เมื่อ ‘เกลนดา แจ็กสัน’ วิพากษ์ ‘ลัทธิแทตเชอร์’ ในวันไว้อาลัย ‘นายกฯ หญิงเหล็ก’

คนมองหนัง
Glenda Jackson campaigning with Gordon Brown ahead of the 2010 election (Photo: Getty Images)

“เกลนดา แจ็กสัน” นักแสดง-นักการเมืองหญิงชาวอังกฤษ เพิ่งเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ขณะมีอายุ 87 ปี

ในฐานะนักแสดง แจ็กสันเคยได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมสองหน จากภาพยนตร์เรื่อง “Women in Love” ในปี 1970 และ “A Touch of Class” ในปี 1973 หลังยุติบทบาทนักการเมือง เธอก็ยังกลับมารับงานแสดงละครเวที ภาพยนตร์โทรทัศน์ และภาพยนตร์อีกจำนวนหนึ่ง

ในฐานะนักการเมือง แจ็กสันซึ่งเติบโตจากครอบครัวชนชั้นแรงงาน เคยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของกรุงลอนดอน สังกัดพรรคแรงงาน ติดต่อกัน 5 สมัย ระหว่างปี 1992-2015

ฉากสำคัญในช่วงท้ายชีวิตทางการเมืองของแจ็กสัน คือ การที่เธอลุกขึ้นวิพากษ์-ประณามผลเสียหายจาก “ลัทธิแทตเชอร์” ในบรรยากาศที่สภาผู้แทนราษฎร/สภาสามัญชนของสหราชอาณาจักรกำลังเปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปรายยกย่อง-ไว้อาลัยอดีตนายกรัฐมนตรี “มาร์กาเรต แทตเชอร์” ที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2013

ในวาระที่แจ็กสันเพิ่งจากไป จึงขออนุญาตแปลสาระสำคัญของคำอภิปรายอันกล้าหาญและแหวกแนวครั้งนั้น มานำเสนอในฉบับภาษาไทย ดังนี้

 

…ตอนที่ดิฉันลุกขึ้นอภิปรายครั้งแรกในที่ประชุมสภาแห่งนี้ หรือเมื่อกว่าสองทศวรรษก่อน “มาร์กาเรต แทตเชอร์” ไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรแล้ว แต่ “ลัทธิแทตเชอร์” ยังคงสร้างความเสียหายอย่างต่อเนื่อง และยังคงทำงานของมันมาจนถึงทศวรรษก่อน

นำไปสู่ความเสียหายทางสังคม เศรษฐกิจ และจิตวิญญาณอันชั่วร้าย ต่อประเทศนี้ ต่อพื้นที่เขตเลือกตั้งของดิฉัน และต่อประชาชนในเขตเลือกตั้งดังกล่าว

บรรดาโรงพยาบาลในท้องถิ่นของเราต้องดำเนินการไปบนความว่างเปล่า เหล่าคนไข้ต้องใช้ชีวิตอยู่บนรถเข็นเต็มทางเดินในตึก ดิฉันนึกจินตนาการด้วยความหวาดกลัวว่า อัตราการเสียชีวิตของประชาชนผู้รับเงินบำนาญจากรัฐในฤดูหนาวนี้จะสูงเพียงใด ถ้าหากลัทธิแทตเชอร์ยังคงดำเนินงานอย่างสมบูรณ์เต็มที่ในปีนี้

บรรดาโรงเรียน ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ ผู้บริหารท้องถิ่น แม้กระทั่งนักเรียนของพวกเรา ดูเหมือนจะต้องสูญเสียเวลาจำนวนมากไปกับกิจกรรมการระดมทุน เพื่อนำเงินมาจัดซื้อครุภัณฑ์ขั้นพื้นฐาน เช่น กระดาษและดินสอ ให้เพียงพอกับความต้องการ

ผนังปูนในห้องเรียนของเรายังคงสภาพอยู่ได้ด้วยงานศิลปะของเด็กๆ และเทปใสที่ถูกแปะทับเอาไว้ รวมระยะทางได้เป็นหลายไมล์

ห้องสมุดในโรงเรียนของเราเต็มไปด้วยชั้นวางหนังสืออันว่างเปล่า และมีหนังสือหลงเหลืออยู่เพียงน้อยนิด หนังสือที่ถูกปะซ่อมด้วยเทปกาวเต็มไปหมด ชิ้นส่วนจากวอลล์เปเปอร์ห้องพักครูถูกนำมาใช้ผูกยึดหนังสือเหล่านั้น เพื่ออย่างน้อย หน้าต่างๆ ในหนังสือจะได้ไม่หลุดแยกออกจากกัน

 

ยิ่งกว่านั้น ตัวอย่างที่ชั่วร้ายและสั่นสะเทือนความรู้สึกที่สุดของลัทธิแทตเชอร์ไม่ได้เกิดขึ้นแต่ในกรุงลอนดอน ทว่า แพร่ลามไปทั่วทั้งประเทศ

ตามเมืองใหญ่ๆ ในทุกๆ ค่ำคืน บริเวณหน้าร้านค้าทุกแห่งจะแปรสภาพกลายเป็นห้องนอน ห้องนั่งเล่น รวมถึงห้องน้ำ ของบรรดาคนไร้บ้านทั้งหลาย ซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นพันๆ ราย และมีคนไร้บ้านไม่น้อยเลยที่ถูกผลักไสออกมาบนท้องถนน เนื่องมาจากนโยบายปิดโรงพยาบาลจิตเวชหลายแห่ง

เขาบอกพวกเราว่า สิ่งนี้จะถูกเรียกว่า และมันเคยถูกเรียกว่า “การเอาใจใส่กันภายในชุมชน” แต่ผลกระทบของนโยบายนี้ ก็คือ การไม่มีความห่วงใยเอาใจใส่ใดๆ เกิดขึ้นภายในชุมชนแม้เพียงนิดเดียว

ดิฉันรู้สึกสนใจ เมื่อได้ทราบว่าบารอนเนสแทตเชอร์มีความตั้งใจที่จะเชื้อเชิญเหล่า “คนที่ไม่มีที่ไป” ให้ไปร่วมงานฉลองคริสต์มาสของเธอ

มันเป็นเรื่องน่าอดสูเหลือเกินที่เธอไม่มีนโยบายก่อสร้างบ้านการเคหะให้มากขึ้น ภายหลังจากที่เธอได้รับสิทธิ์ที่จะจับจองมัน เพราะถ้าเรามีที่อยู่อาศัยเพื่อสังคมเยอะขึ้น คนไร้บ้านก็จะมีจำนวนน้อยลงกว่าที่เคยมี ณ ตอนนั้น…

Glenda Jackson / (Photo by ANGELA WEISS / AFP)

แล้วก็มาถึงรากฐานของลัทธิแทตเชอร์ ดิฉันขออนุญาตกล่าวถึงองค์ประกอบทางจิตวิญญาณของสิ่งที่ดิฉันเห็นว่าเป็นการนำพาประเทศนี้ไปสู่ภาวะหลงทิศผิดทางอย่างน่าสิ้นหวังของลัทธิดังกล่าว

ทุกๆ อย่างที่ดิฉันเคยถูกสอนมาว่ามันเป็นความชั่วร้าย และจนถึงตอนนี้ ดิฉันก็ยังมองว่ามันเป็นความชั่วร้าย แต่ภายใต้ลัทธิแทตเชอร์ ความชั่วร้ายเหล่านั้นกลับกลายเป็นความมีคุณธรรม ทั้งความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความไม่ใส่ใจไยดีคนอ่อนแอ ความมักใหญ่ใฝ่สูงจนข้ามหัวและลดทอนข้อดีของคนอื่น ทั้งหมดนี้คือวิถีทางที่เคยดำเนินไป

เราได้ยินมามาก และจะได้ยินเรื่องทำนองนี้ไปตลอดสัปดาห์หน้า เกี่ยวกับอุปสรรคต่างๆ นานาที่พังทลายลง และสถาบันทางอำนาจที่ถูกทำลายลง โดยลัทธิแทตเชอร์

เรื่องที่พวกเราได้รับฟัง ผ่านถ้อยคำพรรณนาอันแพรวพราวงดงาม ก็คือ แทตเชอร์ได้สร้างสรรค์สังคมอันเต็มไปด้วยความปรารถนา แต่เป็นความปรารถนาในเชิงวัตถุสิ่งของ

ดังที่อดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง ซึ่งต่อมาไปทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภาขุนนาง ได้เคยเล่าเรื่องที่เขานำเครื่องเงินของวงศ์ตระกูลออกมาขาย และผู้คนในยุคสมัยนั้นต่างก็ตีราคาข้าวของทุกอย่างได้หมด ทว่า ไม่เคยมองเห็นคุณค่าของสิ่งใดเลย

สิ่งที่น่ากังวล ก็คือ ดิฉันเริ่มจะมองเห็นถึงแนวโน้มในการถือกำเนิดขึ้นใหม่ของการพูดจาใส่ร้ายต่อรากฐานทางจิตวิญญาณของประเทศนี้ตามทรรศนะของดิฉัน

ประเทศที่พวกเราห่วงใยใส่ใจในสังคม ประเทศที่พวกเราเชื่อในชุมชน ประเทศที่พวกเราไม่ทอดทิ้งประชาชนคนไหนไว้ข้างหลัง และไม่ปล่อยให้พวกเขาเคว้งคว้างอยู่บนทางอีกเส้นหนึ่ง

สิ่งเหล่านั้นยังไม่บังเกิดขึ้นในวันนี้ แต่ถ้าเราย้อนเวลาไปสู่จุดสูงสุดของยุคสมัยแทตเชอร์ ดิฉันหวาดกลัวว่าเราจะได้พบเห็นภาพซ้ำๆ เกิดขึ้นอีกครั้ง

เมื่อความเสียหายต่อมนุษย์ในระดับใหญ่หลวงก่อตัวจากชาติที่ทนทุกข์ทรมาน และเหล่าอัจฉริยบุคคลต้องละทิ้งความสามารถพิเศษของพวกตนไปอย่างสูญเปล่า เนื่องจากการมองไม่เห็นคุณค่าในระดับปัจเจกชนของมนุษย์ทุกๆ คน โดยสิ้นเชิง

 

เพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติของดิฉันจากเขตแฮกนีย์ นอร์ธ และสโต๊ก นิวอิงตัน (ไดแอน แอบบอตต์) ได้อ้างอิงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า แม้เธอกับเลดี้แทตเชอร์จะมีมุมมองแตกต่างกันในเรื่องนโยบายจำนวนมาก แต่เธอก็รู้สึกถึงพันธะความรับผิดชอบที่จะต้องมาอภิปรายยกย่อง “นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก” ของประเทศ ในสภาแห่งนี้

ดิฉันเป็นคนรุ่นที่ถูกเลี้ยงดูมาโดยบรรดาผู้หญิง เพราะผู้ชายทั้งหลายต่างต้องออกไปรบเพื่อปกป้องอิสรภาพของพวกเรา

ผู้หญิงเหล่านั้นไม่เพียงแต่ขับเคลื่อนรัฐบาล หากพวกเธอยังขับเคลื่อนประเทศด้วย ผู้หญิงจำนวนมากที่ดิฉันรู้จัก ผู้หญิงที่เคยเลี้ยงดูดิฉันและคนแบบดิฉันอีกหลายล้านราย ผู้หญิงที่บริหารกิจการโรงงานและธุรกิจต่างๆ ของพวกเรา ผู้หญิงที่ช่วยกันดับไฟหลังระเบิดลง

ผู้หญิงเหล่านั้นอาจไม่ได้ตระหนักถึงนิยาม “ความเป็นผู้หญิง” ที่เชื่อมร้อยอยู่กับการเป็นต้นแบบอันโดดเด่นของ “มาร์กาเรต แทตเชอร์”

การยกย่องสรรเสริญนายกรัฐมนตรีคนแรกที่เป็น “เพศหญิง” นั้นคือเรื่องพอรับได้ แต่ถ้าในฐานะ “ผู้หญิง” คนหนึ่ง? แทตเชอร์ไม่ได้เป็น “ผู้หญิง” ตามนิยามความหมายของดิฉัน •

 

เนื้อหาจาก https://www.opendemocracy.net/en/shine-a-light/thatcher-woman-not-on-my-terms/

 

| คนมองหนัง