ร้อนทั้งชิง ปธ.สภา-นายกฯ | วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

การเปลี่ยนเกมของ กกต. ด้วยการประกาศรับรองผล ส.ส.อย่างเป็นทางการ แบบรวดเร็วขึ้น โดยเอาแบบรับรองหมด 100% ส่วนที่มีข้อร้องเรียนก็ค่อยๆ สอบสวนกันไป แล้วในรายที่มีพยานหลักฐานชัดเจนก็มาสอยตามทีหลัง เช่นนี้แล้วส่งผลให้ขั้นตอนในทางการเมืองขยับมาเร็วขึ้นไปทั้งหมดในทันที

โดยเฉพาะการโหวตเลือกประธานสภา จะเป็นประมาณต้นเดือนกรกฎาคม จากเดิมที่คาดว่าน่าจะประมาณปลายเดือนกรกฎาคม

ส่วนการโหวตแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ก็จะขยับขึ้นมาเป็นกลางเดือนกรกฎาคม จากเดิมที่คาดว่าจะประมาณต้นเดือนสิงหาคม

แต่เพราะการโหวตทั้งประธานสภาและโหวตนายกฯ เชื่อว่าจะมากด้วยกลเกมจากฝ่ายอำนาจเก่า จนทุกอย่างไม่ราบรื่น

ถ้าเล่นกันอย่างน่าเกลียด ก็คาดกันอีกว่า อาจจะส่งผลให้ประชาชนคนเลือกพรรคก้าวไกล เกิดความเดือดดาล กลายเป็นม็อบ กลายเป็นการลงถนน

ดังนั้น เดือนกรกฎาคม จึงกลายเป็นเดือนร้อนแรงในทางการเมือง เพราะไทม์ไลน์มีการเปลี่ยนแปลง ขยับเร็วขึ้นจากเดือนสิงหาคม

ที่ว่าร้อนแรง เพราะกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลที่มีก้าวไกลเป็นแกนนำ ต้องเจอกับขบวนการเตะสกัด ทั้งจากฝ่ายอำนาจเก่าที่จะหมดสิ้นอำนาจหลังเลือกตั้ง ทั้งจากเครือข่ายอนุรักษนิยมการเมือง

แม้ว่าพรรคการเมือง 8 พรรคฝ่ายประชาธิปไตยจะผนึกกันแน่น ภายใต้ 312 เสียง แต่ต้องเจอกับด่าน ส.ว. ซึ่งตั้งกำแพงหนาแน่นไม่ยอมให้ชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผ่านไปได้ ขณะที่พรรคก้าวไกลจำเป็นต้องอาศัยเสียง ส.ว.จำนวน 64 เสียง จึงจะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของ 2 สภา

ยังไม่รู้ว่าสุดท้ายการพูดคุยเจรจาจะสามารถดึง ส.ว.ได้ถึง 64 เสียงมาร่วมโหวตได้หรือไม่!?

ขณะเดียวกัน ก่อนจะถึงวันโหวตแต่งตั้งนายกฯ จะต้องโหวตแต่งตั้งประธานสภาเสียงก่อน ซึ่งเกิดประเด็นปัญหา 2 ประการ คือ 1.ความขัดแย้งระหว่างก้าวไกลกับเพื่อไทย แม้ว่าภายหลังแกนนำเพื่อไทยจะยอมถอย โดยใช้หลักพรรคอันดับ 1 ได้ประธานสภา ส่วนพรรคอันดับ 2 ที่เสียงใกล้เคียงกันได้ 2 รองประธานสภา

แต่ไปๆ มาๆ ส.ส.ของเพื่อไทยเริ่มก่อหวอด ไม่เห็นด้วยกับการยกประธานสภาให้ก้าวไกล

จังหวะนี้เอง เลยเกิดประเด็นที่ 2 นั่นคือ เกิดข่าวสะพัดว่า พรรคในขั้วรัฐบาลเดิม กำลังเดินเกมเสนอชื่อคนของเพื่อไทยชิงเก้าอี้ประธานสภา เพื่อแข่งกับก้าวไกล

แน่นอนว่า พรรคเพื่อไทยได้ออกมาปฏิเสธกระแสข่าวนี้ โดยยืนยันว่าเป็นเกมเสี้ยมให้เพื่อไทยขัดแย้งกับก้าวไกล

กระนั้นก็ตาม เมื่อเกิดความเคลื่อนไหวในหมู่ ส.ส.ของเพื่อไทย ไม่ยินยอมให้ยกเก้าอี้ประธานสภาให้ก้าวไกล นี่อาจจะทำให้กระแสที่พรรครัฐบาลเดิมจะดันเพื่อไทยชิงประธานสภา อาจมีน้ำหนักมากขึ้น

เอาเป็นว่า ศึกแรก คือการตั้งประธานสภา มีประเด็นแทรกซ้อนร้อนแรงขึ้นมาแล้ว!!

 

ถัดจากการตั้งประธานสภาในต้นเดือนกรกฎาคม มาถึงกลางเดือนกรกฎาคม จะถึงคิวโหวตแต่งตั้งนายกฯ ซึ่งบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ให้อำนาจ 250 ส.ว. ร่วมโหวตนายกฯ รอบนี้เป็นหนสุดท้าย แต่ก็ได้สร้างความปั่นป่วนอย่างรุนแรง

เสียงของประชาชน 14 ล้านที่เลือกก้าวไกล กำลังถูกท้าทายจาก ส.ว.ที่มี 250 เสียง โดยตั้งท่าปฏิเสธพรรคก้าวไกลและพิธา ด้วยข้ออ้างอุดมการณ์แบบอนุรักษนิยมการเมือง ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงแบบแหลมคม

ในช่วงเวลาที่เหลือ จึงขึ้นกับทีมการทูตของก้าวไกล ในการจับเข่าพูดคุยขอเสียงจาก ส.ว. ว่าจะทำได้สำเร็จหรือไม่ กับภารกิจขอ 64 ส.ว.มาร่วมโหวตให้พิธา

แต่ถ้าทำไม่สำเร็จ สูตรทางการเมืองก็เหลืออีกทางเดียวคือ ให้พรรคอันดับ 2 เป็นนายกฯ แทน

จึงเกิดกระแสข่าวว่า ส.ว.ส่วนใหญ่ตั้งป้อมค้านพิธา แต่จะยอมให้แคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทยเป็นแทน เพราะวันนี้ด้วยความแหลมคมของก้าวไกล ทำให้เพื่อไทยดูดีขึ้นในสายตาอำนาจเก่า

เพราะเชื่อว่า พรรคเพื่อไทย เน้นแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่ในทางการเมืองยังคงใช้แนวทางประนีประนอมกับเครือข่ายอนุรักษนิยม

เครือข่ายขุนศึกขุนนางไม่มีทางเลือกอื่น เพราะขุนพลของฝ่ายตนเอง คือ พรรคลุงๆ ได้เข้าสภามาน้อยนิด ไม่มีทางที่จะเกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อยบวกกับ 250 ส.ว.ได้

*เครือข่ายอำนาจเก่า ซึ่งมีภารกิจจะต้องหยุดพิธาและก้าวไกล จึงต้องเลือกใช้บริการเพื่อไทยให้เป็นนายกฯ แทน*

จึงคาดกันว่า ขณะที่ขั้ว 8 พรรค ที่มีก้าวไกลเป็นแกนนำ ตามด้วยเพื่อไทย จะเสนอชื่อพิธาเป็นนายกฯ เพื่อฝ่าด่าน 250 ส.ว.ให้ได้ ถึงเวลานั้น ความร้อนแรงของการเมืองทั้งในสภาและนอกสภา ต้องประเมินกันว่าร้อนแรงระดับไหน อันจะมีผลต่อการตัดสินใจของ 250 ส.ว.

ถ้ายังยืนกรานไม่เอาพิธา สุดท้ายคงจะเปิดทางให้เพื่อไทยแทน

ขณะที่เพื่อไทยนั้น แคนดิเดตนายกฯ มี 3 ชื่อ แต่ก็ชัดเจนว่า ครอบครัวชินวัตร ต้องการให้อุ๊งอิ๊งเรียนรู้การเมืองอีกสักสมัย แคนดิเดตเบอร์ 1 จึงมาตกที่เศรษฐา ทวีสิน

ดังนั้น โอกาสการตั้งนายกฯ คนที่ 30 อันดับแรกต้องสู้กันด้วยการเสนอชื่อ พิธา ต้องฝ่าด่าน ส.ว.ไปให้ได้ ขณะที่ ส.ว.มีเป้าจะให้เศรษฐาเป็นแทน

ถึงเวลานั้น สถานการณ์โดยรวมจะกำหนดว่า เก้าอี้นายกฯ จะออกมาแบบไหน!

 

การพลิกท่าทีใช้วิธีรับรอง ส.ส.แบบปล่อยผีไปทั้ง 500 ส.ส. แล้วค่อยมาตามสอยทีหลัง วิเคราะห์กันว่าเพราะ กกต.ไม่อาจรับแรงกดดันเสียงวิจารณ์จนหูอื้อจากประชาชน ที่มองว่า กกต.รับรอง ส.ส.ล่าช้า ทำให้การตั้งรัฐบาลล่าช้า กระทบตามมาอีกหลายด้าน

ประการต่อมา เผือกร้อนอีกก้อนที่อยู่ในมือ กกต. ก็คือ คดีการถือหุ้นสื่อของพิธา ซึ่ง กกต.เลือกจะสอบสวนตามมาตรา 151 คดีอาญา นั่นแปลว่า คดีหุ้นจะใช้เวลา และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องได้ต่อสู้คดีตามกระบวนการอาญา ซึ่งสามารถพิสูจน์พยานหลักฐานได้มากมาย

แต่ก็มีแรงกดดันจากฝ่ายเครือข่ายอำนาจเก่า ต้องการให้ กกต. ใช้มาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อส่งคดีหุ้นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

ท่ามกลางแรงกดดันสารพัด เชื่อว่าทำให้ กกต.ตัดสินใจปล่อยผี 250 ส.ส. ซึ่งหมายถึงมีชื่อพิธารวมอยู่ด้วย เพื่อทำให้การตั้งประธานสภา และตั้งนายกฯ เร็วขึ้น

ภารกิจในการหยุดยั้งพิธา ก็จะเบาลงไปสำหรับ กกต. เพราะภารกิจนี้จะส่งผ่านไปที่ ส.ว.แทน เนื่องจากคดีหุ้นยังช้า ก็ต้องไปว่ากันในวันโหวตแต่งตั้งนายกฯ ซึ่ง ส.ว.จะต้องเป็นผู้รับภารกิจร้อนนี้เอง

ทั้งหลายทั้งปวงเมื่อไทม์ไลน์การเมืองขยับเขยื้อนมาเร็วขึ้นเช่นนี้ ส่งผลถึงกำหนดกลับไทยของทักษิณ ชินวัตร ไปด้วย

จากเดิมทีที่ตั้งใจกลับเดือนกรกฎาคม เพื่อมาเข้ากระบวนการยุติธรรม เนื่องจากเป็นช่วงที่รัฐบาลใหม่ยังไม่เสร็จ ยังอยู่ในอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐบาลรักษาการ จึงเป็นจังหวะที่ทักษิณเห็นว่าเหมาะที่สุด

เพราะถ้ากลับหลังตั้งรัฐบาลเสร็จ ซึ่งมีเพื่อไทยร่วมด้วย จะเกิดปมประเด็นต่อต้านทางการเมือง และกระทบถึงรัฐบาลใหม่ไปด้วย

แต่บัดนี้เมื่อทั้งศึกประธานสภาและศึกแต่งตั้งนายกฯ ร่นขึ้นมาอยู่ในเดือนกรกฎาคม ก็มีข่าวว่าทักษิณคงต้องประเมินสถานการณ์ใหม่ อาจต้องดูวันเวลาตีตั๋วกลับไทยเสียใหม่

อย่างน้อยก็ลดเงื่อนไขที่จะกระทบกับการเดินหน้าไปสู่ทำเนียบรัฐบาลของก้าวไกลและเพื่อไทยลงไปได้ส่วนหนึ่ง

แต่ถึงอย่างไร ทอดสายตาไปมองสถานการณ์ในเดือนกรกฎาคม มองเห็นความระทึกเร้าใจรออยู่อย่างแน่นอน!