จับตา NASA ศึกษา ‘ปรากฏการณ์ลึกลับ’ อย่างเป็นระบบ | บัญชา ธนบุญสมบัติ

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509

เรื่องสิ่งบินลึกลับ หรือที่เราเรียกว่า ยูเอฟโอ (UFO) เป็นประเด็นที่ผู้คนทั่วไปสนใจมาตลอด เรียกได้ว่ามีภาพหรือคลิปทีไร ก็มักเป็นข่าวทุกทีไป

คำว่า ยูเอฟโอ (UFO) ย่อมาจาก Unidentified Flying Object หรือ วัตถุบินที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นอะไร แปลว่าในขณะที่ยังไม่มีคำอธิบายว่าสิ่งที่พบเห็นนั้นคืออะไร (เช่น โดรน เครื่องบิน บอลลูน ฯลฯ) การเรียกสิ่งนั้นว่า ยูเอฟโอ จึงเป็นการพูดแบบกลางๆ ซึ่งหมายความว่ายังบอกไม่ได้ชัดๆ นั่นเอง

แต่สำหรับคนทั่วไปนั้น คำว่ายูเอฟโอมักถูกนำไปเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ เช่น เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ถูกปิดเป็นความลับ หรือยานอวกาศของมนุษย์ต่างดาวมาบุกโลก โดยในกรณีที่ยูเอฟโอมีรูปร่างออกแนวแบนๆ ก็มักเรียกว่า จานบิน (flying saucer)

อย่างไรก็ดี สำหรับองค์กรต่างๆ ของสหรัฐอเมริกาที่เกี่ยวข้องนั้น คำว่า UFO ถูกปรับเปลี่ยนไป 2 ครั้ง ครั้งแรก กลายเป็น UAP ย่อมาจาก Unidentified Aerial Phenomena แปลว่า ปรากฏการณ์ในอากาศที่ยังระบุไม่ได้ว่าคืออะไร

แต่ต่อมาคำนี้ก็ถูกปรับให้มีความหมายกว้างขึ้น เพราะปรากฏการณ์ “ลึกลับ” ไม่จำเป็นต้องอยู่ในอากาศหรือบนฟ้าเท่านั้น แต่อาจอยู่บนพื้นดิน หรือในมหาสมุทรก็ได้ คำตรงกลางจึงปรับจาก Aerial คือ “อยู่ในอากาศ” เป็น Anomalous ซึ่งแปลว่า “ผิดปกติ”

ดังนั้น ชื่อเต็มๆ จึงกลายเป็น Unidentified Anomalous Phenomena แปลว่า ปรากฏการณ์ผิดปกติที่ยังระบุไม่ได้ว่าคืออะไร แต่ย่อว่า UAP เช่นเดิม

การประชุมสาธารณะของทีมศึกษา UAP เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ.2023

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ.2021 สำนักงานผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐ (Office of the Director of National Intelligence) ได้เปิดเผยรายงานเบื้องต้นเกี่ยวกับ Unidentified Aerial Phenomena มีสาระสำคัญระบุว่า

(1) รายงานเกี่ยวกับ UAP ส่วนใหญ่ยังไม่มีข้อสรุป

(2) คำอธิบายอย่างเดียวไม่เพียงพอ

(3) UAP คุกคามความปลอดภัยในการบินและอาจคุกคามความมั่นคงระดับชาติ

และ (4) การอธิบาย UAP จำเป็นต้องมีการลงทุนด้านทรัพยากร การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล

รายงานเบื้องต้นดังกล่าวจัดทำโดย UAPTF (Unidentified Aerial Phenomena Task Force) ซึ่งต่อมาในปี ค.ศ.2020 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น AARO (All-domain Anomaly Resolution Office) คำว่า All-domain ในชื่อบ่งว่าองค์กรนี้เก็บข้อมูลประหลาดๆ ทั้งหมด ไม่จำเป็นเฉพาะที่อยู่บนฟ้าเท่านั้น

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ.2022 องค์การ NASA ประกาศว่าได้จัดตั้งทีมศึกษา UAP ขึ้นมา โดยทีมนี้จะประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ 8-12 คน (แต่ต่อมากลายเป็น 16 คน) เป้าหมายใหญ่คือ ต้องการให้ทีมทำงานกำหนดโรดแม็ป (roadmap) ว่าในอนาคต NASA จะต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้ประเด็นเกี่ยวกับ UAP กระจ่างขึ้น

น่าสังเกตด้วยว่า ตัวย่อ UAP ที่ NASA ใช้มาจาก Unidentified Anomalous Phenomena โดย NASA ระบุว่ายึดตามคำที่ใช้ในกฎหมายที่มีชื่อว่า National Defense Authorization Act (NDAA)

ทั้งนี้ ทีมศึกษาของ NASA จะสนใจเฉพาะข้อมูลที่ไม่เป็นความลับ (unclassified data) หมายความว่า ข้อมูลทางการทหารจะไม่นำมารวมในการศึกษาด้วย โดยเริ่มงานในวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ.2022 และมีระยะเวลา 9 เดือนในการทำงานเพื่อสรุปเป็นรายงานเปิดเผยต่อสาธารณะภายในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2023

 

ข้อความระบุภารกิจ หรือ Statement of Task ประกอบด้วยคำถาม 8 ข้อ ดังต่อไปนี้ (ผมเน้นคำสำคัญด้วยตัวเข้ม เพื่อให้สะดุดตา)

1) ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ประเภทใดบ้างที่รวบรวมและจัดเก็บเป็นเอกสารโดย NASA หรือองค์กรด้านพลเรือนของสหรัฐไว้แล้วที่ควรได้รับการวิเคราะห์และสังเคราะห์เพื่อให้มีศักยภาพในการให้ความกระจ่างเกี่ยวกับลักษณะและจุดกำเนิดของ UAP?

2) ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ประเภทใดบ้างที่รวบรวมและจัดเก็บเป็นเอกสารโดยองค์กรไม่แสวงผลกำไรหรือบริษัทไว้แล้วที่ควรได้รับการวิเคราะห์และสังเคราะห์เพื่อให้มีศักยภาพในการให้ความกระจ่างเกี่ยวกับลักษณะและจุดกำเนิดของ UAP?

3) ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ประเภทอื่นๆ อะไรบ้างที่ควรได้รับการรวบรวมโดย NASA เพื่อยกระดับศักยภาพในการพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะและจุดกำเนิดของ UAP?

4) เทคนิคการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์แบบไหนที่ใช้อยู่ในขณะนี้ที่สามารถใช้ประเมินลักษณะและจุดกำเนิดของ UAP ได้บ้าง? เทคนิคการวิเคราะห์แบบไหนที่ควรได้รับการพัฒนาเพิ่มเติม?

5) ในการพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่ระบุมาข้างต้น (ในข้อ 1-4) มีข้อจำกัดทางกายภาพพื้นฐานอะไรบ้างที่ส่งผลต่อการทำความเข้าใจลักษณะและจุดกำเนิดของ UAP?

6) ข้อมูลเกี่ยวกับน่านฟ้าเชิงพลเรือนอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับ UAP ซึ่งได้รับการรวบรวมโดยองค์กรของรัฐ และข้อมูลนี้สามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อ a) ช่วยให้เข้าใจลักษณะและจุดกำเนิดของ UAP ดียิ่งขึ้น และ b) ระบุความเสี่ยงที่เกิดจาก UAP ต่อน่านฟ้าการบินแห่งชาติ (National Air Space)?

7) หลักปฏิบัติในการรายงานและระบบรวบรวมข้อมูลการจัดการการจราจรทางอากาศที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันอะไรบ้างที่สามารถปรับเปลี่ยนให้ได้มาซึ่งข้อมูลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับ UPA ทั้งในอดีตและในอนาคต?

8) มีการปรับปรุงที่ทำได้อะไรบ้างเพื่อให้การจัดการการจราจรทางอากาศในอนาคตมีประสิทธิภาพดีขึ้นในการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับ UAP ที่มีการรายงานเข้ามา ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจลักษณะและจุดกำเนิดของ UAP ได้ดียิ่งขึ้น?

 

NASA ระบุว่าในการทำงานนี้จะยึดหลักการขององค์กร 3 ข้อคือ ความเปิดเผย (openness) ความโปร่งใส (transparency) และความเชื่อถือได้ในทางวิทยาศาสตร์ (scientific integrity)

ทั้งนี้ NASA ได้จัดทีมคณะทำงานรวม 16 คน โดยกรรมการแต่ละคนเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ UAP เพื่อให้การศึกษาเป็นไปอย่างรอบด้าน เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านอากาศยาน นักวิจัยชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ นักเทคโนโลยีดาวเทียม ผู้เชี่ยวชาญด้านอากาศพลศาสตร์ (อดีต)นักบินอวกาศผู้มีประสบการณ์สูง ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุทรศาสตร์ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ นักวิจัยในโครงการ SETI นักวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยี รวมทั้งนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

น่าสนใจว่าทุกคนในคณะทำงานต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เรียกว่า FACA หรือ Federal Advisory Committee Act กฎหมาย FACA นี้เริ่มมีผลบังคับใช้ในปี ค.ศ.1972 เป็นกฎหมายพื้นฐานที่ระบุว่าคณะกรรมการให้คำแนะนำของรัฐบาลกลางของสหรัฐมีแนวทางการดำเนินงานอย่างไร โดยจุดเน้นอยู่ที่การประชุมอย่างเปิดเผย การให้การรับรอง การมีปฏิสัมพันธ์กับสาธารณชน และการรายงาน

ในกรณีของทีมศึกษา UAP นี้ กรรมการทุกคนต้องเข้ารับฟังการบรรยายเกี่ยวกับจริยธรรมเกี่ยวกับการทำงานกับรัฐบาล ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน (น่าสนใจไหมครับว่าทำงานเกี่ยวกับ UAP ก็ต้องโปร่งใสในเรื่องเงินๆ ทองๆ) และหากมีประเด็นใดที่เข้าข่ายทับซ้อนกับผลประโยชน์ของกรรมการคนใด กรรมการคนนั้นต้องขอถอนตัวจากประเด็นดังกล่าวอีกด้วย

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ.2023 NASA จัดการประชุมสาธารณะครั้งแรกของทีมศึกษา UAP ถึงแม้ว่ายังไม่มีการรายงานผลการศึกษาอย่างเต็มรูปแบบออกมา แต่ก็มีประเด็นที่น่าสนใจจากที่ประชุม ตัวอย่างดังต่อไปนี้ครับ

สมาชิกในทีมศึกษาบางคนถูกรบกวนหรือคุกคามทางไซเบอร์ ในแง่ที่ว่าเป็นคนที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์ แต่กลับมาร่วมทีมศึกษาเรื่องแนวๆ ลึกลับอย่าง UFO (เรียกตามชื่อเดิม) นี้ สำหรับประเด็นนี้ ทาง NASA ระบุว่าการศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ และ NASA ยืนอยู่เคียงข้างกรรมการทุกคนในทีมศึกษานี้

 

ในภาพรวมมีกรณีจำนวนหนึ่งที่สามารถอธิบายได้ว่าวัตถุหรือสัญญาณลึกลับคืออะไร เช่น เป็นบอลลูน หรือเป็นสัญญาณรบกวนจากอุปกรณ์ไมโครเวฟ แต่ก็มีกรณีอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่สามารถอธิบายได้ เนื่องจากข้อมูลที่มีอยู่ไม่มีคุณภาพสูงเพียงพอ

องค์กร AARO ระบุว่าขณะนี้มีกรณี UAP อยู่ราว 800 กรณี แต่ก็มีรายงานใหม่ๆ เข้ามาอีกราวเดือนละ 50-100 กรณี

ส่วนคำถามยอดฮิตที่ว่า UAP มีส่วนเกี่ยวข้องกับมนุษย์ต่างดาวหรือสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาจากนอกโลกไหม คำตอบจาก NASA ก็คือ หลักฐานทั้งหมดที่มีอยู่ในขณะนี้ไม่ได้บ่งชี้ไปในทิศทางนั้น

สำหรับข้อสรุปจากการศึกษาครั้งนี้ โปรดอดใจรอให้รายงานฉบับสมบูรณ์ออกมาก่อน แล้วผมจะสรุปให้อ่านกันนะครับ