แพทย์ พิจิตร : ประวัติการยุบสภาในประเพณีการปกครองไทย (21)

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 การเมืองไทยเรามีการยุบสภาเกิดขึ้นทั้งสิ้น 14 ครั้งภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อความไม่ต่างกันในหลักการ

ขณะเดียวกัน บทบัญญัติที่ว่าด้วยการยุบสภาในรัฐธรรมนูญทุกฉบับก็กำหนดไว้คล้ายคลึงกัน นั่นคือ ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการยุบสภาอะไรเป็นพิเศษ

อย่างเช่น ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 103 บัญญัติไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทําโดยพระราชกฤษฎีกา และให้กระทําได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน

ภายในห้าวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งใช้บังคับ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศกําหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ วันเลือกตั้งนั้นต้องกําหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

และรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ก่อนหน้านี้ก็มีเนื้อความไม่ต่างกันในหลักการ

ดังนั้น เหตุผลหรือเงื่อนไขในการยุบสภาจึงเป็นไปอย่างที่กล่าวไปในตอนที่แล้ว

นั่นคือ เป็นไปตามประเพณีการปกครองตลอดจนสภาวการณ์ของประเทศในขณะนั้น

และประเพณีการปกครองที่ว่านี้ก็ควรที่จะต้องอยู่ภายใต้ประเพณีการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่มีอังกฤษเป็นต้นแบบ

และผู้เขียนก็ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของการยุบสภาตามประเพณีการปกครองของอังกฤษไปในหลายตอนก่อนหน้านี้

จากนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอให้เห็นถึงเหตุผลหรือเงื่อนไขของการยุบสภาในประเทศไทยที่เกิดขึ้นตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจนปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 14 ครั้ง

ผู้เขียนได้กล่าวไปแล้ว 11 ครั้ง

คราวนี้จะขอกล่าวถึงการยุบสภาที่เหลืออีก 3 ครั้ง และหลังจากนั้นจักได้ชี้ให้เห็นถึงการยุบสภาที่เป็นไปตามแบบแผน และการยุบสภาที่มีข้อน่าสงสัยพิจารณา

 

การยุบสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่สิบสองเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2549 ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2549 สาเหตุตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศในพระราชกฤษฎีกา คือ

“…รัฐบาลได้พยายามดําเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญด้วยการขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ในที่ประชุมรัฐสภาแล้ว ก็ยังไม่อาจแก้ไขปัญหาและความคิดเห็นพื้นฐานที่แตกต่างกันทั้งระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องกับรัฐบาล และระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องกับกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วย และประสงค์จะเคลื่อนไหวบ้างจนอาจเกิดการปะทะกันได้…”

และในงานวิจัยของ ตวงรัตน์ เลาหัตถพงษ์ภูริ เรื่อง “การยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย” ได้อธิบายถึงสาเหตุการยุบสภาครั้งนี้ไว้ว่า

“เนื่องจากมีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มไม่พอใจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวหาว่า มีการใช้อํานาจเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจของครอบครัวตนเอง แทรกแซงการทํางานขององค์กรอิสระ การขายหุ้นบริษัทให้กับต่างชาติ จึงได้มีการชุมนุมเรียกร้องบีบบังคับให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตําแหน่ง นับวันได้ขยายตัวอย่างกว้างขวาง ส่อเค้าว่าจะมีการเผชิญหน้าอาจมีการปะทะกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยและอาจมีการฉวยโอกาสจากผู้ไม่ประสงค์ดีต่อบ้านเมือง อาจลุกลามถึงขั้นก่อการจลาจลวุ่นวายสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้

แม้รัฐบาลจะได้ดําเนินการขอให้เปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยไม่มีการลงมติในวันแรกที่มีการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญทั่วไป ในวันที่ 8-9 มีนาคม พ.ศ.2549 แต่ก็ไม่อาจแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้

ต่อมาในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 คืนอํานาจการตัดสินใจทางการเมืองกลับไปสู่ประชาชนเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่

ทั้งยังกําหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2549 และมีการแถลงการณ์ถึงเหตุผลในการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรว่า การยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นกระบวนการปกติของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เมื่อใดที่มีความขัดแย้งหรือเกิดปัญหาการเมือง อันอาจนํามาซึ่งวิกฤตการณ์ต่างๆ จนการบริหารราชการแผ่นดินไม่อาจดําเนินไปได้โดยปกติ หากปล่อยให้เนิ่นช้าไป ความขัดแย้งและปัญหานั้นอาจบานปลายถึงขนาดกระทบต่อเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตย วิธีการสุดท้ายที่มักนํามาใช้อยู่เสมอก็คือการยุบสภาผู้แทนราษฎร เป็นการคืนอํานาจตัดสินทางการเมืองกลับไปให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอํานาจอธิปไตยที่แท้จริงเป็นผู้ตัดสิน

แม้ว่ารัฐบาลได้เรียกร้องให้เกิดความปรองดองของคนในชาติ ก็ยังไม่อาจแก้ปัญหาและความคิดที่แตกต่างกันของกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องกดดันรัฐบาลกับกลุ่มอื่นๆ ที่มีความเห็นไม่ตรงกันกับกลุ่มดังกล่าว และประสงค์จะเคลื่อนไหวบ้างจนอาจเกิดการปะทะกัน สภาพเช่นนี้ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และความสงบเรียบร้อยของสังคม”

 

ส่วนในวิกิพีเดียกล่าวถึงสาเหตุการยุบสภาครั้งนี้ไว้สั้นๆ ว่าเกิดจาก “เกิดวิกฤตการณ์การเมืองจากการชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรี”

แต่ในความเป็นจริง จะพบว่ามิได้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติในที่ประชุมรัฐสภาเกิดขึ้นแต่อย่างใด

และการขอเปิดอภิปรายในลักษณะดังกล่าวนี้ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 212 และ 213 ความว่า (212)

“ในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีต้องดําเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมายและนโยบายที่ได้แถลงไว้ตามมาตรา 211 และต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎร ในหน้าที่ของตน รวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี”

และ (213) “ในกรณีที่มีปัญหาสําคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควร จะฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้”

นั่นคือ การขอเปิดอภิปรายในลักษณะดังกล่าวเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี

ซึ่งถ้าทักษิณต้องการให้มีการเปิดอภิปรายดังกล่าวจริง การอภิปรายดังกล่าวก็ย่อมเกิดขึ้นได้ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณกลับตัดสินใจยุบสภาทั้งๆ ที่ยังมีกลไกตามระบบรัฐสภาที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้

อีกทั้งฝ่ายค้านก็มีเสียงไม่พอที่จะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 185 และ 186 ที่ระบุให้ใช้คะแนนเสียงไม่ต่ำกว่า 1 ใน 5 (คือ 100 คน) หากจะอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล และจะต้องใช้เสียงไม่ต่ำกว่า 2 ใน 5 (200 คน) หากจะอภิปรายนายกรัฐมนตรี ซึ่งฝ่ายค้านได้ทำหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรเรียกร้องขอเสียงในสภาผู้แทนราษฎรในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี แต่ไม่สำเร็จ

และผู้เขียนจะอภิปรายเพิ่มเติมกรณีการยุบสภาครั้งที่สิบสองนี้อีกในภายหลัง โดยจะชี้ให้เห็นว่า การยุบสภาครั้งดังกล่าวนี้นอกจากจะขัดกับการยุบสภาตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ยังขัดกับการยุบสภาตามประเพณีการปกครองของสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นต้นแบบของระบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและอยู่ใต้รัฐธรรมนูญด้วย

 

ครั้งที่สิบสาม การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2554 ในสมัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554

และเช่นเดียวกันกับที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ ผู้เขียนจะเริ่มต้นโดยใช้คำอธิบายสาเหตุการยุบสภาตามคำอธิบายของ คุณตวงรัตน์ เลาหัตถพงษ์ภูริ เปรียบเทียบกับข้อความในพระราชกฤษฎีกาการยุบสภาที่เสนอทูลเกล้าฯ โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

โปรดติดตามในตอนต่อไป