อนุรักษนิยม : วิกฤตและบุคลิกวิธีคิด (1) | เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

Thomas Biebricher เป็นศาสตราจารย์ชาวเยอรมันผู้เชี่ยวชาญด้านทฤษฎีการเมือง ประวัติศาสตร์ความคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจ สังกัดมหาวิทยาลัยเกอเธ่ ณ เมืองแฟรงก์เฟิร์ต อัมไมน์

เขามีผลงานกว้างขวางมากหลายเกี่ยวกับลัทธิเสรีนิยมใหม่ เสรีนิยมที่มีการกำกับ (ordoliberalism) อนุรักษนิยมของเยอรมนีและยุโรป รวมทั้งปัญญาชนนักวิชาการชื่อดังอย่างมิเชล ฟูโกต์ และเยอร์เกน ฮาเบอร์มาส เป็นต้น

ล่าสุด อาจารย์บีบริคแฮร์เพิ่งตีพิมพ์หนังสือเรื่อง Mitte/Rechts : Die internationale Krise des Konservatismus (กลาง/ขวา : วิกฤตสากลของอนุรักษนิยม) ออกมาเมื่อเดือนเมษายนศกนี้ ซึ่งสะท้อนและวิเคราะห์วิกฤตปัจจุบันของบรรดาพรรคอนุรักษนิยมสายกลาง (ขวากลาง) ในนานาประเทศยุโรปตะวันตกว่าจะยังคงกุมสถานการณ์การเมืองและครองอำนาจต่อไปได้หรือไม่ ในสภาพที่หลายพรรคกำลังถดถอยเพลี่ยงพล้ำให้แก่พรรคฝ่ายขวาจัด หรือมิฉะนั้นก็สะวิงไปทางอำนาจนิยมยิ่งขึ้นเสียเอง

ไม่ว่าพรรคคริสเตียนเดโมแครตในเยอรมนีและอิตาลี, พรรคชาวสาธารณรัฐ (สมาทานแนวทางการเมืองของอดีตประธานาธิบดีชาร์ล เดอ โกล) ในฝรั่งเศส และพรรคอนุรักษนิยม (ทอรี่) ในสหราชอาณาจักร เป็นต้น

ที่สำคัญเขาเสนอว่าสภาพปัญหาของอนุรักษนิยมนั้นสำคัญยิ่งต่ออนาคตของระบอบเสรีประชาธิปไตยตะวันตกเลยทีเดียว

บรรดาคำถามน่าสนใจในเรื่องนี้ได้แก่ ก็แล้วตัวบีบริคแฮร์เองเข้าใจลัทธิอนุรักษนิยมว่าอย่างไร? มันประกอบไปด้วยกระแสหลักๆ อะไรบ้าง? จะสรุปรวบยอดความคิดเกี่ยวกับวิกฤตของอนุรักษนิยมปัจจุบันว่าอย่างไร? อะไรคือลักษณะพื้นฐานของวิกฤตดังกล่าว?

และกล่าวให้เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น วิกฤตที่ว่าเกี่ยวข้องกับแง่มุมด้านวิธีดำเนินการ (procedural aspects) และแง่มุมด้านแก่นสารสาระ (substantive aspects) ของอนุรักษนิยมรวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างแง่มุมสองด้านนั้นอย่างไร?

โธมัส บีบริคแฮร์ กับหนังสือเล่มล่าสุดของเขา กลาง/ขวา : วิกฤตสากลของอนุรักษนิยม

บุคลิกวิธีคิดอนุรักษนิยม

ก่อนอื่นบีบริคแฮร์ชี้ว่าสำหรับนักประวัติศาสตร์ความคิดแล้ว มันค่อนข้างเป็นปัญหาที่จะกล่าวถึงอนุรักษนิยม (หรือกลุ่มก้อนธรรมเนียมแนวคิดอุดมการณ์ใหญ่อื่นๆ เช่น เสรีนิยม, สังคมนิยม ฯลฯ) ในเชิงนามธรรมอย่างเป็นเอกพจน์ ราวกับว่ามันกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน

เพราะเอาเข้าจริงมันก็ล้วนแต่คลี่คลายขยายตัวตามกาลเวลาที่ล่วงเลยไป

กระนั้นก็ตาม หากอาศัยแนวทางการศึกษาอุดมการณ์การเมืองแบบสัณฐานวิทยา (morphology) ในงานของ Michael Freeden ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดแล้ว (ไมเคิล ฟรีเดน, เสรีนิยม : ความรู้ฉบับพกพา, 2563 ดูภาพประกอบข้างบน) ก็เป็นไปได้ที่จะพูดถึงองค์ประกอบแกนกลางอย่างน้อย 2 ประการของอนุรักษนิยม ได้แก่ ขั้วแก่นสารสาระ (substantive pole) กับขั้ววิธีดำเนินการ (procedural pole)

โดยที่ความคิดอนุรักษนิยมหลากเฉดหลายกระแสก็ล้วนแต่ดำรงอยู่ในระหว่างแถบ 2 ขั้วดังกล่าวและผสมผสาน 2 ขั้วนั้นเข้าด้วยกันในระดับที่แตกต่างกันไป

ในแง่ ขั้วแก่นสารสาระ (substantive pole) ประเด็นค่อนข้างเห็นได้ชัดแจ้งอยู่เองแล้วว่าอนุรักษนิยมต้องการสงวนรักษาหรืออนุรักษ์บางสิ่งบางอย่างไว้ตามนัยแห่งชื่อของมัน

ทว่า นั่นมิได้หมายความว่าจะต้องอนุรักษ์ปกป้องสภาพดังที่เป็นอยู่เดิม (status quo) ทั้งหมดอย่างเบ็ดเสร็จ แม้ว่าบางทีมันจะถูกตีความไปทำนองนั้นก็ตาม

ประเด็นสำคัญจึงจะต้องแยกแยะแจกแจงออกมาว่า สภาพดังที่เป็นอยู่เดิมประเภทไหนชนิดใด? อีกทั้งลักษณะแง่มุมไหนส่วนใดของมันกันแน่ที่อนุรักษนิยมอยากอนุรักษ์ไว้?

ทั้งนี้ก็เพราะพวกอนุรักษนิยมมีทรรศนะอย่างน้อยก็โดยนัยเรื่อง ระเบียบสังคมที่ดี ที่เป็นปกติ ที่เป็นธรรมชาติ ที่เห็นได้ชัดแจ้งอยู่แล้วในตัวและเป็นที่รับเชื่อกันทั่วไป ซึ่งพึงต้องปกป้องไว้

อีกทั้งต้นตอบ่อเกิดของระเบียบดังกล่าวก็เป็นแหล่งโลกุตรภูมิ (transcendental source) หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือมันเป็นโลกุตรธรรมเหนือโลกกายภาพ เช่น สันดานมนุษย์, ระเบียบสวรรค์, เทพเจ้า หรือจิตวิญญาณประวัติศาสตร์ อันเป็นปฐมเหตุที่มาซึ่งดลบันดาลสรรพสิ่งให้เกิดขึ้น วิวัฒน์มาและกำหนดมันให้เป็นอยู่อย่างที่มันเป็น

ฉะนั้น การอวดอุตตริมนุสธรรม พยายามเข้าไปแทรกแซงดัดแปลงมันเสียใหม่ให้บิดเบนเฉไฉไปจากเดิม อย่างที่มันเป็นอยู่-ควรเป็น-จำต้องเป็น จึงย่อมเหลวเปล่าและกระทั่งนำไปสู่ความพินาศฉิบหายได้

จะเห็นได้ว่าขั้วแก่นสารสาระที่แรกเริ่มเดิมทีฟังดูง่ายเหมือนเห็นได้ชัดแจ้งอยู่แล้วในตัวกลับลงเอยเป็นปริศนาอันซับซ้อนซ่อนเงื่อน ค่าที่มันเป็นนามธรรมอย่างยิ่งนั่นเอง จนกลายเป็นว่าในทางปฏิบัติพวกอนุรักษนิยมจะรู้สำนึกว่าอะไรในสังคมที่ตัวพึงต้องอนุรักษ์ไว้ก็ต่อเมื่อสิ่งนั้นถูกท้าทายแล้วนั่นเอง

 

สําหรับองค์ประกอบแกนกลางของอนุรักษนิยมอันที่สองนั้นได้แก่ขั้ววิธีดำเนินการ (procedural pole) ซึ่งเป็นตัวตอบปัญหาที่ว่าหากเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาในสังคม และเหลือวิสัยจะหลีกเลี่ยงมันได้ในท้ายที่สุดแม้จะพยายามปัดเป่าขัดขวางมันอย่างเต็มกำลังแล้วก็ตาม

อะไรจะเป็นฉากทัศน์ในอุดมคติที่การเปลี่ยนแปลงพึงเกิดขึ้นในมุมมองอนุรักษนิยม?

บีบริคแฮร์สรุปคำตอบแบบอนุรักษนิยมให้ว่าได้แก่ ลัทธิค่อยเป็นค่อยไปบนพื้นฐานประสบการณ์ (experience-based incrementalism)

นั่นแปลว่าหากการเปลี่ยนแปลงใดๆ จะเกิดแก่สังคม ข้อสำคัญสำหรับพวกอนุรักษนิยมคือต้องไม่ใช่ด้วยวิธีการปฏิวัติ ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่แบบปั่นป่วนเสียกระบวน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงตามอย่างพิมพ์เขียวที่พวกปัญญาชนนักวิชาการฝันเฟื่องกันขึ้นมาด้วยอุดมการณ์หรือทฤษฎีนามธรรม นั่นจะถือเป็นฉากทัศน์เลวร้ายที่สุดที่เลวได้เลยทีเดียวในสายตาอนุรักษนิยม

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงที่พึงประสงค์จึงต้องเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อยทีละคืบทีละก้าวไปเรื่อยๆ โดยคำนึงถึงภูมิปัญญาของสังคมวัฒนธรรมอันสืบทอดกันมาแต่โบราณกาลและสั่งสมไว้ในธรรมเนียมประเพณีและสถาบันต่างๆ เหมือนการขันสกรูเครื่องจักรเครื่องยนต์อย่างค่อยเป็นค่อยไปไม่หักหาญจนแตกราน

โดยภาพรวมแล้ว จึงอาจกล่าวได้ว่าวิธีดำเนินการของชาวอนุรักษนิยมนั้นอุปมาอุปไมยเสมือนหนึ่งคนทำสวนผู้หวังว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในลักษณะกระบวนการเจริญเติบโตแบบอินทรียภาพของต้นหมากรากไม้

คนทำสวนอาจช่วยเพาะชำเกื้อหนุนบำรุงเลี้ยงพืชพันธุ์ป้องกันแมลงศัตรูพืชบ้าง แต่ไม่ควรหลงคิดว่าตนจะไปกำกับควบคุมการคลี่คลายขยายตัวของสรรพสิ่งในสวนไว้ในมืออย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

หากรู้สำนึกสำเหนียกอ่อนไหวต่อความเปราะบางของสถาบันทางสังคมซึ่งมิอาจดึงดันดัดแปลงได้ตามอำเภอใจอย่างไร้ขอบเขต

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)