Façade ใหม่นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ : ความไม่จำเป็นที่ขาดไม่ได้ ในพื้นที่การเมืองของความทรงจำคณะราษฎร

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

Façade ใหม่นิทรรศน์รัตนโกสินทร์

: ความไม่จำเป็นที่ขาดไม่ได้

ในพื้นที่การเมืองของความทรงจำคณะราษฎร

 

โครงการปรับปรุงอาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ริมถนนราชดำเนินกลาง ใกล้จะเสร็จเรียบร้อยพร้อมเปิดใช้งานในอีกไม่นาน พร้อมกับการปรากฏขึ้นของสิ่งที่คิดว่าเป็นเพียงข่าวลือมาโดยตลอด

แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นเรื่องจริง นั่นก็คือ การปรับ Façade (เปลือกหน้าอาคาร) อาคารที่เป็นงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่แบบ Art Deco ยุคคณะราษฎร มาสู่รูปแบบที่อยากขอเรียกว่า “นีโอคลาสสิคประยุกต์”

เหตุผลที่ทำให้คิดมาตลอดว่าน่าจะเป็นข่าวลือ (แม้จะสองจิตสองใจว่ามีความเป็นไปได้อยู่บ้าง) เพราะการปรับ Façade ในทิศทางนี้ แทบจะหาคำอธิบายไม่ได้เลยว่าทำไปด้วยเหตุผลอะไร และจะก่อให้เกิดผลดีทางสถาปัตยกรรม ผังเมือง ประวัติศาสตร์ การอนุรักษ์ แม้กระทั่งมิติทางเศรษฐกิจอะไรได้

แนวคิดนี้เคยถูกเผยแพร่อย่างเป็นทางการเมื่อราวเดือนมกราคม พ.ศ.2563 โดยมีการอธิบายว่าตัวโครงการมีเป้าหมายในการปรับ Façade ใหม่ในทุกอาคารสองข้างถนน โดยอาคารนำร่องจะมี 2 อาคาร คือ นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ และอาคารเทเวศประกันภัย

อย่างไรก็ตาม เพียงไม่นาน ภาพและข้อมูลของโครงการดังกล่าวก็ถูกลบออกไป และทำให้หลายคน (รวมทั้งผม) เชื่อว่าน่าจะเป็นเพียงแนวคิดเบื้องต้นที่อาจจะไม่ได้นำมาสู่การปฏิบัติจริง

ตามข่าวที่ปรากฏในหน้าสื่อ ณ ขณะนั้น การปรับ Façade ให้มีกลิ่นอายสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิค เกิดขึ้นภายใต้โครงการปรับปรุงถนนราชดำเนินให้มีความสวยงาม ทรงคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ขนบธรรมเนียมของประเทศไทย

โดยรูปแบบดังกล่าวเป็นการสะท้อนงานสถาปัตยกรรมในยุคสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสง่างามและเป็นที่จดจำของผู้มาเยือน

Façade ใหม่อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ในรูปแบบ “นีโอคลาสสิคประยุกต์”

จากรายละเอียดข้างต้น หลายคนอาจคิดว่าการปรับ Façade ครั้งนี้ คือการย้อนกลับไปรื้อฟื้นหรืออนุรักษ์รูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิม (นีโอคลาสสิค) ที่เคยมีในพื้นที่ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้จริง ก็ดูจะเป็นเหตุผลที่ยอมรับได้

แต่ในความเป็นจริง บนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ แม้ถนนราชดำเนินจะตัดขึ้นโดยพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 แต่ในส่วนพื้นที่ถนนราชดำเนินกลางเกือบตลอดสาย กลับไม่เคยปรากฏว่าได้มีการสร้างอาคารรูปแบบสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิคขึ้นแต่อย่างใด แม้กระทั่งในรัชกาลต่อมาเรื่อยมาจนถึงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ถนนราชดำเนินกลางก็ไม่มีอาคารนีโอคลาสสิค

ดังนั้น การปรับ fa?ade นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ให้เป็น “นีโอคลาสสิคประยุกต์” จึงไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ เลยกับประเด็นเรื่องการอนุรักษ์ ไม่ใช่การย้อนกลับไปหารูปแบบดั้งเดิมทางสถาปัตยกรรมในพื้นที่แต่อย่างใด เพราะรูปแบบดั้งเดิมแท้จริงในพื้นที่นี้คือ สถาปัตยกรรม Art Deco ในยุคคณะราษฎรต่างหาก

ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มอาคารสองข้างถนนราชดำเนินกลาง หากนับจนถึงปัจจุบันก็มีอายุมากกว่า 80 ปีแล้ว ซึ่งถือว่ายาวนานพอสมควร และหากพิจารณาในมิติความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ตึกกลุ่มนี้ก็เข้าไปมีส่วนอย่างสำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ประชาธิปไตย ซึ่งกลุ่มอาคารบนถนนราชดำเนินกลางคือสัญลักษณ์ที่สำคัญที่สุดของประวัติศาสตร์ช่วงนี้

ซึ่งในวิธีคิดแบบสากล กลุ่มอาคารทั้งหมดบนถนนราชดำเนินกลางควรอย่างยิ่งที่จะต้องถูกขึ้นทะเบียนและรักษาสภาพดั้งเดิมเอาไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ดังนั้น การปรับ Façade นิทรรศน์รัตนโกสินทร์จึงเป็นการทำลายประวัติศาสตร์มากกว่าที่จะเป็นการอนุรักษ์

Façade ใหม่ด้านหลังอาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ในรูปแบบ “นีโอคลาสสิคประยุกต์” ที่มาภาพ : เพจ PAPSThammasat

หลายคนอาจมองการปรับปรุงนี้บนฐานคิดเรื่อง adaptive reuse ที่มีความประนีประนอมกันมากขึ้นระหว่างการอนุรักษ์แบบดั้งเดิม กับการปรับใช้อาคารในกิจกรรมสมัยใหม่ที่หลายกรณีอาจจำเป็นต้องรื้อหรือแก้ไขสภาพเดิมของอาคารไปบ้างเพื่อให้การใช้สอยใหม่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

แต่หากพิจารณา Façade ใหม่ก็จะพบว่า การปรับเปลี่ยนมิได้ส่งผลอะไรที่ดีขึ้นเลยต่อการใช้สอยภายใน ไม่ว่าจะเป็นในแง่การปรับเชิงโครงสร้างภายในที่ต้องการสร้างมิติใหม่ในการรับรู้พื้นที่จนต้องแลกมาด้วยการปรับเปลี่ยนหน้าตาอาคาร

หรือเหตุผลเรื่องการเปิดรับแสงสว่าง ที่ทำให้อาคารโบราณหลายแห่งเมื่อถูกเปลี่ยนการใช้งานใหม่ มักต้องปรับหน้าตาอาคารไปเพื่อเปิดรับแสงให้มากขึ้น แต่ Façade ใหม่นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ก็ดูจะมิได้สนใจเรื่องนี้ เพราะรับแสงธรรมชาติได้ในปริมาณที่ไม่ต่างจากเดิม

หรือแม้แต่ประเด็นการปรับเพื่อให้แลดูทันสมัย ซึ่งอาคารโบราณหลายประเทศก็เลือกใช้แนวทางนี้เพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์อาคารให้ตอบสนองโลกปัจจุบัน

แต่กรณีนี้ก็ดูจะไม่เข้าเกณฑ์อีกเช่นกัน เพราะ fa?ade ใหม่มิได้มีเป้าหมายสร้างภาพลักษณ์ทันสมัยในโลกศตวรรษที่ 21 แต่อย่างใด

แต่เป็นการย้อนยุคกลับไปหารูปแบบศตวรรษที่ 19 แทนอย่างไม่จำเป็น

Façade เดิมอาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ รูปแบบ Art Deco สมัยคณะราษฎร ที่มาภาพ : https://travel.mthai.com/blog/65146.html

ลองมองในมิติทางเศรษฐกิจดูบ้าง โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว ถามว่า Façade นีโอคลาสสิคที่ผิดบริบท ผิดข้อเท็จจริงประวัติศาสตร์ และผิดหลักอนุรักษ์เช่นนี้ จะสามารถดึงดูดนักเที่ยวได้สักกี่มากน้อย

หากนักท่องเที่ยวต้องการเยี่ยมชมตึกนีโอคลาสสิคจริง ก็มีตัวอย่างชั้นดีมากมายในสมัยรัชกาลที่ 5 กระจายอยู่หลายแห่งและอยู่ไม่ไกลเลยจากถนนราชดำเนิน นักท่องเที่ยวไม่จำเป็นต้องมาดูของปลอม ที่ต้องขอพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า คุณภาพการก่อสร้างห่างไกลมากจากอาคารนีโอคลาสสิคจริงๆ หลายเท่า

สรุปก็คือ ไม่ว่าจะมองในมิติไหน Façade ใหม่นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ก็ดูจะไร้ซึ่งเหตุผลและความจำเป็นอย่างสิ้นเชิง

 

คําถามที่น่าสนใจคือ แล้วอะไรคือเหตุผลที่ทำให้ต้องเสียงบประมาณมหาศาลในการทำโครงการลักษณะนี้ ซึ่งคำตอบที่เหลืออยู่คงมีเพียงเหตุผลเดียว

ลบความทรงจำคณะราษฎรให้หายไปจากถนนราชดำเนิน

ผมเคยอธิบายหลายครั้งแล้ว นับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ความทรงจำคณะราษฎรได้รับการปลุกให้ฟื้นคืนชีวิตกลับมามีบทบาทในพื้นที่การเมืองเรื่องความทรงจำอีกครั้ง โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่

สิ่งนี้ทำให้ผู้มีอำนาจไม่สบายใจและต้องการที่จะจัดการกับปรากฏการณ์ “การเกิดใหม่ครั้งที่ 2 ของคณะราษฎร” (ดูรายละเอียดประเด็นนี้เพิ่มในหนังสือ “ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร : สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์”)

การรื้ออนุสาวรีย์ปราบกบฏ รื้อหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ (หมุดคณะราษฎร) รื้ออนุสาวรีย์ผู้นำคณะราษฎร เปลี่ยนชื่อสถานที่ราชการที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎร ฯลฯ ในรอบหลายปีที่ผ่านมา คือสิ่งที่ผู้มีอำนาจคิดว่าจะทำให้ลบความทรงจำคณะราษฎรออกไปได้จากสังคมไทย

การเปลี่ยน Façade ใหม่นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ คือความพยายามล่าสุดของแนวคิดนี้

แม้คิดจนปวดหัวก็หาเหตุผลของความจำเป็นในการปรับ Façade ใหม่ไม่เจอ แต่หากคิดภายใต้การต่อสู้ทางอุดมการณ์ในพื้นที่การเมืองเรื่องความทรงจำคณะราษฎร การปรับ Façade ใหม่ก็ดูจะมีคำอธิบาย เพราะโครงการนี้แม้จะไร้ซึ่งความจำเป็นอย่างสิ้นเชิง แต่เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ (สำหรับผู้มีอำนาจ) ภายใต้บริบทการเมืองไทยร่วมสมัย

ไม่น่าเชื่อ หน่วยงานของชาติที่เกี่ยวข้องในเรื่องการอนุรักษ์อาคารและมรดกทางวัฒนธรรมที่มีอยู่มากมายในสังคมไทย กลับไม่สนใจ (และหลายหน่วยงานกลับเห็นชอบด้วยซ้ำ) และปล่อยโครงการปรับ fa?ade ใหม่ในครั้งนี้จนเกิดขึ้นได้

หากไม่หลอกตัวเองมากจนเกินไป ทุกคนย่อมรู้ดีว่า สิ่งนี้เป็นการทำลายมรดกวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่มีคุณค่าอย่างน่าเสียดายโดยไม่จำเป็น แต่ทุกคนและทุกหน่วยงานกลับนิ่งเฉย

เราจะปล่อยให้มาตรฐานในการดูแลรักษามรดกทางวัฒนธรรมของสังคมไทยตกต่ำลงไปเรื่อยๆ เช่นนี้จริงหรือ

ผมอยากมองโลกในแง่ดีว่ายังไม่สายจนเกินไป

 

แม้เราจะสูญเสียอาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ไปแล้ว แต่ยังมีอาคารอีกหลายหลังสองฟากถนนราชดำเนินกลางที่ยังคงสภาพดั้งเดิมอยู่ และกำลังรอเวลา (รวมถึงงบประมาณ) เพื่อดำเนินการปรับ Façade ในลักษณะนี้

ผมอยากเรียกร้องต่อสาธารณะผ่านคอลัมน์นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานทั้งหลายที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อมในการดูแลรักษามรดกของชาติ ได้โปรดหันกลับมายืนหยัดในหลักการที่ถูกต้องอีกครั้ง และช่วยกันส่งเสียงยืนยันว่ากลุ่มอาคารสองฟากถนนราชดำเนินกลาง (รวมถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วย) คือมรดกสถาปัตยกรรมที่เราทุกคนควรช่วยกันรักษาไว้

อย่าปล่อยให้ความขัดแย้งในเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง รุกล้ำข้ามเส้นของหลักการพื้นฐานที่เราทุกคนควรยึดถือไปสู่จุดที่ไม่อาจย้อนกลับคืนได้

อย่าปล่อยให้สังคมไทยเดินไปสู่จุดที่ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความถูกต้องในหลักการพื้นฐานใดๆ ทั้งสิ้น และพร้อมที่จะทำลายมรดกทางวัฒนธรรมที่อยู่ตรงข้ามกับความคิดเราออกไปจนหมด