คุยกับทูต | เปาโล ดิโอนิซี สานสัมพันธ์ 155 ปี ไทย-อิตาลี (3)

คุยกับทูต | เปาโล ดิโอนิซี สานสัมพันธ์ 155 ปี ไทย-อิตาลี (3)

 

“อิตาลีและไทยมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน หากย้อนกลับไปเมื่อต้นศตวรรษที่แล้ว สถาปนิก จิตรกร วิศวกร และศิลปินชาวอิตาลีจำนวนมากเดินทางมากรุงเทพฯ โดยได้รับเชิญจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อร่วมพัฒนาประเทศสยามให้ทันสมัย”

“ชาวอิตาลีที่มีบทบาทในวงการศิลปะของไทยมากที่สุดคือ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี (Corrado Feroci) เป็นผู้มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อศิลปะสมัยใหม่และการศึกษาของไทย ทั้งเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน”

“นั่นคือเหตุผลที่เราส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ประสบความสำเร็จมาโดยตลอด จากการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมมากมาย รวมทั้งให้การสนับสนุนนักเรียนที่ต้องการศึกษาต่อในอิตาลีผ่านโครงการทุนการศึกษา”

ภาพจากหนังสือ 100 ปี นิทรรศการเชิดชูเกียรติ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

นายเปาโล ดีโอนีซี (Paolo Dionisi) เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทยเล่าว่า

“ในเดือนกรกฎาคมนี้ เราจะเปิดสถาบันวัฒนธรรมอิตาลีภายในสถานทูตด้วย ซึ่งจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของเราให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นต่อไป”

อาคาร สถานที่สำคัญๆ ของไทยที่ชาวอิตาลีมีส่วนร่วมในการออกแบบ อาทิ พระที่นั่งอนันตสมาคม ทำเนียบรัฐบาล บ้านพิษณุโลก กระทรวงกลาโหม สถานีรถไฟหัวลำโพง วังบางขุนพรหม พระที่นั่งอภิเษกดุสิต พระที่นั่งสวนอัมพร ห้องสมุดเนลสัน เฮยส์

ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม และความร่วมมือในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นความร่วมมือในการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม ระหว่างสถานเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย และบริษัทต่างๆ ของอิตาลีในไทย ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ของไทยทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมหาวิทยาลัยของไทย

นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย ยังได้มีส่วนร่วมในโครงการบูรณะ วังพญาไท (Phya Thai Palace Restoration Project) ของมูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า (Phra Mongkut Klao Hospital Foundation) โดยได้นำคณะผู้เชี่ยวชาญเชิงอนุรักษ์จากอิตาลีมาชมโครงการ และร่วมมือสนับสนุนการบูรณะอีกด้วย

นายเปาโล ดีโอนีซี(Paolo Dionisi) เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย

ด้านชุมชนชาวอิตาลีในประเทศไทย

“มีการเติบโตขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีชาวอิตาลีประมาณ 6,500 คนพักอาศัยอยู่ที่นี่ ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจากเมื่อสิบปีที่แล้ว ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ภูเก็ต และชลบุรี”

“ชาวอิตาลีที่พำนักถาวรในประเทศไทยทำงานในหลายภาคส่วน เช่น เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ในธุรกิจการท่องเที่ยว การจัดเลี้ยง และองค์กรระหว่างประเทศ เพราะกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางภูมิภาคที่สำคัญของหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งชาวอิตาลีที่เกษียณอายุ และผู้เร่ร่อนดิจิทัล (Digital Nomad) ด้วย นอกจากนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยทุกปี ประมาณปีละ 250,000 คน ก่อนเกิดโควิด”

นอกจากดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทยแล้ว นายเปาโล ดิโอนิซี ยังมีภารกิจที่มีขอบเขตครอบคลุมอีกสองประเทศคือ สปป.ลาว และกัมพูชา

“ผมไปประเทศลาวและกัมพูชามาแล้วครั้งหนึ่ง เพื่อยื่นอักษรสาส์นตราตั้งต่อผู้นำประเทศ จึงมีโอกาสได้พบปะกับเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนอิตาลี แม้ว่าชาวอิตาลีที่นั่นจะมีจำนวนไม่มากนักหากเทียบกับในประเทศไทย แต่ผมคิดว่า ยังมีช่องว่างสำหรับความร่วมมือที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นอีกหลายสาขา”

“ตัวอย่างคือ ในกัมพูชามีการก่อตั้งสมาคมธุรกิจอิตาลี-กัมพูชา (ICBA) เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมและธุรกิจ ในขณะที่ในลาว เพิ่งมีการจัดงาน Italian Expo (เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา) ร่วมกับบริษัทอิตาลีจำนวนมากจากหลายภาคส่วน”

“นอกจากนี้ ทั้งกัมพูชาและลาวเป็นประเทศที่มีมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ได้แสดงความสนใจอย่างมากที่จะร่วมมือกับอิตาลีในด้านนี้”

นายเปาโล ดีโอนีซี(Paolo Dionisi) เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย

หน้าที่ของสถานเอกอัครราชทูต

“สถานเอกอัครราชทูตและหน่วยงานในสถานทูต ดูแลความสัมพันธ์ระหว่างอิตาลีและไทยแบบ 360 องศา เราทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอิตาลีและไทยในทุกด้าน รวมถึงการติดต่อสัมพันธ์กับคณะผู้แทนระดับสูงด้านการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรมและสื่อต่างๆ อีกด้วย”

“ในขณะเดียวกัน เราให้ความช่วยเหลือด้านกงสุลสำหรับชาวอิตาลีในประเทศไทย และให้บริการในด้านต่างๆ แก่ชาวอิตาลีและชาวไทย หรือบริษัทที่ต้องการลงทุนในประเทศของเรา”

นายเปาโล ดิโอนิซี (Paolo Dionisi) เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทยลงนามถวายพระพร เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทธิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

การเสริมสร้างศักยภาพสตรี และความเท่าเทียมระหว่างเพศในต่างประเทศ

สหภาพยุโรป (อียู) ให้ความสำคัญในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและบทบาทของสตรีในภาคธุรกิจและเศรษฐกิจ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก และมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ (EU Gender Equality Strategy 2020-2025) ที่ครอบคลุมเรื่องการส่งเสริมสถานภาพสตรี รวมถึงความเท่าเทียมทางเพศในตลาดแรงงาน

“สำหรับประเทศอิตาลี ความเสมอภาคทางเพศและการเสริมสร้างศักยภาพของผู้หญิงและเด็กผู้หญิง เป็นข้อกำหนดเบื้องต้นที่จำเป็นในการขจัดความยากจนและสร้างสังคมโลกบนพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน ความยุติธรรมทางสังคม และสิทธิมนุษยชน” ทูตเปาโล ดิโอนิซี ชี้แจง

“แนวปฏิบัติเกี่ยวกับความเสมอภาคระหว่างเพศและการเสริมสร้างศักยภาพของผู้หญิง เด็กผู้หญิง และเด็ก (2020-2024) ของสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแห่งอิตาลี (AICS) ได้กำหนดหลักการและวิธีการดำเนินการของเรา”

“เพื่อให้สอดคล้องกับวาระการประชุมปี 2030 หน่วยงานจึงใช้วิธีการแบบสองทาง คือ การแทรกแซงด้านเงินทุนที่มีเป้าหมายเฉพาะเพื่อลดช่องว่างระหว่างเพศ และบูรณาการมิติทางเพศเข้ากับความคิดริเริ่มอื่นๆ”

“การสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศในต่างประเทศของเรานี้ ยังได้รวมถึงความคิดริเริ่มทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ด้วยความร่วมมือกับหน่วยงานที่แข็งแกร่งของสหประชาชาติ”

นายเปาโล ดีโอนีซี (Paolo Dionisi) เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย

อิตาลี เป็นประเทศบ้านเกิดของเลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) และกาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei) และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้เยี่ยมชมมากที่สุดในโลก เนื่องจากประวัติศาสตร์อันยาวนาน พิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก อีกทั้งขึ้นชื่อในเรื่องของไวน์และอาหาร

“ความก้าวหน้าในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทในอิตาลีมาช้านานตั้งแต่ยุคจักรวรรดิโรมัน มาจนสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ และกระทั่งทุกวันนี้”

“ปัจจุบัน เรามีอุตสาหกรรมนวัตกรรมและอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลายแห่งกระจายอยู่ทั่วดินแดนอิตาลี ตัวอย่างเช่น Kilometro Rosso (แบร์กาโม) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือ หรือเขตเทคโนโลยีการบินและอวกาศ Apulian (DTA) ทางตอนใต้”

“ส่วนโอกาสพิเศษในการนำเสนอนวัตกรรมที่ดีที่สุด คืองาน World Expo ซึ่งเราหวังว่า จะได้จัดขึ้นที่กรุงโรมในปี 2030”

“โดยกรุงโรมเป็นหนึ่งในเมืองที่ได้รับการเสนอชื่อ และ ธีม (theme) ที่กรุงโรมเสนอคือ ‘ผู้คนและดินแดน’ (People and Territories) ซึ่งจะเป็นโอกาสให้คนใส่ใจการฟื้นฟู การอยู่ร่วมกัน และนวัตกรรมเมืองแห่งอนาคต”

ซึ่งจะหมายถึงการเผชิญความท้าทายร่วมกันที่ปัจจุบันกำหนดไว้สำหรับทุกคน จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากร การพัฒนาเมือง กระแสการย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ ล้วนเป็นประเด็นที่จะถูกตรวจสอบอย่างแข็งขันภายในแพลตฟอร์ม Expo 2030 ของกรุงโรม เพื่อแนะนำวิธีการ แนวคิด และกลยุทธ์ใหม่ๆ”

เวิลด์ เอ็กซ์โป (World Expo) หรือชื่อทางการว่า International Registered Exhibitions เป็นกิจกรรมระดับโลกที่เป็นการรวมตัวของนานาประเทศ จัดกันทุก 5 ปี เพื่อจัดการกับความท้าทายที่เป็นสากลในปัจจุบัน โดยให้ชาติต่างๆ สร้างพาวิลเลียนหรือพื้นที่ต้อนรับของตนเอง เพื่อดึงดูดผู้เข้าชมงาน

นอกจากอิตาลีแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่ยื่นขอเป็นเจ้าภาพการจัดงาน “เอ็กซ์โป 2030” ได้แก่ เมืองปูซาน ของเกาหลีใต้, กรุงริยาด ของซาอุดีอาระเบีย และเมืองโอเดสซา “ไข่มุกแห่งทะเลดำ” ของยูเครน ทั้งนี้ ผลการคัดเลือกผู้ที่จะได้เป็นเจ้าภาพงาน “เอ็กซ์โป 2030” คาดว่าจะมีการประกาศภายในเดือนพฤศจิกายน ปีนี้ •

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin