ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร : ดีจริงหรือ

บทความพิเศษ | พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ

 

ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร

: ดีจริงหรือ

 

ตั้งสัจจะไว้ว่าจะไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทหารหลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว อยากปล่อยให้รุ่นน้องๆ เขาได้มีอิสระในการแสดงความคิดเห็นเรื่องบ้านเรื่องเมือง ตนเองจะขอปลีกวิเวกแสวงหาความสงบสุขในชีวิต ตามหลักธรรมของพระพุทธองค์เพียงอย่างเดียว

แต่ไม่ทราบว่ามีแรงบันดาลใจอะไร ทำให้จำเป็นต้องจับปากกามาเขียนเรื่องเกี่ยวกับทหารๆ ในวันนี้ จะเรียกว่าเสียสัจจะเพื่อชาติก็ดูจะเป็นการหลงตัวเองมากเกินไป

ขอร้องแกมบังคับให้ท่านผู้อ่าน อดทนอ่านให้จบด้วยนะครับ จักขอบพระคุณมาก

 

คําถามยอดฮิต หลังการเลือกตั้งคราวนี้ ไม่เห็นอะไรจะฮิตมากไปกว่าคำถามว่า

“ทำไมต้องมีทหาร”

“มีทหารไว้ทำอะไร”

“เลิกการเกณฑ์ทหารกันเลยดีไหม”

แม้ว่าจะเป็นทหารเก่าทหารแก่ก็ตาม ผมไม่สามารถจะตอบคำถามให้ถูกใจท่านได้ จึงอยากจะย้อนถามท่านก่อนที่จะตอบคำถามว่า

“มีหน่วยดับเพลิงไว้ทำไม”

“เลิกหน่วยดับเพลิงได้ไหม”

“เราชะลอไม่ให้เกิดเพลิงไหม้ได้ไหม”

ทั้งนี้เพราะสิ้นเปลืองค่าจ้างพนักงานดับเพลิง แทบไม่เห็นความคุ้มค่าเอาเสียเลย

เราจะทำอย่างไรดีกับพนักงานดับเพลิง ที่กินเงินเดือนไปวันๆ เลิกเลยได้ไหม?

ผมตอบแทนท่านได้เลยว่า ได้ แต่ค่อนข้างยาก เพราะเราไม่สามารถที่จะหยั่งรู้เรื่องอนาคตว่าจะมีไฟไหม้หรือไม่ และเราคงไม่มีความสามารถพอที่จะชะลอเหตุการณ์ไว้ไม่ให้เกิดเพลิงไหม้ได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็มีคำถามว่า เราจะปล่อยให้พนักงานดับเพลิงนอนรอคอยให้เกิดปัญหา แล้วจึงจะได้แสดงบทบาท

หรือเราจะเอาเวลาว่างจากไฟไหม้ ให้พนักงานดับเพลิงทำมาตรการเชิงป้องกัน อาทิ ช่วยพนักงานเทศบาลขจัดขยะมูลฝอย หรือสิ่งที่เป็นสื่อทำให้เกิดไฟไหม้ ตลอดจนจัดการกับตรอกซอยต่างๆ ให้กว้างขวางพอที่รถดับเพลิงเข้าถึงที่หมาย เพื่อแก้ปัญหาเพลิงไหม้ได้สะดวก จะดีไหม? ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าที่เราได้ใช้เงินภาษี เสียเงินเสียทองเป็นค่าจ้างเงินเดือนของพนักงานดับเพลิงที่มีอยู่

คำถามเรื่องพนักงานดับเพลิงกับคำถามเรื่องทหารบริโภคเงินเดือนทุกเดือน แต่ไม่เห็นมีผลงานคุ้มค่ากับการเสียค่าใช้จ่ายไป มีตรรกะคล้ายๆ กัน

 

จากการศึกษาการใช้กำลังทหารในหลายต่อหลายประเทศ ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ได้คำตอบว่า ส่วนมากกำลังทหารในแทบทุกประเทศทุกทวีป มีภาระหน้าที่ 2 ด้าน ทั้งยามปกติและยามสงคราม

แม้ประเทศไทยสมัยโบราณก็ตาม มีภาระหน้าที่ทหาร 2 ด้านมาตลอด มีระยะเดือนเข้าและเดือนออก จะเข้าสู่กรมกองมากน้อยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และบางยุคบางสมัยมีเดือนออกมากกว่าเดือนเข้าด้วยซ้ำ เช่น เข้าเป็นทหารเพียง 1 เดือน อีก 2-3 เดือนก็อยู่บ้านกับครอบครัวทำไร่ทำนาสร้างผลิตผลกันตามสภาพทางภูมิศาสตร์

แม้ยามสงคราม สหรัฐอเมริกาก็ยังใช้กำลังทหารในกิจการพลเรือน (Civic Action) เพื่อให้ประเทศที่ตนเองยึดครองอยู่กลายเป็นมิตรตน สะดวกต่อการบังคับบัญชา และการดำเนินการทางกลยุทธ์ด้วย

แต่ไม่ใช่เรื่องสำคัญต่อการพัฒนาประเทศมากนัก ประเทศไทยนึกว่าเรื่อง Civic Action เป็นเรื่องที่สำคัญและกระทำอยู่แล้ว จึงไม่ได้มองไปที่รูปแบบ (Model) อื่นๆ ของการใช้กำลังพลเพื่อการสร้างชาติกันอย่างจริงจัง

ประเทศที่ใช้กำลังพลเพื่อการสร้างชาติ มีหลายต่อหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จ โครงการและรูปแบบตลอดจนจุดเน้นแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัญหาของประเทศนั้นๆ บางประเทศถึงกับกำหนดไว้ในแผนพัฒนาประเทศด้วยซ้ำไป

เท่าที่ได้ศึกษาพบว่ามีหลายประเทศที่น่าสนใจ แต่จะนำมากล่าวในโอกาสนี้เพียง 2 ประเทศ คือประเทศอิสราเอลและจีนเท่านั้น

 

เนื่องด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของอิสราเอลบังคับทำให้อิสราเอลจำเป็นต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้สามารถอยู่รอดปลอดภัยได้

ผู้เขียนได้ศึกษาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ นอกจากจะเขียนเป็นเอกสารวิจัยแล้ว ยังได้มีโอกาสไปร่วมปฏิบัติจริงในหน่วยทหาร Nahal ของอิสราเอลเป็นเวลาครึ่งเดือน

ปรัชญาของทหารอิสราเอลคือ ทหารไม่ใช่ผู้บริโภค แต่ทหารเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของชาติ (We Are Not a Consumer but We Are a Producer) เขามีปรัชญาเป็นสมการที่ว่า “เราผลิตเพื่อการบริโภคของเรา และผลิตเพื่อความเจริญเติบโตของชาติด้วย” เขาไม่อยากเห็นสังคมประณามว่า เอาภาษีอากรของประเทศชาติไปซื้อหาอาวุธ แต่เขาหาเงินสร้างรายได้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของกำลังพล และยังเป็นการสร้างเงินงบประมาณเพื่อการซื้อหาเขี้ยวเล็บให้กับประเทศ โดยที่ฝ่ายพลเรือนติฉินนินทาไม่ได้

วันแรกที่ได้ผ่านกระบวนการ กรรมวิธีการต้อนรับและแจ้งภารกิจแล้ว กองทัพบอกว่าถ้าจะดูงานกองทัพอิสราเอลให้เข้าใจถ่องแท้ จะต้องไปดูงานโรงเรียนอนุบาลเสียก่อน

ผมค่อนข้างจะสับสนในคำสั่ง แต่ก็ต้องปฏิบัติตามเพราะเราเป็นนายทหารไทย และเป็นแขกของรัฐบาลอิสราเอล

พอไปดูงานโรงเรียนอนุบาลแล้ว จึงถึงบางอ้อว่า ที่เขาให้ดูงานที่นี่ก่อนดูงานกองทัพกับการพัฒนาประเทศช่างมีความหมายเหลือเกิน

 

มีศัพท์คำหนึ่งในภาษาฮิบรู คือ การิน (Garin) แปลว่าเมล็ดพันธุ์ คณะบุคคล และอื่นๆ ในห้องเรียนแต่ละห้องเรียน จะแบ่งนักเรียนออกเป็นหลายๆ การิน แล้วแต่ความสมัครใจของนักเรียน

การเรียนการสอนเขาใช้การศึกษาเป็นกลุ่ม ทำงานเป็นกลุ่ม ความสำเร็จของการศึกษา คือ ความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนความสามัคคีของคนในกลุ่ม ไม่เฉพาะการเรียนการสอน การสอบวัดผลก็ทำเป็นกลุ่ม

เขาช่างปลูกฝังความรักกันตั้งแต่เด็ก แต่บางประเทศปลูกฝังการชิงดีชิงเด่น ยึดถือตัวตนเป็นที่ตั้ง อิจฉาตาร้อนกัน ทำงานเด่นอยู่คนเดียว ครูจัดลำดับที่ให้ยิ่งภูมิใจที่เราได้ที่ดีกว่าเพื่อนๆ เพื่อนๆ ก็อิจฉาตาร้อนกันตั้งแต่เด็ก สำเร็จออกมาต่างคนต่างไป

การเข้ามหาวิทยาลัยเราก็ใช้ระบบแพ้คัดออก คนที่ชนะก็ดีใจ คนแพ้เสียใจ เมื่อเป็นเช่นนี้ จะเอาระบบสหกรณ์การทำงานเป็นกลุ่มเป็นคณะมาใช้ได้อย่างไร

อย่าลืมว่าประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจคือสหกรณ์ ถ้าเป็นประชาธิปไตยทางการเมืองได้แก่การเลือกตั้ง แล้วปล่อยให้มือใครยาวสาวได้สาวเอา ผมคิดว่าคงไม่พอที่จะทำให้บ้านเมืองของเราก้าวไปข้างหน้าอย่างเสมอภาคกันได้

หลังจากได้ดูงานพื้นฐานของกองทัพที่โรงเรียนอนุบาลแล้ว เข้าใจดีว่าทั้งทหารและพลเรือนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่มีการแบ่งแยกกัน มีแต่ความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน

ใช้พลังแห่งความรักใคร่สามัคคีเป็นพลังในการพัฒนาชาติ

 

กองทัพอิสราเอลย้ำอยู่เสมอว่า ทหารจะต้องไม่ใช่ผู้บริโภคภาษีประชาชน แต่จะต้องเป็นผู้ผลิต GDP ให้แก่ชาติ

กองทัพอิสราเอลทำให้คนในชาตินอนตาหลับ และเห็นภาพชัดว่าเขาสละชีวิตเพื่อชาติจริงๆ

ในภาวะสงครามไม่ต้องพูดถึง ทุกคนเข้าใจในคุณภาพการป้องกันประเทศดี โดยเฉพาะสงคราม 6 วัน แต่อย่าลืมว่าเขาไม่มีเวลาว่างเหมือนบางประเทศ เพราะเวลาว่างจากสงครามกับศัตรู เขาจะหันมาให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของมวลประชาชน การที่จะเกลี่ยรายได้ให้คนในชาติมีอยู่มีกินไม่มีความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ภารกิจในการรบ

สหกรณ์คือคำตอบ สหกรณ์คือแนวทางในการพัฒนาประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ

สหกรณ์จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าปราศจากความร่วมรักสามัคคี โดยเฉพาะการร่วมกันผลิตร่วมกันซื้อร่วมกันขาย

หน่วยผลิตที่เล็กที่สุดของชาติคือครอบครัวและชุมชน กองทัพอิสราเอลได้ช่วยสร้างหน่วยผลิตขึ้นในทุกระดับ ล้อไปกับหน่วยผลิตของชาติ อันได้แก่ คีบุ๊ต (Kibbutze) และโมชาฟ (Moshav)

กล่าวคือ มีหน่วยผลิตของกองร้อยกองพัน เรียกชื่อว่า กองพลผลิตสินค้าและบริการ (Heiezuth)

 

ผู้เขียนเคยอยู่ในหน่วยผลิตกองร้อยชายแดนเวสต์แบงก์ (Westbank) ของแม่น้ำจอร์แดน ทหารทุกคนได้ออกกำลังกายด้วยการปลูก การเลี้ยง การดูแลผลผลิต แล้วนำผลผลิตไปบริโภค เหลือจากบริโภคนำไปขายในเมือง ได้รายได้มาจัดสรรเป็นเงินออมเงินฝากให้ทหารทุกคน เพื่อจะได้นำเงินทองจากหยาดเหงื่อของเขาไปสร้างเนื้อสร้างตัวหลังจากปลดประจำการ (3 ปีบ้าง 2 ปีบ้าง)

ผู้บังคับบัญชาของหน่วยทหารทุกระดับ ให้ความใส่ใจในการผลิตการขายมาก อีกทั้งได้แจ้งให้กับเหล่าทหารได้ทราบว่าปีนี้เราผลิตได้เท่าไรคิดเป็น GDP เท่าไร คุ้มค่าหรือเกินคุ้มกับที่ได้รับเงินจากกองทัพหรือรัฐบาลมากน้อยเท่าไร ทหารทุกคนต่างมีกำลังใจที่จะผลิตและทำงานหนักเพื่อชาติ เพื่อตัวเอง อย่างไม่แสดงความเหน็ดเหนื่อย

จากแนวคิดทุกคนเป็นทหาร และทหารที่มีเวลาพักมากที่สุดคือ ทหารที่ปลดประจำการแล้ว ทางการจะก็เรียกมาฝึก ทบทวนการฝึก การปฏิบัติหน้าที่อยู่เป็นประจำ จึงประดุจว่าเป็นทหารที่มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากที่สุด

กองทัพอิสราเอลได้พัฒนากำลังพลให้มีประสิทธิภาพทั้งในวิชาชีพ ตลอดจนระเบียบวินัยและความรักสามัคคี ทำให้ช่องว่างระหว่างทหารและพลเรือนของเขาแทบไม่มี จึงเป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจ

 

อีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ คือรูปแบบของ PLA หรือกองทัพปลดปล่อยของจีนสมัยบุกเบิก

ผู้นำเหมาได้สร้างหน่วยทหารที่ช่วยในการสร้างชาติ ชื่อว่า PLA (People Liberation Army) เป็นทหารที่ฝังอยู่กับประชาชนในลักษณะเสือพึ่งป่า เสือคือทหาร ป่าคือหมู่บ้านหรือมวลชน

ประธานเหมาบอกว่า นอกจากภารกิจในการป้องกันประเทศแล้ว เราจะสร้างชาติให้ได้ด้วยการพัฒนาพลังคนหนุ่มสาวให้มีคุณภาพ ถึงกับกล่าวไว้ในสุนทรพจน์ว่า ทหารคือทะเลมนุษย์ เราจะนำพลังทะเลมนุษย์นี้มาใช้ในการสร้างชาติได้อย่างไร บางโอกาสท่านเรียกกองทัพ PLA ว่าเป็นวิทยาลัยการอาชีพที่ใหญ่ที่สุดของจีน คนหนุ่มสาวจำนวนหลายล้านคนที่เข้ามาอยู่ในกองทัพ ถือว่าได้เข้าสู่วิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดของชาติ การฝึกอบรมในสาขาอาชีพที่จะช่วยบ้านช่วยเมือง ให้มีความรู้ ความสามารถในการพัฒนาทั้งเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและบริการ ได้กระทำอย่างเป็นระบบ

เมื่อทหารหรือกำลังพลมีคุณภาพแล้ว จะต้องออกไปดูแลช่วยเหลือประชาชน เริ่มตั้งแต่การทำปุ๋ยหมักแจกจ่ายเกษตรกร ช่วยการไถนา ดำนา เกี่ยวข้าว ในพื้นที่ที่ทำการเกษตร ทหารช่าง ช่วยสร้างทำนบ เหมือง ฝาย ปรับปรุงคันนา ทหารอากาศช่วยในการทำฝนเทียม

ช่องว่างระหว่างทหาร พลเรือน ประชาชน แคบมาก แทบมองไม่เห็น โดยเฉพาะการพัฒนาและบุกเบิกการผลิตในคอมมูนต่างๆ

ถามว่าประเทศเราจะเอาอย่างไรกัน

 

ทหารที่เกณฑ์มามีจำนวนพอที่จะสร้างชาติอย่างที่กล่าวแล้วไหม?

ถ้าไม่พอก็ต้องเพิ่ม แต่ไม่ใช่เพิ่มมาบริโภค จะต้องเพิ่มมาเพื่อการผลิต การพัฒนาชาติ

การพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่มีอะไรเกินกว่าการผลิต การผลิต และการผลิต

แต่เราพัฒนาชาติด้วยการขาย ซึ่งไม่ได้เน้นการผลิตกันเลย ถามว่าจะเอาอะไรมาขาย ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะผู้กำหนดนโยบายอยู่ในวัฒนธรรมของการขาย จึงเห็นว่ามีความสำคัญที่สุดก็ได้

เมื่อใดที่กำลังทหารได้รับความรู้ มีความสามารถ ประกอบกับมีระเบียบวินัย ได้ช่วยชาติในการผลิต โดยเฉพาะขณะนี้ปัจจัยการผลิตของทหารเรามีค่อนข้างจะพอเพียง ปัจจัยที่ว่านั้นคือ ปัจจัยทรัพยากรมนุษย์ (Man) และปัจจัยที่ดิน (Land) ทหารเป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่ของชาติ แต่ยังไม่ใช้เพื่อการผลิตอย่างเพียงพอและเป็นระบบ

แค่เราพัฒนาทหารให้มีความรู้ความสามารถในการผลิต ในการเป็นสารพัดช่าง แล้วนำความรู้มาสร้างผลผลิตในค่ายทหารของตนเอง คงได้ผลิตผลไม่มากก็น้อย

เรามีเครื่องไม้เครื่องมือทางการก่อสร้าง การทำทำนบ เหมือง ฝาย การขุดบ่อกักเก็บน้ำฝนกันมากมาย ถ้านำมาร่วมมือกับชาวบ้าน หมู่บ้าน อบต. สร้างบ่อน้ำประจำชุมชน (Farm Porn) คงได้จำนวนไม่น้อย เราจะได้หลุดพ้นจากปัญหาซ้ำซากของชาติเสียที นั่นคือ ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม จะได้หมดไป ไม่ใช่ซื้อโอ่งมาแจกอย่างที่เห็นกันในขณะนี้

กองทุนแห่งชาติ หรือทะเลของเงินเพื่อการพัฒนาหรือการสร้างชาติ ก็ควรจะมีได้แล้ว ไม่ใช่ไปเบียดบังเอากับธนาคารพาณิชย์ เขาจะได้ใช้เพื่อการพาณิชย์ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

การทำงานเชิงรับก็ควรจะยุติได้แล้ว ต้องรุกเข้าหาปัญหาและพัฒนาประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจกันเสียที การพัฒนาคน พัฒนาหมู่บ้าน ชุมชน ให้มีการผลิต เป็นขบวนรถไฟประชาชน คู่ขนานกับขบวนรถไฟความเร็วสูงของภาคเอกชนในเมือง ทั้ง 2 ขบวนจะวิ่งไปข้างหน้า เสริมเติมซึ่งกันและกัน ไม่เป็นภาระแก่กัน เลิกเสียทีครับนโยบายยาหอม ยาดม ยาลม ยาหม่อง ซึ่งเป็นนโยบายหาเสียงแต่ไม่ใช่นโยบายสร้างชาติ

ชาติกำลังรอท่านอยู่ และอย่าลืมว่าปัญหาของเราไม่ใช่ปัญหาไม่มีคน แต่เป็นปัญหาไม่ได้พัฒนาคน ไม่ได้ใช้คนให้คุ้มค่ามากกว่า