ทางหลวงภาคกลาง และภาคเหนือในอดีต

ปริญญา ตรีน้อยใส

ทางหลวงภาคกลาง และภาคเหนือในอดีต

 

พาไปย้อนอดีต พาไปมองถนนหลายสายในภาคอีสานและภาคใต้ สมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เลยมีเสียงก้องกลับมา ถามหาทางหลวงในภูมิภาคอื่น

คงเป็นเพราะทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ผ่านหลายเมือง กว่าจะไปถึงเชียงใหม่ เช่นเดียวกับถนนพหลโยธิน ก็ผ่านหลายเมือง กว่าจะไปสิ้นสุดที่เชียงราย ทำให้การคมนาคมขนส่งทางภาคเหนือและภาคกลางสะดวกกว่าภูมิภาคอื่น ทางหลวงที่สร้างในยุคนั้น จึงเป็นถนนสายสั้นๆ และมีจำนวนไม่มาก

เริ่มที่ ทางหลวงแผ่นดินสายสวรรคโลก-สุโขทัย-ตาก ที่ให้ขนามนามว่า ถนนจรดวิถีถ่วง เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ขุนจรดวิถีถ่วง อดีตนายช่างผู้ก่อสร้าง

ปัจจุบันเป็นถนนในเขตเทศบาลเมืองสุโขทัย และเขตเทศบาลเมืองสวรรคโลก ส่วนที่เหลือผนวกรวมกับทางหลวง 101 และทางหลวง 12

เหมือนกับ ถนนสิงห์วัฒน์ ที่เป็นอนุสรณ์แก่ขุนสมศรี สิงห์วัฒน์ (ประสมศรี สิงหวัฒนะ) อดีตแขวงการทาง เริ่มจากพิษณุโลก ไปยังสุโขทัย

ปัจจุบันส่วนใหญ่ซ้อนทับกับทางหลวง 12 พิษณุโลก-สุโขทัย ส่วนที่เหลือเป็นถนนในเขตเทศบาลเมืองสุโขทัย และเขตเทศบาลเมืองพิษณุโลก

ถนนวังซ้าย ที่ประกาศนามเพื่อให้เกียรติแก่นายตุ่น วังซ้าย อดีตนายช่างกำกับแขวงการทางแพร่ สำหรับทางหลวงสายร้องกวาง งาว

ทางหลวงแผ่นดินสายเด่นชัย-แพร่-น่าน ให้ขนานนามว่า ถนนยนตรกิจโกศล เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่หลวงยันตรกิจโกศล (วารี ยันตรกิจโกศล) อดีตนายช่างกำกับแขวงการทางแพร่

ส่วนทางหลวงแผ่นดินสายเชียงใหม่-เชียงดาว-ฝาง ให้ขนามนามว่า ถนนโชตนา เพื่อเป็นเกียรติแก่นายทิม โชตนา อดีตนายช่างกำกับการเขตการทางเชียงใหม่

 

ทางหลวงแผ่นดินสายชัยบาดาล-เพชรบูรณ์-หล่มสัก ให้ขนามนามว่า ถนนคชเสนี เพื่อเป็นเกียรติแก่นายปฐม คชเสนี อดีตอธิบดีกรมทาง

และทางหลวงแผ่นดินสาย สายแยกดอนกระเบื้อง-กาญจนบุรี-บีล๊อก ให้ขนามนามว่า ถนนแสงชูโต เพื่อเป็นเกียรติแก่หลวงอุปกรณ์รัฐวิถี (สระ แสงชูโต) อดีตนายช่างใหญ่กรมทาง

สำหรับ ถนนคชเสนี (ถนนคชเสนีย์) จากชัยบาดาลไปหล่มสักนั้น นามมาจากนายปฐม คชเสนี อดีตอธิบดีกรมทาง ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวง 21 และ 2129

ถนนสุวรรณศร จากบ้านภาชี ไปถึงอรัญประเทศ มาจากนายธะทรง สุวรรณศร อดีตนายช่างกำกับการเขตการทางกรุงเทพฯ ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวง 33

ทางหลวงสายแยกดอนกระเบื้อง ถึงปิล๊อก กาญจนบุรี ประกาศให้ใช้นามว่า ถนนแสงชูโต เพื่อเป็นเกียรติแก่หลวงอุปกรณ์รัฐวิถี (สระ แสงชูโต) อดีตนายช่างใหญ่

กรมทางอีกท่านหนึ่ง

ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวง 323 ที่ตัดแยกมาจากถนนเพชรเกษม ไปสิ้นสุดที่ด่านเจดีย์สามองค์

ทางหลวงสายนครปฐม ถึงสุพรรณบุรี มีนามว่า ถนนมาลัยแมน เพื่อเป็นเกียรติแก่นายปุย มาลัยแมน อดีตหัวหน้ากองคลัง กรมทาง

ทางหลวงสายฉะเชิงเทรา ผ่านพนัสนิคม ไปชลบุรี มีนามว่า ถนนศุขประเสริฐ เพื่อเป็นเกียรติแก่หลวงสัมฤทธิ วิศวกรรม (โกศล ศุขประยูร) นายช่างผู้ควบคุมการก่อสร้าง

 

พาไปมองครบถ้วนทุกภูมิภาคแล้ว คงช่วยให้คนในแต่ละจังหวัด รู้ที่มาของนามที่เรียกขานถนนสายต่างๆ อาจจะผิดเพี้ยนไปบ้าง ด้วยเวลาที่ผ่านไป ทำให้ผู้คนลืมเรื่องราวที่มาบ้าง

เอาเป็นว่า แทนที่รู้จักคุ้นเคยนามถนนในต่างประเทศ มารู้จักนามถนนในภูมิลำเนาที่อยู่หรือเคยอยู่บ้าง รวมทั้งวงศาคณาญาติ อดีตข้าราชการกรมทางหลวงแผ่นดิน ที่ได้รับเกียรติให้เป็นนามของทางหลวงสายต่างๆ เมื่อครั้งนั้น

รู้สึกภาคภูมิใจในบรรพบุรุษของตน •

 

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส