เทศมองไทย : “อีคอมเมิร์ซ” ไทย ในฐานะ “ฮ็อตสปอต” ของโลก

“แคนทาร์ เวิร์ลด์แพเนล” บริษัทวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคระดับโลกที่มีประสบการณ์นานกว่า 60 ปี มีสำนักงานให้บริการ 60 ประเทศรวมทั้งประเทศไทย เผยแพร่รายงานว่าด้วย พาณิชยกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีคอมเมิร์ซ ฉบับล่าสุดออกมาเมื่อ 27 พฤศจิกายนนี้ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซที่น่าสนใจหลายด้าน ทั้งภาพรวมในระดับโลกและในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย

สเตฟาน โรเจอร์ ผู้อำนวยการส่วนข้อมูลค้าปลีกและช็อปเปอร์ของแคนทาร์ฯ บอกว่ายอดขายสินค้าออนไลน์ทั่วโลกยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

โดยเมื่อปีที่ผ่านมาจนถึงมีนาคม 2017 ขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 30 เปอร์เซ็นต์ เทียบแล้วเป็นการขยายตัวเพิ่มมากกว่าการเพิ่มของปี 2015 เป็น 2 เท่าตัว

แต่ที่น่าสนใจก็คือ แนวโน้มของหมวดสินค้าที่ขายผ่านออนไลน์ เปลี่ยนแปลงไป

ที่เห็นชัดเจนคือการเพิ่มขึ้นของยอดขายสินค้าจำพวกที่เป็นของใช้ประจำวันของบุคคลหรือครอบครัว แบบเดียวกับที่เราเคยซื้อหาจากร้านของชำ เพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์

ในขณะที่ยอดขายสินค้าในกลุ่มที่เรียกว่า “เอฟเอ็มซีจี” (สินค้าที่จำหน่ายเร็ว ต้นทุนต่ำ อาทิ ของเล่น อาหารสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในห้องน้ำ ยา ฯลฯ) กลับเพิ่มขึ้นเพียง 1.3 เปอร์เซ็นต์

แต่ถึงจะเพิ่มขึ้นแบบชะลอตัว แต่การขายสินค้าพวกเอฟเอ็มซีจี ออนไลน์ ก็คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 36 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดของสินค้าจำพวกนี้ทั่วโลก เป็นสัดส่วนที่ถือเป็นสถิติสูงสุดเท่าที่เคยมีมาแล้ว

 

ในรายงานของแคนทาร์ฯ ระบุเอาไว้ว่า เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการขายผ่านออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละประเทศแล้ว ประเทศที่อีคอมเมิร์ซขยายตัวสูงสุดในเชิงมูลค่า ยังคงเป็น 6 ประเทศเดิมที่ถูกเรียกขานกันในแวดวงว่าเป็น “ราชาแห่งอีคอมเมิร์ซ”

เรียงตามลำดับคือ

จีน (มูลค่าเพิ่มขึ้น 52 เปอร์เซ็นต์), เกาหลีใต้ (เพิ่มขึ้น 41 เปอร์เซ็นต์), สหราชอาณาจักร (เพิ่ม 8 เปอร์เซ็นต์), ฝรั่งเศส (เพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์) ต่อด้วยญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ที่มีมูลค่าการขายผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้นพอๆ กันคือ 5 เปอร์เซ็นต์

ที่น่าสนใจก็คือ ในเวลาเดียวกัน พาณิชยกรรมอิเล็กทรอนิกส์เริ่มรุกและขยายตัวเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ทำให้ประเทศที่เป็นตลาดใหม่ๆ ซึ่งถูกเรียกว่า “ฮ็อตสปอตของโลก” เหล่านี้มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการขายออนไลน์ที่น่าประทับใจ

หนึ่งในจำนวนนั้นคือ ประเทศไทย ซึ่งมูลค่าของยอดขายสินค้าออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นกว่าเมื่อปี 2015 สูงถึง 104 เปอร์เซ็นต์

ต่อด้วยมาเลเซีย 88 เปอร์เซ็นต์, เวียดนาม 69 เปอร์เซ็นต์

ปิดท้ายด้วยบราซิล ในอเมริกาใต้

 

แคนทาร์ฯ ให้เหตุผลการขยายตัวของการบริโภคสินค้าออนไลน์เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้ว่า สาเหตุสำคัญเกิดจากการขยายตัวของผู้บริโภคที่คุ้นเคยและชำนิชำนาญในการใช้เทคโนโลยีในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนั้น ยังเป็นเพราะการที่ยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคอย่างอาลีบาบา อาศัยภูมิภาคนี้เป็นฐานเพื่อให้การเติบโตทางธุรกิจอีคอมเมิร์ซของตนเองต่อเนื่องต่อไป

เมื่อตรวจสอบย้อนกลับไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เอเชียถือได้ว่าเป็นภูมิภาคที่เป็นแนวหน้าของโลกในการรับเอารูปแบบการบริโภคออนไลน์เข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ปีที่ผ่านมา อีคอมเมิร์ซในเอเชียก็เติบโตสูงที่สุดของโลกที่ 44 เปอร์เซ็นต์ ต่อด้วยภาคพื้นยุโรป, สหรัฐอเมริกา และละตินอเมริกา

ทั้งหมดเกิดขึ้นจากการขยายตัวของกลุ่มประชากรที่เป็น “ชนชั้นกลางที่เป็นหนุ่มสาวในสังคมเมือง” ของเอเชีย

 

ข้อมูลของแคนทาร์ฯ บอกว่าประเทศอย่างจีนและเกาหลีใต้มีส่วนสำคัญที่ผลักดันให้เอเชียกลายเป็นผู้นำของอีคอมเมิร์ซ

ในจีน มีจำนวนผู้ขึ้นทะเบียนใช้งานสมาร์ตโฟนมากถึง 1,360 ล้านคน

ส่วนในเกาหลีใต้ ผู้บริโภคระหว่างอายุ 10-40 ปี บริโภคสินค้าด้วยการสั่งซื้อออนไลน์ซึ่งส่วนใหญ่ผ่านสมาร์ตโฟนเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

ในประเทศอย่างไทยและมาเลเซีย สัดส่วนการเข้าถึงอีคอมเมิร์ซ สูงเป็นเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน และส่วนใหญ่ก็ผ่านสมาร์ตโฟนอีกด้วย

ข้อมูลที่น่าสนใจของอีคอมเมิร์ซไทย ในรายงานชิ้นนี้ เป็นข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มผู้บริโภคออนไลน์ นั่นคือ อีคอมเมิร์ซในไทย “เป็นที่นิยม” กันในกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นประชากรระดับ “ชนชั้นสูง” ในสังคมมากที่สุด

มูลค่าของการซื้อสินค้าออนไลน์ของคนในกลุ่มนี้คิดเป็น 37 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการซื้อสินค้าออนไลน์ทั้งหมดครับ

ที่ชวนคิดอย่างมากก็คือ แคนทาร์ฯ ย้ำว่า ตลาดใหม่อย่างไทยและมาเลเซียนั้น “เพิ่งเริ่มต้น” เท่านั้นเอง!