ฟังความอีกด้าน กรณีข่าวลงประชามติ ปาตานีแยกดินแดน?

(Photo by Tuwaedaniya MERINGING / AFP)

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัดและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ตั้งแต่ 7 มิถุนายน 2566 สื่อสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ต่อกรณีที่มีบัตรกระดาษถูกแจกภายในงานเสวนาที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งมีหัวข้อว่า เห็นด้วยกับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองหรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานี (3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้ง 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา) สามารถออกเสียงประชามติ แยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

เรื่องนี้ทำให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน

ขณะที่กลุ่มขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ ชี้แจงว่า เป็นเพียงการทำประชามติจำลอง ซึ่งช่วงท้ายของบัตรเน้นว่าจะดำเนินการอย่างไร ย้ำว่าต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย

 

หลังจากข่าวดังกล่าว ผู้เขียนได้นั่งคุยจิบชาชักกับอาจารย์ศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี (8/6/66) ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ท่านให้สัมภาษณ์ ใน Thaipbs บอกว่ากิจกรรมเด็กเป็นแค่จำลองประชามติ ยังห่างไกลอีกมากจากการประชามติจริงและแยกดินแดน (ลองฟังย้อนหลังใน https://fb.watch/l2UMkSGhal/?mibextid=cr9u03)

หากเราดูกิจกรรมดังกล่าวเป็นเวทีเสวนาวิชาการโดยเฉพาะเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการแก้ปัญหาด้านสันติภาพระดับโลกชาวไทย อย่าง ศ.มารค ตามไท นักวิชาการจากสาขาการสร้างสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ มาเปิดข้อถกเถียง “การกำหนดอนาคตตนเอง” เป็น “สิทธิ” หรือ “หลักการ” พร้อมตั้งคำถามพลเมืองแบบไหนสามารถเรียกร้อง “สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง” (Right to Self Determination : RSD) ได้

และต้องตอบให้ชัดว่าปาตานีเป็นอาณานิคมของไทยหรือไม่ แบบไหน และต้องแยกแยะระหว่าง “เป็น” กับ “รู้สึกว่าเป็น” เพราะสำคัญทั้งคู่

การพูดคุยสันติภาพกับการทำประชามติสำคัญต่อกัน

RSD อาจเป็นการหาทางออกอย่างสันติ การอ้างหลักการเพราะอยากพูดคุย การลงประชามติเพราะจะรู้ความคิดคน ถึงเวลาสังคมไทยและปาตานีต้องเปลี่ยนหลักการไปสู่เป้าหมายนั้นหรือไม่

 

ในขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติซึ่งพรรคถูกพาดพิงในกิจกรรมวันนี้ด้วยสะท้อนว่า “มันคือสิทธิเสรีภาพในการคิด การสื่อ การโฆษณา การเขียน เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ถ้าเราจะจำกัดสิทธิตรงนี้ ต้องมีกฎหมายเฉพาะเพื่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งนี่เป็นการแสดงความคิดเห็นของนักศึกษา”

“ในรัฐธรรมนูญเขียนบอกไว้ว่าประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งเดียวจะแบ่งแยกมิได้ ซึ่งทุกคนทราบดีและกิจกรรมดังกล่าวนั้นเป็นการแสดงความคิดเห็น ซึ่งในรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญมาก และคณะรัฐมนตรีพร้อมจะให้ทำประชามติในเรื่องความเห็นสำคัญ แต่ความเห็นนั้นจะต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ การทำประชามติแบ่งแยกดินแดนก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว เพราะรัฐธรรมนูญห้ามอยู่”

รอมฎอน ปันจอร์ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สะท้อนต่อเรื่องนี้เช่นกันว่า

“เรากำลังพูดถึงสถานภาพของรัฐเดี่ยว แต่เป็นรัฐเดี่ยวที่มองไปข้างหน้า แล้วจะกระจายอำนาจอย่างไร…แต่ทั้งหมดนี้ ควรต้องมีพื้นที่ให้กับทุกคน…เผชิญหน้ากับความขัดแย้งนั้นก่อน แล้วเราถึงจะแก้ปัญหามันได้”

และยังย้ำแนวทางสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี อยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญของรัฐเดี่ยวที่กระจายอำนาจ และเปิดพื้นที่ให้พูดคุยถกเถียง

ผศ.ดร.มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้ทัศนะต่อเรื่องนี้ว่า

“พื้นที่ห้องเรียน ห้องห้องสัมมนา พื้นที่มหาวิทยาลัยต้องมีเสรีภาพในการให้ น.ศ.สร้างจิตนาการ ทำกิจกรรม และยิ่งมันเป็นการจำลอง ยิ่งน่าหัวเราะที่จะเอาล่อเอาเถิดถึงกับฝ่ายความมั่นคงจะจับ น.ศ.เข้าคุก?”

ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ รองหัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ทัศนะว่า

“ส่วนตัวคิดว่าในเรื่องนี้ ทุกฝ่ายคงต้องช่วยกันยืนยันหลักการว่า การจัดกิจกรรมเช่นนี้ของนักศึกษาเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ ไม่มีอะไรผิด เพราะเป็นเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองอย่างสุจริตใจและอย่างสงบสันติ ทุกฝ่ายจะต้องรับฟังและรวมเสียงของพวกเขาเหล่านี้เข้ามาไว้ในกระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตด้วย”

เราเคยเห็นนักศึกษาจากกรุงเทพมหานครศูนย์รวมอำนาจไม่มีพื้นที่ปลอดภัยเสรีภาพทางวิชาการในรั้วมหาวิทยาลัยในการพูดเรื่อง ม.112 สุดท้ายผลักพวกเขาแล้วแนวร่วมลงถนน

ดังนั้น พื้นที่ปลอดภัยเสรีภาพทางวิชาการในรั้วมหาวิทยาลัยไทยแม้จะเป็นเรื่องใต้พรมจึงเป็นความท้าทายว่าเราจะใช้กฎหมายหรือการเมืองจัดการความขัดแย้งในสังคม

 

หลังข่าวนี้ถูกเผยแผ่สู่สื่อไทย ผู้เขียนพบว่ายิ่งเพิ่มความขัดแย้งหากนำเสนอข่าวอย่างไม่รอบด้าน ยิ่งในภาวะความขัดแย้งการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จนท้ายสุดนำไปผูกโยงกับการเมืองส่วนกลางจนได้

มีวาทกรรมมากมายสร้างความเกลียดชัง จึงเป็นความท้าทายสื่อไทยที่ควรเป็นสื่อเพื่อสันติภาพ (Peace Journalism) เพราะสื่อมิได้มีบทบาทเพียงแค่การรายงานความเป็นไปในสังคมเท่านั้น หากสื่อยังเป็นกลไกสําคัญในการจัดการและคลี่คลายความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมได้

อย่างไรก็ตาม บทบาทดังกล่าวไม่อาจขับเคลื่อนไปได้โดยลําพัง หากต้องอาศัยการสนับสนุนจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ในการเกื้อหนุนให้สื่อก้าวเข้ามาทําหน้าที่ได้โดยสมบูรณ์

นวลน้อย ธรรมเสถียร ผู้สื่อข่าวอิสระที่สนใจปัญหาสิทธิมนุษยชน สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องราวของความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพ โพสต์ Facebook ให้ทัศนะต่อเรื่องนี้ว่า

“เราว่าสังคมไทยไม่น่าจะตื่นตูมกับเรื่องการจำลองการทำประชามติของ น.ศ.ที่ จชต. การพูดเรื่องนี้อย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา จากกลุ่มคนในพื้นที่ที่เขาไม่ได้มีอำนาจต่อรองอะไรมากมายนอกจากเป็นส่วนหนึ่งของสังคม มันไม่ใช่เรื่องเป็นภัยขนาดนั้น และอย่าเอาเรื่องนี้ไปบวกรวมกับเรื่องความไม่พอใจพรรคก้าวไกลเลย มันคนละเรื่องกัน”

“เราไม่ได้ฟังงานนี้ด้วยตัวเอง แต่คนที่เขาร่วมในงานยืนยันว่า มันเป็นการตั้งคำถามว่า คุณเห็นด้วยหรือไม่ว่าควรจะมีการทำประชามติเรื่องเอกราชในอนาคต เขาไม่ได้ถามว่า คุณเห็นด้วยหรือไม่ว่าควรจะแยกตัว ถ้าคำถามมีแค่นี้แต่เราตื่นตูมกันมากมาย นั่นมันอาจแปลได้ว่า หนึ่ง เรากลัวแม้กระทั่งกับการตั้งคำถามว่าควรถามหรือไม่ แปลว่าฐานความคิดเรื่องการให้เสรีภาพในทางความคิดของเราแทบไม่มี หรือ สอง มีการตีเรื่องนี้ให้ใหญ่เกินจริงเพื่อผลอะไรสักอย่าง”

“แต่ถึงแม้เขาจะถามแค่อย่างที่ว่า มันก็เสี่ยงมากแล้วในบริบทสังคมแบบไทยที่เป็นอยู่ ดังนั้น ถ้ามองจากอีกมุมหนึ่ง การมีคำถามและการแสดงออกเช่นนี้คือการเอาตัวเข้าแลกท่ามกลางความสุ่มเสี่ยง ประสบการณ์การเคลื่อนไหวในทางการเมืองในพื้นที่ที่มันเจอตอตลอดเวลาอาจจะทำให้พวกเขาพอคาดเดาได้ว่าการเคลื่อนไหวเช่นนี้มันถูกจับตา ถูกคาดคั้น ถูกตำหนิ และอาจถูกเอาผิด”

“แต่การที่กล้าออกมาถามเช่นนี้ เราว่าพวกเขาที่เป็นเยาวชนฝากชีวิตและอนาคตไว้กับความใจกว้างของสังคมไทยอย่างมากและอย่างที่คิดไม่ถึง สังคมไทยก็ควรจะตอบสนองด้วยความเป็นผู้ใหญ่และเปิดใจรับฟังสิ่งเหล่านี้ เพื่อที่ว่า ที่เคยบอกว่าไม่เข้าใจก็จะได้เริ่มเข้าใจกันเสียที”

“คนไทยน่าจะต้องรับความจริงได้ หากว่าจะมีคนบอกตรงไปตรงมาว่าไม่พอใจสายสัมพันธ์ทางการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบัน แทนที่จะโกรธ เราคิดว่าควรจะหาเป้าหรือพิกัดความโกรธให้ถูกจุด ว่าปัญหามันอยู่ตรงไหนกันแน่ และทางออกสำหรับเรื่องนี้ไม่ใช่การจับคนเข้าคุกดำเนินคดี ยิ่งไม่ใช่การปิดปาก ทางออกคือต้องรับฟัง พูดคุย นี่เป็นโอกาสอันดีในอันที่จะมีบทสนทนาด้วยซ้ำไป แล้วก็สนทนากันให้กว้างขวาง อย่าไปดันคนที่มีความฝันแบบนี้ให้เขาจนมุมไม่มีที่ทาง”

“ไทยเพิ่งมีการเลือกตั้ง ผ่านบรรยากาศของการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ บรรยากาศเช่นนี้มันทำให้คนรู้สึกเป็นบวกและมีความกล้าในการนำเสนอความคิด เราควรจะรักษาสภาพบรรยากาศเช่นนี้ไว้ไม่ใช่หรือ หรือเราจะพากันกลับไปหาบรรยากาศคลุมเครือพูดอะไรไม่ได้”

สำหรับผู้เขียนแล้ว พอใจระดับหนึ่งที่วันนี้เริ่มมีนักวิชาการ อาจารย์ และสื่ออีกหลายแห่ง ทำงานสัมภาษณ์อีกมุม พยายามทำหน้าที่เป็นสื่อเพื่อสันติภาพ

ต่างจากสื่ออนุรักษนิยมที่แพ้เลือกตั้งแล้วพร้อมนำกระแสนี้ไปเล่นจนเลยเถิด เพื่อสกัดการตั้งรัฐบาล