แบงก์ชาติลุยแก้หนี้นอกระบบ ถกแบงก์-น็อนแบงก์ คิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยง

บทความพิเศษ | ศัลยาประชาชาติ

 

แบงก์ชาติลุยแก้หนี้นอกระบบ

ถกแบงก์-น็อนแบงก์

คิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยง

 

จากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยที่ยังอยู่ระดับสูง โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ในไตรมาสที่ 4/2565 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 86.9% ของจีดีพี หรือคิดเป็นหนี้คงค้าง 15.09 ล้านล้านบาท

ขณะที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แสดงความกังวลว่า หากปล่อยให้หนี้อยู่ในระดับสูงนานๆ จะเป็นตัว “ฉุดรั้ง” การเติบโตของเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ ก็ต้องยอมรับว่า “หนี้นอกระบบ” ที่คงเป็นปัญหาสำคัญ ซึ่งผู้กู้ต้องรับภาระดอกเบี้ยที่สูงมาก เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ลำบาก โดยที่ผ่านมา กระทรวงการคลังมีการหารือร่วมกับ ธปท. ถึงการวางแผนแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน

โดยหนึ่งในแนวทางแก้ปัญหา คือ การคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ (risk based pricing : RBP) โดยขยายเพดานอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้มีความสามารถเปิดรับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงเข้ามาในระบบได้มากขึ้น ซึ่งจะเริ่มต้นจากสินเชื่อส่วนบุคคล (personal loan)

 

ล่าสุด ธปท.มีการพูดคุยกับสถาบันการเงินในเรื่องแนวทางการคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ รวมถึงแนวทางการกำหนดสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (debt service ratio : DSR)

โดย ธปท.ได้ขอข้อมูลจากสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อดูว่า กลุ่มลูกค้ากลุ่มไหนที่ธนาคารปฏิเสธการปล่อยสินเชื่อ (rejection) และดูไส้ในลงลึก เช่น รายได้ต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน หรืออาชีพไหนที่เลี่ยงไม่รับ เพราะดอกเบี้ยไม่คุ้มความเสี่ยง เป็นต้น

ซึ่งภายใน 2-3 เดือน จะสรุปข้อมูลเพื่อวางแนวทางและกรอบกติกา คาดว่าภายในต้นปี 2567 จะเริ่มมาตรการดังกล่าวได้

ทั้งนี้ เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว ธปท.จะกำหนดกรอบการขยับอัตราดอกเบี้ย จากปัจจุบันสินเชื่อส่วนบุคคล มีเพดานดอกเบี้ยสูงสุดอยู่ที่ 25% ต่อปี ซึ่งอาจจะขยับให้แบงก์คิดดอกเบี้ยได้ถึง 27-28% ต่อปี หรือมากกว่านี้ แต่ก็ยังถูกว่าดอกเบี้ยนอกระบบ 40-50% โดยจะต้องมีการลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) กับแบงก์ที่จะเข้าร่วมโครงการต่อไป

 

นายนันทวัฒน์ โชติวิจิตร กรรมการบริหาร ฝ่ายการตลาด บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ เป็นเรื่องที่มีการพูดคุยกับ ธปท.มาอย่างต่อเนื่อง แต่การจะปรับอัตราดอกเบี้ยจะต้องมีเกณฑ์การกำหนดความเสี่ยง (risk rating) ของลูกค้าที่ชัดเจน เนื่องจากลูกค้าแต่ละสถาบันการเงินมีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน จึงต้องมีเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

ทั้งนี้ การพิจารณาการปล่อยสินเชื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของบริษัท โดยมีทั้งลูกค้าที่ได้รับการอนุมัติ และกลุ่มที่ถูกปฏิเสธสินเชื่อ สัดส่วนเท่ากัน 50% กลุ่มที่ไม่ผ่านการพิจารณาจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ทำงานไม่ครบ 6 เดือน รายได้ขั้นต่ำไม่ถึง 8,000 บาทต่อเดือน กลุ่มอาชีพอิสระ หรือกลุ่มรายได้ประจำ แต่เกี่ยวข้องกับภาคการส่งออก ซึ่งปัจจุบันได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และการย้ายฐานการผลิต ตลอดจนกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ยังคงมีความเปราะบาง

“แนวทางของ ธปท. โดยคอนเซ็ปต์ถือว่าค่อนข้างดีที่จะช่วยลูกค้ากลุ่มเสี่ยงเข้าระบบ แต่ ธปท.อาจต้องหาวิธีการที่ลงตัว ทั้งกลุ่มที่อยู่ under charge และกลุ่ม over charge เพราะลูกค้าแต่ละแห่งมีไส้ในและความเสี่ยงไม่เหมือนกัน โดยในส่วนของอิออนพยายามบริหารพอร์ตลูกค้า กลุ่มไหนเสี่ยงสูงก็ลด และเพิ่มกลุ่มที่ดีเข้ามา ทำให้ยอดปฏิเสธสินเชื่อและอนุมัติทรงตัวอยู่ที่ 50%”

 

ขณะที่นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า แนวทางที่ ธปท.จะทำ เป็นนโยบายแก้หนี้ และช่วยลดหนี้ครัวเรือนในระยะยาว แต่การจะปรับเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลเพื่อให้ครอบคลุมความเสี่ยง อาจจะต้องไปที่ระดับสูงกว่า 30% ต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 25% ต่อปี เนื่องจากลูกหนี้มีความเสี่ยงสูง รวมทั้งมีความเสี่ยงที่จะไหลไปเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ได้ในอนาคต

“การขยับเพดานดอกเบี้ย น่าจะเข้ามาช่วยผู้ประกอบการที่มีการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยง และคิดดอกเบี้ยชนเพดานที่ 25% ถือเป็นการเปิดช่องให้สามารถรับลูกค้าเสี่ยงเพิ่มขึ้น หลังจากที่ผ่านมากลุ่มนี้ไม่ผ่านเกณฑ์ และบางส่วนต้องออกไปใช้บริการหนี้นอกระบบ อย่างไรก็ดี สถาบันการเงินที่จะเข้าร่วมจำเป็นต้องมีระบบพิจารณาการอนุมัติสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ เพราะต้นทุนและความเสี่ยงสูงขึ้น”

สำหรับพอร์ตสินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ที่มีการคิดดอกเบี้ยเกิน 21% ต่อปี มีสัดส่วนแค่ราว 7% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด ที่เหลือจะคิดดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 13-14% เนื่องจากธนาคารเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีวินัย โดยฐานลูกค้าประมาณ 2 ใน 3 หรือประมาณ 75% มีรายได้เกิน 5 หมื่นบาทต่อเดือน และอีก 25% มีรายได้เฉลี่ย 3-5 หมื่นบาทต่อเดือน ส่งผลให้ภาพรวมอัตราการอนุมัติสินเชื่อเฉลี่ยอยู่ที่ 40% สูงกว่าตลาดที่อยู่ 30% และอัตราการปฏิเสธสินเชื่ออยู่ที่ 60% และตลาดอยู่ที่ 70%

“ลูกค้ามีความเสี่ยงก็คิดดอกเบี้ยสูง ช่วยคนที่เครดิตพอไปได้เข้ามาอยู่ในระบบ ซึ่งซีไอเอ็มบี ไทย ก็มีความสนใจเข้าร่วม เพราะเชื่อว่ามีระบบที่สามารถรองรับได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันเรามีพอร์ตสินเชื่อบุคคลราว 6,000 ล้านบาท และหนี้เสียประมาณ 3%”

 

น.ส.พิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้บริหารสูงสุดสายงานสินเชื่อบุคคล บริษัท บัตรกรุงไทย (KTC) กล่าวว่า เคทีซี ยังต้องพูดคุยกับ ธปท. อย่างไรก็ดี ในอดีตเคทีซีมีการปล่อยสินเชื่อกลุ่มเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง แต่หลังจาก ธปท.ปรับลดดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลลงเหลือ 25% ต่อปี ทำให้จำเป็นต้องคัดลูกค้าที่มีเครดิตสกอริ่งกลุ่มเสี่ยงเกินกว่า 25% ต่อปีออก เพราะมีความเสี่ยงสูงเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยที่คิดกับลูกค้า

“ยอมรับว่าหลังจากที่ ธปท.ปรับลดเพดานสินเชื่อบุคคลให้เหลือ 25% ต่อปี ลูกค้าที่เราเคยปล่อยในอัตราดอกเบี้ยชนเพดานเดิม 28% ต่อปี ตอนนี้เราไม่ปล่อยเลย เพราะไม่คุ้มกับความเสี่ยง หากมีการขยายดอกเบี้ยให้เป็นไปตาม risk based pricing ก็น่าจะดึงคนที่เคยถูกปฏิเสธเข้ามาอยู่ระบบได้มากขึ้น”

น.ส.ณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล กล่าวว่า กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ได้มีการหารือกับ ธปท.ระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังต้องหารือเพิ่มเติมในเรื่องเหล่านี้ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยง และมีความต้องการใช้วงเงินสินเชื่อ เข้ามาในระบบได้บ้าง

“การขยับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถรับกลุ่มเสี่ยงได้มากขึ้น ถือเป็นแนวทางหนึ่ง ซึ่งคงจะปรับเพิ่มได้ระดับหนึ่ง ธปท.น่าจะทยอยขอความคิดเห็นผู้ประกอบการ โดย ธปท.จะมีการพิจารณาความคิดเห็นทั้งหมด และออกมาเป็นแนวทาง ซึ่งต้องรอดูความชัดเจนของ ธปท.อีกครั้ง”

สุดท้ายต้องยอมรับว่า ปัญหาหนี้นอกระบบ อยู่คู่สังคมไทยมานาน การแก้ปัญหาคงต้องใช้เวลา และอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย ซึ่งจะได้ผลแค่ไหนนั้น คงต้องติดตามกันต่อไป