‘แบรนด์’ โรงเรียน | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ
นักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ
ภาพจาก นักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ

ช่วงเวลาที่ผมกำลังเขียนบทความนี้ ชื่อของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการกำลังติดอันดับท็อปฮิตในข่าวคราวต่างๆ ประเด็นเรื่องน้องหยกกับโรงเรียนดังกล่าวกำลังนัวเนียมาก

ระหว่างเวลาที่ความคิดเห็นต่างจิตต่างใจกำลังคละคลุ้งอยู่นี้ ผมขออนุญาตที่จะมาพูดคุยถึงเรื่องประเด็นเล็กน้อยที่เป็นความรู้และข้อสังเกตเกี่ยวกับสังคมไทยเรานิดหนึ่งนะครับ

ประเด็นที่ผมจะยกขึ้นกล่าวในที่นี้คือเรื่องของ “แบรนด์” ของสถาบันการศึกษาต่างๆ

 

หลายท่านที่อายุอานามไล่เลี่ยกันกับผมย่อมเคยได้ยินสำนวนที่มีผู้พูดว่า “นามนั้นสำคัญไฉน” กันมาบ้างแล้ว สำนวนนี้บ่งความว่าผู้พูดให้ความสำคัญกับเนื้อหาสาระของเรื่องหรือของสิ่งที่ปรากฏจริงมากกว่าชื่อเสียงเรียงนาม

แต่เอาเข้าจริงแล้ว ชื่อซึ่งมี “ชื่อเสียง” หมายความว่าเป็นชื่อที่ได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นชื่อที่มีคุณภาพกำกับพ่วงมาด้วย ก็ยังมีความหมายมีความสำคัญอยู่ดี

มิเช่นนั้นแล้ว เราจะต้องมีกฎหมายคุ้มครองเรื่องเครื่องหมายการค้าหรือเรื่องของชื่อยี่ห้อต่างๆ หรือครับ

สินค้าประเภทเดียวกันแต่มาจากผู้ผลิตต่างโรงงาน ถ้าหากใช้ชื่อซ้ำกันโดยไม่มีการควบคุมห้ามปราม ผู้ซื้อก็ลำบากแย่ เพราะอาจได้สินค้าประเภทเดียวกันก็จริงแต่คุณภาพไม่เหมือนกัน สมัยนี้ต้องเรียกว่า “ไม่ตรงปก”

ข้างฝ่ายผู้ขายก็เดือดร้อน เพราะมีคู่แข่งการค้าที่ใช้กลยุทธ์ที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าวข้างต้น แถมบางครั้งผู้ซื้อก็เข้าใจผิดว่าสินค้าที่มีคุณภาพของเราเองที่ใช้ยี่ห้ออย่างนี้อย่างนั้น บัดนี้คุณภาพตกต่ำไปเสียแล้ว เลยพาลจะเลิกอุดหนุนเลยทีเดียว

และแล้วความคิดในเรื่องแบรนด์หรือชื่อยี่ห้อที่มีความโด่งดังนี้ก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่สินค้าในท้องตลาดทั่วไปเท่านั้น หากแต่ได้ลุกลามเข้ามาถึงแวดวงการศึกษาด้วย

เรื่องนี้ผมพูดด้วยความภาคภูมิใจและเต็มปากเต็มคำว่าผมมีชีวิตยืนยาวมาจนกระทั่งถึงความเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการของเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน

ขอยกตัวอย่างเรื่องโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการนี้เป็นสารตั้งต้นนะครับ

 

ตั้งแต่ยุคสมัยของพ่อแม่ผมในช่วงเวลาก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เวลานั้นกระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งโรงเรียนใหม่ขึ้นโรงเรียนหนึ่ง เป็นโรงเรียนที่มีลักษณะแปลกกว่าโรงเรียนอื่นทั่วไป เพราะโรงเรียนทั้งหลายในสมัยนั้นถ้าจะมีชั้นมัธยมปลาย ซึ่งเวลานั้นเรียกว่ามัธยมเจ็ดและมัธยมแปด เขาก็มีนักเรียนชั้นเล็กกว่านั้นมาก่อน ตั้งแต่ชั้นมัธยมต้นหรือไล่ลงไปจนถึงชั้นประถมโน่น

แต่แล้วด้วยเหตุผลกลใดอันยืดยาวก็ตามที ในเวลาใกล้เคียงกันได้มีการจัดตั้งโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนแต่เฉพาะชั้นมัธยมปลายขึ้นสองแห่ง สำหรับสอนนักเรียนเฉพาะชั้นมัธยมปลายเพียงแค่สองปีโดยตั้งเป้าหมายที่จะป้อนนักเรียนที่เรียนจบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ในเวลานั้นเพียงแค่สองแห่ง คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง

โรงเรียนทั้งสองแห่งนี้จึงใช้คำว่า “โรงเรียนเตรียม” เพราะเป็นการเตรียมความพร้อมของนักเรียนเข้าสู่มหาวิทยาลัยที่เป็นระดับอุดมศึกษา

โรงเรียนสำหรับเตรียมนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฯ คนทั่วไปเรียกชื่อว่า “เตรียม ม.ธ.ก.”

ส่วนโรงเรียนที่ทำหน้าที่เตรียมนักเรียนเข้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกชื่อกันตามความคุ้นเคยว่า “เตรียมจุฬาฯ” โดยย่อมาจากชื่อเต็มว่า โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ครั้นเวลาผ่านไปหลายสิบปี โรงเรียนเตรียมธรรมศาสตร์นั้นเลิกกิจการไปเสียแล้ว ฝ่ายโรงเรียนเตรียมจุฬาฯ ยังคงดำเนินกิจการสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน

แต่ตัดสร้อยคำว่า “แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ออกไปเสีย เพราะไม่ได้อยู่ในสังกัดหรือในกำกับของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกต่อไปดุจเดิมแล้ว

เพียงแต่ยังอาศัยที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่ทำการตามนัยประวัติที่มีมาแต่ก่อน

คงปรากฏชื่อที่เป็นทางการว่า โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เท่านั้น

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่ว่านี้มีประวัติความเป็นมายาวนาน มีนักเรียนเก่าที่ประสบความสำเร็จเป็นเกียรติยศชื่อเสียงกับโรงเรียนจำนวนมาก

สถิติการเข้าเรียนในโรงเรียนนี้แล้วสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้สมตามความประสงค์ของผู้เรียนก็อยู่ในระดับสูง

เรียกว่าแบรนด์ “โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา” นี้ติดตลาดล่ะครับ

 

เมื่อราวปีพุทธศักราช 2514 ตอนนั้นผมเป็นนักเรียนอยู่ที่โรงเรียนสาธิตปทุมวันซึ่งอยู่ในรูปเดียวกันกับโรงเรียนเตรียมฯ ได้เห็นสิ่งแปลกใหม่อย่างหนึ่งเกิดขึ้น คือมีความคิดของกระทรวงศึกษาธิการเวลานั้นที่จัดตั้งโรงเรียนสาขาของโรงเรียนเตรียมฯ ขึ้น แต่ท่านผู้ใหญ่ในเวลานั้นไม่ได้คิดจะนำเอาชื่อโรงเรียนเตรียมฯ ติดตัวไปใช้ที่โรงเรียนใหม่ด้วย หากแต่ท่านคิดชื่อใหม่สำหรับโรงเรียนใหม่นี้เลยครับ

โรงเรียนที่ว่านี้คือโรงเรียนบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ที่เวลานี้ตั้งอยู่ใกล้กันกับมหาวิทยาลัยรามคำแหงนั่นเอง โรงเรียนบดินทร์ฯ ในยุคฟักไข่หรือก่อร่างสร้างตัวยังไม่มีโรงเรียนถาวรที่ย่านโน้น ต้องอาศัยพื้นที่ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาตรงถนนพญาไทนี่แหละเป็นสถานที่เรียน ครูบาอาจารย์ก็อาศัยอาจารย์ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาช่วยประคับประคองไปก่อน จนกว่าการก่อสร้างโรงเรียนใหม่ที่ย่านรามคำแหงจะสำเร็จเรียบร้อย

ในระหว่างปี 2514 ถึง 2515 ในพื้นที่เดียวกันจึงมีทั้งนักเรียนของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนบดินทร์เดชา และโรงเรียนสาธิตปทุมวัน เดินปะปนอลหม่านกันทั่วไปหมด

ผมได้พบเห็นเหตุการณ์นี้มาด้วยตาของตัวเอง

สนุกดีจะตายไป

นี่เราจะสังเกตเห็นได้ว่า ในแง่มุมหนึ่งเราอาจจะกล่าวได้ว่าโรงเรียนบดินทร์เดชา เป็นกิ่งก้านสาขาที่แตกดอกออกช่อมาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แต่ชื่อของโรงเรียนบดินทร์เดชาเองไม่ปรากฏหลักฐานที่แสดงความเชื่อมโยงเหล่านี้ไว้เลย ในยุคแรกเริ่มโรงเรียนบดินทร์ฯ จึงต้องสร้างแบรนด์หรือสะสมชื่อเสียงของตัวเองขึ้นจากฐานศูนย์ ไม่ได้อาศัยบุญเก่าจากความเกี่ยวข้องกับโรงเรียนเตรียมฯ แต่อย่างใด

ซึ่งวันเวลาก็ได้พิสูจน์แล้วว่าโรงเรียนบดินทร์เดชา สามารถสร้างแบรนด์ของตนเองได้อย่างงดงาม

 

แต่ถัดมาอีกไม่นานครับ ในปีพุทธศักราช 2521 คุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชู ท่านผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาท่านได้คิดให้มีสาขาของโรงเรียนเตรียมฯ ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง อีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้ไม่ใช้ชื่อใหม่เอี่ยมอย่างโรงเรียนบดินทร์เดชา ท่านเลือกที่จะใช้ชื่อโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาสำหรับโรงเรียนแห่งใหม่นี้เลยทีเดียว

แต่เพื่อป้องกันความสับสนระหว่างโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาดั้งเดิมที่อยู่ที่ถนนพญาไท กับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งใหม่ที่จัดตั้งขึ้นที่ถนนพัฒนาการซึ่งเป็นถนนตัดใหม่เอี่ยมในยุคนั้น

โรงเรียนที่ตั้งขึ้นใหม่นั้นจึงใช้ชื่อว่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ

นี่เป็นการหิ้วแบรนด์เดิมมา แล้วต่อสร้อยอีกนิดหนึ่งเพื่อแสดงความเป็นสาขาใหม่ โรงเรียนนี้จึงไม่ต้องใช้ความพยายามแบบเดียวกับที่โรงเรียนบดินทร์เดชาต้องทำมาในอดีต

จะเรียกว่าเปิดปุ๊บติดปั๊บก็เห็นจะได้ เพราะพอผู้ปกครองเห็นชื่อโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแขวนอยู่หน้าโรงเรียน ถึงแม้จะมีสร้อยว่า “พัฒนาการ” พ่วงมาด้วย แต่ท่านก็ไม่ติดอกติดใจอะไร เพราะลำพังเพียงยี่ห้อโรงเรียนเตรียมฯ ก็การันตีคุณภาพเพียงพอแล้ว

จะกล่าวว่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการเป็นแฟรนไชส์ของโรงเรียนเตรียมฯ ก็เห็นจะได้

จำเนียรกาลผ่านไป ความคิดนี้ก็แพร่หลายออกไปถึงโรงเรียนอื่นอีกมาก เช่น โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเป็นโรงเรียนเก่าแก่มีชื่อเสียงมาช้านาน ลำพังโรงเรียนที่ตั้งอยู่เชิงสะพานพุทธ ไม่พอที่จะรองรับนักเรียนจำนวนมากได้ โรงเรียนสวนกุหลาบฯ ธนบุรี สวนกุหลาบฯ นนทบุรี ก็เกิดขึ้น

คำอธิบายนี้ใช้ได้กับโรงเรียนเทพศิรินทร์ร่มเกล้าและโรงเรียนสายปัญญารังสิต เป็นต้น

 

ที่สนุกมากสำหรับผมเมื่อคิดถึงเรื่องเหล่านี้คือ แม้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการเอง วันหนึ่งเมื่อมีชื่อเสียงเพิ่มพูนขึ้น คำว่าเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า “เตรียมพัฒน์” ก็กลายเป็นชื่อที่มีคุณภาพ เป็นแบรนด์อิสระขึ้นมา

เป็นเหตุให้มีแฟรนไชส์ตามมาอีกมาก เช่น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการนนทบุรี โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการปราณบุรี โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการฉะเชิงเทรา และโรงเรียนชื่อทำนองเดียวกันนี้อีกหลายแห่งทั่วทั้งประเทศ จำนวนรวมถึง 18 โรงเรียนครับ

แต่เราอย่าไปเผลอนึกหรือหลงคิดไปว่าโรงเรียน “เตรียมพัฒน์” ทุกโรงจะมีผู้บริหารคนเดียวกันนะครับ ต่างโรงเรียนต่างบริหารจัดการกันไป เงินทองก็คนละกระเป๋า ศิษย์เก่าของแต่ละโรงเรียนก็ไม่รู้จักกันข้ามโรงเรียนแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี ในทางบริหารจัดการ ผมได้ยินว่ามีเครือข่ายโรงเรียนที่ใช้ชื่ออยู่ในแฟรนไชส์ยี่ห้อเดียวกันเพื่อร่วมมือกันในทางวิชาการและทำกิจกรรมร่วมกันอยู่บ้าง ไม่ถึงขนาดตัดขาดกันโดยสิ้นเชิง

อารมณ์ประมาณว่ายังเป็นพี่น้องกันแม้อยู่บ้านคนละหลังไงครับ

 

ที่ผมเล่ามายืดยาวนี้ อาจจะพอเป็นคติได้ว่า สถานศึกษาก็ดี สินค้าใดๆ ก็ดี ถ้าเป็นของดีมีคุณภาพ แบรนด์นั้นก็ได้รับความนิยม เป็นโอกาสให้ขยายงานต่อไปได้ อย่างที่เกิดโรงเรียนแฟรนไชส์ขึ้นแล้วในประเทศไทย

ส่วนของไม่ดีแท้ ก็อยู่ได้เพียงแค่ชั่วคราว ไม่มีใครคิดจะนำยี่ห้อนั้นไปใช้ต่อหรือไปทำแฟรนไชส์แต่อย่างใด

แม้กระทั่งชื่อของบุคคล นักการเมืองผู้เป็นที่ชอบพอถูกใจของชาวบ้าน บ่อยครั้งที่มีคนนำชื่อของนักการเมืองคนนั้นไปตั้งชื่อลูกหลาน ตรงกันข้ามสำหรับนักการเมืองบางคนที่เป็นที่สาปแช่ง ใครเลยจะอยากเอาชื่อนั้นไปตั้งเป็นชื่อของลูกหลานเขา

ลองนึกชื่อกันเล่นๆ ทายไว้ในใจก็ได้ครับ ว่าชื่อไหนที่ไม่มีใครอยากเอาไปตั้งชื่อลูก

หลายคนน่าจะคิดตรงกันนะครับ ฮา!