‘โปร่งใส’ หายไปไหน

สมชัย ศรีสุทธิยากร

สํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจัดงานครบ 25 ปี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา เป็นการจัดงานในลักษณะแสดงความยินดีและมีพิธีสงฆ์ มากกว่าการนำเสนอประวัติผลงานหรือพัฒนาการของหน่วยงานในฐานะองค์กรอิสระที่มีความหมายต่อการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองของนักการเมืองในประเทศไทย

แต่สิ่งหนึ่งที่กลับเป็นข่าวจากการสังเกตของสื่อมวลชน คือ คำขวัญของหน่วยงานมีการเปลี่ยนแปลงจาก “สุจริต โปร่งใส และเที่ยงธรรม” กลายเป็น “สุจริต เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย”

กลายเป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า หรือ กกต.ชุดปัจจุบันเลิกให้ความสำคัญต่อการทำงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ แล้วใช่หรือไม่

 

หลักการของความโปร่งใส

ความโปร่งใส (Transparency) เป็นหนึ่งในหลักการธรรมาภิบาลของหน่วยงาน (Good Governance) ที่ประกอบด้วย หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า

หลักความโปร่งใสในที่นี้จึงหมายถึง การที่สาธารณะสามารถมองเข้าไปเห็นถึงการดำเนินกิจกรรมของหน่วยงาน เห็นกระบวนการทำงาน เข้าใจเหตุผล วิธีการ และผลลัพธ์ของการดำเนินการต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องสืบเสาะค้นหา หมายถึงความเปิดเผย (Openness) การสื่อสาร (Communication) และถือเป็นความรับผิดชอบที่หน่วยงานต้องยึดมั่นในหลักการนี้ตลอดเวลาของการทำงาน เพื่อให้องค์การมีความเป็นธรรมาภิบาล สอดคล้องกับหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี

ความโปร่งใสจึงเป็นเรื่องที่องค์การต้องเต็มใจในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการทำงานอย่างต่อเนื่อง จริงใจ ในรูปแบบที่สื่อสารเข้าใจได้ง่าย และสามารถให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างสะดวก

การพร้อมชี้แจงข้อสงสัยของประชาชนด้วยท่าทีที่เป็นมิตร ไม่ใช่การปิดบังอำพรางพร้อมข่มขู่คุกคามประชาชนหรือสร้างยุ่งยากลำบากใจให้แก่ประชาชนที่ปรารถนาเข้าถึงข้อมูล

 

ตัวอย่างความโปร่งใส
ในผลการนับคะแนนรายหน่วย

ผลการนับคะแนนรายหน่วย เป็นข้อมูลที่ผู้สมัคร พรรคการเมือง และประชาชนที่สนใจการเลือกตั้งใฝ่หา อยากรู้ แต่ในอดีต การทราบข้อมูลดังกล่าวเป็นเรื่องที่สร้างความยากลำบากแก่ผู้ประสงค์จะได้ข้อมูลเป็นอย่างมาก เพราะต้องตระเวนเก็บข้อมูลหน้าหน่วยเองหลังจากผลการนับคะแนนเสร็จสิ้น

การขอทราบข้อมูลดังกล่าวหลังวันเลือกตั้งก็เป็นเรื่องยาก โดยต้องไปขอที่สำนักงาน กกต.ในแต่ละจังหวัด ต้องมีการเขียนคำร้อง และมีค่าใช้จ่ายในการถ่ายเอกสารซึ่งนับเป็นเงินหลายหมื่นบาทต่อจังหวัด หรือร่วมล้านบาทหากต้องถ่ายเอกสารจากหน่วยเลือกตั้งทุกหน่วยทั่วทั้งประเทศ ไม่นับถึงความยากลำบากในการจัดการและความไม่เต็มใจในการให้บริการดังกล่าวเพราะเป็นความยุ่งยากของหน่วยงานในการให้บริการ

แต่เมื่อ กกต.ชุดปัจจุบันมีระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 ข้อ 214 กำหนดให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ต้องเผยแพร่ข้อมูลผลการนับคะแนนรายหน่วยในเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ภายใน 5 วันหลังจากวันเลือกตั้ง

ข้อมูลดังกล่าวจึงกลายเป็นข้อมูลสาธารณะที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ เป็นแบบอย่างของความโปร่งใสที่เกิดขึ้นแม้ว่า ในบางเขตอาจจะยังไม่มีการเผยแพร่ได้ครบถ้วนแต่ก็เป็นส่วนน้อยที่เข้าใจได้

ยังมีความไม่โปร่งใส
ในอีกหลายเรื่อง

แม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจะมีความพยายามสร้างความโปร่งใสให้แก่หน่วยงานตามตัวอย่างข้างต้น

แต่ในอีกหลายเรื่องที่การทำงานของ กกต.ยังขาดการให้ข้อมูลหรือชี้แจงต่อประชาชนให้เข้าใจชัดเจน

อาทิ การใช้จ่ายงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งที่แสดงถึงความคุ้มค่าและประสิทธิผลที่ได้รับ

การร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้งและความคืบหน้าในการดำเนินการ

การรับคำร้อง ความคืบหน้าในการพิจารณาคำร้องต่างๆ

การปัดตกคำร้องและเหตุผลที่สามารถชี้แจงได้ต่อสาธารณะ เป็นต้น

ทุกอย่างที่ระบุข้างต้น ดูเหมือนจะยังอยู่ในความมืดดำที่คนทั่วไปแทบไม่มีโอกาสในการรับรู้

 

งบประมาณต้องโปร่งใส

สํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีงบประมาณในการจัดการ 2 ส่วน คืองบฯ ประจำที่ใช้ในแต่ละปีและงบฯ การจัดการเลือกตั้ง ที่ใช้ในการจัดการเลือกตั้งแต่ละครั้ง โดยในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2566 กกต.ได้รับงบประมาณในการจัดการเลือกตั้ง 5,945 ล้านบาท แยกเป็นรายจ่ายในส่วนสำนักงาน กกต.เอง 5,104 ล้านบาท และเป็นของหน่วยงานอื่นที่เข้ามาสนับสนุน 840 ล้านบาท

การสร้างความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณ คือ การต้องแจกแจงรายการที่ใช้จ่ายจริงในการเลือกตั้ง ทั้งจำนวนที่จ่ายไปในแต่ละรายการ จำนวนเงินที่เหลือ และ การดำเนินการในกรณีที่เหลือเงินว่าเมื่อไม่ส่งคืนคลัง สำนักงานได้นำไปใช้ในการใช้จ่ายในเรื่องใด

รายการงบประมาณใดที่เป็นที่สงสัยของประชาชน เช่น งบฯ การจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร งบฯ เดินทางไปต่างประเทศ งบฯ ผู้ตรวจการการเลือกตั้ง สมควรชี้แจงให้เกิดความโปร่งใสและสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนว่ามีการใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่า

 

การวินิจฉัยคดีเลือกตั้ง
ต้องโปร่งใส

คําร้องเกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้ง เมื่อรับเข้ามาแล้วใช้เวลาเท่าไรในการพิจารณาในแต่ละคดี รับคำร้องหรือไม่รับคำร้องด้วยเหตุผลใด เสร็จสิ้นเมื่อใด มีผลการพิจารณาคดีอย่างไร เป็นเรื่องที่สมควรชี้แจงต่อประชาชน หรือปรากฏในเว็ปไซต์เพื่อให้สามารถสืบค้นตรวจสอบได้ตลอดเวลา

ยิ่งในกรณีที่กฎหมายไม่ได้มีการกำหนดกรอบเวลาในการปฏิบัติงานให้แก่ กกต. หลังการประกาศผลการเลือกตั้ง ว่าจะต้องพิจารณาให้ใบเหลืองใบแดงเพื่อส่งต่อให้ศาลพิพากษาตัดสินว่าต้องทำให้เสร็จในเวลาใด

การดำเนินการที่ล่าช้า สะสม หมักหมมคดีจำนวนมากจึงเกิดขึ้นโดยปราศจากการตรวจสอบ

ตัวอย่างเช่น คดีการเลือกตั้งท้องถิ่น อาทิ การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด การเลือกตั้งเทศบาล คดีที่ร้องเรียนทุจริตและมีหลักฐานปรากฏชัด ขณะนี้ล่วงเลยเวลาไปมากกว่า 2 ปี ก็ยังพิจารณาในขั้นของ กกต.ไม่แล้วเสร็จ จนเป็นที่ครหาว่าอาจมีการเสนอประโยชน์เพื่อดึงการวินิจฉัยหรือไม่

คำวินิจฉัยทุกคดีของ กกต. ก็ควรลงนำเผยแพร่ในเว็ปไซต์ของ กกต. เพื่อประโยชน์ในการสืบค้น และเป็นประโยชน์ในการเทียบเคียงคำวินิจฉัยในอนาคตให้คล้ายกับการเผยแพร่คำพิพากษาของศาลที่ผู้ศึกษากฎหมาย ทนายความ สามารถสืบค้นแล้วอ้างอิง คนที่ลงเลือกตั้งจะได้ทราบเป็นแนวว่า อย่างไรเป็นการทำผิด อย่างไรยกคำร้องไม่ผิด

ทุกอย่างนี้ ไม่มีเปิดเผย คำว่า โปร่งใส จึงไม่เกิด

 

การสื่อสาร
และตอบคำถามประชาชน
เป็นเรื่องสำคัญ

ความโปร่งใสที่สำคัญ คือ การตอบคำถามที่เป็นที่ข้องใจของประชาชนในทุกคำถามที่สงสัยในปัจจุบัน การกล้าเผชิญหน้าสื่อและตอบคำถามแบบไม่มีการเตรียมการล่วงหน้า คือ การสื่อสารที่ประชาชนเชื่อได้ว่า เป็นการตอบคำถามที่มาจากสิ่งที่เป็นจริง มิได้ปั้นแต่งหรือเตรียมข้อมูลมาตอบ

ในปัจจุบัน กกต.หลีกเลี่ยงที่จะพบปะกับสื่อมวลชนเพื่อตอบคำถาม แต่จะใช้วิธีการหลักคือใช้เอกสารแถลงข่าว (Press Release) เป็นวิธีการหลัก

การสื่อสารแบบเป็นทางการดังกล่าว แม้ว่าจะสามารถกำหนดเนื้อหาสาระที่ต้องการสื่อสารได้ครบถ้วนแต่เป็นการสื่อสารทางเดียว หลีกเลี่ยงคำถามที่สื่อมวลชนสงสัยและยังไม่หลุดพ้นจากคำว่าไม่โปร่งใสได้

การเอาคำว่า “โปร่งใส” ออกจากคำขวัญ จึงแทบจะไม่มีนัยสำคัญใดๆ เพราะแม้จะมีคำดังกล่าวไว้ในคำขวัญ แต่พฤติกรรมการแสดงออกต่างๆ อีกหลายอย่างยังมิได้สะท้อนถึงคำว่า “โปร่งใส” ในการทำงาน

มีหรือไม่มีในคำขวัญ จึงมีค่าเท่ากัน