กบฏทหารรับจ้าง! ความท้าทายต่อระบอบปูติน

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

กบฏทหารรับจ้าง!

ความท้าทายต่อระบอบปูติน

 

“ความเชื่อมั่นว่าจะไม่มีรัฐประหารในรัสเซีย เป็นเพราะเชื่อว่าจะไม่มีใครกล้าขึ้นมานำอย่างชัดเจน และคนที่ตัดสินใจทำจะต้องมีขีดความสามารถทางทหารอย่างมั่นใจด้วย”

Sam & Lawrence Freedman

24 มิถุนายน 2023

 

หลังจากการตัดสินใจของประธานาธิบดีปูตินในการบุกยูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 แล้ว

จะเห็นได้ว่ากองทัพรัสเซียดูจะประสบปัญหาอย่างมาก และยิ่งนานวันก็ยิ่งเห็นชัดว่าโอกาสที่รัสเซียจะประสบชัยชนะในสงครามยูเครนนั้น ดูจะไม่ง่ายเลย

สงครามยูเครนยังสร้างผลด้านลบกับสังคมรัสเซียในด้านต่างๆ อย่างมาก โดยเฉพาะการถูกกดดันจากมาตรการทางเศรษฐกิจด้วยการแซงก์ชั่น

ภาวะเช่นนี้ทำให้ชีวิตของผู้คนในระดับต่างๆ ย่อมประสบปัญหาตามไปด้วย มิใช่ว่าจะเกิดผลร้ายกับชนชั้นกลางและชนชั้นล่างเท่านั้น

การกดดันที่เกิดขึ้นเป็นผลจากมาตรการของโลกตะวันตกที่ต้องการยุติสงคราม ปัญหาสงครามยังทำให้เกิด “ความปั่นป่วน” ทางการเมืองอย่างมากจากปัญหาภายใน เช่น การต่อต้านสงครามของคนรุ่นใหม่ เป็นต้น

แต่ดูเหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นเช่นนี้ยังไม่กลายเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การสิ้นสุดของ “ระบอบปูติน” แม้จะมีการกล่าวถึงการเปลี่ยนระบอบด้วยการรัฐประหารก็ตาม

 

ระบอบอำนาจนิยมที่ล้มไม่ได้

แรงต่อต้านที่เป็นผลสืบเนื่องจากสงคราม ทำให้เห็นถึงความท้าทายที่เกิดกับระบอบปูติน แต่หลายฝ่ายยังเชื่อว่าประธานาธิบดีปูตินจะยังไม่ถูกโค่นล้มได้โดยง่าย แม้ในหลายครั้งจะมีการกล่าวถึงโอกาสของการเกิดรัฐประหารในรัสเซียก็ตาม…

แน่นอนว่าการก่อรัฐประหารใน “ระบอบปูติน” ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้โดยง่าย (อย่างที่หลายฝ่ายอยากเห็น) เพราะมีข้อมูลในหลายส่วนล้วนยืนยันไม่แตกต่างกันว่าประธานาธิบดีปูตินยังสามารถควบคุมการเมืองรัสเซียได้อย่างค่อนข้างจะสมบูรณ์ และอำนาจของการควบคุมเช่นนี้ทำให้โอกาสที่จะเกิดรัฐประหารในการเมืองรัสเซียในยุคสงครามยูเครน น่าจะเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากความเป็นจริง

อย่างน้อยเราได้เห็นถึงการกวาดล้างฝ่ายค้าน และการจัดการอย่างเข้มงวดกับฝ่ายต่อต้านสงคราม ตลอดรวมถึงการใช้สื่อสร้างกระแสชาตินิยม เพื่อการคงอยู่ของรัฐบาล

ในอีกด้านหนึ่งประธานาธิบดีปูตินเองไม่ต่างจากผู้นำในยุคสหภาพโซเวียต ที่มีกลไกสำคัญทางการเมืองอยู่ในมือ ได้แก่ องค์กรความมั่นคงที่มีอำนาจในการจับกุมบุคคลที่เป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลได้อย่างกว้างขวาง

ในอดีตอาจจะเป็นองค์กร “เคจีบี” (KGB) ซึ่งเป็นองค์กรที่เราคุ้นเคยในยุคสงครามเย็น แต่ปัจจุบันคือ “เอฟเอสบี” (FSB) [อาจจะแปลว่า “สำนักงานความมั่นคงแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย” ซึ่งเป็นผู้สืบทอดของเคจีบี] อันเป็นองค์กรที่ดูแลความมั่นคงภายใน ซึ่งครอบคลุมถึงงานข่าวกรองภายในด้วย

ดังนั้น ความพยายามในการก่อการล้มรัฐบาลจึงอาจถูกติดตามจาก “เอฟเอสบี” และอาจนำไปสู่การกวาดล้างได้ไม่ยาก จนดูเหมือนรัฐบาลปูตินและเครือข่ายจะเป็น “ระบอบอำนาจนิยมที่ล้มไม่ได้”

แต่แล้วในที่สุดสิ่งที่คาดไม่ถึงก็เกิดขึ้นในตอนดึกของคืนวันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน

แม้ในช่วงต้นรายงานอาจดูสับสนอย่างมากถึงการเคลื่อนกำลังของกลุ่มทหารรับจ้างแวกเนอร์ (The Wagner Group) ที่ถอนตัวออกจากสนามรบในยูเครน และในเช้าวันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน รายงานที่ชัดเจนคือ หัวขบวนกลับพุ่งไปยึดเมืองในรัสเซีย 2 เมือง คือรอสตอฟและโวโรเนซ (เมืองที่เป็นทางผ่านของเส้นทางการเคลื่อนกำลังเข้ามอสโก) โดยไม่เกิดการปะทะขนาดใหญ่แต่อย่างใด

แล้วทุกสำนักข่าวยืนยันไม่แตกต่างกันถึง เกิดการก่อ “กบฏทหาร” (mutiny) ของผู้นำกองกำลังทหารรับจ้างที่รบในยูเครน และในท่ามกลางความสับสนของข่าวสารเช่นนี้ ทุกสื่อยืนยันตรงกันอีกว่า กำลังพลทหารรับจ้างเหล่านี้ เตรียมเปิดการรุกเข้าตีมอสโกที่เป็นเมืองหลวง

ในขณะที่มีการประเมินมาตลอดว่ารัฐประหารในมอสโกเป็นสิ่งที่ “แทบจะเป็นไปไม่ได้” นั้น ไม่มีใครคาดคะเนมาก่อนว่าความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นระหว่างเยฟเกนี พริโกซิน (ผู้นำกลุ่มแวกเนอร์) ที่เปิดการโจมตีด้วยวาจาต่อเซอร์เก ชอยกู (รัฐมนตรีกลาโหม) และพลเอกวาเลรี เกราซีมอฟ (ประธานคณะเสนาธิการกองทัพรัสเซีย) มาอย่างต่อเนื่องนั้น จะขยายตัวและนำไปสู่การก่อกบฏทหาร

ดังนั้น ในช่วงวันเสาร์ที่ 24 ที่ผ่านมา ทั่วโลกล้วนต้องเกาะติดอยู่กับสถานการณ์การเมืองในรัสเซีย เพราะการ “แปรพักตร์” ของกลุ่มแวกเนอร์ที่เคยเป็นเครื่องมือสำคัญของประธานาธิบดีปูตินในสงครามยูเครนนั้น กลับกลายเป็นศัตรูที่อาจนำไปสู่การล้มระบอบปูติน

และถ้าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริงแล้ว ย่อมส่งผลทั้งต่อปัญหาสงครามในยูเครน และต่อการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตกในอนาคตด้วย

เรื่องที่คาดเดาไม่ได้

ว่าที่จริงแล้วพริโกซินมีสถานะพิเศษในทางการเมือง เขาเป็นบุคคลที่ “ใกล้ชิด” ของประธานาธิบดีปูตินอย่างมาก หรือที่ถูกเรียกกันเล่นๆ ว่า “พ่อครัวของปูติน” (The Putin’s Chef) ฉะนั้น การเปลี่ยนจุดยืนด้วยการเคลื่อนกำลังเตรียมบุกมอสโก ทำให้เขากลายเป็น “ภัยคุกคามสำคัญ” ต่อประธานาธิบดีปูตินไปทันที ซึ่งท้าทายอย่างมากว่าประธานาธิบดีปูตินจะจัดการการก่อกบฏทหารครั้งนี้อย่างไร อีกทั้งเขาจะยังต้องใช้บริการจากกำลังของกลุ่มนี้ในยูเครนต่อไปหรือไม่

ขณะเดียวกันสิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความเปราะบางของระบอบปูติน ที่แม้จะดูจากภายนอกว่ามีความเข้มแข็งอย่างมาก ในอีกด้านหนึ่งก็คือภาพสะท้อนของระบอบเผด็จการที่มีปัญหาความขัดแย้งการเมืองภายใน และต้องแก้ไขด้วยการใช้กำลังในการเปลี่ยนแปลง

แม้การก่อรัฐประหารด้วยการใช้กำลังทหารตามแบบที่เห็นจะไม่เกิดขึ้น แต่ก็เป็นการใช้กำลังทหารรับจ้าง

ฉะนั้น ถ้ากำเนิดสงครามยูเครนเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึงเช่นไร การก่อกบฏทหารของผู้นำทหารแวกเนอร์ก็เป็นสิ่งที่คาดไม่ถึงเช่นนั้น และกำลังพลของกลุ่มนี้มีจำนวนราว 25,000 นาย ซึ่งแม้อาจจะมีจำนวนกำลังเพียงจำนวนเท่านี้ ซึ่งเทียบไม่ได้กับกำลังพลของกองทัพรัสเซีย แม้กำลังส่วนหนึ่งจะติดพันอยู่กับสงครามยูเครนก็ตาม

แต่กองทัพรัสเซียน่าจะมีทั้งจำนวนกำลังพลและกำลังอาวุธมากกว่ากำลังรบของทหารรับจ้างมาก แม้ทหารเหล่านี้ได้รับการยอมรับถึงประสิทธิภาพในการรบที่มีมากกว่าก็ตาม

ในขณะที่สถานการณ์ความตึงเครียดเริ่มเดินมาเกือบถึงจุดสูงสุด ในคืนวันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน ผู้นำกลุ่มทหารแวกเนอร์กลับยอมยกเลิกแผนยุทธการในการเข้าตีมอสโก ทั้งที่เคลื่อนกำลังเข้ายึดเมืองรอสตอฟ-ออน-ดอนที่อยู่ทางตอนใต้ เพื่อใช้เป็นฐานสนับสนุนในการส่งกำลังบำรุง และไม่น่าเชื่อว่าในระยะเวลาเพียง 24 ชั่วโมง กำลังส่วนหน้าพร้อมที่จะเคลื่อนเข้ายึดพื้นที่ที่อยู่ห่างจากกรุงมอสโกเพียง 200 กิโลเมตร ซึ่งต้องถือว่ากำลังหัวหอกของฝ่ายทหารกบฏได้เข้าใกล้เมืองหลวงอย่างมาก

อันทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าอาจเกิดการปะทะใหญ่ระหว่างกำลังของทหารรับจ้างกับกำลังพลของกองทัพรัสเซีย และอาจจะนำไปสู่การนองเลือด หรือความขัดแย้งนี้อาจทำให้เกิดสงครามกลางเมือง

ในการนี้ทางฝ่ายรัฐบาลของประธานาธิบดีปูตินได้ยกระดับของการรักษาเมืองและพื้นที่โดยรอบทันที และกำลังพลของกลุ่มติดอาวุธชาวเชชเนียจำนวน 3,000 นาย ได้เข้าร่วมสมทบกับกำลังของรัฐบาลเพื่อป้องกันตัวเมืองหลวงด้วย

พร้อมกันนี้สำนักงานความมั่นคงแห่งสหพันธรัฐ ได้ประกาศเตรียมการสอบสวนนายพริโกซินในข้อหา “กบฏ” ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็น “สัญญาณแตกหัก” ประการหนึ่ง

สุดท้ายแล้ว เรื่องดูจะจบแบบหักมุมอย่างรวดเร็วในช่วงคืนวันเสาร์ เมื่อ “กบฏทหารรับจ้าง” เป็นฝ่ายยอมถอยหลังจากก่อการเพียง 1 วัน…

ผู้นำกลุ่มแวกเนอร์ตัดสินใจถอนตัวไปตั้งหลักที่เบลารุส อันเป็นผลจากการประสานเจรจาของประธานาธิบดีลูกาเชนโก ผู้นำเบลารุส เพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือดครั้งใหญ่ อันส่งผลให้สถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองภายในของรัสเซียปรับลดระดับลงทันที

แต่ในท่ามกลางภาวะ “ฝุ่นตลบ” ของการเมืองรัสเซีย “กบฏพริโกซิน” ทิ้งคำถามไว้หลายประการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หรือกล่าวในอีกมุมหนึ่งได้ว่า ปรากฏการณ์ที่เห็นในรัสเซียคือ “24 ชั่วโมงแห่งความโกลาหล” นั้น มีเรื่องราวที่ซ่อนอยู่เป็นเบื้องหลังอีกมากมายที่รอการเปิดเผย

 

ความท้าทายในอนาคต

ผลที่ตามมาของสถานการณ์เช่นนี้คือ การแสดงให้เห็นว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองในรัสเซียยังมีอยู่มาก

และว่าที่จริงแล้วข้อมูลเกี่ยวกับการก่อกบฏของทหารรับจ้างครั้งนี้ ยังมีรายละเอียดที่ไม่เปิดเผยอีกพอสมควร โดยเฉพาะคำถามว่า จริงๆ แล้วนอกเหนือจากปัญหาความขัดแย้งในการทำสงครามในยูเครน ที่มีมุมมองที่แตกต่างกันระหว่างผู้นำทหารรับจ้างที่อยู่ในสนามรบ กับกระทรวงกลาโหมที่อยู่ในแนวหลังที่มอสโกแล้ว

หรือในอีกด้านคือปัญหาความพยายามของกระทรวงกลาโหมรัสเซียที่ต้องการเข้ามาควบคุมกำลังทหารรับจ้างโดยตรง แทนที่จะปล่อยให้อยู่กับบุคคลที่อยู่นอกสายการบังคับบัญชาทางทหาร แม้เขาผู้นั้นจะมีความใกล้ชิดกับประธานาธิบดีปูตินก็ตาม

หรือมีอะไรที่ซ่อนอยู่ภายใต้ “พรมการเมือง” ของรัสเซียที่เราไม่เห็น… ไม่ได้รับทราบ เพราะในความเป็นจริงแล้ว เรารับรู้เรื่องทั้งหมดนี้จากรายงานของสื่อ ที่เป็น “ข้อมูลแหล่งเปิด” แต่ก็เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่พอจะฉายภาพให้เราได้เห็นเฉพาะหน้า

แต่กระนั้น อาจกล่าวได้ว่าปรากฎการณ์กบฏชุดนี้ คือภาพสะท้อนของ “วิกฤตรัฐรัสเซีย” หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัญหาความอ่อนแอของกองทัพรัสเซีย อันนำไปสู่การต้องพึ่งพาทหารรับจ้างในการทำสงครามในยูเครน

ขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงปัญหาภายในของกองทัพรัสเซีย ตั้งแต่ระดับกระทรวงกลาโหมลงมาจนถึงระดับเหล่าทัพ

อีกส่วนของเรื่องนี้คือภาพสะท้อนของตัว “วิกฤตสงครามยูเครน” ทั้งในส่วนของตัวประธานาธิบดีปูติน และผู้นำทหารรัสเซีย ที่พาประเทศเข้าไป “ติดหล่มสงคราม” กับสนามรบในยูเครน จนวันนี้ยังมองไม่เห็นด้านที่เป็นชัยชนะของฝ่ายรัสเซีย เห็นแต่เพียงความสำเร็จในการหน่วงรั้งการรุกกลับทางทหารของยูเครนในบางพื้นที่

แต่ทั้งหมดนี้คือการเดิมพันอนาคตของ “ระบอบปูติน” และความอยู่รอดของตัวเขาเอง

เพราะกบฏทหารที่เกิดขึ้นบ่งชี้ถึงระบอบปูตินที่อ่อนแอลง แม้ยังไม่มีใครกล้าคาดเดาว่าผลสืบเนื่องจะจบลงอย่างไร ทั้งยังคาดเดาไม่ได้ถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับสงครามยูเครน แต่ผลกระทบกับการเมืองรัสเซียเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ส่วนพริโกซินนั้น จะอยู่รอดปลอดภัยในเบลารุสหรือไม่ในอนาคต คงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หรือว่าที่สุดแล้ว เขาอาจจะมีชะตากรรมเดียวกับผู้นำฝ่ายซ้ายคนสำคัญของการปฏิวัติบอลเชวิก คือ “ทรอตสกี้” ที่หนีออกมาจากรัสเซีย และจบชีวิตลงด้วยการถูกประธานาธิบดีสตาลินสังหารอย่างโหดเหี้ยมที่กรุงเม็กซิโก…

การเมืองในระบอบอำนาจนิยมนั้น ไม่เคยปล่อยให้ฝ่ายตรงข้ามที่ยอมแพ้ด้วยการลี้ภัย จะมีชีวิตรอดต่อไปได้ยาวนาน!