จาก ไม้ เมืองเดิม จุดเริ่ม สุจิตต์ วงษ์เทศ ทาง วรรณกรรม

บทความพิเศษ

 

จาก ไม้ เมืองเดิม

จุดเริ่ม สุจิตต์ วงษ์เทศ

ทาง วรรณกรรม

 

ระหว่างที่ ขรรค์ชัย บุนปาน เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ศึกษาศิลปวิทยาการอยู่ ณ วิทยาลัยสวนสุนันทา สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้ร่วมเสพสุราในย่าน “สวนสุนันทา” เนืองๆ

กระทั่งไปเยือนห้องเช่าเล็กๆ ของ “สหายร่วมโต๊ะสุรา”

อยู่ติดกับที่ตั้งกองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 1 (มทบ.1) ในสังกัดกองทัพภาคที่ 1 ประจันอยู่กับ “กำแพง” แห่ง “วังสวนสุนันทา” และอยู่เรียงบนถนนสายเดียวกันกับค่ายทหารในสังกัดกองพลที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ อันตั้งอยู่ในพื้นที่ของ “วังสวนกุหลาบ”

เคยเป็น “ทำเนียบ” ของนายกรัฐมนตรีชื่อ จอมพล ป.พิบูลสงคราม สมาชิกคนสำคัญแห่ง “คณะราษฎร”

ร่วม “เสวนา” ว่าด้วย “นักเขียน” และ “การอ่าน” วรรณกรรมของคนเขียนหนังสือที่มีความชมชอบ แล้ว สุจิตต์ วงษ์เทศ ก็เขียนบทความชื่อ “คารวะ ไม้ เมืองเดิม” ให้ได้อ่านกัน

เด็กวัด ล้างหู

ตาม คณะรุจิเรข

เมื่อเป็นเด็กวัดอยู่ที่กุฏิท่านพระครู ประมาณว่าชั้นมัธยมต้นๆ นั้นแหละ คณะรุจิเรข (ถ้าจำผิดก็ขออภัย) ซึ่งเป็นคณะละครวิทยุ ได้แสดงออกอากาศในละครวิทยุเรื่อง “ชายสามโบสถ์”

ก็บทประพันธ์ของ ไม้ เมืองเดิม น่ะซี

ผมติดตามฟังทุกคืน แต่ตามอยู่ไม่จบเรื่องเพราะวิทยุเสีย ติดอกติดใจเรื่องราวของไอ้ผงมาก ทั้งอีรื่นอีโรยก็แสนเสน่หาอาวรณ์ ทั้งบ้าน ไอ้ผง อีรื่น อีโรย ก็อยู่ละแวกบ้านสามเรือน ขึ้นชื่อบ้านนามเมืองมาพ้องเข้ากับชื่อหมู่บ้านแถบตำบลที่ผมเกิด

แรกๆ ก็นึกว่าเป็นแถบบ้านผม แต่ไม่ใช่

เมื่อเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย สำนักพิมพ์เพลินจิตต์ พิมพ์เรื่องของ ไม้ เมืองเดิม ออกขายเป็นรายสัปดาห์ ในรูปเล่มขนาดหนังสือพิมพ์รายวัน กระมัง ราคา 50 สตางค์

เรื่อง “ชายสามโบสถ์” กับเรื่อง “นางห้าม” แต่ไม่ทันไรเขาก็หยุดพิมพ์เสียเฉยๆ ผมก็เลยอดอ่านตอนจบ

เหมือนแกล้ง พับผ่า

พอทีวีช่อง 4 แสดงเรื่อง “ขุนศึก” ผมก็ติดตามดู แต่รำคาญที่จะต้องฟังกำหนดแสดงในเดือนหน้า ประกอบกับที่วัดไม่มีโทรทัศน์ เพราะท่านพระครูได้เงินเดือนเดือนละร้อยเดียว

หากได้เดือนละสักหมื่น ท่านคงซื้อแล้ว

 

วิถี ขรรค์ชัย บุนปาน

วิถี “ไม้เมืองเดิม”

ครั้นสอบตก ม.7 ร่วมกับ ขรรค์ชัย บุนปาน คนนั้นแหละ ผมก็เลยไปขอยืมหนังสือเรื่อง “ขุนศึก” ของ ไม้ เมืองเดิม จากเพื่อนหมดทั้งชุดเกือบ 20 เล่ม

ผมกับ ขรรค์ชัย บุนปาน นอนอ่าน “ขุนศึก” ที่กุฏิสามวันสามคืน จนจบบริบูรณ์ กระทั่งสำนวนของ สุมทุม บุญเกื้อ

เจ้าประคุณเอ๋ย ตั้งแต่นั้นมาสันดานผมก็เริ่มติดมุทะลุอย่าง “ไอ้เสมา” ขุนศึก ไม่มีผิด ความจริง ผมดัดจริตไปอย่างนั้นเองเพราะอยากเป็นพระเอก ด้วยตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเป็นพระเอกอะไรๆ อย่างใดอย่างใครอื่นเขาเลย

จึงคิดเป็นพระเอกอยู่ในใจคนเดียว

ระยะนั้นผมไม่ได้สนใจหรอกว่า ไม้ เมืองเดิม เป็นใคร สนใจแต่สำนวนภาษายโสโอหังของพระเอกทุกเรื่อง

ตั้งแต่กาลบัดนั้นมาจนกาลบัดเดี๋ยวนี้ผมอ่านจนเกลี้ยงกรุ ไม้ เมืองเดิม

ยิ่งเข้าเรียนที่คณะโบราณคดีแล้ว ยิ่งอ่านใหญ่ จะด้วยเหตุผลอะไรนั้น ช่างเถอะ

อย่างน้อยผมถือว่า “นักโบราณคดี” อย่างผมจะต้องใช้วรรณกรรมของ ไม้ เมืองเดิม นี่แหละเป็นหนังสืออ้างอิง

แต่ไม่ใช่อย่างนั้นหรอก

เส้นทาง การอ่าน

ของ ไม้ เมืองเดิม

อย่างเรื่อง ขุนศึก บางระจัน ทหารเอกพระบัณฑูร ข้าหลวงเดิม เป็นต้น ผมเชื่อแน่เหลือเกินว่า

กว่า ไม้ เมืองเดิม จะลงมือเขียนได้

ก็เห็นจะต้องอ่านพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาจนหนังสือขาดไปทีเดียว และยิ่งกว่านั้น ไม้ เมืองเดิม เห็นจะต้องเดินสำรวจสภาพภูมิสถานในกรุงศรีอยุธยา เป็นแรมเดือน หรือเป็นปี

เพราะจากที่อ่านวรรณกรรมของท่านและจากการที่ผมออกสำรวจและศึกษาเรื่องราวของพระนครศรีอยุธยา ทั้งในกรุง และนอกตัวกรุง

ทั้งป้อมปราการ ประตูช่องกุด ตลาดค้าขาย เรือกสวนสะพาน ชื่อบ้านชื่อตำบล ตลอดไปจนถึงถนนหนทางโบราณและทุ่งรบผมยังไม่พบข้อขัดแย้ง ระหว่างหลักฐานที่ปรากฏกับภูมิสถานในเรื่องวรรณกรรมของ ไม้ เมืองเดิม

ไม่ได้ละลาบละล้วงจับผิดท่าน ไม่ได้ดูถูกดูหมิ่นท่าน และผมยังเชื่ออีกว่าขี้กลากจะไม่กินกบาลผม

เพราะผมยังพยายามที่จะเลาะหาอย่างนี้จากวรรณกรรมของท่านไปอีกนาน

ก็สนุกและแปลกออกไปอีกเมื่ออ่านเรื่อง “สำเภาล่ม” ผมบรรยายไม่ถูกหรอก แต่ขณะอ่านก็รู้สึกว่ามองเห็นทัพพม่ากรูเกรียวกระหายเลือดมาก

แรกทีเดียวผมก็คิดว่า ไม้ เมืองเดิม เก่งประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาอย่างเดียว แต่ที่ไหนได้ พออ่านเรื่อง “นางห้าม” จบเท่านั้นเองต้องถึงกับขนลุกซู่ซ่าว่าเพราะท่านแม่นประวัติศาสตร์กรุงสุโขทัยนั้นด้วย

ภาษาของ ไม้ เมืองเดิม ในเรื่อง “นางห้าม” จะสังเกตเห็นว่าแปร่งออกไป

แต่ผมไม่ประหลาดใจเลยเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใช้ฉากของแผ่นดินในราชอาณาจักรสุโขทัย เรื่องราวในเรื่องก็เกิดในสมัยกรุงสุโขทัย

ท่านจึงใช้สำนวนภาษาแบบกรุงสุโขทัย

รากฐาน การอ่าน

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ทั้งหมดนี้เป็นงานเขียนชื่อ “คารวะ ไม้ เมืองเดิม” สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนและตีพิมพ์ในหนังสือ “คนเขียนหนังสือ”

เป็นงานในยุคเมื่อปี พ.ศ.2513

มิได้เป็นการสะท้อนถึงความประทับใจต่อวรรณกรรมของ ไม้ เมืองเดิม หากแต่ยังเป็นการขุกลึกไปยังรากฐานที่มา

รากฐานที่มาอันเป็นอุปกรณ์ในการเขียนของ ไม้ เมืองเดิม

ด้านหนึ่ง เป็นแถวแนวแห่งกระบวนการศึกษา ไม้ เมืองเดิม ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่ง ก็สะท้อนเส้นทางของ สุจิตต์ วงษ์เทศ

เส้นทางในทาง “วรรณกรรม” เส้นทางในทาง “ประวัติศาสตร์” และ “โบราณคดี”

หลายคนคงได้คำตอบแล้วว่ารากฐานที่มาแห่งวรรณกรรมในชุด “ขุนเดช” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ดำเนินมาอย่างไร

แต่ที่ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้นคือ ความดื่มด่ำในประวัติศาสตร์ โบราณคดี

 

เดินบน เส้นทาง

แบบ จิตร ภูมิศักดิ์

สุจิตต์ วงษ์เทศ ก้าวเดินเข้ามาบนเส้นทางเดียวกันกับที่ จิตร ภูมิศักดิ์ เคยเคี่ยวกรำด้วยความรัก ด้วยความหลงใหล

ตั้งแต่เรียน “มัธยม” กระทั่งเป็น “นิสิต”

ไม่เพียงหลงใหลอย่างเดียว หากแต่ยังแปรความหลงใหลให้เป็น “วรรณกรรม” งานเขียน

เดินบนเส้นทางเดียวกัน แต่ด้วยกาลเวลาที่ “ห่าง” กัน