เมื่อไทยเชิญอาเซียน ถกประเด็น ‘เมียนมา’

เทศมองไทย

 

เมื่อไทยเชิญอาเซียน

ถกประเด็น ‘เมียนมา’

 

การนัดหารือ “อย่างไม่เป็นทางการ” ระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของ 10 ชาติสมาชิกอาเซียนบวกกับจีน เพื่อ “จับเข่าคุยกัน” ว่าด้วยเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเมียนมา ที่ลุกลามจนกลายเป็น “สงครามกลางเมือง” กลายๆ

ควรเป็นการหารืออย่างเงียบๆ ไม่กระโตกกระตาก ชนิดได้ผลลัพธ์ก็ดีไป ไม่ได้อะไรก็แล้วไปเหมือนกัน แต่เอาเข้าจริงเรื่องนี้กลับกลายเป็น “เรื่องฉาว” ที่วิพากษ์วิจารณ์กันเป็นวงกว้างไปในทางลบเสียเป็นส่วนใหญ่

ทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อ “จดหมายเชิญ” ไปยังบางประเทศถูกนำมาเผยแพร่ผ่านสื่อ ชี้ให้เห็นว่า 1 ในตัวแทนที่ถูกเชื้อเชิญเข้าร่วมการหารือ คือตัวแทนของรัฐบาลทหารเมียนมา ที่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ก่อปฏิกิริยาไม่สู้ดีตั้งแต่แรกเริ่ม

ส่งผลให้หลายชาติสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะชาติสำคัญอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ไม่ตอบรับคำเชิญเข้าร่วมการหารือครั้งนี้ อีกบางชาติส่งเจ้าหน้าที่ระดับล่างมาเป็นตัวแทน

หลงเหลือเพียงตัวแทนจากบรูไน, กัมพูชา, อินเดีย, ลาว, เวียดนาม แล้วก็จีน

 

ว่ากันว่า ในจดหมายเชื้อเชิญจากกระทรวงการต่างประเทศของไทย ระบุว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายาม “กลับเข้าไปมีความสัมพันธ์” กับเมียนมาอีกครั้ง

วิเวียน พลากฤษนัน รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์บอกว่า “ยังเร็วเกินไปที่จะกลับไปมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหาร ในการประชุมระดับสุดยอดระดับประมุข หรือแม้กระทั่งในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ”

ถัดมา รัฐบาลมาเลเซียออกแถลงอย่างเป็นทางการ ย้ำว่า แซมบรี อับดุล คาดีร์ รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซียจะไม่เข้าร่วมในการประชุมดังกล่าว “เนื่องจากพันธะผูกพันก่อนหน้านี้”

ในถ้อยแถลงเน้นย้ำว่า “ฉันทามติ 5 ข้อ” ของอาเซียนว่าด้วยกรณีเมียนมา “ยังคงเป็นหลักอ้างอิงและพันธกิจเพื่อการแก้ไขปัญหาเมียนมา”

อินโดนีเซียแจกแจงคล้ายคลึงกันว่า ไม่เข้าร่วมเพราะเห็นว่า “ยังจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องรักษาแรงเหวี่ยงที่ดำรงอยู่ในเวลานี้” พร้อมๆ กับชี้ว่าบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนก็จะพบหารือกันอยู่แล้วในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ที่จาการ์ตา

รัฐบาลเพื่อเอกภาพแห่งชาติ (เอ็นยูจี) รัฐบาลเงาที่อ้างตัวว่าเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมของเมียนมาออกมาประณามการดำเนินการของไทย และชี้ว่า “เชิญตัวแทนของรัฐบาลทหารที่ไม่ชอบธรรมถูกต้องตามกฎหมายของเมียนมามาร่วมหารือ จะไม่มีวันก่อให้เกิดหนทางแก้ไขวิกฤตการเมืองในเมียนมาอย่างแน่นอน”

รัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (เอพีเอชอาร์) ที่เป็นเครือข่ายของสมาชิกรัฐสภาในชาติอาเซียนทั้งที่เป็นอดีตและที่เป็นปัจจุบันให้ความเห็นว่า “การกลับไปมีความสัมพันธ์” กับรัฐบาลทหารเมียนมาในเวลานี้ เท่ากับเป็นการ “ทรยศ” ต่อประชาชนชาวเมียนมา

 

นักวิชาการอย่าง ฮันเตอร์ มาร์สตัน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (เอเอ็นยู) บอกกับ มาเรีย เซียว แห่งเซาธ์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ว่า ถึงแม้ไทยจะอ้างว่า การดำเนินการครั้งนี้ก็เพื่อช่วย “เสริม” ความพยายามของกลุ่มอาเซียนในการแก้ปัญหาเมียนมา แต่กลับก่อให้เกิด “ความแตกแยก” ขึ้นภายในอาเซียน เพราะเท่ากับเป็นการ “บังคับให้เลือก” ในประเด็นที่ชวนให้ “อึดอัด” อย่างยิ่งสำหรับชาติสมาชิก

ดีดี้ ดินาร์โต นักวิเคราะห์ชาวอินโดนีเซีย ของโกลบอล เคาน์เซล บริษัทที่ปรึกษาเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กับมาเรีย เซียว เช่นกันว่า ยิ่งนับวันไทยยิ่งเป็นกังวลกับวิกฤตในเมียนมา ที่ส่งผู้ลี้ภัยหลบหนีข้ามแดนเข้ามาในไทยเป็นระลอกๆ

เขาชี้ให้เห็นว่า ภายในอาเซียนไม่ได้มีข้อบังคับหรือข้อห้ามใดๆ ไม่ให้ชาติสมาชิก “จัดการประชุมหารือกันอย่างไม่เป็นทางการขึ้น” ไม่ว่าจะเป็นในหมู่สมาชิกเองหรือกับชาติที่เป็นคู่เจรจา แต่กลายเป็น “เรื่องถกเถียง” กันขึ้นมาเพราะสิ่งที่ไทยพยายามริเริ่มนั้น ไปขัดกับ “ท่าทีอย่างเป็นทางการ” ของอาเซียน

เขาชี้ให้เห็นว่า วิกฤตเมียนมายิ่งเลวร้ายลงเท่าใดก็ยิ่งเป็นอันตรายต่อชาติเพื่อนบ้านในภูมิภาคมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

ที่น่าสนใจก็คือ ดินาร์โตกลับเห็นว่า การที่มีประเทศคู่เจรจาอย่างจีนอยู่ด้วย น่าจะกลายเป็น “โอกาส” อันดีสำหรับชาติที่เข้าร่วมในการหารือจะได้แยกออกไปหารือกับทางการจีนต่อในอนาคต

“การสานสนทนาที่มีความหมาย สามารถเกิดขึ้นได้ผ่านช่องทางและระดับหลากหลาย” ควรหลีกเลี่ยงการพึ่งพาแต่อาเซียน ว่าเป็นช่องทางเดียวในการแก้ปัญหา

 

ไม่ว่าใครจะมีความคิดเห็นอย่างไร ในทางลบหรือบวกแค่ไหน ข้อเท็จจริงที่ไม่มีวันหลีกเลี่ยงได้ 2-3 ประการก็คือยังคงอยู่ให้เห็นเป็นประจักษ์

หนึ่งคือ ในช่วงขวบปีที่ผ่านมา อิทธิพลภายนอก แม้แต่จากอาเซียนเอง ส่งผลต่อรัฐบาลทหารเมียนมาน้อยอย่างยิ่ง เรียกได้ว่าแทบไม่มีเลย

หนึ่งคือ ความเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขปัญหาในเมียนมา แทบไม่เกิดขึ้นอีกเลย ถึงขนาดผู้จัดทำรายงานพิเศษว่าด้วยเมียนมาของสหประชาชาติ ระบุว่า โลกลืมเมียนมาไปแล้ว

อีกหนึ่งคือ ยิ่งนับวันสถานการณ์ในเมียนมายิ่งแย่ลงเรื่อยๆ และชาติที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือไทยเรานี่เองครับ