การแข่งขันแบกภรรยาชิงแชมป์โลก 2023

พิศณุ นิลกลัด

คลุกวงใน | พิศณุ นิลกลัด

Facebook : @Pitsanuofficial

 

การแข่งขันแบกภรรยาชิงแชมป์โลก 2023

 

ถ้าพูดถึงการออกกำลังกายและการแข่งขันระหว่างคู่รักที่สนุก ตื่นเต้น เสียเหงื่อ หัวใจเต้นแรง หายใจหอบแฮกๆ และสร้างความใกล้ชิดของคู่รัก ต้องยกให้การแข่งขันแบกภรรยาชิงแชมป์โลก หรือ Wife Carrying World Championship ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่ ประเทศฟินแลนด์

การแข่งขันแบกภรรยาชิงแชมป์โลก จัดเป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่ปี 1992 ที่เมืองซองคาร์ยาวี (Sonkaj?rvi) ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ มีประชากรเพียง 4,000 คน

ปีนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 30 มิถุนายน ถึง 1 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้

จากการศึกษาของ โดนัลด์ ดัททัน (Donald Dutton) และ อาร์เธอร์ แอรอน (Arthur Aron) นักจิตวิทยาประเทศแคนาดา พบว่าคู่รักที่ออกกำลังกายด้วยกัน จะทำให้สัมพันธ์รักมั่นคงยิ่งขึ้น

เพราะการออกกำลังกายร่วมกันหรือทำกิจกรรมเสียเหงื่อร่วมกัน จะทำให้ต่างฝ่ายต่างรู้สึกว่าคนรักของตัวเองมีเสน่ห์เพิ่มขึ้น เพราะการออกกำลังนั้น ช่วยให้เสียเหงื่อ หัวใจเต้นแรง หายใจหอบแรง ซึ่งเป็นอาการแบบเดียวกับที่เกิดเวลา “กุ๊กกิ๊ก” กัน

 

การแข่งขันแบกภรรยามีต้นกำเนิดที่ประเทศฟินแลนด์ ตามเรื่องเล่าสืบต่อกันมานั้นมีอยู่ว่า ช่วงปลาย ค.ศ.1800 มีแก๊งหัวขโมยที่ปล้นเสบียงอาหารของคนในหมู่บ้านต่างๆ

ซึ่งการจะเป็นโจรร่วมแก๊งลักขโมยได้นั้นต้องพิสูจน์ความแข็งแกร่งว่าสามารถแบกเสบียงที่ขโมยได้ด้วยการลักพาตัวผู้หญิงในหมู่บ้านโดยใช้วิธีแบกผู้หญิงขึ้นหลังแล้ววิ่งหนี

ใครแบกสำเร็จก็จะได้รับเป็นสมุนโจรร่วมแก๊ง และต่อมาได้กลายเป็นกีฬาแข่งขันแบกภรรยา

เดิมที การแข่งขัน Wife Carrying World Championship จัดในป่า วิ่งขึ้นเขาลงห้วยตามสภาพป่าธรรมชาติ

แต่ต่อมาได้เปลี่ยนมาจัดการแข่งขันในสนามกีฬาเพื่อให้มีมาตรฐาน สนามแข่งขันเหมือนกันทุกปี

ระยะทางของสนามแข่งขันยาว 253.5 เมตร มีไม้ขวางให้ข้าม 2 ตำแหน่ง และบ่อน้ำลึกประมาณ 1 เมตร 1 บ่อเหมือนการแข่งขันวิ่งวิบาก

 

แม้จะชื่อการแข่งขันว่าแบกภรรยาชิงแชมป์โลก แต่ผู้หญิงที่จะแบกในการแข่งขันนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นภรรยาของคนแบก จะเป็นแฟน ภรรยาเก่า กิ๊ก เพื่อนบ้านหรือผู้หญิงคนไหนก็ได้

แต่ผู้หญิงที่แบกต้องมีอายุ 17 ปีขึ้นไป และมีน้ำหนักอย่างน้อย 49 กิโลกรัม หากมีน้ำหนักต่ำกว่า 49 กิโลกรัม ต้องเอาถุงน้ำหนักมาผูกตัวให้น้ำหนัก 49 กิโลกรัม

ในอดีตนั้น การแข่งขันจะปล่อยตัวผู้เข้าแข่งขันพร้อมกันหมด แต่ต่อมามีความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีผู้เข้าแข่งขันสามสิบ สี่สิบคู่

ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย จึงปล่อยตัวผู้เข้าแข่งขันครั้งละสองคู่ และจับเวลาใครทำเวลาดีที่สุดเป็นผู้ชนะเลิศ

หากทำภรรยาหล่น จะถูกปรับด้วยการเพิ่มเวลาอีก 15 วินาที

ค่าสมัครการแข่งขันคู่ละ 50 ยูโร หรือ 1,800 บาท

รางวัลของผู้ชนะเลิศนั้นคือเบียร์ในปริมาณเท่ากับน้ำหนักตัวภรรยาที่แบก

ตามกฎ ผู้เข้าแข่งขันจะแบกท่าไหนก็ได้ เป็นฟรีสไตล์ ไม่มีท่าบังคับ จะอุ้มพาดบ่า ขี่คอ ขี่หลัง ได้หมด

 

แต่ในปัจจุบันท่าที่นิยมที่สุดคือ ท่าภรรยากลับหัวกลับหาง เอาขาและเท้าหนีบคอสามี และเอามือกอดลำตัวสามี ท่านี้มีชื่อเรียกว่า เอสโทเนียน สไตล์ (Estonian Style) เหตุผลที่เรียกท่าแบกภรรยาแบบกลับหัวกลับหางว่าเอสโทเนียน สไตล์ เพราะแชมป์โลกระหว่าง 1998-2008 เป็นคู่ชาวเอสโทเนียล้วนๆ ทุกคนแบกท่านี้ ซึ่งทำให้คู่เข้าแข่งขันชาติอื่นๆ เลียนแบบ

สาเหตุที่ท่าแบกเอสโทเนียน สไตล์ ได้เปรียบท่าแบบอื่นๆ เพราะฝ่ายชายไม่ได้เสียแรงไปกับการกอดประคองฝ่ายหญิงไม่ให้หลุดจากตัว เพราะเป็นหน้าที่ของฝ่ายหญิงในการใช้ขาเกี่ยวคอ มือกอดลำตัวฝ่ายชายไว้ให้แน่น ฝ่ายชายจึงไม่ต้องพะวักพะวนจับฝ่ายหญิงให้แน่น สามารถเอาพลัง เอาสมาธิไปใช้ในการวิ่งได้เต็มที่

อย่างไรก็ตาม บรรดาสามีที่ลงแข่งขันพูดติดตลกทีเล่นที่จริงว่า สิ่งที่ยากที่สุดในการแข่งขันแบกภรรยาชิงแชมป์โลกก็คือ จะบอกภรรยาให้ลดน้ำหนักก่อนแข่งขันอย่างไร โดยไม่ให้ภรรยาโกรธ หรือน้อยใจ

ซึ่งภรรยาแทบทุกคนจะพยายามลดน้ำหนักก่อนลงแข่ง เพื่อให้สามีของตัวเองได้เปรียบในการแข่งขัน และไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังแบกภูเขาอยู่!!