท่านั้น หากแต่ใช้ถ่ายทอดความรู้สึกภายในอีกด้วย เขาใช้เส้นไหมพรมอันบอบบาง เชื่อมต่อ ถักทอ สร้างพื้นที่ทางกายภาพขนาดใหญ่ที่สามารถขยายและยืดหดได้ ราวกับแมงมุมชักใย

แต่ใยของเขาไม่ได้ทำหน้าที่ดักจับเพื่อทำร้ายหมายชีวิต หรือล่อลวงให้ผู้ชมมาติดกับ

หากแต่ทำหน้าที่โอบอุ้มให้ผู้ชมสัมผัสกับประสบการณ์อันแปลกใหม่ ผลงานของเขาไม่เพียงทำให้ผู้ชมค้นพบความรู้สึกที่เราเคยหลงลืมไปจากการเป็นผู้ใหญ่ หรือการใช้ชีวิตอันวุ่นวายยุ่งเหยิงในเมือง

หากแต่ยังชักชวนให้ผู้ชมชะลอตัวเอง และก้าวเดินอย่างนุ่มนวล เพื่อรู้สึกถึงความไม่มั่นคงอันละเอียดอ่อนภายในตาข่าย และปล่อยกายใจให้สนุกสนาน และสัมผัสกับประสบการณ์ที่ทำให้รับรู้ถึงร่ายกายตัวเองที่ตอบสนองกับพื้นที่อันแปลกใหม่ไม่คุ้นเคย ผ่านการปีนป่าย, ทรงตัว และหาทางเดินบนโครงสร้างตาข่ายอันซับซ้อนแต่นุ่มนิ่มนี้

เนโตมักไม่ใส่ความหมายในเชิงวิชาการหรือประเด็นทางสังคมการเมืองในผลงานของเขา หากแต่จงใจเปิดพื้นที่ให้ผู้ชมมีปฏิสัมพันธ์กับผลงานอย่างตรงไปตรงมา

เนโตมักกล่าวว่า ผลงานของเขามีชีวิตเป็นของตัวเอง พวกมันเปลี่ยนแปลง ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมหรือผู้เยี่ยมเยือน

ด้วยเหตุนี้ ผลงานของเขาจึงไม่ใช่แค่ประติมากรรมนุ่มนิ่ม หรือสนามเด็กเล่นอันสนุกสนานสำหรับผู้คนแทบทุกเพศทุกวัยเท่านั้น หากแต่เป็นตัวแทนของประสบการณ์ของมนุษย์เราในช่วงเวลาหนึ่ง เหมือนความคิดที่เรามีต่อภูมิทัศน์, สภาพแวดล้อม, บทเพลง, สุ้มเสียงต่างๆ แรงกระตุ้น, ความรู้สึก และความลึกลับที่เรารับรู้ผ่านสัมผัสของเรา

เออร์เนสโต เนโต กล่าวถึงผลงานของเขาว่า “งานของผมคือการห่อหุ้มอากาศ เพื่อทำให้อากาศเป็นรูปธรรมขึ้นมา”

SunForceOceanLife (2020), ภาพจาก https://shorturl.at/oJK06
earthtreelifelove (2022), ภาพจาก https://shorturl.at/adipP

เออร์เนสโต เนโต ใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในเมืองรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ผลงานของเขาถูกจัดแสดงในหอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ หรือแม้แต่พื้นที่สาธารณะในหลากหลายเมืองทั่วโลก

อย่างเช่น พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก (MoMA) พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์ ในฮูสตัน, หอศิลป์ Tate ในลอนดอน, พิพิธภัณฑ์โซโลมอน อาร์. กุกเกนไฮม์ นิวยอร์ก, พิพิธภัณฑ์ศิลปะคาร์เนกี ในพิตส์เบิร์ก, พิพิธภัณฑ์ Boijmans van Beuningen ในร็อตเตอร์ดัม, Centre Pompidou ในปารีส, พิพิธภัณฑ์ Hara ในโตเกียว, Contemporary Art Center of Inhotim ในบราซิล, พิพิธภัณฑ์ Hirshhorn และสวนประติมากรรมในวอชิงตัน ดี.ซี., พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Milwaukee, พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยในลอสแองเจลิส

เขายังเข้าร่วมในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ถึงสองครั้ง ในปี 2001 และ 2003 ล่าสุด เขาเป็นหนึ่งในศิลปินที่ได้รับเชิญให้มาร่วมแสดงผลงานในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย ครั้งที่ 3 อีกด้วย

ตัวผมมีโอกาสได้พบปะกับศิลปินผู้นี้ในงานแถลงข่าวของมหกรรมศิลปะไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย และได้สัมผัสกับบุคลิกภาพอันสนุกสนาน ร่าเริง แจ่มใส เปิดเผย เต็มไปด้วยอิสระทางความคิด และกระหายในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

ทำให้ผมไม่แปลกใจเลยว่าเหตุใดผลงานของเขาจึงเป็นอย่างที่เป็นอยู่เช่นนี้

มิตรรักแฟนศิลปะท่านใดสนใจสัมผัสกับผลงานของเขา ก็สามารถมาเยี่ยมชมกันได้ใน มหกรรมศิลปะไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2023 ถึง 30 เมษายน 2024 ที่จังหวัดเชียงราย •

ข้อมูล https://shorturl.at/xBIJ2, https://shorturl.at/lnXZ8, https://shorturl.at/adipP

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์