แปะข้างฝา รอ กกต.ชุดหน้ามาแก้ตัว

สมชัย ศรีสุทธิยากร

การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2566 เสร็จสิ้นลงแล้ว เป็นผลงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดที่ 5 ที่มีนายอิทธิพร บุญประคอง เป็นประธานกรรมการการเลือกตั้ง มีทั้งคำวิจารณ์ คำติชม ต่อการปฏิบัติหน้าที่ในครั้งนี้อย่างมากมาย บางเรื่องอาจเป็นอารมณ์ความรู้สึก แต่หลายเรื่องก็เป็นเหตุเป็นผลที่ผู้รับผิดชอบควรนำไปไตร่ตรอง เป็นบทเรียนสำหรับการจัดการเลือกตั้งในครั้งต่อไป

หากรัฐบาลใหม่อยู่ครบวาระ การเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไปใน 4 ปีข้างหน้า คงเป็นบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่ที่เข้ามารับหน้าที่ต่อเนื่อง ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะต้องทำหน้าที่เป็นหน่วยสนับสนุนแบบมืออาชีพและนำบทเรียนในการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ไปพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

มีประเด็นที่เป็นปัญหาและข้อเสนอแนะ แปะข้างฝารอคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่ แต่จะเป็นแค่ความหวังหรือจะเกิดขึ้นจริงได้ คงต้องฝากให้ไปคิด

 

1.พรรคเดียว เบอร์เดียวทั้งประเทศ

ความวุ่นวายสับสนของการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2566 คือ การที่หมายเลขผู้สมัครของพรรคการเมืองเดียวกันในแต่ละเขตก็ต่างกัน และยังแตกต่างจากหมายเลขของพรรคในบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ สร้างความยุ่งยากให้ทั้งประชาชนที่ต้องจดจำ ให้กับพรรคการเมืองในการหาเสียง และต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งในการจัดการและรายงานผล

ลามไปถึงการหาเสียง ที่เมื่อยุ่งยากในการสื่อสารกับประชาชน ผู้สมัครเขตก็จะใช้วิธียิงลูกโดด บอกหมายเลขของตนหมายเลขเดียว ทิ้งหมายเลขพรรคได้ข้างหลัง

สำหรับประชาชนผู้ใช้สิทธิจำนวนหนึ่ง เมื่อหัวคะแนนมาบอกให้เลือกหมายเลขผู้สมัครเขตเบอร์เดียว ยามเข้าคูหา พบบัตรสองใบ ก็ไม่แน่ใจว่าต้องกาหมายเลขในบัตรใบไหน เลยกาทั้งสองใบ เป็นเหตุให้พรรคที่จับสลากได้เบอร์ต้นๆ ได้อานิสงส์ ส.ส.บัญชีรายชื่อไปโดยปริยาย

สาเหตุนั้นมาจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนกลับมาใช้บัตรสองใบแล้ว แต่ไม่แก้ มาตรา 90 ที่ระบุว่าพรรคต้องส่งผู้สมัครเขตก่อนจึงจะสามารถส่งบัญชีรายชื่อได้ ดังนั้น จึงเป็นประเด็นแปะข้างฝา ฝากเสนอแก้รัฐธรรมนูญ แก้กฎหมายลูกให้ครบถ้วนก่อนเลือกตั้งครั้งต่อไป

 

2.ระบบการรับสมัครทางอิเล็กทรอนิกส์

การรับสมัครรับเลือกตั้งที่ใช้การพิมพ์ข้อมูลบนกระดาษ และบังคับให้ส่งในรูปไฟล์ PDF ไม่ได้สะท้อนความก้าวหน้าและสะดวกทั้งต่อผู้สมัครและต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเลย เพราะผู้สมัครต้องเสียเวลาพิมพ์ตามแบบฟอร์ม แทนที่จะเป็นการออกแบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์โดยสร้าง Template ให้กรอก และแม้ กกต.ได้ไฟล์ที่แนบพร้อมใบสมัคร แต่ก็แค่เป็นหลักฐานสำเนา ไม่สามารถนำไปเชื่อมต่อกับการใช้ประโยชน์ในเรื่องอื่นได้ทำให้เกิดข้อผิดพลาดตามมาในงานที่ต้องอาศัยข้อมูลการรับสมัคร เช่น การมีเอกสารประชาสัมพันธ์ที่สลับภาพ สลับชื่อ สลับพรรค

การออกแบบให้การรับสมัคร ต้องกรอกแบบฟอร์มในระบบอิเล็กทรอนิกส์ จึงเป็นคำตอบที่ช่วยให้เกิดความคล่องตัวแก่ทั้งผู้สมัครและพรรคการเมือง ลดเวลาและงานด้านเอกสาร

ในขณะเดียวกันก็สามารถเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวไปยังระบบงานอื่นที่ต่อเนื่องได้โดยไม่ผิดพลาด

เช่น เชื่อมกับแอพพลิเคชั่น สมาร์ตโหวต เพื่อแนะนำผู้สมัคร เชื่อมกับระบบพิมพ์เอกสารประชาสัมพันธ์ผู้สมัครให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งในและนอกราชอาณาจักร เชื่อมกับเอกสารติดหน้าหน่วยเลือกตั้ง รวมถึงระบบการรายงานผลการนับคะแนนต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง

ไม่เป็นปัญหาแบบที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

 

3.การออกแบบใหม่สำหรับการเลือกตั้งล่วงหน้า

การเลือกตั้งล่วงหน้าที่มีทั้งหมด 3 ประเภท คือการเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตสำหรับเจ้าหน้าที่ การเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตสำหรับประชาชนที่อยู่อาศัยนอกเขต และการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรสำหรับคนไทยในต่างประเทศ

จำเป็นต้องมีการทบทวนถึงการออกแบบวิธีการที่สะดวก ประหยัด และป้องกันการทุจริต

การเลือกตั้งล่วงหน้าภายในประเทศ ควรคืนการเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตให้แก่ประชาชนที่ประสงค์ใช้สิทธิแต่ติดกิจธุระในวันเลือกตั้ง เพราะในปัจจุบันต้องเลี่ยงไปใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตแทน ซึ่งเป็นความยุ่งยาก และ กกต.เอง ก็ไม่เคยคิดป้องกันวิธีการที่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ใช้วิธีการรวบรวมบัตรประชาชนไปลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต และใช้รถขนคนนับพันคนไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าอย่างเอิกเกริก

ส่วนปัญหาการจ่าหน้าซองเพื่อส่งบัตรกลับไปยังเขตเลือกตั้งผิด หากใช้เทคโนโลยี เช่น เครื่องอ่านบัตรประชาชน (Card reader) ซึ่งราคาแค่หลักร้อย เชื่อมโยงกับเครื่องพิมพ์สติ๊กเกอร์หรือบาร์โค้ด ราคาพันบาทต้นๆ ก็ทดแทนการเขียนจ่าหน้าซองด้วยมือที่มีปัญหา และ สะดวกต่อไปรษณีย์ไทยในฐานะผู้นำส่งได้อย่างรวดเร็วถูกต้อง

ส่วนการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร หากนำแนวคิดการเลือกตั้งทางอินเตอร์เน็ต (Internet Voting) ที่หลายประเทศใช้และประสบความสำเร็จในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 3 ประเภท คือ ผู้อยู่นอกราชอาณาจักร (Oversea) ผู้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล (Remote area) และผู้มีความลำบากทางกายภาพ (Disable) มาใช้ในการเลือกตั้ง ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีในเรื่อง Blockchain สามารถป้องกันการทุจริตได้เป็นที่น่าเชื่อถือ จะเป็นทั้งการลดรายจ่าย และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

และไม่มีความจำเป็นต้องส่งบัตรกลับประเทศไทย ไม่มีปัญหาการส่งบัตรกลับมาไม่ทันเวลาอีก

 

4.การเตรียมการด้านคณะกรรมการประจำหน่วยและผู้ตรวจการเลือกตั้ง

การทำหน้าที่ของคณะกรรมการประจำหน่วยและผู้ตรวจการเลือกตั้ง เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย โดยฝ่ายแรกเป็นเรื่องความพร้อมและความเข้าใจในระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในการเลือกตั้ง ส่วนฝ่ายหลังในด้านการไม่มีผลงานใดๆ ที่สะท้อนให้เห็นความคุ้มค่าของงบประมาณหลายร้อยล้านบาทที่เสียไป

สำหรับคณะกรรมการประจำหน่วย ในระหว่าง 4 ปีที่ไม่มีการเลือกตั้ง ควรรื้อฟื้นแนวคิดการสร้าง กปน.มืออาชีพ โดยการจัดการอบรมให้เกิดการเรียนรู้ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่ถูกต้อง และให้โอกาสคนที่ผ่านการอบรมเป็นกรรมการประจำหน่วยก่อน

ส่วนตำแหน่งผู้ตรวจการเลือกตั้ง หากประเมินผลแล้วไม่มีประโยชน์ต่อการจัดการเลือกตั้งให้สุจริตเที่ยงธรรมและเป็นการใช้จ่ายงบประมาณโดยไม่เกิดประสิทธิผลใดๆ สมควรยกเลิก

โดยแก้ไขในมาตรา 29, 30 และ 31 ของ พ.ร.ป.คณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560

 

5. ระบบรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการที่เป็นปัจจุบัน

ความโปร่งใสและตอบสนองความต้องการในการรับรู้ผลการเลือกตั้งอย่างรวดเร็วของประชาชนและสื่อมวลชนที่คณะกรรมการการเลือกตั้งควรคิดทบทวน คือ การนำระบบการรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการแบบเป็นปัจจุบัน (Real time) ที่รายงานผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ตโฟนกลับมาใช้

ระบบดังกล่าว ช่วยให้ประชาชนได้ทราบถึงความคืบหน้าในการนับคะแนนหน้าหน่วยที่เป็นปัจจุบัน เกิดความรวดเร็ว โปร่งใส ลดเสียงครหาต่างๆ ที่มีต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ในขณะเดียวกัน ก็ไม่เป็นภาระต่อสื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม ที่ต้องมาลงทุนทรัพยากรทั้งคนทั้งเงินเพื่อทำระบบรายงานผลแบบเรียลไทม์กันเอง ซึ่งนอกจากจะเหนื่อยยาก ยังต้องใช้ทรัพยากรมหาศาลอย่างไม่จำเป็น

ข้ออ้างของการออกแบบไม่ดี ระบบอาจจะล่ม ไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ สามารถแก้ไขได้หากริเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ ไม่ใช่มาคิดไม่กี่เดือนก่อนเลือกตั้ง

ข้อเสนอทั้งห้าประการข้างต้น อาจเป็นบางส่วน บางเรื่องที่ กกต.สามารถรับไปคิด พัฒนา และทำให้ดีในอนาคต

ไม่ใช่ว่าพอเลือกตั้งครั้งหน้า ก็มาให้ประชาชนตั้งคำถามว่า “ที่ผ่านมา 4 ปี ทำอะไรบ้าง”