จีน-สหรัฐขยับซ่อมสัมพันธ์?

แอนโทนี่ บลิงเคน ร่วมโต๊ะประชุมกับสี จิ้นผิง REUTERS/Leah Millis/Pool

เป็นที่จับตาของประชาคมโลกว่าจะมีสัญญาณเชิงบวกอันใดเกิดขึ้นได้บ้าง กับการเปิดประตูแดนมังกรต้อนรับการมาเยือนอย่างเป็นทางการของ แอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ที่นับเป็นการเยือนจีนแผ่นดินใหญ่ของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติมหาอำนาจโลกต่างขั้วอุดมการณ์คู่นี้เสื่อมถอยลงถึงขีดสุดในแทบจะทุกมิติของความสัมพันธ์

ประเด็นปัญหาที่ไม่ลงรอยหรือมีความเห็นขัดแย้งแตกต่างกันอย่างมากมาย ถูกพกตุนอยู่ในกระเป๋าของบลิงเกนนำมาวางลงบนโต๊ะพูดคุยกับคู่เจรจาระดับสูงของรัฐบาลปักกิ่ง

ไล่เรียงมาตั้งแต่นายฉิน กัง รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน นายหวัง อี้ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมาธิการกลางด้านการต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นนักการทูตระดับสูงที่สุดของจีน

ไปจนถึงการได้โอกาสเข้าพบปะพูดคุยกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีนสูงสุดในท้ายที่สุดเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าที่บลิงเกนจะปิดฉากการเยือนจีนเป็นเวลา 2 วันอย่างเป็นทางการลง จากที่เลื่อนออกมาจากกำหนดเยือนเดิมในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาหลังเกิดกรณีที่จีนถูกกล่าวหาว่าส่งบอลลูนสอดแนมเข้ามาในเขตแดนของสหรัฐจนถูกสอยร่วง

ประเด็นหารือบนโต๊ะเจรจาดังกล่าว ครอบคลุมตั้งแต่การหาแนวทางซ่อมแซมความสัมพันธ์ทวิภาคีของสองชาติ ประเด็นเศรษฐกิจการค้าที่มีปัญหาพิพาทกันอยู่หลายเรื่อง เช่น การจำกัดการส่งออกชิพคอมพิวเตอร์จากสหรัฐไปจีน

ตลอดจนข้อห่วงกังวลของแต่ละฝ่ายที่มี เช่น สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในซินเจียง ฮ่องกง และทิเบต ปัญหาช่องแคบไต้หวัน รวมถึงสงครามยูเครน-รัสเซีย

 

แม้จะเป็นไปตามคาดว่าการพบปะหารือครั้งนี้ จะไม่ได้ทำให้เกิดการบรรลุความเห็นพ้องในประเด็นปัญหาสำคัญอันใดเกิดขึ้นได้ แต่บรรยากาศการเจรจาก็ถือว่าราบรื่นไปด้วยดี โดยเฉพาะท่าทีของนายสี จิ้นผิง ที่กล่าวว่ามีความก้าวหน้าในการหารือและมีความเห็นพ้องกันได้ในบางประเด็นจำเพาะ แต่ไม่ลงในรายละเอียด เพียงแต่ระบุว่าทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันถึงความจำเป็นที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันมีเสถียรภาพ โดยไม่ทำให้ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะแปรเปลี่ยนไปกลายเป็นความขัดแย้ง

กระนั้นข้อสังเกตสำคัญคือท่าทีเน้นย้ำของฝ่ายจีน ที่นายสี จิ้นผิง กล่าวย้ำอย่างจริงจังกับคู่หารือจากสหรัฐว่า “การเคารพและความจริงใจ” เป็นพื้นฐานสำคัญในการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน

ขณะที่นายหวัง อี้ เลือกใช้ถ้อยคำที่ดุดันกว่า โดยชี้ว่าความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ อยู่ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ซึ่งสหรัฐต้องเลือกระหว่าง “ความร่วมมือหรือความขัดแย้ง” และ “การหารือหรือการเผชิญหน้า”

เมื่อการพูดคุยแตะถึงเรื่องไต้หวัน ซึ่งเป็นอีกประเด็นร้อนแรงที่ฉุดความสัมพันธ์สหรัฐ-จีนเสื่อมทรามลงอย่างหนักก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะเมื่อนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐในขณะนั้น ดื้อแพ่งเยือนไต้หวัน ทั้งๆ ที่รัฐบาลปักกิ่งออกมาร้องปรามแล้วก็ตาม จนเป็นผลให้จีนตัดขาดทุกช่องทางการสื่อสารกับสหรัฐนั้น นายหวัง อี้ กล่าวย้ำอย่างแข็งกร้าวว่า ไต้หวันเป็นหนึ่งในแกนหลักของผลประโยชน์ของจีน ซึ่งจีนไม่มีที่ว่างสำหรับการประนีประนอมหรือยอมรับ

ในฝ่ายของบลิงเกนได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องลดความเสี่ยงของการเข้าใจผิดและการคำนวณพลาด ที่สุ่มเสี่ยงจะนำไปสู่การเผชิญหน้ากัน

 

ถ้อยคำเน้นย้ำของทั้งสองฝ่ายเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นได้ว่าความรู้สึกของ “ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน” ที่มีมาโดยตลอดและยังคงมีอยู่

แต่แม้ทั้งฝ่ายจีนและสหรัฐจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับการคาดหวังว่าจะก่อเกิดพัฒนาการสำคัญอันใดในความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติจากการมาเยือนจีนครั้งนี้ของบลิงเกน กระนั้นต่างก็มีความหวังว่าจะเป็นการเปิดทางไปสู่การได้พบปะหารือทวิภาคีในระดับต่างๆ ของทั้งสองชาติต่อไปในภายภาคหน้า รวมถึงการพูดคุยหารือแบบตัวต่อตัวระหว่างโจ ไบเดน และสี จิ้นผิง เองด้วย หลังจากที่พบหน้ากันครั้งสุดท้ายที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

นักวิเคราะห์ที่ติดตามความเคลื่อนไหวนี้มองว่า แม้การเยือนจีนของบลิงเกนจะไม่ก่อผลลัพธ์ทางนโยบายที่ชัดเจนระหว่างคู่กรณีทั้งสองฝ่าย แต่ก็ยังดีกว่าสองชาติมหาอำนาจคู่ปฏิปักษ์จะหันหลังให้กัน โดยปิดประตูตายที่จะรับฟังกัน เพราะนั่นสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความเข้าใจผิด คิดระแวงกันไปหนักมากยิ่งขึ้น

ซึ่งอาจนำพาทั้งสองชาติที่ยังอาจพ่วงเอาทั้งโลก ถลำลงสู่สถานการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาไปด้วยได้