กำเนิดกรมโฆษณาการ ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมือง (1) | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

กองโฆษณาการถูกจัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลอนุรักษนิยม ภายหลังที่พวกเขาโต้ปฏิวัติ 2475 และลิดรอนอำนาจคณะราษฎรใกล้จะสำเร็จ

 

พลันที่การปฏิวัติ เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 เกิดขึ้น ได้สร้างความตกตะลึงให้กับเหล่าชนชั้นปกครอง เนื่องจากไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใดในประวัติการเมืองไทยที่เป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากเดิมที่เคยให้ความสำคัญกับอำนาจสูงสุดอยู่กับพระมหากษัตริย์ มาสู่การให้ความสำคัญสูงสุดกับรากฐานของสังคม คือ ประชาชน

ดังมาตราที่ 1 ของรัฐธรรมนูญฉบับแรกสุดที่บัญญัติว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

ไม่นานจากนั้นเกิดการต่อรองตอบโต้กลับจนทำให้รัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 (ฉบับคณะราษฎร) กลายเป็นฉบับชั่วคราวอันเป็นต้องร่างใหม่เป็นฉบับ 10 ธันวาคม ตามด้วยการยุบสมาคมคณะราษฎรที่มีสมาชิกพรรคจำนวนหลายหมื่นคนลง

พร้อมการยับยั้ง “สมุดปกเหลือง” อันเป็นสมุดที่มีปกสีเหลือง ภายในเป็นร่าง พ.ร.บ.โครงการเศรษฐกิจที่มุ่งสร้างความเสมอภาคให้สังคมไทยของนายปรีดี พนมยงค์ ด้วยการตอบโต้ผ่าน “สมุดปกขาว” อันเป็นการวิจารณ์สมุดปกเหลือง

ติดตามด้วยการรัฐประหารด้วยพระราชกฤษฎีกา (1 เมษายน 2476) การปิดสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา พร้อมการให้ยุบเลิกคณะรัฐมนตรีชุดเดิม

การเปลี่ยนผู้กุมกำลังทหารออกจากคณะราษฎร รวมทั้งการพยายามควบคุมข้อมูลข่าวสารและความรู้ในสังคมให้เป็นไปในทิศทางที่กลุ่มอนุรักษนิยมต้องการด้วยการตั้งกองโฆษณาการขึ้น

ไพโรจน์ ชัยนาม กำลังปาฐถาการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้พลเมืองใหม่ฟัง

กองโฆษณาการผลงานของรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ

หากพิจารณาบริบทของการก่อตั้งกองโฆษณาการนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางการตอบโต้ขับเคี่ยวกับคณะราษฎร โดยรัฐบาลอนุรักษนิยมของพระยามโนปกรณ์นิธาดา ภายหลังการปิดสภาผู้แทนฯ และงดใช้รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม โดยรัฐบาลพระยามโนฯ แล้วนั้น

ยาสุกิจิ ยาตาเบ (Yasukichi Yatabe) อัครราชทูตญี่ปุ่นประจำไทย (2471-2479) ผู้เห็นการปฏิวัติ 2475 บันทึกว่า

รัฐบาลจัดตั้งกองโฆษณาการขึ้นด้วยอ้างว่า เพื่อจัดระเบียบข่าว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการจำกัดเสรีภาพของการนำเสนอข่าวหนังสือพิมพ์ ควบคุมข่าวสาร และจำกัดการแสดงออกซึ่งความเห็นของประชาชน

รวมทั้งมีการเลื่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนฯ ที่เคยกำหนดให้มีกลางเดือนเมษายน 2476 นั้นเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยอ้างว่าเตรียมการไม่ทัน ทำให้เกิดความสงสัยในหมู่ชนว่า รัฐบาลกำลังเตรียมรื้อฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นมาอีกครั้ง (ยาตาเบ, 2550, 92)

ประมวลเหตุการณ์และภาพการปฏิวัติ 2475 และพระยามโนปกรณ์ฯ นายกรัฐมนตรีคนแรก

การตอบโต้การปฏิวัติ 2475

การรัฐประหารด้วยพระราชกฤษฎีกาเมื่อต้นเดือนเมษายน 2476 ถือเป็นการรัฐประหารเงียบที่เป็นการโต้คณะราษฎรกลับอย่างรวดเร็ว เพื่อมิให้สภาผู้แทนฯ สามารถพิจารณาสมุดปกเหลืองเพื่อปฏิวัติทางเศรษฐกิจให้เกิดความเสมอภาคอันมีผลกระทบอย่างมากต่อการถือครองที่ดินของชนชั้นสูงและเหล่าขุนนางบังเกิดขึ้นได้ พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ (ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2543, 281-314) อันสรุปได้ว่า

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าฯ มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า สภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นเป็นสมาชิกชั่วคราว ไม่เป็นการสมควรที่สภาจะเปลี่ยนแปลงนโยบายสำคัญทางเศรษฐกิจอันเป็น “รากเหง้าแห่งความเป็นความอยู่ของประเทศมาแล้วแต่โบราณกาล” แต่มีสมาชิกสภาเป็นจำนวนมากแสดงความปรารถนาแรงเกล้าเพียรที่จะทำการเปลี่ยนแปลงไปในทางนั้น หากสภาประชุมต่อไป จะนำมาสู่ความไม่มั่นคงต่อประเทศ และทำลายความสุขสมบูรณ์ของอาณาประชาราษฎร

ดังนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎี ให้

1. ให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร

2. ให้ยุบคณะรัฐมนตรีปัจจุบัน และให้มีคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่

3. หากยังไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร และยังไม่ได้ตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ ให้คณะรัฐมนตรีตามพระราชกฤษฎีกานี้เป็นผู้ใช้อำนาจต่างๆ ของคณะรัฐมนตรี

4. หากยังไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร และยังไม่ได้เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่นั้น ให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติตามคำแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรี

5. หากยังไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ยังไม่ได้เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่นั้น และยังไม่ได้ตั้งคณะรัฐมนตรีตามความในรัฐธรรมนูญแล้ว ให้รอการใช้บทบัญญัติต่างๆ ในรัฐธรรมนูญซึ่งขัดกับพระราชกฤษฎีกานี้เสีย ส่วนบทบัญญัติอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญนั้นให้เป็นอันคงใช้อยู่ต่อไป (ราชกิจจานุเบกษา, 1 เมษายน 2476)

พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476

ต่อมา รัฐบาลใช้กำลังทหารล้อมสภาผู้แทนฯ ไว้และสั่งปิดสภา ด้วยผลจากพระราชกฤษฎีกานี้ ทำให้สภาถูกปิด ไม่สามารถพิจารณาสมุดปกเหลืองและตรากฎหมายต่างๆ ได้

อีกทั้งยังมีผลทำให้รัฐบาลมีอำนาจเพิ่มขึ้นมาก ทั้งอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งหมายความรัฐบาลออกกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติแทนสภาได้ เช่น พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ (1 เมษายน 2476) อันเป็นการกล่าวหานายปรีดี ผู้เสนอสมุดปกเหลือง

ทั้งนี้ ยาตาเบ ทูตญี่ปุ่น วิเคราะห์สาเหตุของการรัฐประหาร 1 เมษายน ของพระยามโนปกรณ์ฯ ไว้ว่า

เป็นความพยายามยุติสมุดปกเหลืองของนายปรีดี ด้วยคณะรัฐมนตรีและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ไม่เห็นด้วย แต่นายปรีดีพยายามผลักดันเรื่องเข้าสู่สภาด้วยหวังว่า สภาจะผ่านสมุดปกเหลืองให้เป็นกฎหมายให้ได้ จึงนำไปสู่ความต้องการกำจัดนายปรีดีให้ออกไปจากรัฐบาล

อีกทั้งคนบางกลุ่มต้องการใช้เงินก้อนใหญ่ซื้อนายปรีดีอีกด้วย แต่ยาตาเบประเมินว่า นายปรีดีไม่อาจซื้อได้ด้วยเงิน

ดังนั้น ยาตาเบเห็นว่า การรัฐประหารครั้งนี้ จึงหาใช่เป็นอุบัติเหตุ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างฉับพลันไม่ แต่เป็นการวางแผนที่เตรียมการมานานที่จะกำจัดนายปรีดีและกลุ่มของเขาให้ออกไปจากการเมือง (ยาตาเบ, 2550, 85-88)

โดยลำดับแล้ว ในวันรุ่งขึ้น (2 เมษายน) รัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ ตรากฎหมายในระดับพระราชบัญญัติเองโดยไม่ผ่านสภา ชื่อ “พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช 2476” เพื่อมิให้นายปรีดีเคลื่อนไหวทางการเมือง ด้วยการกล่าวหาว่า นายปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ ติดตามด้วยการยุบสมาคมคณะราษฎร อันเป็นพรรคการเมืองของคณะราษฎร

ติดตามด้วย 12 เมษายน มีการเผยแพร่หนังสือชื่อ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือ “สมุดปกขาว” ส่งผลให้นายปรีดีซึ่งเคยกล่าวว่าตนเองจะประกาศและเผยแพร่เค้าโครงเศรษฐกิจในนามตนเองตามลำพังไม่ได้ พร้อมบีบให้นายปรีดีเดินทางออกนอกประเทศในวันเดียวกัน

นายปรีดีถูกโจมตีอย่างหนักจากสมุดปกขาวว่า สมุดปกเหลืองเป็นคอมมิวนิสต์ ดังข้อความว่า

“ข้าพเจ้าไม่ทราบ สตาลินจะเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ฯ หรือหลวงประดิษฐ์ฯ จะเอาอย่างสตาลินก็ตอบไม่ได้” แต่ทั้งสองโครงการนั้นเหมือนกัน

วิกฤตการณ์ทางการเมืองนี้ ยาตาเบเห็นว่า รัฐบาลอนุรักษนิยมโฆษณาเกินความจริงว่า นายปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ และต้องการคุกคามสวัสดิภาพของประชาชน แต่เขาเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการป้ายสีที่มุ่งประหารชีวิตทางการเมืองของนายปรีดี (ยาตาเบ, 2550, 89)

พระยามโนปกรณ์และกลุ่มอำนาจเก่าไม่เพียงแต่ต้องการขจัดบทบาทของคณะราษฎรสายพลเรือนเท่านั้น แต่มีความพยายามที่จะลดบทบาทและอิทธิพลของคณะราษฎรสายทหารอีกด้วย จนทำให้รัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ ควบคุมทิศทางการเมืองและการทหารได้

ในช่วงเวลานั้น คนไทยและคนต่างชาติจำนวนมากขณะนั้นเห็นว่า ไทยย้อนกลับคืนสู่ระะบอบเดิมก่อนการปฏิวัติ 2475 แล้ว โดยมีคนกลุ่มหนึ่งมีความยินดีปรีดาที่มีการฟื้นฟูระบอบเก่าให้ฟื้นชีวิตขึ้นมาใหม่ (ยาตาเบ, 94)

จากนั้น การก่อตั้งกองโฆษณาการ ให้เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่การควบคุมข่าวสารและหล่อหลอมหล่อมเกลาความคิดของผู้คนเพื่อทำให้ผู้คนกลับไปเชื่อถือศรัทธาตามแบบเดิมที่กลุ่มอนุรักษนิยมต้องการและไม่ต่อต้านการหมุนกลับจึงเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ไพโรจน์ ชัยนาม ข้าราชการของกองโฆษณาการชุดแรกที่ถูกโอนย้ายมาจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนฯ ภายหลังสภาถูกปิดลงแล้วนั้น เขาได้ตั้งคำถามถึงเจตนาที่แท้จริงของรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ ในการตั้งหน่วยที่ทำหน้าที่โฆษณาขึ้นในยามที่คณะราษฎรเพลี่ยงพล้ำ (ไพโรจน์, 2538, 26)

บันทึกของทูตญี่ปุ่น ผู้เห็นเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 ของยาสุกิจิ ยาตาเบ ทูตญี่ปุ่นประจำไทย