ผิดเวลา ผิดมารยาท! | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ข่าวการเมืองระหว่างประเทศที่สำคัญของภูมิภาคในวันนี้ คงหนีไม่พ้นรายงานที่ปรากฏบนหน้าสื่อถึงความพยายามในการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ซึ่งมีสถานะทางการเมืองหลังการเลือกตั้งว่าเป็น “รัฐมนตรีรักษาการ” ตัดสินใจเดินงานการทูตในแบบที่สร้างความฉงนสนเท่ห์ให้แก่วงการทูตอาเซียนอย่างมาก ด้วยการเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเข้ามาเปิดประชุมในไทยเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเมียนมา

การดำเนินการทางการทูตในลักษณะเช่นนี้อาจจะต้องถือว่า เป็นการ “ผิดเวลาทางการเมือง” อย่างมาก เพราะสถานะของรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดังที่กล่าวแล้วว่า เป็นเพียงรัฐบาลรักษาการที่รอเวลาของการเข้ามารับหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ อีกทั้งรัฐบาลเดิมก็ไม่ได้เป็นฝ่ายที่ชนะเลือกตั้ง ที่จะมีนัยถึงการเป็นรัฐบาลในอนาคต

ความพยายามที่จะเปิดเวทีการทูตที่กรุงเทพฯ ในครั้งนี้ จึงมีความไม่เหมาะสมอย่างมากที่จะดำเนินการในลักษณะดังกล่าว และหากต้องวิเคราะห์สถานการณ์แล้ว ก็ตอบได้ไม่ยากว่าโอกาสที่รัฐมนตรีต่างประเทศของชาติอาเซียนจะตอบรับคำเชิญของรัฐมนตรีต่างประเทศไทยสำหรับการประชุมในครั้งนี้ คงมีไม่มาก แม้อาจจะมีบางประเทศตอบรับก็ตาม!

คำตอบทางการเมืองในเบื้องต้นง่ายๆ ก็คือ ใครอยากมาเจอกับรัฐมนตรีที่กำลัง “เก็บของกลับบ้าน”… วันนี้ผู้นำในภูมิภาครออยากเห็นหน้าตาของรัฐบาลใหม่ที่กรุงเทพฯ เพราะผลการเลือกตั้งเป็นคำตอบในตัวเองที่ชัดเจนว่า สถานะของรัฐบาลเก่าได้สิ้นสุดลงไปแล้ว

ในอีกด้านของปัญหาที่เป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในเวทีภูมิภาค คือ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำทหารไทยกับเมียนมาในระดับรัฐบาลนั้น บ่งบอกถึง “ความเห็นอกเห็นใจ” อันเป็นผลของสายสัมพันธ์ทางทหารที่เกิดขึ้น จนความสัมพันธ์ไทย-เมียนมาหลังรัฐประหารในเมียนมา มีลักษณะเป็นแบบ “แอบให้ใจ” และหลายฝ่ายเชื่อว่า ความใกล้ชิดระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยที่เป็นอดีตผู้นำรัฐประหารกับผู้นำรัฐประหารเมียนมาปัจจุบัน เป็นความแนบแน่นผ่านบทบาทที่เหมือนกันในการยึดอำนาจ

การเปิดเวทีในครั้งนี้จึงถูกตีความว่า เป็นความพยายามของไทยที่จะช่วยประคับประคองสถานการณ์ให้แก่รัฐบาลทหารของเมียนมา ที่ถูกกดดันจากเวทีอาเซียนมาโดยตลอด และไทยเล่นบทเป็น “รูระบาย” แรงกดดันทางการเมืองที่เกิดขึ้นให้แก่รัฐบาลทหารเมียนมา จนทำให้หลายฝ่ายกังวลกับท่าทีทางการทูตเช่นนี้อย่างมากว่า ไทยพยายามที่จะมีบทบาทเองโดยไม่เดินไปพร้อมกับข้อมติของอาเซียนหรือไม่

ผลตามมาอย่างเห็นได้ชัดคือ อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนไม่ตอบรับที่จะเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ เพราะข้อริเริ่มของไทยขัดแย้งกับมติของการประชุมอาเซียนเมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา การปฎิเสธของอินโดนีเซียเช่นนี้อาจอธิบายได้ว่า อาเซียนเองดำเนินการในเรื่องนี้อยู่แล้ว จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องมาเปิดเวทีใหม่ที่กรุงเทพฯ

นอกจากนี้ ในทางการทูตก็คือ การบอกว่าเวทีประชุมที่กรุงเทพฯ ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะผู้นำทหารเมียนมาเองก็ไม่ได้มีท่าทีตอบสนองต่อความพยายามในการลดระดับของสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศแต่อย่างใด และต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมา ความรุนแรงจากการใช้กำลังของฝ่ายรัฐมีมากขึ้นด้วย

สภาวะเช่นนี้ทำให้เกิดการประเมินว่า ถ้าวันนี้ไม่มีสงครามยูเครนที่โลกตะวันตกต้องเข้าไปมีบทบาทอย่างมากแล้ว แรงกดดันของตะวันตกต่อปัญหาการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลทหารเมียนมา จะมีมากขึ้น และเรื่องเมียนมาจะเป็นประเด็นใหญ่กว่านี้ในเวทีการเมืองโลกอย่างแน่นอน

ว่าที่จริงแล้ว ผู้นำอาเซียนหลายประเทศพยายามอย่างมากที่หาทางยุติปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในเมียนมานับตั้งแต่เกิดการประท้วงใหญ่หลังรัฐประหารในปี 2021 ที่ผ่านมา แต่ความพยายามดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก เพราะ “ข้อมติ 5 ประการ” ของอาเซียนที่ออกมาจากเวทีการประชุมของชาติสมาชิกนั้น ก็ยังไม่สามารถผลักดันให้เป็นจริงได้แต่ประการใด

ดังนั้น ความพยายามของรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยที่จะ “ฉีกตัวเอง” ออกไปมีบทบาทใหม่ในภาวะที่การเมืองภายในเองกำลังถึงเวลาของการเปลี่ยนรัฐบาลนั้น น่าจะไม่ใช่สิ่งที่ควรกระทำ และควรจะปล่อยให้บทบาทเช่นนี้เป็นเรื่องของรัฐบาลใหม่มากกว่า การเตรียมจัดเวทีประชุมที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้ จึงต้องถือว่าเป็นความริเริ่มที่ “ผิดเวลา” อย่างมาก

ความพยายามเช่นนี้ในทางการทูตเอง ก็อาจต้องถือว่าเป็นการ “ผิดมารยาท” อย่างมากเช่นกัน เพราะผู้นำไทยควรจะต้องมีการปรึกษาหารือเพื่อให้เกิด “เอกภาพอาเซียน” ในการแก้ไขวิกฤตเมียนมา ซึ่งการกระทำของไทยแบบเอกเทศเช่นนี้ อาจจะไม่เอื้อให้การแก้ปัญหาเป็นไปได้จริง และไทยอาจถูกมองจากผู้นำอาเซียนว่า เรากลายเป็น “ตัวปัญหา” อีกแบบที่คอยแอบช่วยเหลือรัฐบาลเมียนมาอยู่ลับหลัง

ข้อเสนอของรัฐมนตรีต่างประเทศไทยเรื่องเมียนมาครั้งนี้ จึงสรุปได้ว่า “ผิดเวลา-ผิดมารยาท” อย่างยิ่ง… ยกเลิกจดหมายเชิญประชุม 14 มิถุนายน ดีกว่าครับ เพื่ออย่างน้อยจะไม่ทำให้สถานะด้านการต่างประเทศของไทยต้องตกต่ำลงกว่านี้!