วิศวกรรมนำเราไปสู่ดวงจันทร์ แต่บทกวีและเสียงเพลงทำให้โลกนี้น่าอยู่ ข้อเสนอเพื่อยกระดับชีวิตแรงงานศิลปิน

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ในช่วงที่ผ่านมาผมมีโอกาสเดินทางเพื่อเก็บข้อมูลประกอบงานวิจัย “แรงงานสร้างสรรค์วัยใกล้เกษียณ”

โจทย์ที่ผมตั้งคำถามคือในสังคมเราที่มีความหลากหลาย เราเผชิญกับโลกที่ไม่เป็นธรรม เผชิญกับความยากจน อดอยากสิ้นหวัง

มนุษย์ใช้เวลาหลายศตวรรษในการพยายามสร้างเทคโนโลยีเพื่อทำให้เราเอาชนะธรรมชาติ

ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติของโลกทางกายภาพ น้ำท่วม ภัยแล้ง แผ่นดินไหว พายุ ความอดอยาก

และธรรมชาติในใจมนุษย์ การแก่งแย่ง ละโมบ เห็นแก่ตัว ก่อสงคราม

สิ่งใดที่ขับเคลื่อนเป็นแรงบันดาลใจให้มนุษย์ยังแสวงหาโลกที่น่าอยู่มากขึ้น ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หรือวิศวกรรม

ทั้งสามสิ่งคือเครื่องมือที่ถูกสร้างขึ้นมาที่ปลายทาง

แต่สิ่งที่ยกระดับจิตใจของมนุษย์ เปลี่ยนคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ยกระดับความเป็นคน ทำให้เราใจสูงกว่าสัตว์โดยทั่วไป คือบทกวี นวนิยาย งานเขียน ภาพวาด บทเพลง ที่ทำให้โลกของเรานี้น่าอยู่

คำถามสำคัญ แรงงานศิลปิน แรงงานที่เก่าแก่ของมนุษยชาติ ถูกให้ความหมายเพียงใดในโลกทุนนิยมที่แสนจะเหลื่อมล้ำนี้

 

คําอธิบายของเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมกระแสหลักว่า การที่ “แรงงานหนึ่งคน” จะมีชีวิตที่ดีได้นั้น ต้องมีต้นทุนของตน ที่ต้องแสวงหาและพัฒนาต้นทุนของตน

ดังเช่นต้องมี “การศึกษาที่ดี” มีใบปริญญา มีคุณวุฒิที่ได้รับการรับรอง

และหากต้องการเป็นแรงงานที่ได้รับการยอมรับ ก็พึงมีเครือข่ายหรือคอนเน็กชั่นที่ดี พร้อมทั้งสะสมประสบการณ์

แต่ความจริงแล้วเราจะพบว่า จากการสำรวจเบื้องต้น แรงงานศิลปินไม่ว่าจะเป็นนักเขียน กวี นักแต่งเพลง นักดนตรี หรือศิลปินพื้นบ้าน ล้วนมีคุณสมบัติสิ่งเหล่านี้ครบถ้วน

แต่สิ่งที่เราพบเห็นมานานหลายทศวรรษ ศิลปินทั้งหลายกลับเผชิญกับความลำบากในการประคองชีพ แม้จะเป็นงานที่มีความภาคภูมิใจ และจรรโลงความงามแก่โลก แต่ยิ่งเวลาผ่าน แม้จะมีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ร้างมูลค่ามหาศาลให้ผู้อื่น แต่กลับไม่ทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นได้แต่อย่างใด

จากการสำรวจเบื้องต้น แรงงานศิลปินวัยใกล้เกษียณ เผชิญปัญหาที่รุนแรงด้านสุขภาพ เวลาทำงานและรายได้ที่ไม่แน่นอน

ด้านร่างกายมีโรคประจำตัวที่เกิดจากการใช้ชีวิต รวมถึงความเครียดจากการใช้ชีวิต

ปัญหาความไม่แน่นอนของรายได้ส่งผลต่อหนี้สิน การวางแผนการเกษียณ

แรงงานศิลปินอาศัยแหล่งรายได้จากครอบครัว หรือรายได้ทางอื่นเพื่อเลี้ยงชีพ แต่ส่วนมากแล้วก็ไม่เพียงพอต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัว

 

เมื่อเผชิญกับความไม่แน่นอนทั้ง ทางด้านเศรษฐกิจ หรือการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ดังเช่นช่วงวิกฤตโควิด-19 นักเรียนดนตรีจำนวนมากไม่สามารถเรียนดนตรีต่อได้

เมื่อพวกเขาละทิ้งความฝันด้วยข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ ก็ทำให้พวกเขาไม่สามารถอยู่ในเส้นทางนี้ ขณะเดียวกันครูดนตรีไม่ว่าสมัยใหม่ หรือพื้นบ้านก็สูญเสียรายได้ในช่วงวิกฤต หลายคนก็จำเป็นต้องเลิกอาชีพนี้เช่นกัน

ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งคือ ค่านิยมของสังคมไทยที่มองว่า “งานสร้างสรรค์” เป็นงานที่ผู้สร้างทำด้วยความสุขกายสบายใจ พวกเขาไม่จำเป็นต้องมีค่าตอบแทนที่ดีก็ได้

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือพวกเขาสามารถทำให้ฟรีได้ เพราะได้รับค่าตอบแทนเป็นความภูมิใจแทน

“ผมสงสัยว่างานบวชงานบุญ ค่าเต็นท์ราคาเป็นหมื่นพวกเขาไม่เคยต่อราคาเลย แต่ทำไมราคานักร้องนักดนตรีไม่กี่พัน ต่อราคากันเหมือนพวกเราอิ่มทิพย์” เสียงหนึ่งสะท้อนออกมา

อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทุกระดับสร้างมูลค่ามหาศาลในสังคมปัจจุบัน แต่ดอกผลกลับตกลงสู่ผู้สร้างสรรค์น้อยมาก ขณะที่กลุ่มทุนในอุตสาหกรรมนี้กลับเติบโตมากมาย

ความเลวร้ายนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่เพียงแรงงานศิลปินรุ่นใหม่ แต่กับแรงงานวัยใกล้เกษียณก็ไม่ต่างกัน

เราจึงจำเป็นต้องพูดถึงนโยบายที่เป็นรูปธรรมเพื่อยกระดับชีวิตศิลปินอย่างถ้วนหน้า ซึ่งแน่นอนว่า หลักการรัฐสวัสดิการจะช่วยรับประกันความปลอดภัยพื้นฐานในช่วงจังหวะของชีวิต ข้อเสนอเรื่องบำนาญถ้วนหน้า และประกันสังคมถ้วนหน้าจะเป็นหัวใจที่สำคัญสำหรับการสร้างหลักประกันสำหรับทุกกลุ่มคนอย่างไม่จำกัดอาชีพ

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอที่ได้รับความสนใจไม่น้อยจากการสนทนาพูดคุยเห็นจะเป็นข้อเสนอว่าด้วย การสนับสนุนการรวมตัวในรูปแบบสหภาพ ที่ทำให้ศิลปินจะมีพลังมากขึ้นในการต่อรองทั้งกับอำนาจทุน อำนาจรัฐ

รวมถึงการเรียกร้องทรัพยากรจากรัฐเพื่อให้การทำงานสร้างสรรค์สามารถเดินหน้าต่อไปได้ พร้อมกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่มีค่าจ้าง และสวัสดิการเพียงพอ

 

อีกข้อเสนอสำคัญซึ่งผมจะขอนำเสนอโดยละเอียดในฉบับต่อไปคือ ข้อเสนอว่าด้วย “หลักประกันรายได้ศิลปิน” ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความมั่นคงในชีวิต การธำรงศักดิ์ศรีของตน และส่งเสริทการสร้างมูลค่าที่มีความหลากหลายในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ต่อไป

สำหรับคำถามที่ว่า ตามกลไกตลาดผู้ที่ได้รับค่าจ้างต่ำหรือไม่มั่นคงก็คือสิ่งที่สังคมไม่ต้องการ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างว่า ในอดีต สังคมอียิปต์โบราณขับเคลื่อนด้วยทาสที่ไม่มีรายได้สร้างสังคมขึ้นมา ขณะที่ฟาโรห์ มีรายได้ ทรัพย์สินมากมาย แต่ไม่มีความจำเป็นแก่สังคม รายได้จึงไม่ได้ถูกวัดจากความจำเป็นแต่ถูกวัดด้วยความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคม

ยุคปัจจุบัน คนทำหนัง นักแต่งเพลง เขียนบท เขียนเรื่องสั้น ได้รายได้ไม่แน่นอน ต่ำเตี้ย ไม่มีสวัสดิการ แต่เราก็เสพหนัง เสพเพลง เสพละครทุกวัน ให้นายทุนรวยขึ้น แต่คนสร้างสรรค์ กลับไม่ได้อะไรเป็นชิ้นอัน ทั้งๆ ที่พวกเขาสร้างสังคมนี้ให้สมบูรณ์ ทำให้คนเป็นคนที่สมบูรณ์

ถึงเวลาที่เราต้องทบทวนเรื่อง “แรงงานศิลปิน” กับชีวิตที่แสนเปราะบางในสังคมไทยอย่างจริงจังกันเสียที