ไอทีวีจุดชนวนเปลี่ยนขั้วรัฐบาล

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

บทความพิเศษ | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

https://www.facebook.com/sirote.klampaiboon/

 

ไอทีวีจุดชนวนเปลี่ยนขั้วรัฐบาล

 

หลังเลือกตั้งยังไม่มีวี่แววว่าประเทศไทยจะเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย สำนักงาน กกต.เพิ่งตั้งเรื่องให้คณะกรรมการ กกต.เริ่มรับรอง ส.ส.ในวันที่การเลือกตั้งผ่านไปครบเดือน

นั่นแปลว่ากระบวนการนี้อาจลากถึงวันที่ 27 มิถุนายน ส่วนการปฏิญาณตนของ ส.ส. และเลือกประธานสภากับนายกฯ ก็ช้าออกไป

ถ้าเป็นแบบนี้ กว่าที่กระบวนการเลือกนายกฯ จะเริ่มก็คงกลางเดือนกรกฎาคม ส่วนสภาผู้แทนราษฎร และ ส.ว.จะลงมติจนได้นายกฯ วันไหนก็ไม่รู้ โอกาสที่คนไทยจะมีนายกฯ ตามที่ประชาชนเลือกในวันที่ 14 พฤษภาคม จึงเชื่องช้า

นั่นเท่ากับว่าคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แพ้เลือกตั้งย่อยยับจะเป็นนายกฯ รักษาการต่อไปอีกยาว

หากสภาผู้แทนฯ ประชุมเลือกประธานสภาในเดือนกรกฎาคม การประชุมร่วมของ ส.ส.และ ส.ว.เพื่อเลือกนายกฯ จะเกิดเร็วที่สุดก็ไม่เกินกลางเดือนนั้น

ในทางทฤษฎีคือคนไทยควรมีรัฐบาลใหม่ก่อนสิ้นเดือนแน่ๆ แต่ความเป็นจริงคือ ส.ว.คงถ่วงความเจริญโดยขัดขวางการเลือกนายกฯ อีกนาน

ถ้าคนไทยมีนายกฯ ใหม่ในเดือนกรกฎาคม คุณประยุทธ์ก็เป็นรักษาการนายกฯ ตั้งแต่ 20 มีนาคม นาน 4 เดือนเศษ และใช้เวลาตั้งรัฐบาล 2 เดือนครึ่งนับจากวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ซึ่งเทียบกับการเลือกตั้งยุคก่อนคุณประยุทธ์ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ซึ่งใช้เวลาตั้งรัฐบาล 33 วัน ก็ถือว่าปี 2566 ใช้เวลาตั้งรัฐบาลช้าลงเท่าตัว

ยิ่งไปกว่านั้น จู่ๆ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทยก็ให้ลูกน้องไปปั่นประเด็นว่าคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีหุ้นในไอทีวี ส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ไอทีวีซึ่งฟ้องพรรคก้าวไกลเยอะไปหมด จากนั้นคนกลุ่มนี้โดนกล่วหาว่าสร้างหลักฐานให้นักร้องสร้างคดี ขณะที่ ส.ว.ก็เอาเรื่องนี้ไปอ้างว่าพิธาไม่ควรเป็นนายกฯ

ล่าสุด อยู่ดีๆ คนเสื้อเหลืองก็โผล่เข้าสภาทั้งที่พรรคไทยภักดีแพ้เลือกตั้งราบคาบ พลเอกที่เป็น ส.ว.เพราะเป็นเพื่อนสนิทคุณประยุทธ์เปิดสภารับคนกลุ่มนี้เต็มที่ จากนั้นประกาศว่าพรรคที่ชนะเลือกตั้งอันดับหนึ่งไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่, ส.ว.ไม่โหวตพิธาเป็นนายกฯ และนายกฯ ต้องเป็นคนรักสถาบัน

 

ทั้งคุณ “พิธา” และ “พรรคก้าวไกล” กำลังเผชิญ “นิติสงคราม” และ “สงครามวาทกรรม” ที่ทั้งหมดมีเป้าหมายไม่ให้ “พิธา” เป็นนายกฯ, ไม่ให้ “พรรคก้าวไกล” เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล หรือพูดให้ถึงที่สุดก็คือกระบวนการไม่ให้ประเทศมีนายกฯ และรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่มาจากประชาชน

ถ้าเทียบกับปี 2562 ที่พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งอันดับ 1 ได้ ส.ส. 136 คน รวมเสียง ส.ส.ได้ 255 แต่ตั้งรัฐบาลไม่ได้

ประเทศไทยในปี 2566 กำลังเดินหน้าสู่สถานการณ์ที่เลวร้ายกว่าเดิม เพราะพรรคก้าวไกลชนะอันดับ 1 ได้ ส.ส. 151 และรวมเสียง ส.ส.ได้ 313 จนไม่ควรเจออะไรแบบเพื่อไทยเลย

ทุกวินาทีที่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่เริ่มต้นไม่ได้ คือทุกวินาทีที่ประชาชนถูกปล้นอำนาจโดยรัฐบาลที่ประชาชนไม่เลือก

ยิ่งการจัดตั้งรัฐบาลแห่งประชาชนที่นำโดยนายกฯ ที่ชนะเลือกตั้งเนิ่นช้า ยิ่งตอกย้ำว่าฝ่ายตรงข้ามประชาชนมองประเทศนี้เป็นของตัวเองจนไม่ยอมให้มีรัฐบาลแห่งประชาชนจริงๆ

 

ขบวนการต่อต้านรัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องใหม่ในไทย เพราะอดีตนายกฯ ที่ชนะเลือกตั้งอย่างคุณทักษิณ ชินวัตร, คุณสมัคร สุนทรเวช และคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ล้วนถูกต่อต้านแบบนี้มาแล้ว แต่ประเด็นคือคุณทักษิณและคนอื่นๆ เผชิญเหตุนี้หลังเข้าสู่ตำแหน่งนายกฯ หลายปี ส่วนคุณพิธาถูกต่อต้านทั้งที่ยังไม่ได้เข้าสภา

หนึ่งในวิวาทะช่วงเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม คือประชาชนต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาปากท้องหรือ “ปัญหาโครงสร้าง” กว่ากัน

ก้าวไกลเป็นพรรคแรกและพรรคเดียวที่บอกว่าแก้ “โครงสร้าง” กับ “ปากท้อง” พร้อมกัน

ส่วนพรรคอื่นบอกว่าชาวบ้านต้องการให้แก้ปากท้องแล้ว “โครงสร้าง” เรื่องอื่นค่อยว่ากัน

แน่นอนว่าแต่ละพรรคนิยามว่าอะไรคือ “โครงสร้าง” ไม่เหมือนกัน แต่ก้าวไกลเป็นพรรคแรกที่พูดว่า “โครงสร้าง” หมายถึงการจัดการ “ต้นตอของปัญหา” ตรงไปตรงมาตั้งแต่ปฏิรูปกองทัพ, ยุติตั๋วช้าง, กำจัดจีนเทา, เลิกผูกขาดพลังงาน, ปรับโครงสร้างค่าไฟ , ค้านควบรวมโทรศัพท์มือถือ ฯลฯ

นอกจากการพูดถึง “โครงสร้าง” โดยประกาศแก้ “โครงสร้าง” และ “ปากท้อง” พร้อมกัน ก้าวไกลในสภายังอภิปรายคุณประวิตร วงษ์สุวรรณ, คุณธรรมนัส พรหมเผ่า, เจ้าสัว, ผู้รับเหมารายใหญ่ ฯลฯ แบบที่ไม่เคยมีพรรคอื่นทำ

จนพูดได้ว่าก้าวไกลชนกับ “ต้นตอของปัญหา” ในมุมก้าวไกลจริงๆ

ไม่ว่าคำประกาศของก้าวไกลเรื่องแก้โครงสร้างโดย “ต้นตอของปัญหา” จะทำให้ผู้มีอิทธิพลต่อต้านไม่ให้ก้าวไกลตั้งรัฐบาลหรือไม่

แต่ขบวนการโจมตี “พิธา” โดยใส่ร้ายว่าถือหุ้นสื่อในกรณีไอทีวีเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองและกลุ่มทุนที่ก้าวไกลตรวจสอบทั้งหมดโดยไม่มีทางเป็นเรื่องบังเอิญ

 

ประเทศไทยมี “กลุ่มปฏิปักษ์ประชาธิปไตย” ต่อต้านรัฐบาลจากการเลือกตั้งตั้งแต่ปี 2549 จนปัจจุบัน แต่สถานการณ์ในปี 2566 คือพลังกลุ่มนี้เหิมเกริมขั้นขัดขวางไม่ให้แคนดิเดตนายกฯ ที่ชนะเลือกตั้งรับตำแหน่ง รวมทั้งไม่ให้พรรคที่ชนะอันดับหนึ่งจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อนเลย

“กลุ่มปฏิปักษ์ประชาธิปไตย” คือบุคคลซึ่งสมาทานความคิดและแนวทางการเมืองที่ต่อต้านระบอบการปกครองซึ่งอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน และถึงแม้ในแง่กฎหมายจะระบุไม่ได้ว่าคนกลุ่มนี้คือใคร แต่สิ่งที่พูดได้คือคนหลายฝ่ายร่วมกันขัดขวางไม่ให้ฝ่ายชนะเลือกตั้งตั้งรัฐบาลในปัจจุบัน

แก่นของประชาธิปไตยรัฐสภาคือนายกฯ มาจากเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ แต่ด้วยเหตุที่คุณประยุทธ์สร้างรัฐธรรมนูญให้นายกฯ มาจากเสียงข้างมากของ ส.ส.และ ส.ว.ที่คุณประยุทธ์เลือก ประเทศไทยจึงอยู่ในระบอบกึ่งประชาธิปไตยรัฐสภาที่เครือข่ายคุณประยุทธ์ทำให้อำนาจไม่ได้เป็นของประชาชน

นักรัฐศาสตร์เยอรมัน Steffen Ganghof สร้างแนวคิดเรื่องระบอบกึ่งประชาธิปไตยรัฐสภา (Semi-Parliamentarism) เพื่ออธิบายสังคมที่รัฐบาลไม่ได้มาจากเลือกตั้งโดยตรง ส่วนสภามี 2 สภาที่สภาหนึ่งอภิปรายไม่ไว้ใจและถอดถอนนายกฯ ได้ ส่วนอีกสภาร่างกฎหมายหรือแก้และคว่ำได้อย่างเดียว

ระบอบการเมืองยุคประยุทธ์เหมือนและต่างจากที่นักวิชาการการเมืองเปรียบเทียบอธิบาย แต่ด้วยความเป็นระบอบที่สร้างเพื่อไม่ให้มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งโดยตรง ขบวนการต้านพิธาก็เชื่อมต่อกับ ส.ว.จนเป็นกลุ่มปฏิปักษ์ประชาธิปไตยที่มีสายสัมพันธ์ถึงกลุ่มทุนและพรรคการเมืองใหญ่ในสภา

ขณะที่คุณเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นหลักฐานครั้งที่ 8 ให้ กกต.เอาผิดพิธาทั้งที่ผู้บริหารไอทีวียอมรับในที่ประชุมผู้ถือหุ้นว่าไม่ได้ทำสื่ออยู่เลย กกต.ก็ตั้งเรื่องสอบพิธาว่าสมัครเลือกตั้งทั้งที่รู้ว่าตัวเองไม่มีสิทธิ คุณวิษณุ เครืองาม บอกว่าศาลรัฐธรรมนูญสั่งคุณพิธาพ้นแคนดิเดตนายกฯ ได้ ส่วน ส.ว.บอกว่ายังไงก็ไม่เลือกพิธา

ล่าสุด แกนนำพันธมิตรฯ ยุครัฐประหาร 2549 และแกนนำ กปปส.ยุครัฐประหาร 2557 รวมตัวกับสื่อที่ล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งทุกชุดเกือบ 20 ปี บอกนี่คือการลั่นกลองรบกับ “พรรคขายชาติ”

ส่วนคนเสื้อเหลืองก็เข้าสภาโดยมี ส.ว.จากทหารประกาศว่าพรรคชนะเลือกตั้งอันดับ 1 ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่

 

ภาพรวมของปฏิบัติการต้านพิธาคือ “นักร้อง” ทำ “นิติสงคราม” โดยมีทุนผูกขาดและพรรคใหญ่อยู่เบื้องหลัง องค์กรอิสระและ ส.ว.รับลูกรอส่งศาลรัฐธรรมนูญสอยแบบ “สิระ เจนจาคะ” ทั้งที่ “พิธา” ไม่เคยถูกศาลตัดสินว่าผิด ส่วนแกนนำพันธมิตรฯ/กปปส. ทำ “สงครามวาทกรรม” โจมตีพิธาเรื่องบ้าๆ บอๆ

ขบวนการต้านพิธายกระดับปฏิบัติการต่อต้านประชาธิปไตยให้ลงต่ำแบบที่ไม่เคยเป็น คุณทักษิณ, คุณสมัคร และคุณยิ่งลักษณ์โดนแบบนี้หลังจากดำรงตำแหน่งนายกฯ ไปแล้วหลายปี ส่วนคุณพิธาถูกคนกลุ่มนี้ต่อต้านทั้งที่สภายังไม่เปิดประชุมนัดแรกและยังไม่มีกำหนดการเลือกนายกฯ เลย

ไม่มีใครเชื่อที่นักร้องอ้างว่าใช้หลักฐานเท็จร้องเรียนพิธาโดยไร้เบื้องหลังการเมือง เพราะคนเหล่านี้สังกัดพรรคการเมือง และ ส.ว.กับองค์กรอิสระล้วนเชื่อมโยงกับคุณประยุทธ์ที่พรรคการเมืองกลุ่มนี้หนุนเป็นนายกฯ เช่นเดียวกับกลุ่มทุนที่พัวพันเรื่องนี้ล้วนได้ประโยชน์จากรัฐบาลคุณประยุทธ์เอง

เป้าหมายสูงสุดของขบวนการปฏิปักษ์ประชาธิปไตยคือไม่ให้ “พิธา” เป็นนายกฯ แม้จะมีประชาชนเลือกกว่า 14.2 ล้าน และมี ส.ส.สนับสนุน 313 เสียง เพราะเมื่อกำจัดพิธาได้ ก้าวไกลก็ไม่ใช่แกนนำจัดตั้งรัฐบาล หลักการ “มีลุงไม่มีเรา” มีโอกาสปิดฉากลงจนเปิดทางให้ 3 ป.มีทางร่วมจัดตั้งรัฐบาล

ทั้งหมดนี้คือละครเรื่องเก่าที่เขียนบทใหม่ให้เลวร้ายกว่าเดิม แต่สภาพแวดล้อมใหม่ของประเทศไทยในปี 2566 คือประชาชนที่ “ตาสว่าง” จนเลือกพรรคที่ตรงไปตรงมาเป็นอันดับ 1 กว่า 14 ล้าน และเลือกฝ่ายประชาธิปไตยรวมกัน 26 ล้าน

จุดจบของละครบทนี้จึงไม่มีทางเหมือนเดิมอย่างแน่นอน

Game Plan หรือแผนของฝ่ายต้านประชาธิปไตยกรณีไอทีวีซับซ้อน

จงใจทำลายพรรคฝ่ายประชาธิปไตย

จงใจนำประเทศไปสู่ทางตัน

และจงใจให้ขั้วที่ชนะเลือกตั้งตั้งรัฐบาลไม่ได้

ขั้นตอนใหม่ของความขัดแย้งทางการเมืองจะเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคมโดยอาจกินเวลายาวระดับครึ่งปี

ไอทีวีคือประตูบานแรกของความพยายามล้มรัฐบาลก้าวไกลโดยฝ่ายตรงข้ามประชาชน