ตระหนัก ‘ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่’ (1) ใครเขียน เมื่อไหร่ อย่างไร

เพ็ญสุภา สุขคตะ
จิตรกรรมฝาผนังในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

“ตํานานพื้นเมืองเชียงใหม่” เป็นหนึ่งในสามของ “ตำนาน” ชิ้นสำคัญยิ่ง ที่ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาแบบเจาะลึกทุกคนจักต้องอ่าน ถือเป็น “ไฟต์บังคับ” ก็ว่าได้ อีกสองเล่มคือ ชินกาลมาลีปกรณ์ และตำนานมูลศาสนา

วันที่ 31 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ในงาน “ทานสะเปาคำ” หรือส่งสการแด่ดวงวิญญาณของท่าน “อาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์” ให้ก้าวพ้นวัฏสงสารไปสู่ปรโลก ณ บ้านปราชญ์ล้านนา เยื้องวัดพระนอนขอนตาล บ้านแม่ริมใต้ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ หลังจากที่ท่านละสังขารไปนานกว่า 48 ปี

ในช่วงบ่ายได้จัดให้มีกิจกรรมเสวนาทางวิชาการหัวข้อ “วิเคราะห์ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” โดยมี 2 วิทยากรหลัก ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ล้านนา กอปรด้วย อาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ และ อาจารย์ภูเดช แสนสา

การหยิบหนังสือเรื่อง “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” มาพูดคุยกันครั้งนี้ ก็เนื่องมาจากการที่สำนักพิมพ์ศรีปัญญา ได้นำต้นฉบับที่อาจารย์สงวนเคยเรียบเรียงไว้ตั้งแต่ปี 2509 มาจัดพิมพ์ใหม่อีกครั้ง จึงถือว่าเป็นการเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ในเวอร์ชั่นใหม่อีกโสดหนึ่งด้วย

หัวข้อการเสวนาแบ่งเป็นสามส่วน ส่วนแรก คือปูมหลังที่มาที่ไปของการเขียนตำนาน ส่วนที่สอง เนื้อหาในตำนานเขียนเรื่องราวอะไรบ้าง และส่วนสุดท้าย เป็นความเห็น ข้อสังเกต ข้อวิพากษ์จากผู้รู้ต่างๆ ดังนั้น บทความเรื่อง “ตระหนัก ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” ดิฉันคงได้นำเสนอไปอีก 3-4 ตอนโดยประมาณ

Chronology ไล่เรียงลำดับ

มีใบลานต้นฉบับกี่ชิ้น แปลทั้งหมดกี่ครั้ง?

อาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ ผู้สันทัดกรณีเรื่องนี้ ทั้งยังเคยอ่านสอบทานต้นฉบับใบลานด้วยสายตาตนเองอยู่หลายชุด ได้ให้ข้อมูลอย่างละเอียดว่า “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” ฉบับภาษาไทยกลางที่เราอ่านกันอยู่นี้ เป็นการแปลจากใบลานต้นฉบับที่เขียนด้วยตัวอักษรธัมม์ล้านนา เท่าที่ค้นพบฉบับเก่าสุดจารเมื่อ พ.ศ.2397 เท่านั้นเอง สรุปได้ว่ามีมากกว่า 5 ฉบับ ดังนี้

ฉบับที่ 1 ขอเรียกว่า ฉบับที่พระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) นำเอาไปใช้เรียบเรียงเป็น “พงศาวดารโยนก” ในสมัยรัชกาลที่ 5 (พงศาวดารโยนกเขียนระหว่าง 2441-2441 แต่พิมพ์เป็นหนังสือปี 2449) ในความเป็นจริงไม่มีใครทราบว่าท่านแช่มเอาต้นฉบับมาจากไหน แต่โดยรูปการณ์แล้ว สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นฉบับที่ปัจจุบันอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี ซึ่งถ้าเป็นฉบับนี้จริง ก็คือฉบับที่จารใน พ.ศ.2397 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4

ต้นฉบับชิ้นนี้ นอกจากจะถูกนำไปใช้เป็นข้อมูลให้กับพงศาวดารโยนกแล้ว บางส่วนยังมีการนำมาใช้ประกอบข้อมูลใน “พงศาวดารเหนือ” และล่าสุด ทางวัดผาลาดสกทาคามี โดย ดร.พระครูธีรสุตพจน์ เจ้าอาวาสยังได้นำต้นฉบับจากชุดนี้มาจัดพิมพ์ใหม่

ฉบับที่ 2 สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (?cole fran?aise d’Extr?me-Orient หรือ EFEO) โดย นายกามีย์ นอ-ตอง (Camille Notton) กงสุลทูตฝรั่งเศสประจำเชียงใหม่ ได้นำเอาใบลานเรื่อง “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” ชุดหนึ่งจำนวน 7 ผูกไปไว้ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พร้อมกับใบลานตำนานพื้นเมืองอื่นๆ อีกหลายฉบับ อาทิ จามเทวีวงส์ฉบับภาษามอญบ้านหนองดู่

ไม่มีใครทราบว่า ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับลายมือเขียนอักษรธัมม์ล้านนาที่ท่านนอ-ตองเอาไปนี้ ได้มาจากวัดไหน และจารเมื่อศักราชใด ทราบแต่ว่า มีการแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศสในปี 2475 ใช้ชื่อหนังสือว่า “Chronique de Xieng Mai”

ฉบับที่ 3 เรียกฉบับ “อาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์” ได้รับมาจากพระมหาหมื่น วุฑฺฒิญาโณ วัดหอธัมม์ (ปัจจุบันวัดนี้ยุบรวมเป็นส่วนหนึ่งของวัดเจดีย์หลวงปีกทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) เชียงใหม่ โดยพระมหาหมื่นได้ต้นฉบับมาจากเมืองเชียงแสน ระบุปีที่จารตรงกับ จ.ศ.1288 (พ.ศ.2469) ต้นฉบับมีจำนวน 8 ผูก

อาจารย์สงวนนำมาแปลใน พ.ศ.2509 โดยมีพ่อหนานคนหนึ่งชื่อว่า “นายทน ตนมั่น” เป็นผู้ช่วยอ่านอักขระธัมม์ล้านนาให้ จากนั้นอาจารย์สงวนนำมาเรียบเรียงให้สละสลวยอ่านเข้าใจง่ายเป็นอักษรไทยกลาง งานชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจาก “พระยาอนุมานราชธน” (เป็นอาจารย์ของสงวน โชติสุขรัตน์) ให้นำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือครั้งแรกในนามสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2514

หลังจากที่อ่านต้นฉบับเสร็จในปี 2509 1 ปีให้หลังอาจารย์สงวนได้มอบต้นฉบับใบลานชุดนี้ให้กับ ดร.ฮันส์ เพนธ์ (Dr.Hans Penth) นักจารึกวิทยาชาวเยอรมันที่ทำงานในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครอบครองต่อในปี 2510 ดร.ฮันส์ เพนธ์ นำไปถ่ายไมโครฟิล์มได้เพียง 4 ผูก เรียกไฟล์กลุ่มนี้ว่า CMA. HPms เก็บรักษาไว้ในสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ต่อมาปี 2534 ดร.เดวิด เค.วัยอาจ (Dr. David K. Wyatt) แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริหา ได้ขอสำเนาไมโครฟิล์มและต้นฉบับใบลานจาก ดร.ฮันส์ เพนธ์ ไปปริวรรตใหม่ ทำงานร่วมกับ อาจารย์อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว ขณะนั้นสอนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ (ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ ภาคีราชบัณฑิต) ตีพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือในปี 2543 และ 2547

ฉบับที่ 4 ต้นฉบับจาก วัดพระงาม (ปัจจุบันวัดนี้ร้างไปแล้ว ในอดีตวัดพระงามตั้งอยู่ใกล้วัดพันตอง นอกคูเมืองเชียงใหม่ทางไปกำแพงดิน) คัดลอกเมื่อปี 2397 (จ.ศ.1216) ฉบับนี้ถูกถ่ายสำเนาในรูปแบบไมโครฟิล์ม เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี

อาจารย์เกริกหมายเหตุไว้ว่า หากฉบับนี้เป็นต้นฉบับชุดเดียวกันกับที่พระยาประชากิจกรจักร นำไปใช้ประกอบเนื้อหาในประชุมพงศาวดารโยนก ก็อาจนับรวมได้ว่า ฉบับที่ 4 เป็นฉบับเดียวกันกับฉบับที่ 1 แต่ ณ เบื้องต้นนี้ ขอแยกไว้เป็นสองฉบับก่อน เพราะไม่มีหลักฐานใดยืนยันว่า ต้นฉบับที่พระยาประชากิจกรจักรนำใช้งานนั้นเป็นฉบับใดกันแน่ เผื่อว่าท่านแช่มอาจค้นพบเอกสารใบลานฉบับอื่นๆ อีกก็เป็นได้

ฉบับนี้ ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำมาเป็นเอกสารหลักที่ใช้ปริวรรต ควบคู่ไปกับการสอบทานกับต้นฉบับของ ดร.ฮันส์ เพนธ์ (หรือของอาจารย์สงวน) งานชิ้นนี้ตีพิมพ์ในปี 2539 เรียก ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี

อาจารย์เกริกกล่าวว่า ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับวัดพระงามนี้ มีลายมือผู้จารเป็นบรรพชิต 2 รูป รูปแรกคือ ติกขปัญญาภิกขุ และอีกรูปสมัยที่ช่วยจารยังเป็นสามเณร ต่อมาคือ ครูบาคุณา ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดทรายมูล

ฉบับที่ 5 ต้นฉบับได้มาจาก วัดเมธังกราวาส (วัดน้ำคือ) อ.เมืองแพร่ จารเมื่อปี พ.ศ.2332 (จ.ศ.1251) ฉบับนี้มี 7 ผูก รองศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย เปรมจิตต์ แห่งสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำมาปริวรรตเมื่อปี 2540 ใช้ชื่อว่า “ตำนานสิบห้าราชวงศ์”

นอกจากนี้ มีใบลานที่จารเรื่องตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กระจายอยู่ตามวัดต่างๆ อีกหลายฉบับ เช่น ฉบับวัดอัฏฐารส ลำพูน จาร พ.ศ.2425, ฉบับวัดพระหลวง แพร่ จาร พ.ศ.2427, ฉบับวัดพิชัย ลำปาง จารปี 2489 และฉบับของเจ้าราชภาคินัย (พระบิดาของเจ้ายายดวงเดือน ณ เชียงใหม่) ให้ทำถวายวัดศรีโสดา เชียงใหม่ จารปี 2510 (ปัจจุบันต้นฉบับใบลานอยู่ที่วัดสวนดอก) เป็นต้น

แบ่งกลุ่มเนื้อหา ผูกที่ 1-5, 6, 7 และ 8

เชียงใหม่+เชียงแสน+ลำปาง

อาจารย์ภูเดช แสนสา ผู้ศึกษาเนื้อหาตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่อย่างละเอียดทั้งต้นฉบับตั๋วเมือง และฉบับแปลสำนวนต่างๆ อธิบายว่า ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ หากเป็นฉบับสมบูรณ์จะมีทั้งหมด 8 ผูก โดยแบ่งการเขียนออกเป็น 4 กลุ่มดังนี้

ผูกที่ 1-5 พบว่าเป็นการบันทึกเรื่องราวที่ร่วมสมัยกับสังคมยุคล้านนาจริง เนื้อหาเริ่มต้นแบบขนบนิยมคือกล่าวถึงยุคพุทธกาล เรื่อยมาถึงสมัยพระนางจามเทวี ลวจังกราช กษัตริย์ล้านนาองค์ต่างๆ มาจนสิ้นสุดสมัยพระนางวิสุทธิเทวี เป็นการบันทึกเหตุการณ์สำคัญของแต่ละรัชกาลสืบต่อกันมา โดยอาลักษณ์ของราชสำนัก

ราว 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ อาจารย์ชัยวุฒิ ไชยชนะ นักวิชาการด้านล้านนาศึกษา (ทำงานด้านพัฒนากร) ค้นพบต้นฉบับใบลานตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่จำนวน 5 ผูก 2 ชุด ที่ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ กับที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ฉบับหนึ่งระบุว่าจารขึ้นในปี พ.ศ.2233 ถือว่าเป็นศักราชที่เก่าที่สุดในบรรดาต้นฉบับใบลานตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ที่ค้นพบ

อาจารย์ภูเดชตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงที่เชียงใหม่แตก พ.ศ.2101 ผู้คนส่วนใหญ่หนีไปอยู่แถวฮอด แม่สะเรียง และได้ขนใบลานไปด้วย เนื่องจากท้ายใบลานมีการระบุว่าจารขึ้นในเมืองเชียงใหม่ แต่หลายชิ้นในปัจจุบันกลับถูกครอบครองโดยคนพื้นถิ่นที่เข้ามาอาศัย (เป็นกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ยางกะเลอ” ก็มี)

ผูกที่ 1-5 นี้ อาจารย์ภูเดชพบว่ามีการให้รายละเอียดลึกซึ้งมาก มีสำนวนโวหารคมคาย ระบุนามบุคคล สถานที่ ตำแหน่งแห่งหนอย่างแม่นยำ นำเสนอประเพณีความเชื่อค่อนข้างละเอียด แสดงว่าเป็นการบันทึกเหตุการณ์แบบสดๆ ทันควันในสมัยที่อาณาจักรล้านนารุ่งเรือง

ในขณะที่ผูกที่ 6 มีลักษณะแปลกแยกเป็นอย่างยิ่ง เขียนแบบ “ปูมโหร” แต่ละบรรทัดขึ้นเลขศักราช ตามด้วยเรื่องราวที่ย่นย่อมากๆ จนแทบจะจับต้นชนปลาย แยกแยะไม่ได้ว่าใครเป็นใคร บางช่วงบางตอนก็เว้นข้ามไปหลายทศวรรษไม่มีบันทึกเหตุการณ์ใดๆ เลย

ผูกที่ 6 นี้เป็นเรื่องราวยุคที่พม่าปกครองล้านนา ในความเป็นจริงช่วงนี้ก็มีอายุยาวนานถึง 200 ปีเศษๆ แต่อาจเป็นเหตุการณ์ที่ชาวล้านนารู้สึกสลดหดหู่ ไม่มีใครอยากจดจำ จึงบันทึกไว้แบบคร่าวๆ ไม่ลงรายละเอียด

ผูกที่ 6 นี้ตอนท้ายๆ เป็นเรื่องราวของพระญาสุรวฦๅไชย (หนานทิพย์ช้าง) และจบลงด้วยตอนที่เจ้านางศรีอโนชา (น้องสาวพระเจ้ากาวิละ) นำชาวปากเพรียวไปช่วยเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี

ฉบับหน้าจะพูดถึงข้อสังเกตของผูกที่ 7-8 ให้จบ และนำเสนอต่อในประเด็นการวิเคราะห์เนื้อหาสำนวนวิธีการแปลตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับต่างๆ •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ