I’mpulse แรงกระตุ้นแห่งชิบาริ ที่สร้างความเป็นไปได้อันหลากหลาย

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

I’mpulse แรงกระตุ้นแห่งชิบาริ ที่สร้างความเป็นไปได้อันหลากหลาย

 

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมมีโอกาสได้ทำหน้าที่ภัณฑารักษ์ในนิทรรศการหนึ่ง เลยถือโอกาสใช้พื้นที่ในตอนนี้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับนิทรรศการที่ว่านี้ให้ได้อ่านกัน

ที่น่าสนใจก็คือ นิทรรศการที่ว่านี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับศาสตร์แห่งการมัดพันธนาการที่เรียกว่า “ชิบาริ” นั่นเอง

เมื่อพูดถึงชิบาริ บางคนอาจนึกไปถึงกิจกรรมลงทัณฑ์ทรมานด้วยการมัดเชือก เพื่อตอบสนองรสนิยมทางเพศอันรุนแรงแบบ BDSM (Bondage, Discipline, Sadism, Masochism) แบบเดียวกับที่เราเห็นในหนังอีโรติก, หนังโป๊ หรือหนังเอวีหลายเรื่อง

แต่ในความเป็นจริง ชิบาริเป็นอะไรได้มากกว่านั้น

สำหรับบางคน ชิบาริอาจเป็นความเพลิดเพลิน หฤหรรษ์, เป็นรสสัมผัสแห่งประสบการณ์อันแตกต่างหลากหลาย หรือแม้แต่สัจธรรมในชีวิต

สำหรับบางคน การถูกพันธนาการด้วยชิบาริอาจหมายความถึงเสรีภาพ หรือความว่างภายในจิตอันไร้การปรุงแต่งก็เป็นได้

สิ่งเหล่านี้ถูกนำเสนอในนิทรรศการที่มีชื่อว่า I’mpulse ที่ว่าด้วยแรงกระตุ้นผ่านกระบวนการแห่งศาสตร์ชิบาริอันเป็นการสร้างพันธนาการแห่งเส้นเชือกและการถักทอร้อยเรียงกันอย่างเปี่ยมเอกลักษณ์

ด้วยการร่วมงานของศิลปินผู้กระทำชิบาริ อย่าง เพชรดา ปาจรีย์ และโปรดิวเซอร์ ภคณัฐ รัตนบ้านกรวย ร่วมกับห้าศิลปินรับเชิญในสายภาพถ่ายอย่าง ทอม โพธิสิทธิ์, โศภิรัตน์ ม่วงคำ, ธนพล แก้วพริ้ง, พิสุทธิ์ ศรีสุวรรณ, ณัฐพล พัฒนนิธิบูรณ์ และภัณฑารักษ์ ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ ที่มาร่วมกันถ่ายทอดผลงานศิลปะอันเปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละคน โดยมีจุดเชื่อมโยงร้อยรัดกันด้วยชิบาริ

อันเป็นสัญลักษณ์ถึงพลังแห่งการกระตุ้นการรับรู้ และการตีความอันเปี่ยมเสรีภาพ ไร้กรอบ กฎเกณฑ์ และขีดจำกัดใดๆ

นิทรรศการ I’mpulse
นิทรรศการ I’mpulse
นิทรรศการ I’mpulse

นิทรรศการครั้งนี้เริ่มต้นจากการที่ เพชรดา ปาจรีย์ หรือ Unnamedminor หญิงสาวผู้หลงใหลในศาสตร์การมัดชิบาริจนเริ่มต้นจากการหาข้อมูลและฝึกฝนเรียนรู้ด้วยตัวเอง

ก่อนที่จะเข้าเรียนกับอาจารย์ชิบาริต้นตำรับจากประเทศญี่ปุ่นอย่างจริงจัง และทำงานมัดมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในฐานะศิลปินชิบาริผู้โดดเด่นในวงการ

จากความคับแค้นของเพชรดา ที่ได้รับจากผลกระทบในการทำงานชิบาริในสังคมไทย (ดัดจริต) ทั้งคำวิจารณ์จากความไม่เข้าใจ การตีตราเธอว่าวิปริตผิดปกติ จนทำให้เธอรู้สึกว่า เธอต้องทำสิ่งนี้ให้เป็นศิลปะ และสามารถทำให้คนทั่วไปเข้าใจและเข้าถึงชิบาริได้

ด้วยความร่วมมือของภคณัฐ ทั้งสองร่วมกันวางแผน เตรียมงาน และเชื้อเชิญศิลปินภาพถ่ายที่เคยร่วมงาน ให้กลับมาร่วมงานกันอีกครั้งในนิทรรศการครั้งนี้

โดยเพชรดาทำหน้าที่เป็นเสมือนเครื่องมือในการตีความชิบาริในมุมมองอันแตกต่างหลากหลายออกมา

พูดง่ายๆ ก็คือ เธอทำหน้าที่เป็นผู้ลงมือมัดสิ่งต่างๆ ตามโจทย์ของศิลปินแต่ละคนนั่นเอง

นิทรรศการ I’mpulse
นิทรรศการ I’mpulse
Dancing Sword (2023) โดย ภคณัฐ รัตนบ้านกรวย
From a womb (2023) โดย ภคณัฐ รัตนบ้านกรวย

เริ่มจากผลงานของ ภคณัฐ รัตนบ้านกรวย ศิลปินภาพถ่ายและนักดนตรีอิสระ ที่เชื้อเชิญผู้คนจากหลากวงการ ทั้งนักร้อง, นักดนตรี, อินฟลูเอนเซอร์ หรือนายแบบและนางแบบอิสระมาทำการมัดในหลากรูปแบบเพื่อแสดงความเป็นไปได้อันหลากหลายของศาสตร์แขนงนี้

FALL IN LOVE (2023) โดย ณัฐพล พัฒนนิธิบูรณ์ FilmNetflick
FALL APART APHRODITE #3 (2023) โดย ณัฐพล พัฒนนิธิบูรณ์ FilmNetflick

ตามด้วยผลงานของ ณัฐพล พัฒนนิธิบูรณ์ หรือ FilmNetflick ศิลปินภาพถ่ายแฟชั่นแนวเซ็กซี่ ที่มุ่งเน้นในการทำงานกับกล้องฟิล์ม ผู้มีความสนใจในศาสตร์ชิบาริและ Fetish ในรูปแบบต่างๆ

ณัฐพลใช้ชิบาริเป็นสัญลักษณ์เพื่อสื่อถึงแรงกระตุ้นของความสัมพันธ์และความรักที่มีแรงกระทำต่อจิตใจคน เช่นเดียวกับแรงโน้มถ่วงซึ่งเป็นแรงตามธรรมชาติ เขาจึงเลือกใช้การมัดชิบาริแบบลอยตัว โดยมีท่าทางที่ฝืนแรงโน้มถ่วงของธรรมชาติโดยใช้เชือกเป็นตัวยึดเหนี่ยวเอาไว้

Masked (2023) โดย พิสุทธิ์ ศรีสุวรรณ
The David of Bondge (2023) โดย พิสุทธิ์ ศรีสุวรรณ

หรือผลงานของ พิสุทธิ์ ศรีสุวรรณ ศิลปินและช่างภาพอิสระ ผู้ทำงานในสายภาพถ่ายเปลือยที่แสดงออกถึงสรีระของมนุษย์

พิสุทธิ์ใช้ศาสตร์ของชิบาริผสมผสานกับเรื่องราวของความเป็นมนุษย์ เล่าเรื่องราวของปัจเจกบุคคลแต่ละคน ตั้งแต่การเกิด การเติบโต การค้นหาตัวเอง การยอมรับและรักตัวเอง และการอยู่ร่วมกับผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ, เพศ, รูปร่างหน้าตา หรือความรู้สึก ซึ่งถูกพันธนาการด้วยจิตและสังขารที่ปรุงแต่งให้เกิดเป็นมนุษย์แต่ละคนขึ้นมา

ที่น่าสนใจก็คือ นายแบบและนางแบบของเขาล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ทั้งหมด

PACK #2 (2023) โดย ธนพล แก้วพริ้ง
PACK #3 (2023) โดย ธนพล แก้วพริ้ง

และผลงานของ ธนพล แก้วพริ้ง ศิลปิน ผู้กำกับ ช่างภาพอิสระ ผู้เคยทำงานกับนิตยสารชั้นนำหลายแห่ง และมีผลงานแสดงในหอศิลป์และเทศกาลศิลปะมากมาย ในผลงานชุด PACK

ธนพลใช้ชิบาริเป็นเครื่องมือในการเล่าเรื่องราวที่สะท้อนความรู้สึกของมนุษย์กับสิ่งของ ทั้งความรู้สึกทรมานในการถูกพันธนาการ และความปลอดโปร่งอิสระเมื่อถูกปลดปล่อย ด้วยแนวคิด With or Without (จะมีหรือไม่มีก็ได้) แสดงถึงการรัดของชิบาริทั้งทางกายภาพ

อย่างภาพที่นางแบบเปลือยนับสิบคนถูกรัดตรึงเข้าไว้ด้วยกัน หรือบางภาพที่ไม่มีเชือกปรากฏให้เห็นหากแต่มีร่องรอยของเชือกที่ถูกรัดเอาไว้หลงเหลือให้เห็นบนร่างกาย

ธนพลยังใช้โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ประมวลผลภาพถ่ายของเขาให้แปรสภาพไปอย่างน่าตื่นตา

หรือผลงานที่ใช้แอพพลิเคชั่น AR (Augmented reality เทคโนโลยีที่ผสานภาพเสมือนจริงเข้ากับโลกแห่งความเป็นจริง) สร้างภาพเสมือนจริงสามมิติที่ประกอบขึ้นจากภาพถ่ายที่สามารถชมได้จากการสแกนผ่านโทรศัพท์มือถืออีกด้วย

Unlearned History #1 (2023) โดย โศภิรัตน์ ม่วงคำ
Unlearned History #3 (2023) โดย โศภิรัตน์ ม่วงคำ

หรือผลงานของ โศภิรัตน์ ม่วงคำ หรือ “ผู้หญิง ถือกล้อง” ช่างภาพนู้ดหญิงรุ่นใหม่มาแรงของเมืองไทย ผู้สนใจในความเป็นมนุษย์ เรื่องราวของผู้คน ธรรมชาติ ไปจนถึงวัฒนธรรมย่อย และสถานการณ์ในสังคมไทย ในผลงานชุด UNLEARNED HISTORY

โศภิรัตน์ได้แรงบันดาลใจจากภาพข่าวและข้อเท็จจริงในการซ้อมทรมานและการบังคับให้สูญหายในประเทศไทย

โดยเธอใช้การมัดเชือกของชิบาริเป็นสัญลักษณ์แทนการพันธนาการและการทรมานประชาชนผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาในคดีการเมือง

หากเธอไม่ได้นำภาพถ่ายการมัดชิบาริมาจัดแสดงโดยตรง แต่นำไปติดตั้งในห้องเรียนเก่าร้างและถ่ายภาพมาจัดแสดง เพื่อสื่อถึงการตกหล่นทางประวัติศาสตร์ของการซ้อมทรมานและการบังคับให้สูญหายที่ไม่เคยถูกเปิดเผย, บอกเล่า หรือเรียนรู้ในสิ่งที่รัฐกระทำกับประชาชนตลอดมา

เธอยังจัดแสดงผลงานศิลปะจัดวาง “ภาพถ่ายฝังดิน” เพื่อสะท้อนถึงการกลบฝังข้อเท็จจริง หรือแม้แต่ร่างไร้วิญญาณของผู้ถูกบังคับให้สูญหายอีกด้วย

The Middle Path 4 (2023) โดย ทอม โพธิสิทธิ์
The Middle Path 10 (2023) โดย ทอม โพธิสิทธิ์

และผลงานของ ทอม โพธิสิทธิ์ ศิลปินและช่างภาพมืออาชีพ ผู้สื่อสารเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมผ่านทั้งภาพถ่ายแฟชั่นและงานศิลปะ ในผลงานชุด The Middle Path

ทอมผสมผสานความเชื่อทางพุทธศาสนาในประเทศไทยกับศิลปะแห่งการพันธนาการด้วยเชือกอย่างชิบาริ ด้วยภาพถ่ายเปี่ยมสีสันจัดจ้านเพื่อดึงดูดสายตาผู้ชม

และชี้ชวนให้ตั้งคําถามถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอำนาจแห่งความศรัทธาและความเชื่อทางศาสนา ที่ส่งอิทธิพลต่อความคิดของผู้คนในสังคมไทย

รวมถึงสะท้อนประเด็นความหลากหลายทางเพศที่มีอยู่ในชุมชนพุทธศาสนาไทยมาอย่างยาวนาน

แต่สถานภาพของคนเหล่านี้กลับยังคงไม่ได้รับการยอมรับ เข้าใจ หรือรับรู้อย่างเท่าทันบริบทของสังคมร่วมสมัย

จนทําให้โอกาสเข้าถึงความรู้ทางศาสนาสําหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (หรือแม้แต่เพศหญิง) ยังคงเป็นสิ่งที่คับแคบจนเราต้องจับตามองและตั้งคำถาม

 

นอกจากผลงานเหล่านี้ในพื้นที่แสดงงานหลัก (อาคารสีดำ) ในพื้นที่แสดงงานรอง (อาคารสีขาว) ของหอศิลป์ ยังมีผลงานภาพถ่ายและฐานข้อมูลต่างๆ จากการร่วมงานของเพชรดาและภคณัฐ ที่เปิดให้ผู้ชมเข้าถึงแง่มุมอันหลากหลายของชิบาริมากขึ้น

รวมถึงผลงานศิลปะจัดวางจากชิบาริที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้สัมผัสกับศาสตร์และศิลป์แขนงนี้ได้อย่างใกล้ชิดสนิทเนื้อ

แถมในช่วงระยะเวลาการแสดงงาน ยังมีกิจกรรมต่างๆ อย่างการจัดเวิร์กช็อป และการแสดงสดชิบาริประกอบการแสดงดนตรีในทุกๆ สุดสัปดาห์อีกด้วย

นิทรรศการ I’mpulse Shibari Art Exhibition จัดแสดงที่ 6060 Arts Space ตั้งแต่วันที่ 5-26 มิถุนายน 2566 เปิดทำการวันจันทร์-เสาร์ เวลา 12:00-20:00 น. (หยุดวันอาทิตย์)

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : 6060 Arts Space, โทรศัพท์ 08-1890-1554 •

 

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์